ฝ่ายความมั่นคงเปิดปฏิบัติการ “จับคากล้อง” รับมือ “ม็อบทะลุแก๊ส” ที่เตรียมระดมพลเปิดศึก “เผาดาวกระจาย” เจ้าหน้าที่แท็กทีมตั้งวอร์รูม มั่นใจ “อุปกรณ์บันทึกภาพระยะไกล” สามารถเก็บหลักฐาน ติดตาม และดำเนินคดีต่อผู้ก่อเหตุได้ 100% ด้าน “พล.ต.ต.ปิยะ” ปรับกำลัง บช.น. รับเหตุรุนแรง เตือน “วางเพลิง” มีโทษสูง ผู้ชุมนุมอย่าย่ามใจ!
น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับความเคลื่อนไหวของ “ม็อบทะลุแก๊ส” ซึ่งล่าสุดมีการปรับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวจากเดิมที่นัดรวมตัวบริเวณแยกดินแดงและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) และเผาสิ่งที่มีสัญลักษณ์ของตำรวจ อีกทั้งเริ่มบานปลายไปถึงขั้นเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ยกระดับเป็นปฏิบัติการ “เผาดาวกระจาย” โดยมีการระดมความเห็นใน “เพจเยาวรุ่นทะลุแก๊ส” ว่าจะไปก่อเหตุกันที่ใดบ้าง จะโจมตี คฝ.อย่างไร มีข้อเสนอทั้งการเผาป้อมตำรวจ ทุบสัญญาณไฟจราจร ทุบกล้องวงจรปิด เผายางบนถนนสายธุรกิจ ใช้วิธีจรยุทธ์มาเร็วไปเร็ว และเปลี่ยนสถานที่ประท้วงไปเรื่อยๆ
ซึ่งคงต้องมาดูกันว่าในส่วนของฝ่ายความมั่นคงนั้นจะรับมือกับปฏิบัติการป่วนเมืองดังกล่าวอย่างไร?
ทั้งนี้ ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ในส่วนของ คฝ. จำเป็นต้องปรับยุทธวิธีเพื่อรับมือกับปฏิบัติการดาวกระจายและม็อบที่มุ่งใช้ความรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเน้นการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดโดยเก็บหลักฐานจากกล้องวงจรปิด เพื่อลดปัญหาการเผชิญหน้า ลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะถ้าขับรถไล่กันบนท้องถนนโอกาสที่รถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมจะเสียหลักนั้นมีสูง และภาพต่างๆ จะถูกนำมาปั่นกลายเป็นประเด็นดรามาเพื่อสร้างความโกรธแค้นให้ผู้ชุมนุม ตำรวจจึงเน้นการรวบรวมหลักฐาน ติดตาม ตรวจสอบ และจับกุมผู้กระทำความผิด โดยใช้กล้องและอุปกรณ์บันทึกภาพแบบต่างๆ เป็นเครื่องมือหลัก
“ปล่อยเลย คุณจะทำอะไรทำ เจ้าหน้าที่จะไม่วิ่งไล่ตาม สังเกตได้ว่าตอนนี้มีการออกหมายเรียก-หมายจับผู้ชุมนุมค่อนข้างเยอะ” แหล่งข่าวกล่าว
ในส่วนของการรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุรุนแรงนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงจะใช้กล้อง CCTV คุณภาพสูง ผนวกกับ “อุปกรณ์บันทึกภาพระยะไกล” ซึ่งเป็นยุทธวิธีด้านความมั่นคงในการเก็บหลักฐาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจจับและบันทึกภาพในลักษณะเดียวกับ CCTV แต่เป็นการบันทึกภาพจากระยะไกล ผู้ชุมนุมไม่มีโอกาสเห็นกล้อง จึงไม่ทราบว่าถูกบันทึกภาพอยู่ ซึ่งภาพจากกล้องต่างๆ นั้นถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนและสามารถพิสูจน์ตัวตนได้ง่าย ซึ่งหลายจุดที่เป็นเป้าหมายของม็อบทะลุแก๊ส เจ้าหน้าที่ได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้น เช่น บริเวณหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก
โดยในการเก็บหลักฐานนั้นจะใช้ภาพจากกล้อง CCTV และอุปกรณ์บันทึกภาพระยะไกลประกอบกัน อุปกรณ์บันทึกภาพจะจับความเคลื่อนไหวว่าผู้ชุมนุมเคลื่อนที่ไปทางไหนบ้าง ตรงไหนที่มีการก่อเหตุ บริเวณนั้นมีกล้อง CCTV กี่จุด ก่อเหตุแล้วแต่ละคนไปไหน ดึงภาพออกมาดูให้หมด ไม่ว่าจะเป็นกล้องของ กทม. กล้องของสันติบาล กล้องของกองกำกับการสืบสวนแต่ละท้องที่ หรือกล้องของหน่วยทหาร ซึ่งจะรวมกันเป็นวอร์รูมเดียว โดยจะมีทีมมอนิเตอร์ภาพจากทั้งกล้อง CCTV และอุปกรณ์บันทึกภาพระยะไกล จากนั้นจะนำหลักฐานที่ได้มาพิสูจน์ตัวตนและติดตามดำเนินคดีผู้ก่อเหตุต่อไป
“ที่ม็อบย้ายที่ชุมนุมจากดินแดงแล้วบอกว่าแกงโน้น แกงนี่ ไม่ใช่หรอก ผู้ชุมนุมเข้าไปไม่ได้เพราะโดนตำรวจบล็อกหมด หรือที่บอกว่าตำรวจตามไม่ทันเนี่ย ก็ไม่ใช่อีก... เขาไม่ตามคุณเอง เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะตาม เขาไล่มอนิเตอร์ภาพจากกล้องและอุปกรณ์ระยะไกล หลายคนโดนหมายจับก็งงว่าจุดที่ก่อเหตุไม่มี คฟ. ไม่มีกล้องวงจรปิด ทำไมถึงถูกจับได้ อย่างกรณีที่มีการเผาในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป้อมตำรวจ รถควบคุมผู้ต้องหา หรือพระบรมฉายาลักษณ์ กล้องจะจับภาพตั้งแต่ตอนเผา และติดตามว่าไปไหนต่อ พวกนี้ส่วนใหญ่ชุมนุมเสร็จจะกลับบ้าน เรารู้ที่อยู่ เราก็ไปไล่ดูว่าบ้านหลังดังกล่าวมีใครพักอาศัยบ้าง อายุเท่าไหร่ ใครที่ใกล้เคียงกับผู้ก่อเหตุ ก็กดประวัติออกมาดู เปรียบเทียบรูปร่างหน้าตาว่าใช่ผู้ก่อเหตุไหม ถ้าใช่ออกหมายเรียก ในการดำเนินคดีตำรวจก็จะพรินต์ภาพหลักฐานที่ได้มาจากกล้องมาให้ผู้ต้องหาดู ถ้าผู้ต้องหายังยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง ตำรวจจะเอาภาพเคลื่อนไหวเป็นวิดีโอที่เราดึงอกมาให้ดู จะเห็นได้ว่าม็อบแต่ละคนที่ถูกจับจะขอประกันตัวออกมาสู้คดี โดยไม่มีการโวยวายว่าจับแพะเลย อย่างเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เผาป้อมจราจรนางเลิ้ง เราจับได้หมด” แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง ระบุ
สำหรับการจัดกำลังในการรับมือกับผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สซึ่งมุ่งใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่นั้นหากเป็นสถานที่สำคัญจะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้ามาดูดูแล ส่วนเขตพระราชฐานจะมีเจ้าหน้าที่ทหารดูแลอยู่ในเขตชั้นใน อย่างไรก็ดี ฝ่ายความมั่นคงยอมรับว่าการป้องกันการก่อเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีซุ้มเฉลิมพระเกียรติอยู่หลายแห่ง ทั้งของหน่วยราชการและเอกชน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดในการดำเนินการต่อผู้กระทำผิด คือนอกจากจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ซึ่งเป็นความผิดในคดีอาญา มีโทษจำคุกถึง 7 ปี และสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตแล้ว ยังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อีกด้วย
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) และโฆษก บช.น. เปิดเผยถึงการรับมือกับม็อบทะลุแก๊สที่เตรียมชุมนุมก่อเหตุแบบดาวกระจายไปทั่วเมือง ว่า เราได้มีการปรับกำลังและกระบวนการในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยในเบื้องต้น จะใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลเป็นหลักก่อน ซึ่งคิดว่าน่าจะเพียงพอในการดูแลการชุมนุม และสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ ถ้ามีการกระทำผิดกฎหมายเราจะดำเนินการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบ จับกุม โดยใช้แนวทางการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไป ซึ่งในหลายกรณีมีโทษหนัก ไม่ว่าจะทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน วางเพลิง หรือความผิดตามมาตรา 112
“ที่ผ่านมาผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมแล้วไม่ได้รับการประกันตัวอาจจะมีไม่มากนัก แต่หากเป็นความผิดในกรณีวางเพลิงเผาทรัพย์จะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีอัตราโทษสูง แม้ผู้ต้องหาจะมีสิทธิได้รับการยื่นขอประกันตัว ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ แต่ไม่ได้แปลว่ากระทำผิดแล้วจะไม่ได้รับโทษ บางคนกระทำผิดแล้วอาจจะไม่เห็นผลในวันนี้ แต่ที่สุดแล้วหลายคนยังถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ อย่าลืมว่าวางเพลิงเผาทรัพย์อัตราโทษจำคุก 7 ปี แต่หากเป็นการวางเพลิงโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตนะ” รอง ผบช.น. กล่าว
ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์
มาตรา 217 "ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 14,000 บาท"
มาตรา 218 "ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
2) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า
3) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม
4) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
5) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
6) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ
ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี"
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่
มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 140 ถ้าความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง หรือมาตรา 139 ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง
“มาตรการตอนนี้คือเราให้เผา อยากเผา เผาเลย เต็มที่ เผาเสร็จเราเก็บหลักฐาน กวาดจับหมด ผู้ชุมนุมบางคนทำลายกล้องวงจรปิดก่อนก่อเหตุ คิดว่าไม่มีหลักฐาน แต่บอกเลยกล้องเราติดสูง และมีกล้องของหลายหน่วยงาน ที่สำคัญนอกจาก CCTV แล้วยังมีอุปกรณ์บันทึกภาพระยะไกล ยังไงก็ไม่รอด” แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุ