xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่ขบวนการหาผลประโยชน์รถหรู ‘บิ๊กตู่’ รู้จริง! จะกวาดล้างตั้งแต่ยุค คสช.แต่ไม่สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วงในตีแผ่ขบวนการหาผลประโยชน์จากรถหรู ชี้ 'บิ๊กตู่' รู้ลึกรู้จริงแต่จัดการได้ยาก ส่วนกรณี 'ผู้กำกับโจ้' ถูกต้องทุกขั้นตอนตามกฎหมายศุลกากร กฎหมาย ป.พ.พ. และระเบียบกระทรวงการคลังหากจะรื้อคดีอาจทำได้ยาก เพราะต้องรื้อทั้งรถหรูในมือดีเอสไอด้วย ยืนยันผู้ที่เกี่ยวข้องกับรถหรู ล้วนมีอิทธิพลคนมีสี พร้อมสะท้อนขั้นตอนการทำงานจับรถหรู ต้องสอบผ่าน ‘วลีเด็ดๆ’ ตั้งแต่อธิบดี รองอธิบดี และศาล อีกทั้งต้องประเมินศักยภาพตัวเองและทีมงานก่อน 'เส้นกวยจั๊บ' หรือไม่ เพราะจับไปก็เจอตอขณะที่คนกรมศุลฯ มีคติเตือนใจต้องอยู่ให้เป็น และเก็บหลักฐานทุกใบเสร็จใส่แฟ้มหากถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบทรัพย์สินสามารถเคลียร์ได้!

ประเด็นการนำเข้ารถหรูเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่มีหลายแก๊งหลายก๊วนและหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และท้าทายอำนาจรัฐว่าจะสามารถจัดการกับขบวนการเหล่านี้ได้หรือไม่? เป็นเรื่องที่โด่งดังมาตลอดโดยเฉพาะในช่วงปี 2552 เป็นต้นมา จากการลักลอบนำเข้ารถหรูอย่างเป็นขั้นเป็นตอนซึ่งเริ่มมาจาก ‘Grey Market’ หรือผู้นำเข้ารถยนต์อิสระซึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าของแบรนด์อย่างเป็นทางการ แต่สามารถหาช่องทางในการนำเข้ารถหรูจากยุโรปได้

•บิ๊กการเมือง คนมีสีเกี่ยวพันรถหรู

ลูกค้าที่อยากได้ ‘รถหรูราคาถูก’ ก็จะสั่งออเดอร์รถที่ต้องการจาก ‘Grey Market’ ซึ่งในระยะหลังๆ ในกลุ่มขบวนการ ‘Grey Market’ จะมีบริษัทไฟแนนซ์และบริษัทประกันเข้ามาเป็นพันธมิตรในการนำเข้ารถหรูผิดกฎหมายด้วย ซึ่งคนในกรมศุลกากรจะเรียกว่าบริการ ‘ไฟแนนซ์เทอร์โบ’ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเลือกใช้บริการของเครือข่ายตัวเอง

ที่สำคัญคือ ขบวนการนำเข้ารถหรูไม่ใช่มีเพียงจาก ‘Grey Market’ เท่านั้น แต่เบื้องหลังจริงๆ เกี่ยวพันกับผู้มีบารมี นักการเมือง คนมีสี ซึ่งบรรดาธุรกิจต่างๆ ได้มีการดึงลูกหลานคนมีสีรุ่นใหม่ๆ เข้าไปเอี่ยวด้วยและตั้งเป็นบริษัทนำเข้าอีกมากมาย

“ทำธุรกิจแบบนี้ต้องได้คนที่มีอำนาจ บารมี มีคอนเนกชัน เพราะเมื่อเกิดปัญหาทั้งที่กรมศุลฯ ตำรวจ ดีเอสไอ ปปง. กรมการขนส่งทางบก กรมสรรพาสามิต หรือหน่วยงานอื่นๆ คนเหล่านี้แหละจะเคลียร์ทางสะดวกให้ เราก็ให้หุ้นลมบ้าง บางคนก็ให้ลงขันนิดหน่อย แบ่งรายได้ให้พวกเขาเป็นกอบเป็นกำ รวมถึงมีการส่งผลประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจ ก็เปิดทางสะดวกในการทำธุรกิจนี้ได้แล้ว”

•ยุครัฐบาล คสช.คิดจะปราบแต่ทำไม่สำเร็จ

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีการนำเข้ารถหรูประมาณ 10,000 กว่าคัน ซึ่งรถหรูที่มีปัญหาและมีคดีความส่วนใหญ่จะเป็นรถปอร์เช่ ลัมโบร์กินี เฟอร์รารี และมาเซราติ ที่มีการนำรถยนต์ใหม่จากต่างประเทศเข้ามาแต่มีการสำแดงราคานำเข้าเป็นเท็จต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีการยึดรถไว้จำนวนมากเพื่อทำการสอบสวนจากบริษัทนำเข้ารถหรู จึงมีทั้งอยู่ระหว่างดำเนินคดี และส่งคืนให้เจ้าของไปแล้วเมื่อมีการตรวจสอบแล้วเสร็จ

“เรื่องรถหรูผิดกฎหมาย ในช่วงที่รัฐบาล คสช.เข้ามาใหม่ๆ ตั้งใจจะปราบมาก พูดง่ายๆ จี้กรมศุลฯ ให้ชี้แจงเป็นสิบๆ รอบ แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ คนที่นั่งเป็นรัฐมนตรีตอนนั้นก็เป็นเพื่อนนายกฯ บิ๊กตู่ ก็มีการรายงานกัน แต่ทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไป ธุรกิจนี้มันมีผลประโยชน์มหาศาล ผู้เกี่ยวข้องมีอำนาจ มีอิทธิพล คนมีสีด้วยกัน”


• ผกก.โจ้ รุ่น 5 จับกุมรับรางวัลถูกกฎหมายทั้งหมด

ส่วนกรณีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีตผู้กำกับโจ้เฟอร์รารี หรือโจ้อีซูซูในปัจจุบัน ที่ปรากฏข่าวความร่ำรวยจากการเป็นหัวหน้าทีมเข้าจับกุมรถหรูและได้รับเงินสินบน 30% และรางวัลนำจับ 25% รวม 55% จากยอดประมูลขายรถของกลางนั้น แหล่งข่าวจากกรมศุลฯ บอกว่า วิธีการที่อดีต ผกก.โจ้ กระทำนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งมีการกระทำมาตั้งแต่ปี 2523 สืบทอดต่อกันมาเป็นยุคๆ

“อดีต ผกก.โจ้ เรารู้กันว่าเป็นรุ่น 5 ต่อรุ่น 6 ในการทำธุรกิจด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหาประโยชน์ พวกคนมีสีจะแบ่งอาณาเขตกันชัดเจนว่า ใครจะดูแลพื้นที่ตรงไหนกันบ้าง แบ่งกันเป็นรายจังหวัด ต่างคนต่างทำ ห้ามยุ่งเกี่ยวกัน แต่หากจำเป็นจะข้ามเขตก็ต้องขอกัน ทุกอย่างคุยกันได้”

อีกทั้งวิธีที่อดีตผู้กำกับโจ้ กระทำนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร หรือกฎหมาย หรือระเบียบของศุลกากรทั้งสิ้น ประกอบด้วย

1.มีบันทึกจับกุม ใบแจ้งความนำจับ รถของกลางจอดอยู่ที่ไหนอย่างละเอียดมาส่งให้ที่ด่านศุลกากร

2.เมื่อมีการรับเรื่องแล้ว ทางนิติกรของด่านศุลกากรจะตรวจสอบเอกสารทุกอย่าง และจัดทำบัญชีของกลางคือรถหรูคันที่จับได้ ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินงานใน 30 วัน และรอดูว่าจะมีใครมาร้องขอคืนหรือไม่ แต่การจับกุมรถหรูในลักษณะนี้จะไม่มีผู้ต้องหา จึงไม่เคยมีใครมาร้องขอคืน

3.เมื่อครบ 30 วันแล้ว ทางด่านศุลกากรจะทำบัญชีของกลางเสนอไปยังกรมศุลกากร พร้อมส่งรายละเอียดทั้งหมดว่ารถคันนี้จับมาจากที่ไหน วันไหน ประเมินราคารถเท่าไหร่ และค่าภาษีเท่าไหร่ ซึ่งจะต้องคิดตามระเบียบกรมศุลกากร และเมื่อครบ 30 วันแล้วไม่มีใครมาขอคืน ของกลางจะตกเป็นทรัพย์ของแผ่นดินตามมาตรา 25 ของกฎหมายศุลกากร (ฉบับเก่า)

“ขั้นตอนนี้เป็นการเสนอกรมศุลกากร เพื่อทราบและขออนุมัติสั่งคดีตามกฎหมาย”

4.เมื่อกรมฯ ส่งเรื่องกลับมายังด่านศุลกากร ถือเป็นการสั่งคดีตามมาตรา 25 และมาตรา 102 ทวิ ก็ส่งฝ่ายจำหน่ายให้ออกประกาศขายทอดตลาดตามกฎหมายศุลกากรและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)

“ตำรวจเขาจะรู้เวลาว่าครบกำหนดเมื่อไหร่ เขาจะรีบมาติดต่อสอบถามด่านว่า ทุกอย่างครบกำหนดเวลาแล้ว ประกาศขายทอดตลาดให้หรือยัง คือเขามาจี้กรมศุลฯ เพื่อได้รับเงินรางวัลเร็วๆ นั่นแหละเพราะถ้าไม่มาติดต่อสอบถามการขายทอดตลอดจะเกิดขึ้นช้ามาก”

อย่างไรก็ดี ในการประกาศขายนั้น ทางด่านศุลกากรจะสามารถดำเนินการได้เองในกรณีที่รถมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะมีการขายทอดตลาดเดือนละครั้ง อาจจะเพียง 1 คัน หรือประมาณ 3-4 คันเท่านั้น ทุกเรื่องจะมีแฟ้มรายละเอียดชัดเจน จะมีประธานและกรรมการในการขายทอดตลาดที่เป็นไปตาม ป.พ.พ.กำหนด โดยจะมีการวางมัดจำ 25% ของราคาที่มีการกำหนดไว้ บวกภาษี และถ้าใครประมูลได้ไปจะต้องมาชำระอีก 75% ภายใน 15 วัน

“เมื่อมีการขายทอดตลาด ชำระเงินเรียบร้อย ก็จะปิดแฟ้มบัญชีของกลางนั้นๆ และทำเอกสารแจ้งไปที่กองทะเบียน กรมการขนส่ง ว่ารถคันนี้ขายทอดตลาดไปแล้ว และออกใบเสร็จ เอกสารรับรองต่างๆ ให้ผู้ประมูลได้ไปยื่นจดทะเบียนกับกรมการขนส่ง ไปขอเลขทะเบียนรถสวยๆ ต่อไป”

5.เป็นขั้นตอนการเบิกจ่ายรางวัลนำจับและสินบนตามกฎหมายศุลกากร ซึ่งตรงนี้ตำรวจที่เป็นเจ้าของคดีจะเข้ามาทวงถามว่าเมื่อมีการปิดคดีแล้ว จะต้องดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้ตามกฎหมายซึ่งทางกรมศุลกากรก็จะต้องเร่งจัดการให้ตามระเบียบ

6.อดีตผู้กำกับโจ้ ในฐานะหัวหน้าทีม หรือจะมอบหมายให้ใครก็ได้เพียงคนเดียวมารับเงินดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นเงินสด หรือ แคชเชียร์เช็คก็ได้ ซึ่งรางวัลในการจ่ายทั้งหมดจะเป็นไปตามกฎหมายศุลกากรและระเบียบกระทรวงการคลังทั้งสิ้น




• รื้อคดีรถหรู ‘ผกก.โจ้’ ทำยาก คดีปิดแฟ้มแล้ว

ในกรณีที่ของกลางจำนวนไม่มากทางด่านศุลกากรจะประมูลเอง แต่ถ้ามีจำนวนมากหลายร้อยคัน กรมศุลกากรใช้วิธีการจ้างบริษัทสหการประมูล เป็นผู้จัดประมูลโดยคิดค่าบริการคันละ 3,000 บาท ซึ่งจะไปเก็บจากผู้ที่ชนะประมูลรถต่อไป

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร บอกอีกว่า ที่กรมศุลกากรจ้างบริษัทสหการประมูลเป็นผู้ดำเนินการนั้น เพราะก่อนหน้านี้ มีปัญหาระหว่างผู้ประมูลด้วยกันเอง ถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน เพราะบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจนี้รู้อยู่แล้วว่ารถหรูคันนี้เป็นของใคร และใครควรได้ แต่ก็อยากจะได้ด้วยการประมูลในราคาที่สูงกว่าเพื่อตัดหน้าให้ได้รถหรูคันนี้ไป จึงทำให้มีการทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้นในการประมูล

“รถหรูทุกคันไม่ใช่แค่ของอดีตผู้กำกับโจ้ เมื่อเขาทำตามขั้นตอนของกฎหมายกรมศุลฯ ตามประมวลกฎหมายแพ่ง ตามระเบียบกระทรวงการคลัง หากมีขั้นตอนไหนที่ไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย หรือมีแฟ้มคดีรายไหนมีประเด็นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็นำมาพิจารณาได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าแฟ้มมันปิดไปนานแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่จะไปรื้อคดีขึ้นมาตรวจสอบใหม่ได้”

ดังนั้น คนในกรมศุลกากรจึงเชื่อว่า เรื่องรถหรูที่อยู่ในการครอบครองของอดีตผู้กำกับโจ้จะมีการสำแดงราคานำเข้าเป็นเท็จต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงหรือไม่นั้น หรือเรื่องสินบนนำจับคดีของอดีตผู้กำกับโจ้ หากจะมีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่อาจจะเป็นเรื่องยากเพราะหลายเรื่องมีการปิดแฟ้มไปเรียบร้อยแล้ว และหากจะรื้อกันจริงๆ จะมีคดีรถหรูที่อยู่ในมือดีเอสไออีกจำนวนมากจะต้องถูกรื้อคดีเช่นกัน

โดยก่อนหน้านี้ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานภายในกรมศุลกากร เร่งตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดของอดีตผู้กำกับโจ้ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้จับกุม หรือเป็นผู้ที่มาประมูลรถยนต์หรูกับกรมศุลกากรหรือไม่ และกรมศุลกากรพร้อมประสานข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้อง


• เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ จับรถหรู เจอตอใหญ่

แหล่งข่าวบอกอีกว่า ในการจับกุมรถหรูนั้นผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอาจจะมองเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะดำเนินการปราบปรามยาก และมองว่ากรมศุลกากรเอื้อประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์กับขบวนการรถหรู แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร หรือนายด่านศุลกากร หลายคนถึงกับถอดใจเพราะการดำเนินการแต่ละครั้งต้องไปเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลด้วยกันหลายรูปแบบ เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีกรมศุลกากร รองอธิบดีกรมศุลกากร ผู้อำนวยการสำนักฯ ทั้งที่เกษียณไปแล้ว และที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันต่างรู้กันดีว่าจะต้องเจออะไรกันบ้างที่เกี่ยวข้องกับการจับรถหรู

“เคยมีทีมจับรถของกรมศุลฯ ออกไปจับรถหรูผิดกฎหมายพร้อมนำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปด้วย จำนวน 10 คัน แต่เอามาได้เพียง 1 คันแค่นั้น เพราะเอารถออกไม่ได้ ถูกล้อมหมด เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ ไปกัน 4 คนทำอะไรไม่ได้ ตำรวจก็งงยืนกอดอกเลย ขบวนการนี้ใหญ่จริงๆ รถหรูคันละ 60-70 ล้าน ซื้อขาย 20 ล้าน ไฟแนนซ์ ประกันพร้อมก็เห็นๆ แต่ทำอะไรไม่ได้”

แหล่งข่าวระบุว่า กรณีการจับครั้งนี้เจ้าหน้าที่ศุลกากรถึงกับผงะ เพราะเจอตอใหญ่ เสียงโทรศัพท์เข้ามาตลอดว่าให้ปล่อยไป ซึ่งมีการไปสืบค้นเอกสารที่ไปที่มาของรถหรูที่จับมาได้เพียง 1 คัน มีการซ่อนข้อมูลกันมาเป็นทอดๆ จริงๆ  แล้วเป็นของบริษัทรถหรูยักษ์ใหญ่ที่เป็นของคนมีสี

“อธิบดี รองอธิบดี โทร.หาหัวหน้าจับกุมถี่ยิบ บอกว่าอย่าไปยื้อไว้ ให้มันไป สุดท้ายก็ต้องให้ไป”

รวมทั้งการจะออกไปจับกุมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขออนุมัติออกพื้นที่ ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะซักไซ้ละเอียดว่าเป็นมาอย่างไร รถอะไร อยู่ที่ไหน และก่อนจะจดปากกาเซ็นชื่อยังย้ำว่า

“งานนี้ใครเป็นหัวหน้าทีม คิดว่าเอาอยู่หรือไม่ ถ้าเอาไม่อยู่อย่าไป เหนื่อยแน่ๆ เพราะรู้กันอยู่ว่าเวลาทำอะไรบรรดาบิ๊กการเมือง รัฐมนตรี คนมีสี โทร.เข้ามาหาผู้บังคับบัญชาเราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเชื่อว่าเอาอยู่จะเซ็นให้ แต่ต้องดูแลกันดีๆ มีอะไรให้รีบโทร.รายงาน”

ใครจับรถหรูต้องรับผิดชอบ ดูแลกันเอาเอง

เมื่อผู้บังคับบัญชาเซ็นอนุมัติให้ออกพื้นที่ได้แล้ว ก็ต้องไปขอหมายศาลในท้องที่หรือในจังหวัด เช่น ไปขอที่ศาลพระโขนง โอ้โหงานเข้า พอรู้ว่าเป็นเรื่องรถหรู ก็ไม่มีใครอยากจะเซ็นให้ ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยว บางเคสต้องไปศาลหลายๆ ครั้งกว่าศาลจะเซ็นให้ ขอเวลาปรึกษากันนาน และเซ็นให้แบบมีเงื่อนไข จะต้องรายงานศาลภายใน 24 ชั่วโมงว่าผลเป็นอย่างไร

จากนั้นทีมจับรถของกรมศุลกากรก็ไปกัน และสิ่งที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรรู้กันดีว่า ใครจับก็ต้องรับผิดชอบและดูแลรักษารถกันเอาเอง ถ้าเป็นด่านศุลกากรเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมจับเองต้องนำไปไว้ที่ด่าน เอามาส่วนกลางไม่ได้

“ใครจับก็ต้องรับผิดชอบทั้งหมด ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ติดต่อตำรวจฝ่ายอาชญากรต่างประเทศให้เช็กเรื่องรถหรูว่ามีการแจ้งหายกันไหม กรมการขนส่งดูการจดทะเบียน เรียกตำรวจพิสูจน์หลักฐานมาดู นายก็ย้ำว่าถ้าอะไรไม่ชัดเจนและพิสูจน์ไม่ได้ให้รีบคืนเขาไป”

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร ย้ำอีกว่า หลังจากปี 2557 เป็นต้นมา ขบวนการรถหรูจะดึงคนรุ่นใหม่ ลูกหลานบิ๊กๆ คนมีสี เข้าไปร่วม เพราะหวังให้คนรุ่นใหม่เป็นคนเคลียร์ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง ทั้งบิ๊กการเมือง บิ๊กคนมีสีต่างๆ โทร.หาอธิบดี รองอธิบดี และผู้บังคับบัญชาก็จะโทร.หาหัวหน้าทีมจับโดยตรง

“มีบิ๊กหนุนหลัง หาผลประโยชน์ได้ง่าย เอาเข้ามาครั้งละ 5 คัน เป็นของลูกคนนั้น คนนี้ ทำอะไรไม่ได้แล้ว เจ้านายจะบอกลูกน้องเสมอ ถ้าเส้นไม่ใหญ่จริงอย่าคิดไปจับ ถูกตั้งกรรมการไล่ตูด ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ที่ตลกสุดมีพวกกล้ามใหญ่เข้ามา 6-7 คน ด้วยรถตู้ ถามหาฝ่ายปราบปราม แล้วคล้องแขนพาออกไปกินลม ชมวิว เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”


• อยู่กรมศุลกากร ต้องอยู่ให้เป็น

นอกจากนี้ คนในกรมศุลกากรได้รับการบอกต่อๆ กันมาจากผู้บังคับบัญชา ว่าต้องอยู่กันให้เป็น ต้องดูแลและประเมินศักยภาพกันให้ดี และให้เก็บเอกสารหรือหลักฐานการรับเงินทุกอย่างในกรมศุลกากรที่รับมาและชอบด้วยกฎหมาย ต้องจัดเก็บใส่แฟ้มให้เรียบร้อย หากมีปัญหา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียกสอบจะได้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

“เวลารับเงิน มีใบเสร็จ อธิบดี รองอธิบดี ผู้อำนวยการสำนัก เราทำเลขแฟ้มไว้เลยว่าได้รับส่วนแบ่งจากอะไร อย่างไร เท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่จ่ายเป็นเงินสดก็เอาเข้าแบงก์ไปเลย ถ้ามีการกล่าวหาเรื่องทุจริต ให้ ป.ป.ช.เข้ามาสอบเราสามารถนำแฟ้มต่างๆ ยื่นเป็นหลักฐานได้เลย”

ดังนั้น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจึงปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้กังวลว่าจะถูก ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน เพียงแต่ว่าการจะดำเนินการปราบปรามขบวนการรถหรูนั้น เป็นเรื่องที่คนกรมศุลกากรยอมรับว่าดำเนินการได้ยากมาก เพราะเมื่อมีการจับแต่ละครั้งเสียงโทรศัพท์จากผู้มากบารมีของบ้านเมืองก็จะโทร.สั่งการให้ปล่อย ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ตำแหน่งที่นั่งอยู่ก็สะเทือนได้เช่นกัน

ว่ากันว่าเรื่องการปราบปรามขบวนการนำเข้ารถหรูแบบผิดกฎหมายและทำให้รัฐเสียประโยชน์มหาศาล ในสมัยรัฐบาล คสช.ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และยุคของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับรู้ปัญหาและมีการนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นได้รับรู้ทั้งหมด!




กำลังโหลดความคิดเห็น