ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ระบุ พิษโควิด-19 ทำให้โรงเรียนเอกชน ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม และอาชีวะ ส่อปิดกิจการนับพันแห่งทั้งกรุงเทพฯ-ภูมิภาค ส่วนโคราชกว่า 10 แห่ง ขณะที่ครูตกงานกว่า 2 หมื่นหากเปิดเรียนเทอม 2 ไม่ได้ ครูตกงานอาจเพิ่มไปถึง 5 หมื่นคน จี้รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้นักเรียน-ครู และจัดการเรียนแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และไปโรงเรียน ยอมรับคุณภาพเด็กปีนี้จะไม่เหมือนที่ผ่านมา ด้านนักศึกษาเภสัชฯ ม.ของรัฐ ชี้เรียนแบบปกติได้คุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาดีกว่าการเรียนออนไลน์ที่ต้องเรียนแล็บแห้ง!
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนนำสู่การล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมมากมาย โดยเฉพาะระบบการศึกษาของไทย จากการที่ต้องเรียนในระบบออนไลน์นั้นก่อให้เกิดประเด็นปัญหาตามมา ที่สำคัญสุดคุณภาพการศึกษาของไทย และโรงเรียนเอกชนตั้งแต่ประถม มัธยม อาชีวศึกษาที่คาดว่าจะมีการปิดกิจการนับพันแห่ง รวมทั้งครูโรงเรียนเอกชนจะมีการตกงานเพิ่มอีกจำนวนมาก ทั้งที่ปัจจุบันถูกเลิกจ้าง และลดเงินเดือนไปแล้วกว่า 50%
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุว่า ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีปริมาณนักเรียนลดลงซึ่งเป็นผลมาจากประชากรเด็กวัยเรียนลดลง และโรงเรียนรัฐบาลมีการเปิดหลักสูตรไว้รองรับจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เทอม 2 ของปีการศึกษา 2563 และเทอมแรกของปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา
“การล็อกดาวน์ทำให้โรงเรียนเปิดไม่ได้ ต้องมาเรียนออนไลน์ โรงเรียนเก็บค่าเทอมไม่ได้ เทอมแรกปี 64 ผ่านมา 5 เดือนแล้ว โรงเรียนเอกชนไม่มีรายรับ รายได้ไม่มีเข้า มีแต่รายจ่าย เงินเดือนครูและบุคลากรก็ต้องจ่าย”
หากมีการเปิดเรียนปกติ โรงเรียนจะอยู่ได้ทั้งจากค่าเทอม มีการขายของ มีรถรับส่ง มีการเก็บค่ากิจกรรมพิเศษเพื่อมาใช้ในการบริหารโรงเรียน
”เงินเดือนครูเอกชนมาจาก 2 ส่วน คือ เงินอุดหนุนจากรัฐ และจากค่าเทอมที่เก็บจากเด็กนักเรียน แต่ตอนนี้ค่าเทอมเก็บไม่ได้เลย ต้องขอให้รัฐช่วย“
• โรงเรียนเอกชนลดเงินเดือนครู 50%
ดังนั้น ทางออกของโรงเรียนเอกชนมีทั้งให้ครูออกบ้าง และบางแห่งขอปรับลดเงินเดือนครูลงไปตั้งแต่ 10-50% ซึ่งครูก็ยอม เพราะเขาคิดว่าดีกว่าต้องตกงานในสภาวะเช่นนี้ คือเป็นบรรยากาศของความเห็นใจกันทั้งทางโรงเรียน ครู เพื่อประคับประคองให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ และมั่นใจว่าเทอม 2 ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน น่าจะมีโอกาสเปิดโรงเรียนได้
ขณะที่บางโรงเรียนพยายามดิ้นรนติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน อย่างกรณีที่ผู้ปกครองมีการจ่ายค่าเทอม ค่ากิจกรรมพิเศษไว้แล้ว พอมีคำสั่งรัฐออกมาไม่ให้เก็บ โรงเรียนเอกชนต้องวิ่งหาเงินมาคืนผู้ปกครอง จึงเลือกที่จะกู้ soft loan เพื่อมาใช้หมุนเวียน แต่ปรากฏว่าการจะกู้เงินในวิกฤตเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ
"ธุรกิจโรงเรียนไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ ให้ไปติดต่อแบงก์รัฐ ไม่ว่าออมสิน กรุงไทย ไม่มีแบงก์ไหนอยากปล่อย เพราะมันเสี่ยงมาก และกู้ soft loan เงื่อนไขมากมาย เราอยากกู้เพื่อให้ชีวิตหรือโรงเรียนรอดก่อนตอนนี้ โรงเรียนไหนมีเครือข่ายมีคอนเนกชันติดต่อแบงก์ก็กู้ได้ โรงเรียนไหนไม่มีกู้ไม่ได้ พวกเราเปรียบเหมือนนอนไอซียู ต้องรอเงินไปจ่าย แต่ถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ตายอย่างเดียว"
• ปิดโรงเรียนนับพันโรง แบกรับภาระไม่ไหว
ในที่สุดเจ้าของกิจการโรงเรียนหลายแห่งจึงต้องเลือกที่จะปิดกิจการ และประกาศขายโรงเรียน ซึ่งรวมถึงวิทยาลัยอาชีวะเอกชนด้วย เพราะโรงเรียนบางแห่งอยู่ในทำเลที่ดีมาก ใครซื้อไปสามารถไปลงทุนทำกิจการอย่างอื่นได้
“ขายทั้งโรงเรียน ขายที่ดิน เอาเงินไปใช้ดีกว่า จะได้ไม่ปวดหัวหลายเรื่อง บางคนมองว่าธุรกิจโรงเรียนเป็นธุรกิจแสวงหากำไร จริงๆ ไม่ใช่เลย ถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นๆ เพราะผลตอบแทนน้อยมาก เป็นน้ำซึมบ่อทราย คนที่ลงทุนทำโรงเรียนและผู้บริหารหากไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ความรักเด็ก ผมว่าเขาขายกันหมดไม่อยู่วงการนี้แน่”
สำหรับโรงเรียนที่แจ้งปิดและกำลังจะปิดมีหลายแห่งซึ่งบางแห่งมีนักเรียนจำนวนเป็นพันๆ คน มีทั้งใน กทม.หลายโรง ในเมืองใหญ่ภาคเหนือ หรือที่โคราชมีเป็นสิบๆ โรง หลายแห่งที่ติดต่อผ่านกันมาเพราะเขาแบกรับภาระไม่ไหวจริงๆ โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างแย่ ซึ่งพวกเราเข้าใจ และเข้าใจสถานะการเงินของรัฐบาลด้วย
“โรงเรียนรัฐบาลมีการขยายอยู่แล้ว ตอนนี้โรงเรียนเอกชนโดนบล็อกหมด พอมาเจอโควิด-19 เปิดเรียนไม่ได้ ยิ่งโดนหนักเข้าอีก คือ ตาย ตายกันเลย ต้องปิดและขายกิจการกันไป”
ส่วนโรงเรียนเอกชนที่ขออนุญาตปิดกิจการและกำลังขึ้นทะเบียนมีประมาณ 300 โรง จาก 3,900 กว่าโรง หากเทอม 2 ยังเปิดไม่ได้อีก จะมีโรงเรียนอนุบาลปิดกิจการเพิ่มขึ้น ตามด้วยโรงเรียนระดับประถม เพราะถ้าเปิดเรียนไม่ได้ ใครจะมาเสียค่าเทอมเพื่อเรียนออนไลน์
ใครมีเงินไปซื้อโรงเรียนตอนนี้ผมบอกได้เลยว่ามีคนเข้าแถวขายเยอะเลย มันสาหัสกันมากๆ
• ตัวเลขครูตกงานอาจถึง 5 หมื่นคน
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล บอกอีกว่า จากการพูดคุยในส่วนของกรรมการสมาคมฯ และโรงเรียนเอกชน เชื่อว่าหากเทอม 2 โรงเรียนยังเปิดเรียนไม่ได้จะมีโรงเรียนปิดกิจการอีกประมาณ 20-30% หรือประมาณ 600-900 แห่ง บางโรงเรียนจะเป็นระดับอนุบาล และระดับประถม แต่บางโรงเรียนจะมี 3 ระดับ คือ อนุบาล ประถม และมัธยม
“ถ้าไม่มีนักเรียนมาเรียนเขาเปิดไม่ได้ เพราะไม่มีรายได้ ใครจะมาจ่ายค่าเทอม เมื่อมาโรงเรียนไม่ได้ก็ไม่จ่าย เราจะเอาอะไรไปจ่ายเงินเดือนครู ตอนนี้ก็มีการเลิกจ้างครู และพนักงานต่างๆ ที่มีการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม ประมาณ 2 หมื่นคนแล้ว ทยอยลดคน ลดเงินเดือน ลดวันทำงานกันไป”
โดยมีการปรับลดจำนวนครู และพนักงานลงไปแล้วประมาณ 2 หมื่นคน จากจำนวนบุคลากรกว่า 180,000 คน แต่ถ้าเทอม 2 ของปีการศึกษา 2564 ยังไม่สามารถเปิดเรียนได้อีก คาดว่าจะมีครูและพนักงานต้องตกงานถึง 20-30% จากจำนวนทั้งหมด คือจะมีคนตกงานรวมแล้วประมาณ 36,000-54,000 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจนเข้ามาในระบบ
• เด็กขาดอุปกรณ์เรียนออนไลน์ใช้ส่งใบงานแทน
อย่างไรก็ดี โรงเรียนเอกชนต่างๆ พยายามปรับหลักสูตรการเรียนในระบบออนไลน์ให้นักเรียน เพราะโรงเรียนใกล้ชิดกับนักเรียนและผู้ปกครอง ทำให้เข้าใจถึงปัญหาในการเรียนออนไลน์ เพราะผู้ปกครองบางคนไม่พร้อมที่จะจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ให้เด็กที่จะใช้เรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ไอแพด สัญญาณอินเทอร์เน็ต ต้องใช้การส่งใบงานแทน
"ผู้ปกครองบางคนเจอภาวะเศรษฐกิจ รายได้ลด ตกงาน บางคนเอาโทรศัพท์ให้ลูกไว้ไม่ได้ เพราะต้องไปทำงาน เราให้เด็กกลุ่มนี้ทำใบงานส่งแทน"
นายกสมาคม ส.ปส.กช. ย้ำว่า พื้นฐานในการกำหนดให้เรียนออนไลน์ รัฐจะต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เด็กนักเรียนและครูได้ใช้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นครูรัฐ หรือเอกชนก็ตามควรจะให้ใช้ฟรีไปเลย 1 ปี
"ครูภาครัฐเขายังโชคดีมีรายได้มั่นคง แต่ครูเอกชนถูกลดเงินเดือนอยู่แล้ว จะให้วิ่งหาและจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตอีกก็แย่ เพราะเงินที่ได้รับก็น้อยอยู่แล้ว"
• จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนให้เด็ก-ครู หวังเปิดเรียนเทอม 2
อีกทั้งรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้โรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนเดินไปอย่างเดียวดายแต่รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการต้องหันมามองว่าถึงเวลาที่ต้องเปิดเรียนซึ่งจะเป็นรูปแบบการเรียนที่มีการผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์และการไปเรียนที่โรงเรียนบางวัน จะเป็นสัปดาห์ละหนึ่งวันหรือสองวันก็ได้ภายใต้มาตรการที่เข้มข้น
“รัฐบาลจะรอให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์แล้วค่อยเปิดมันไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เราจะต้องทำอย่างไรที่จะเดินไปพร้อมๆ กันได้ ต้องมีการเปิดเรียนในเทอม 2 ภายใต้มาตรการที่ชัดเจน”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มีการประกาศแล้วว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน ซึ่งต้องไม่ลืมว่าครู เจ้าหน้าที่โรงเรียนแม้จะมีการฉีดแล้วบางส่วน แต่ต้องฉีดให้ครบเช่นกัน และต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง จัดชุดตรวจ ATK ในราคาที่โรงเรียนพอแบกรับภาระได้ พร้อมๆ กับจัดให้มีการเรียนทั้งออนไลน์และหมุนเวียนกันมาเรียนที่โรงเรียน เช่น โรงเรียนมีนักเรียน 3 พันกว่าคน จัดให้มาเรียนแค่วันละไม่เกิน 700 คน น่าจะทำได้
“ต้องผสมผสาน คนที่ไม่พร้อมหรือไม่อยากมาก็เรียนออนไลน์ที่บ้าน ส่วนที่พ่อแม่ไม่มีเวลา มาเรียนที่โรงเรียน เมื่อลูกมาเรียนแล้วปลอดภัยเพราะได้รับวัคซีนเรียบร้อยแบบนี้ถึงจะไปได้กันทุกฝ่าย รวมไปถึงคุณภาพการเรียนด้วย ซึ่งโรงเรียนต้องมาปรับหลักสูตรต่างๆ ให้พร้อมเช่นกัน”
• ทุกระดับช่วงชั้นได้รับผลกระทบ
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล ระบุว่า ในเรื่องคุณภาพการศึกษา ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจว่าเด็กยุคโควิด-19 เกิดการเรียนรู้ไม่เต็มที่แน่นอน เพราะเราไม่ได้ออกแบบทักษะในการเรียนรู้ให้อยู่ที่บ้าน ซึ่งเราไม่มีหลักสูตรแบบนั้น ดังนั้น เด็กบางคนอยู่บ้านก็นั่งเล่นเกม ชีวิตของเด็ก จะมีเพื่อนทิพย์ เพื่อนในโลกอินเทอร์เน็ต จะสร้างจินตนาการว่าตรงนั้นเป็นอย่างโน้น อย่างนี้
“เราจะปล่อยแบบนี้ไม่ได้ เราจะเห็นผลเมื่อเขาโตขึ้นว่าเด็กที่อยู่แต่กับโลกเทคโนโลยีจะขาดทักษะทางสังคม ปฏิสัมพันธ์ต่างๆ”
แต่ต้องยอมรับว่าเด็กยุคนี้จะเก่งเรื่องเทคโนโลยีเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ แต่เมื่อเขาขาดทักษะในการเข้าสังคมเพราะเขาอยู่แต่โลกออนไลน์ เขาคิดอยากจะด่าใคร เขาสามารถด่าได้เลย ขาดการกลั่นกรอง เพราะว่าเขาอยู่ในโลกของเขา แต่ถ้าเขามาโรงเรียน ครูและเด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กันจะสามารถค้นหาจุดเด่น ความเก่งของเด็กและสามารถส่งเสริมผลักดันไปในเส้นทางที่เป็นได้ รวมทั้งการชี้แนะในเรื่องต่างๆ ได้ด้วย
“เด็ก ป.6 ขึ้น ม.1 ไม่ได้ไปโรงเรียน หรือเด็ก ม.3 ขึ้น ม.4 หรือจะไปเรียนสายอาชีพ ไปเรียนอาชีวะ หรือเด็ก ม.6 ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ซึ่งเป็นรอยต่อของแต่ละชั้นเรียนแต่เขาไม่ได้ไปโรงเรียน มันเป็นการเสียโอกาสในการปั้นเด็กและเด็กจะได้เรียนรู้ รวมไปถึงคุณภาพที่จะตามมาด้วย”
• ม.3 เข้าอาชีวะเรียนช่างกระทบหนัก
โดยเฉพาะเด็กที่จบ ม.3 แล้วไปเรียนต่อด้านอาชีวะ ซึ่งสำคัญมากที่จะต้องเรียนทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ช่วงนี้วิทยาลัยอาชีวะต่างๆ พยามปรับการเรียนให้เป็นแบบ Block Course รอเวลาที่จะสามารถเปิดเรียนได้จะให้มาฝึกการใช้เครื่องมือแต่ละสาขากันไป ซึ่งบางสาขาที่พอจะมีเครื่องมือ จะให้ยืมไปเรียนและให้ฝึกการใช้ตามคลิปวิดีโอที่อาจารย์แต่ละสาขาสอน
“เรียนอาชีวะสายบัญชี สายท่องเที่ยว หรืออื่นๆ จะไม่มีปัญหาเท่าคนเรียนช่าง ไม่ว่าจะเป็นช่างอะไรต้องฝึกใช้เครื่องมือ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างกล พวกนี้ต้องเข้าโรงฝึก พอเรียนออนไลน์ไม่ได้เข้าสัมผัสกับอุปกรณ์ช่าง รอเปิดเมื่อไหร่ให้มาฝึกกัน”
ส่วนคนที่เรียน ปวช.ปี 3 ในเทอม 1 ทุกปีต้องเรียนวิชาการ ต้องปรับเปลี่ยนให้ออกไปฝึกงาน คนที่เรียนช่างยนต์ไปฝึกตามอู่ แต่คิดจะไปฝึกบริษัทใหญ่ๆ ปีนี้ทำไม่ได้ เพราะทุกบริษัทเขาต้องระวังเรื่องโควิด-19 เช่นกัน และถ้าเทอม 2 เปิดจะกลับเข้ามาเรียนในโรงเรียน รวมทั้งต้องจัดเวลาสอนเสริมให้เด็กๆ ด้วย
“คุณภาพต้องยอมรับ อาศัยจบแล้วค่อยไปหาช่องทางฝึกหรือไป Reskill-Upskill ในภายหลัง และถ้าจะออนไลน์กันต่อไปรัฐบาลต้องจัดหาเครื่องมือในบางสาขาให้ด้วยแบบ one by one เพื่อให้เด็กไปฝึกการใช้จริง ผมยอมรับนะ คุณภาพของเด็กที่จบปีนี้อาจไม่ดีเท่าปีที่ผ่านมา” ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ ระบุ
• เด็กมหาวิทยาลัยชี้เรียนปกติได้คุณภาพดีกว่าออนไลน์
แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยของรัฐ บอกว่า การเรียนในระบบออนไลน์ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น สายวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ หรือคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะสายเหล่านี้ต้องเข้าแล็บ และต้องปฏิบัติจริง ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยพยายามปรับการเรียน การสอนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์
“คนเรียนวิศวโยธา เรียนไฟฟ้ากำลัง แต่ไม่เคยเข้าแล็บ ไม่ได้จับเครื่องมือเพราะทุกแห่งปิดหมด มหาวิทยาลัยต้องหาวิธีการปรับหลักสูตรให้ยังคงคุณภาพ”
ด้านนักศึกษาเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยของรัฐบอกว่า การเรียนออนไลน์ต้องปรับตัวทั้งอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษา ซึ่งจะมีการตกลงกันว่าจะเรียนอย่างไร จะเรียนสดผ่านซูม หรือเรียนจากคลิป ส่วนตัวนักศึกษาต้องมีวินัยและบังคับตัวเองให้ได้ ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดเจนคือ การเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะสมกับเด็กทุกช่วงวัย
“เรียนออนไลน์จะเน้นเรียนทฤษฎีตามตาราง แต่ขาดการปฏิบัติ ซึ่งบางคณะ เช่น เภสัชฯ ต้องมีการทดลอง ต้องเรียนแล็บแห้ง ดูคลิปทำแล็บ เรียนการใช้เครื่องมือ ไม่มีการปฏิบัติจริง และจะมีการเก็บตกภาคปฏิบัติในเดือนพฤศจิกายนหากเปิดเรียนได้”
นอกจากนี้ นักศึกษายังให้ความเห็นว่า การเรียนออนไลน์มีข้อเสีย ไม่กระตุ้นความคิด แต่การเรียนในห้องเรียนจะได้บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมช่วยกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ โดยเฉพาะเมื่อเจอวิชายากๆ นักศึกษาที่เข้าเรียนจะช่วยระดมสมอง ทำให้บรรยากาศการเรียนไม่เครียด สุขภาพจิตดีกว่าการเรียนคนเดียว
ส่วนนักศึกษาปี 1 เท่าที่มีการพูดคุยกับรุ่นน้องพบว่าได้เพียงแค่ทำความรู้จักผ่านทางออนไลน์ แต่ไม่มีการจัดกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากเลือกได้คงจะเลือกการเข้าเรียนแบบปกติจะได้คุณภาพชีวิต และคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่นอน!