มหาดไทย อัดงบเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย “นิพนธ์” เผยให้ค่าซ่อมบ้านหลังละเกือบ 5 หมื่น ถ้าพังทั้งหลังได้ค่ายังชีพอีก 3,800 บาท หากเป็นบ้านเช่า จ่ายค่าเช่าให้ 2 เดือน อุดหนุนทุนประกอบอาชีพครอบครัวละ 11,400 บาท บาดเจ็บสาหัสรับ 4 พัน พิการได้ 1.3 หมื่น ช่วยค่าทำศพเกือบ 3 หมื่น กรณีผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัวจ่ายให้อีกเท่าตัว มั่นใจชาวบ้านได้รับเงินภายใน 4 วัน หลัง ก.ช.ภ.จ.อนุมัติ ระบุ 14 จังหวัดสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ด้าน ก.เกษตร เตรียมจ่ายเงินเยียวยาทั้งเกษตรที่ปลูกพืช ทำปศุสัตว์ และประมง
จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ หลายภาคส่วนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือและออกมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบให้แก่ผู้ประสบภัยโดยเร่งด่วน หนึ่งในนั้นคือ “กระทรวงมหาดไทย” ซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากรัฐบาลห่วงใยในสถานการณ์น้ำท่วมที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมกำลังคน ยานพานะ อุปกรณ์ เครื่องช่วยชีวิต และสิ่งของจำเป็นลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นกระทรวงมหาดไทยยังมีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย
โดยกระทรวงมหาดไทยจะจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ประสบภัยในกรณีต่างๆ ดังนี้
- ค่าวัสดุที่ใช้ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของและได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 49,500 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท
- ค่าเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพ หรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยที่เป็นหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งประสบภัยนั้นๆ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
- ค่าเครื่องนุ่มห่ม รายละไม่เกิน 1,100 บาท
- กรณีที่ผู้ประสบภัยเช่าบ้านอยู่ และบ้านเช่าเสียหายจากภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จะได้รับค่าเช่าบ้านครอบครัวละไม่เกิน 1,800 บาท เป็นเวลา 2 เดือน
- กรณีบาดเจ็บสาหัสที่ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 4,000 บาท
- กรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ จะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 13,300 บาท
- กรณีเสียชีวิตจากอุทกภัย ทายาทจะได้รับค่าจัดการศพ รายละไม่เกิน 29,700 บาท
- กรณีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ทายาทจะได้เงินช่วยเหลืออีกครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยานั้นทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายอำเภอจะร่วมกันทำการสำรวจว่าในพื้นที่ที่ดูแลมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมจำนวนเท่าไหร่ และได้รับผลกระทบในลักษณะใดบ้าง แล้วนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) เมื่อ ก.ช.ภ.อ.เห็นชอบเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติและดำเนินการเบิกจ่ายเงินเยียวยาเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป ซึ่งหลังจาก ก.ช.ภ.จ.อนุมัติขั้นตอนในการเบิกจ่าย ตลอดจนการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยจะใช้เวลาเพียง 3-4 วันเท่านั้น
“ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของการสำรวจเส้นทางระบายน้ำ การแจกจ่ายเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับประชาชน พร้อมทั้งเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเยียวยาช่วยเหลือประชนและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคได้ทันท่วงที และเนื่องจากการจ่ายเงินเยียวยาถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่ประชาชน ในการลงพื้นที่น้ำท่วมในหลายจังหวัดที่ผ่านมาเราจึงได้ติดตามและสั่งเร่งรัดให้ ก.ช.ภ.อ.รีบประชุมและพิจารณาอนุมัติ อย่างเช่นที่ จ.เพชรบูรณ์ ก็มีการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ 138 ครอบครัวที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไปแล้ว เป็นวงเงินรวมประมาณ 1,600,000 บาท” รมช.มหาดไทย กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-5 ต.ค.2564 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จำนวน 32 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม รวมทั้งสิ้น 205 อำเภอ 1,100 ตำบล 7,489 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล
มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 286,577 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ประกอบด้วย จ.ลพบุรี 6 ราย จ.เพชรบูรณ์ 1 ราย จ.ชัยนาท 1 ราย และมีผู้สูญหาย 1 ราย เป็นชาวเพชรบูรณ์
อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี และกำแพงเพชร
สำหรับกรณีที่ผู้ประสบอุทกภัยได้รับผลกระทบและมีการจ่ายเงินเยียวยานั้นส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม กรณีเสียชีวิต และพืชผลการเกษตรได้รับความเสียหาย
ซึ่งในส่วนการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้นทางด้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของเกษตรที่ปลูกพืช ทำปศุสัตว์ และประมง
โดยการจ่ายชดเชยในกรณีพื้นที่เพาะปลูกเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ มีดังนี้
- ข้าว ได้รับเงินชดเชย ไร่ละ 1,340 บาท
- พืชไร่และพืชผัก ได้รับเงินชดเชย ไร่ละ 1,980 บาท
- ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่นๆ ได้รับเงินชดเชย ไร่ละ 4,048 บาท
โดยจะให้เงินช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่
- ส่วนกรณีพื้นที่เพาะปลูกได้ถูกหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน หรือซากวัสดุทุกชนิดทับถมจนไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้และหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือ จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดลอกขนย้ายซากวัสดุดังกล่าวเพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชได้ ในขนาดพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ ในราคาไม่เกินไร่ละ 7,000 บาท
ส่วนการช่วยเหลือเกษตรที่ทำปศุสัตว์ มีดังนี้
- จัดหาอาหารสัตว์ วัคซีน และเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ให้แก่เกษตร
- จ่ายเงินช่วยเหลือกรณีแปลงหญ้าที่ใช้เลี้ยงปศุสัตว์เสียหายจากน้ำท่วมจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ ในอัตราไร่ละ 1,980 บาท แต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่
- จ่ายเงินชดเชยในกรณีที่สัตว์ตายหรือสูญหายจากน้ำท่วม
ขณะที่การช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำประมง จะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งสัตว์ตายหรือสูญหายจากผลกระทบของอุทกภัย
- กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หอยทะเล จ่ายชดเชยไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
- ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน จ่ายชดเชยไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
- ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่เลี้ยงในกระชัง หรือบ่อซีเมนต์ จ่ายชดเชยตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร
ทั้งนี้ ผลการสำรวจของ สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจและประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 31 จังหวัด ตั้งแต่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.2564 พบว่า พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่ 65.9% เป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร รองลงมา 22.0% เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด และอีก 12.1% ได้รับผลกระทบทั้ง 2 พื้นที่ ขณะที่ความรุนแรงและความเสียหายยังน้อยกว่าปี 2554