xs
xsm
sm
md
lg

สลากออมทรัพย์ “ออมสิน-ธ.ก.ส.-ธอส.” ใครเหนือใคร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สลากออมทรัพย์ไม่กินทุน-ต้นไม่สูญ 3 แบงก์รัฐมีให้เลือกออม แต่ดอกเบี้ย-เงินรางวัลต่ำ หากหวังถูกทุกงวด ออมสิน-ธ.ก.ส. ต้องซื้อ 1 แสนบาท ส่วน ธอส.หน่วยแพงต้องซื้อ 5 แสน ที่เหลือต้องอาศัยโชค แนะทำใจรับสภาพดอกเบี้ยต่ำเตือนอย่าโลภอาจเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหรืออาจสูญเงินทั้งก้อน ชี้ยุคนี้ควรเลือกเก็บเงินกับแหล่งที่ไม่กินเงินต้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในทุกด้านของทุกประเทศที่เกิดการแพร่ระบาด หลายคนต้องตกงาน ขาดรายได้ กระทบต่อภาระหนี้สินที่มีอยู่ ต้องเจรจาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้กับสถาบันการเงิน และหลายคนอาจจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มหล่อเลี้ยงชีวิตให้ฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้

แนวทางการแก้ปัญหาหนึ่งที่ทุกประเทศใช้เพื่อประคับประคองภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ คือ กดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อลดภาระผู้ที่เป็นหนี้ กระตุ้นให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำได้ง่ายขึ้น แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโรคที่กินเวลามากกว่า 1 ปี หลายกิจการจึงไม่อาจที่จะฟื้นกลับมาได้เหมือนเดิม เปลี่ยนธุรกิจ หรือถึงขั้นเลิกกิจการ แม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง

เมื่อการกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเป็นแนวทางหลักในการประคับประคองเศรษฐกิจในยุคนี้ ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลง ย่อมเป็นผลดีช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ และไม่สร้างภาระการก่อหนี้ใหม่มากจนเกินไป

ในฝั่งเจ้าหนี้ต่างกังวลถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เช่นกัน หากไม่ผ่อนปรนหรือหาทางช่วยลูกหนี้ โอกาสเกิดหนี้เสียย่อมเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสัญญาณดังกล่าวเริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว

ดอกเบี้ยต่ำ


สถานการณ์เช่นนี้ภาคธุรกิจไม่กล้าขยายกิจการ เนื่องจากคนในประเทศต่างประสบปัญหาเรื่องกำลังซื้อ จึงไม่จำเป็นต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่

เมื่อไม่จำเป็นต้องเร่งปล่อยสินเชื่อ ก็ไม่จำเป็นต้องระดมเงินฝาก เราจึงไม่เห็นธนาคารพาณิชย์ออกโปรโมชันเงินฝากเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 โดยอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ระหว่าง 0.125-0.25%

ผู้ที่พอมีเงินออมได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน บางคนไม่ถูกกระทบเรื่องงาน แต่กระทบเรื่องผลตอบแทนจากเงินออมที่ลดต่ำลง บางคนที่ถูกกระทบด้านรายได้จากหน้าที่การงาน ที่พอจะมีเงินออมอยู่บ้าง เมื่อเจอสถานการณ์นี้ทำให้ความหวังที่จะใช้ผลตอบแทนจากเงินออมที่มีอยู่มาประคับประคองชีวิตเหลือน้อยลง

พันธบัตรรัฐบาลในแต่ละงวดมีวงเงินจำหน่ายที่แน่นอน เมื่อครบจำนวนก็ปิดการจำหน่าย ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% กับระยะเวลาออมระหว่าง 5-10 ปี หากช่วงใดผลตอบแทนของพันธบัตรสูงกว่าตลาด ธนาคารผู้แทนจำหน่ายมักจัดสรรให้ลูกค้าประจำรายใหญ่เป็นลำดับแรก ที่เหลือจึงเป็นสิทธิของลูกค้าขาจร ในบางครั้งหมดในเวลาอันรวดเร็ว หากธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ออกพันธบัตรไม่กำหนดเพดานการซื้อ

ดังนั้น โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินออมที่มีความมั่นคง ให้ผลตอบแทนนี้ของผู้มีรายได้น้อยจึงถูกจำกัด กลายเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีเงินมากกับมีเงินน้อย


3 สลากแบงก์รัฐ

เลือกที่ยังพอมีสำหรับการออมเงินที่มีความมั่นคงอย่างสลากออมทรัพย์ของทั้ง 3 ธนาคารรัฐก็ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ สินเชื่อปล่อยได้ลำบาก แถมมีการไหลเข้าของเม็ดเงินจำนวนมาก เจ้าตลาดอย่างธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องปรับลดเงินรางวัลลง บางรุ่นไม่มีดอกเบี้ย แถมจำกัดวงเงินการออกสลากโดยเฉพาะออมสิน ที่ไม่สามารถซื้อได้สะดวกเหมือนก่อนเกิดโควิด-19

ล่าสุด เจ้าตลาดอย่างธนาคารออมสิน ได้กลับมาเปิดขายสลากแบบมีใบสลากอีกครั้งเป็นสลากออมสินพิเศษ 2 ปี ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2564 ไม่จำกัดวงเงินซื้อ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องที่ต้องลงทะเบียนซื้อก่อน เพื่อลดความแออัดและลดความเสี่ยงเรื่องโควิด-19

ด้าน ธ.ก.ส. เตรียมจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ชุดเกษตรมั่งคั่ง 6 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2564 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท หลังจากที่เปิดจำหน่ายช่วงแรกเมื่อ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา

ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยังเป็นสลากเกล็ดดาวที่เปิดจำหน่ายมาก่อนหน้านี้ ซึ่งในช่วงครบรอบ 85 ปีของธนาคารได้เพิ่มดอกเบี้ยสลากจาก 0.4% เป็น 0.5% สิ้นสุดเมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา

ต่อหน่วย ธอส.แพงสุด

นาทีนี้มีสลากออมทรัพย์ไม่กินทุนที่สามารถเลือกออมเงินได้ทั้ง 3 ธนาคารรัฐ เป็นโอกาสดีสำหรับคนที่มีความพร้อมออมเงิน เลือกได้ตามความพอใจของแต่ละคน หรือบางคนอาจถูกโฉลกกับสลากของบางธนาคาร

ผู้ที่นิยมออมเงินผ่านสลากออมทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า สลากของทั้ง 3 ธนาคารมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการออกแบบมา เริ่มที่อายุสลากออมสินกับ ธอส.เป็นสลาก 2 ปี ส่วนธ.ก.ส.เป็นสลาก 3 ปี มูลค่าหน่วยของสลากออมสินกับ ธ.ก.ส. กำหนดไว้ที่ 100 บาทต่อ 1 หมายเลข ส่วน ธอส.กำหนดไว้หน่วยละ 5,000 บาท

สลากทั้ง 3 รุ่นให้ผลตอบแทนกรณีไม่ถูกรางวัล ออมสิน และ ธ.ก.ส. ให้ 0.05% ต่อปี ส่วน ธอส.เนื่องจากมูลค่าต่อหน่วยสูงให้ผลตอบแทนไว้ที่ 0.4% ดังนั้น จึงเป็นการแยกกลุ่มผู้ซื้อกันระดับหนึ่ง

ด้วยมูลค่าหน่วยของออมสิน และ ธ.ก.ส.ที่ต่ำกว่า แถมเป็นเจ้าตลาดเรื่องสลากมาก่อน ทำให้ 2 ค่ายนี้มีลูกค้าประจำอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่น้องใหม่อย่าง ธอส.จำหน่ายสลากในราคาสูง เพิ่งจะมาออกชุดเกล็ดดาวแม้จะลดราคาลงมาเหลือ 5,000 บาทแล้ว แต่ถือว่ายังเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสำหรับหลายคน

ถูกทุกงวดต้องกำเงินแสน

สำหรับผู้ที่คาดหวังเรื่องถูกรางวัลต่ำสุด มีเพียงสลาก ธอส.เท่านั้นที่มีเลขท้าย 2 ตัว รางวัลละ 50 บาท และมีรางวัลเลขสลับ 20 บาท ขณะที่รางวัลเลขท้าย 3 ตัว มีทั้ง 3 ธนาคาร ออมสิน หมุน 1 ครั้ง รางวัลละ 20 บาท ธ.ก.ส.หมุน 2 ครั้ง รางวัลละ 10 บาท ธอส. หมุน 1 ครั้ง รางวัลละ 100 บาท รางวัลเลขท้าย 4 ตัวมีแค่ออมสินกับ ธ.ก.ส.ทั้ง 2 ธนาคารเหมือนกันคือ หมุน 1 ครั้ง รางวัล 50 บาท

เมื่อเปรียบเทียบรางวัลเลขท้าย 3 ตัวที่มีทุกธนาคาร พบว่า ถ้าท่านถูกรางวัลนี้ของออมสินจะได้ผลตอบแทน 20% ของเงิน 100 บาท ธ.ก.ส.ได้ 10% (แต่หมุน 2 ครั้ง) ธอส.ได้ 2% ของเงิน 5,000 บาท

สำหรับคนที่หวังจะถูกรางวัลเลขท้ายทุกงวดนั้น ออมสินกับ ธ.ก.ส. เริ่มที่เลขท้าย 3 ตัว หมายถึงท่านต้องซื้อสลาก 1,000 หน่วย (เลข) ทั้ง 2 แบงก์ขายหน่วยละ 100 บาท เท่ากับต้องใช้เงิน 100,000 บาท ใน 1 ปี (12 งวด) จะได้เงินรางวัลรวม 240 บาท หรือ 0.24% เมื่อรวมกับดอกเบี้ยสลาก 0.05% ใน 1 ปี ท่านจะได้ผลตอบแทน 0.29% (กรณีไม่ถูกรางวัลอื่น)

ส่วนสลาก ธอส. ถ้าต้องการถูกทุกงวดในเลขท้าย 2 ตัว ต้องซื้อ 100 หน่วย หน่วยละ 5,000 บาท ต้องใช้เงิน 500,000 บาท เพื่อรับรางวัล 2 ตัว 50 บาท และเลขสลับ 20 บาท ใน 1 ปีจะได้รางวัล 840 บาท ผลตอบแทนคือ 0.168% เมื่อบวกกับดอกเบี้ยที่ 0.4% ผลตอบแทนรวมเท่ากับ 0.568%

หากเปรียบเทียบที่วงเงินซื้อเท่ากันที่ 500,000 บาท ผลตอบแทนเฉพาะรางวัลเลขท้ายสลาก ธอส.ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ขึ้นอยู่กับผู้มีเงินออมว่ามีความพร้อมเรื่องเงินหรือไม่


รางวัลใหญ่ถูกยาก

คราวนี้ลองมาพิจารณารางวัลที่สูงขึ้นไป เริ่มที่รางวัลที่ 5 ออมสิน หมุน 15 ครั้ง รางวัลละ 1,000 บาท ธ.ก.ส. หมุน 100 ครั้ง รางวัลละ 500 บาท ธอส.ไม่มีรางวัลนี้

รางวัลที่ 4 ออมสิน หมุน 10 ครั้ง รางวัลละ 3,000 บาท ธ.ก.ส.หมุน 20 ครั้ง รางวัลละ 1,000 บาท ธอส.หมุน 20 ครั้ง รางวัลละ 500 บาท

รางวัลที่ 3 ออมสิน หมุน 5 ครั้ง รางวัลละ 10,000 บาท ธ.ก.ส. หมุน 10 ครั้ง รางวัลละ 3,000 บาท ธอส.หมุน 20 ครั้ง รางวัลละ 5,000 บาท

รางวัลที่ 2 ออมสิน หมุน 1 ครั้ง รางวัลละ 1,000,000 บาท ธ.ก.ส.หมุน 3 ครั้ง รางวัลละ 5,000 บาท ธอส. หมุน 4 ครั้ง รางวัลละ 50,000 บาท

รางวัลที่ 1 ทุกค่ายหมุน 1 ครั้ง ออมสิน รางวัลละ 5,000,000 บาท ธ.ก.ส. รางวัลละ 10,000,000 บาท (ต่างหมวด 10,000 บาท) ธอส. 1,000,000 บาท

รางวัลที่ 3-4-5 มีความแตกต่างกันของสลากแต่ละธนาคาร ขึ้นอยู่กับการออกแบบว่าจะให้กี่รางวัล รางวัลละเท่าไหร่ เป็นวิธีการเกลี่ยรางวัลของผู้ออกสลาก บางเจ้าออกรางวัลมาก แต่เงินรางวัลน้อย ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ออมแต่ละรายว่าคาดหวังแบบไหน

คราวนี้มาถึงรางวัลใหญ่ ธอส.รางวัลที่ 1 และ 2 ออกตรงตามรุ่นที่ออก ธ.ก.ส. ออกตรงตามรุ่นหรือหมวดที่ออกในรางวัลที่ 2 ขณะที่รางวัลที่ 1 ของสลาก ธ.ก.ส. เป็นแบบสุ่มหมวด ซึ่งมีราว 100 หมวด หมายความว่าเมื่อออกรางวัลที่ 1 แล้ว ผู้ที่จะได้ 10 ล้านบาทต้องไปวัดดวงกันอีก 100 คน ที่เหลืออีก 99 คนได้เงินเพียง 10,000 บาท

ส่วนสลากออมสินกำหนดรางวัลที่ 1 และ 2 นั้น เมื่อออกเลขรางวัลแล้วจะมีการสุ่มหมวดและสุ่มงวดอีกครั้งหนึ่ง ปกติแล้วสลากออมสินจะออกเป็นงวด เช่น 212 และจะมีหมวดย่อยลงไปอีกเรียงลำดับตามอักษรไทยและอังกฤษ เมื่อครบแล้วจึงจะออกงวดต่อไป

ดังนั้น การสุ่มหมวด สุ่มงวดของสลากรุ่นเดียวกัน ทำให้โอกาสในการถูกรางวัลใหญ่ของออมสินยากกว่าสลากเจ้าอื่น จึงมีเสียงบ่นที่โอกาสถูกรางวัลมีน้อย

กลับสู่ใบสลาก

คนที่เป็นแฟนประจำของสลากออมทรัพย์ ย่อมทราบดีว่า ทั้งดอกเบี้ยและเงินรางวัลลดลงไปเรื่อยๆ บางรางวัลเคยมีก็ไม่มี เช่น สลากบางรุ่นของออมสินเคยให้รางวัลผู้ที่ถูกรางวัลที่ 1 และ 2 แบบต่างงวดหรือต่างหมวด แต่รุ่นใหม่ไม่มีรางวัลแบบนี้ให้ เพื่อลดต้นทุนของสลากลง ตอนนี้มีของ ธ.ก.ส.ที่ให้รางวัลที่ 1 ต่างหมวด

มีความพยายามผลักดันออกสลากดิจิทัลแทนรูปแบบเดิมมาระยะหนึ่ง ค่ายออมสินถือเป็นผู้นำในเรื่องนี้ อย่างสลากดิจิทัล 1 ปี ไม่มีดอกเบี้ยให้ ผู้ซื้อต้องไปลุ้นรางวัลกันเอง พร้อมทั้งปรับสลาก 2 ปีเป็นสลากดิจิทัล ซึ่งสลากดิจิทัลกับสลากรูปแบบเดิม (ใบสลาก) มีความแตกต่างกันในเรื่องการนำเอาไปเป็นหลักฐานในการค้ำประกัน ของเดิมใช้เป็นหลักประกันได้ แต่สลากดิจิทัลไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันได้ จึงจูงใจด้วยการเพิ่มดอกเบี้ยให้สลากดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

การเปรียบเทียบว่าสลากของแบงก์ใดดีกว่ากันนั้น สามารถทำได้เพียงแค่การดูจากตัวดอกเบี้ยที่ให้กรณีไม่ถูกรางวัล และตัวรางวัลเลขท้ายที่มีโอกาสถูกมากกว่ารางวัลอื่นๆ ที่เหลือเป็นเรื่องของดวงและโชคของแต่ละบุคคล บางคนซื้อมากแต่ไม่เคยถูกรางวัล 3-4-5 บางคนซื้อไม่กี่พันกลับถูกรางวัลที่ 2 ได้เงินมากกว่าเงินที่ซื้อสลากเสียอีก

แหล่งข่าวจากธนาคารรัฐกล่าวว่า สลากของแต่ละธนาคารจะออกแบบมาให้ยากต่อการเปรียบเทียบ แบงก์จะเป็นผู้กำหนดต้นทุนของสลากออกมาก่อนว่าไม่เกินเท่าไหร่ จากนั้นฝ่ายออกสลากจะไปคำนวณและออกแบบเงินรางวัลว่าหมุนกี่ครั้ง แต่ละรางวัลจะเป็นเท่าไหร่ อาจมีลูกเล่นอื่นๆ ใส่เข้ามาบ้างเพื่อดึงความสนใจ

ที่จริงแล้วสลากออมทรัพย์ถือเป็นการจูงใจให้คนออมเงินรูปแบบหนึ่ง คนที่มาซื้อสลากส่วนใหญ่แล้วไม่ได้คาดหวังในเรื่องรางวัลใหญ่ เพราะทราบดีว่าถูกยาก ที่จริงน่าจะมีการกระจายรางวัลใหญ่ๆ เหล่านั้นแตกมาเป็นรางวัลย่อยๆ ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายผลตอบแทนให้คนที่มีกำลังทรัพย์น้อยได้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเดิม ตรงนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารน่านำไปพิจารณา


เงินต้นไม่สูญ-ตัวเลือกน้อย

นักการเงินรายหนึ่งยอมรับว่า ถ้าเงื่อนไขในการออมเงินกำหนดว่า เงินต้นต้องไม่สูญนั้น ตัวเลือกที่มีอยู่ในขณะนี้เหลือน้อยมาก เนื่องจากทุกสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ จึงไม่ต้องเร่งระดมเงินฝาก สลากออมทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน แม้ยังเปิดจำหน่ายอยู่ แต่อัตราผลตอบแทนต่ำมาก 0.05% เท่านั้น เช่นเดียวกับเงินรางวัลที่ลดลงเลขท้ายเหลือแค่ 10-20 บาทเท่านั้น รวมถึงรางวัลอื่นๆ เนื่องจากต้องคุมต้นทุนของเงินให้สอดคล้องกับตลาด ที่เหลือวัดดวงว่าใครจะโชคดีกว่ากัน

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกือบทุกประเทศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำแทบทั้งหมด  เพื่อประคองเศรษฐกิจจากโควิด-19 ดังนั้นเราต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นและต้องรับสภาพกับอัตราดอกเบี้ยต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนจะนานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้

ที่ผ่านมา มีหลายรายเบนเข็มยอมเสี่ยงหันไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มีผลตอบแทนให้เลือกหลายระดับ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าหุ้นกู้เหล่านี้มีโอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ได้ หากธุรกิจของบริษัทประสบปัญหาที่อิงกับสภาพเศรษฐกิจ หุ้นกู้มีหลากหลายประเภทคนที่จะเข้ามาต้องศึกษาให้ดี บางแห่งดอกเบี้ยสูง แต่จะจ่ายหรือไม่จ่ายดอกเบี้ยก็ได้ขึ้นกับตัวบริษัท

เช่นเดียวกับกองทุนรวม บางคนมองว่าเสี่ยงน้อยเลือกนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เท่าที่เห็นผลตอบแทนที่ได้ไม่ต่างจากตลาดมากนัก และหากเกิดความผันผวนในทิศทางดอกเบี้ยผลตอบแทนย่อมลดลง

“อย่าโลภ” คาถากันถูกหลอก


อยากให้ข้อคิดว่าดอกเบี้ยที่ต่ำนั้นเป็นไปตามสภาพตลาดและนโยบายของรัฐในการแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น ทุกคนเจอปัญหานี้เหมือนกันหมด เงินถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ การออมเงินในยามนี้แม้ผลตอบแทนจะต่ำมาก แต่ถ้าจะทำให้เงินต้นของท่านปลอดภัยย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าช่องทางอื่นที่อาจทำให้เงินต้นของท่านหายไปส่วนหนึ่ง หรืออาจหายไปทั้งก้อน ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่อยากให้ทุกท่านได้คำนึงถึง

ยิ่งเงินทองเป็นของหายากในยามนี้ เหล่ามิจฉาชีพต่างก็มีกลวิธีต่างๆ ที่จะหลอกล่อด้วยวิธีการต่างๆ สร้างรูปแบบ วิธีการลงทุนที่ทันสมัย เช่น สกุลเงินดิจิทัล ที่มีการซื้อขายกันคล้ายกับหุ้น หากท่านไม่เชี่ยวชาญจริง ไม่แนะนำ เพราะมีทั้งจริงและหลอกลวง

สำคัญที่สุดคืออย่าโลภ ที่เห็นผลตอบแทนสูงๆ เช่น ออมเงินไม่กี่วัน ผลตอบแทนที่ได้รับเป็น 10-20% ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปไม่ได้ ระยะแรกท่านอาจได้รับผลตอบแทนจริง เมื่อนั้นท่านจะเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปอีก เพราะเป็นวิธีการเอาเงินคนใหม่จ่ายให้คนเก่า ถึงจุดหนึ่งเมื่อเจ้ามือไม่สามารถหาเงินใหม่มาเติมได้ทันก็ปิดช่องทางการติดต่อ หอบเงินก้อนโตหนี ซึ่งเป็นคดีความที่มีมาให้เห็นตลอด




กำลังโหลดความคิดเห็น