รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชี้ผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงเป็นทิศทางที่ดี แต่ขอดูตัวเลขถึงสิ้นเดือน ส.ค. และนโยบายรัฐบาลในการเปิดประเทศ 120 วันออกรูปไหน ถ้าตัวเลขดีจริงจะดึงทรัพยากรต่างๆ คืนให้ผู้ป่วยโรคอื่น ด้าน รศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจนิด้าระบุการเปิดประเทศรัฐบาลต้องมีความพร้อมหลายด้าน หากทำได้ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ‘บิ๊กตู่’ ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ปฏิรูประบบ กระตุ้นการใช้จ่าย ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนเผยจุดอ่อนของประเทศไทยอยู่ที่การเมือง 10 ปียังไม่จบ!
นโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนตุลาคม 2564 นี้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมีความคาดหวังเพราะจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น แต่การจะเปิดได้หรือไม่ได้? เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างเรื่องของเศรษฐกิจกับเรื่องการควบคุมโรคระบาดของเชื้อโควิด-19 ไปพร้อมๆ กัน
ที่สำคัญเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต้องมีปัจจัยอะไรที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเร่งขับเคลื่อนจากนี้ไป
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่มีจำนวนค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ในทางการแพทย์ต้องดูให้แน่ชัดว่าตัวเลขที่ลดลงนั้น ลดลงแน่นอน และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ควรจะลดเหลือเท่าไหร่ จึงจะปลอดภัยถ้าจะเปิดประเทศ
“ขอดูตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ถึงสิ้นเดือนนี้ก่อน เพราะเมื่อเปิดประเทศยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ต้องขึ้นในวิสัยที่รับได้ เพราะตัวเลขค่อยๆ ดีขึ้นแบบช้าๆ ต้องดูว่าการเปิดประเทศจะเปิดอย่างไร เปิดเป็นจุดๆ หรือไม่ ก็รอดูมาตรการของรัฐบาลอีกที”
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ได้นั้น ต้องฉีด 70% ของประชากร คือประมาณ 50 ล้านคน คนละ 2 โดส รวมเป็น 100 ล้านโดส แต่ปัจจุบันการฉีดเข็มแรกเพิ่งจะได้เพียง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนตัวเลขถึงวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเพียง 27,088,541 โดสเท่านั้น
“ต้องฉีดให้ได้ 50 ล้านคน และต้อง 2 เข็ม จึงจะป้องกันสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดในเวลานี้ได้ เพราะเข็มเดียวไม่สามารถรองรับได้แน่นอน”
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า หากทิศทางตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลก็ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะทิศทางการบริหารและการจัดการในอนาคตแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการระบาดและการติดเชื้อใหม่และเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ โดยจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ และหากมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะให้เพิ่มขึ้นได้ในสัดส่วนเท่าไหร่ ถ้าถึงตามนั้นก็ต้องตัดสินใจปิดเหมือนโครงการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จะทำให้โรงพยาบาลสามารถดึงทรัพยากรที่เคยถูกนำไปใช้ในสถานการณ์โควิด-19 กลับคืนมาให้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้ เช่น ที่โรงพยาบาลศิริราช เตียง ICU สนามก็ต้องยุบไป ส่วนเตียง ICU ในโรงพยาบาลที่มีการขยายไปถึง 19 คน ก็จะลดลงมาเหลือ 13 เพื่อนำทรัพยากรต่างๆ กลับไปดูแลคนไข้โรคอื่นโดยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่และหายป่วยจะพบว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึงปัจจุบันกราฟมีทิศทางหัวปักลง ส่วนผู้หายป่วยก็มีตัวเลขสูงขึ้น (ดูกราฟประกอบ)
ด้าน รศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจสูงมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวของไทยที่มีความสำคัญต่อ GDP สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะเมื่อมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็มีมาตรการห้ามเดินทาง กิจการต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทั้งหมด
“นโยบาย 120 วันเปิดประเทศ เปิดการท่องเที่ยวได้ จะมีส่วนสำคัญมากในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างเยอะ ถ้าเราย้อนไปดูวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2550 ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบขนาดนี้ เพราะช่วงนั้นรัฐบาลยังสามารถทำแคมเปญโปรโมตต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยได้ เพราะไม่ได้มีมาตรการห้ามการเดินทาง ส่วนพิษโควิด-19 ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกประเทศห้ามการเดินทางไปหมด”
รศ.ดร.ยุทธนา ย้ำว่า เห็นด้วยกับการเปิดประเทศ แต่รัฐบาลจะต้องพิจารณาถึงความพร้อมในการรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมไปถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของวัคซีน ได้รับการฉีดเพียงพอแล้วหรือยัง ซึ่งบางประเทศที่เขาเปิดให้มีการท่องเที่ยวแล้วนั้น เขาจะมีวัคซีนฉีดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไปเที่ยวประเทศนั้นด้วย
“อย่าลืมต่างประเทศจะบอกคนของเขาเลยว่ามาเที่ยวไทยปลอดภัยหรือไม่จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ถ้าประเทศไทยไม่ปลอดภัยก็ไม่อยากให้คนของเขามาเที่ยวแน่นอน และเราต้องไม่ถูกจัดอยู่ในประเทศเสี่ยงที่ไม่ควรเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว เราจึงต้องควบคุมการระบาดให้ได้ดีพอที่จะทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นว่าปลอดภัย”
ทั้งนี้ หากการท่องเที่ยวฟื้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรมแรม ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ท่องเที่ยวก็จะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ภาคแรงงานจะมีงานทำ เพราะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในการนำรายได้เข้าประเทศ
ขณะเดียวกัน หากสามารถเปิดประเทศได้แล้ว รัฐบาลต้องมีมาตรการฟื้นฟูหลังโควิด-19 โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูประบบ ระเบียบต่างๆ ของทางราชการให้ทันกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อจะได้ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
“ดูอย่างเรื่องการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ที่ติดขัดระเบียบมากมาย ทำให้การนำเข้าเป็นไปด้วยความล่าช้า จนเกิดผลกระทบต่อการฉีดวัคซีน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การล็อกดาวน์และปัญหาเศรษฐกิจตามมา”
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการบริโภค การลงทุน เพราะจากปัญหาโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง คนตกงานจำนวนมาก รายได้ไม่มี แม้รัฐบาลจะชดเชยให้ก็ตามแต่ก็เป็นตัวเลขที่น้อยและอาจจะไม่ทั่วถึงกับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
“รัฐต้องดูหากควบคุมการระบาดได้แล้วจะมีการชดเชย ช่วยเหลือฟื้นฟูกันอย่างไร ทั้งเรื่องแรงงาน ธุรกิจขนาดเล็ก แบบ sme และหนี้ครัวเรือน ทำอย่างไรเขาจะลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง”
รศ.ดร.ยุทธนา ระบุว่า การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะหากเราจะดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในบ้านเราได้นั้น ต่างชาติจะมองว่ากำลังซื้อในประเทศที่เขาจะมาลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง เพราะหากมาแล้วไม่ได้อะไร เขาก็คงไม่เลือกมา แต่หันหัวไปที่ประเทศเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ที่นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะไปกันในขณะนี้
“ต่างชาติไม่อยากเข้ามาเพราะเรามีจุดอ่อน ทั้งในเรื่องของบุคลากรที่ต่างชาติต้องการภาคแรงงานที่มีฝีมือ และปัญหาการเมืองภายในประเทศที่มีการแบ่งขั้วกันชัดเจน และยังไม่สามารถได้รัฐบาลที่จะมาแก้ปัญหาตรงนี้ได้เป็นเวลานับสิบๆ ปีแล้ว ทำให้เสถียรภาพไม่มั่นคง หากมีการชุมนุมจนนำไปสู่ความรุนแรง เกิดการรัฐประหาร ก็ทำให้ต่างชาติไม่อยากเข้ามาลงทุน พูดง่ายๆ ต่างชาติไม่อยากจะเสี่ยงกับความไม่มั่นคง“
ขณะที่ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะอำนวยความสะดวกกับผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคมนาคม ขนส่ง การสื่อสารไว้รองรับ แต่นักลงทุนยังมองเรื่องการเมืองในประเทศที่จะไปลงทุนเช่นกัน
อีกทั้งรัฐจะต้องมีมาตรการจูงใจที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาโดยเฉพาะในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้มีการจัดเตรียมไว้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นไฮเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ หากทำสำเร็จเศรษฐกิจประเทศก็จะดีขึ้น ภาคการส่งออก การลงทุนจะเติบโต
“ไทยมีการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ จากวิกฤตโควิด-19 ต่อไปไม่ต้องห่วงเรามีใช้ในประเทศทั้งเรื่องวัคซีน หน้ากาก อุปกรณ์ต่างๆ และในอนาคตน่าจะส่งออกได้แต่ก็อาจจะไม่สูงมาก แต่ถ้าประเทศเรามีเพียงพอจะทำให้เราปลอดภัยได้”
ดังนั้น การที่รัฐบาลจะเปิดประเทศใน 120 วันนั้นจึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องมีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเหมือนเดิม!