xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายความมั่นคงประเมิน ‘จุดอ่อน-จุดแข็ง’ ม็อบ แกนนำเช็กเรตติ้ง รอวันดีเดย์!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาสถานการณ์การชุมนุมทุกฝ่าย มั่นใจ จะไม่บานปลายไปสู่การนองเลือดเหมือน 6 ตุลา 2516 และมีรัฐประหารเกิดขึ้น ด้านฝ่ายความมั่นคงชี้ ‘จุดอ่อน-จุดแข็ง’ ของม็อบ ส่วนแกนนำม็อบแจงการเคลื่อนไหวของม็อบอาชีวะที่สมรภูมิเดือดดินแดง ทำตำรวจและแกนนำม็อบหนักใจ ยืนยันม็อบอาชีวะมีทั้งจุดอ่อน-จุดแข็งที่สังคมต้องเรียนรู้ พร้อมเช็กเรตติ้ง รอวันดีเดย์ ด้าน 2 อดีตคนเดือนตุลา ‘สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล’ ชี้อย่ามองว่าม็อบถูกจ้าง แต่เป็นเรื่องอารมณ์ และโควิด-19 จนกลายเป็นก้อนหินที่อยู่ในรองเท้า มั่นใจอีก 2 เดือนบิ๊กตู่มีสิทธิเลือกยุบสภา-ลาออก-ปรับ ครม. ขณะที่พีรพล ตริยะเกษม ระบุรัฐต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ก่อนที่คนจะออกมาชุมนุมเพิ่มขึ้น

การชุมนุมทางการเมืองของบรรดาม็อบกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันมักจะมีกลุ่มหนึ่งที่แยกตัวไปปิดเกมด้วยการปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงอยู่เป็นประจำ ที่นี่! จึงกลายเป็นพื้นที่ สมรภูมิเดือดของกลุ่มม็อบที่มีทั้งการใช้หนังสติ๊ก ลูกแก้ว พลุไฟ ยิงแสงเลเซอร์และเสียงเบิ้ลรถมอเตอร์ไซค์ในการต่อสู้กับ คฝ. ที่มีการใช้รถฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา กระสุนลูกยาง ในการปราบม็อบ

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นคล้ายเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จึงมีการตั้งคำถามและข่าวลือเกิดขึ้นว่าจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดรัฐประหารหรือไม่?

พร้อมๆ กับเสียงเรียกร้องของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้รัฐดำเนินการกับบรรดากลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการกระจายตัวไปทั่ว มีการก้าวล่วงสถาบันฯ มีการใช้กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง Car Mob ไปสู่ Car Park สาดสี บีบแตรรถ ใช้คำผรุสวาทด่าทอ และการใช้โซเชียลมีเดียปั่นกระแสจนเกิด FAKE NEWS มากมาย

นี่คือการต่อสู้ที่ม็อบยืนยันว่าเป็นรูปแบบสันติวิธีของผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่าจะพึงกระทำได้เท่านั้น แต่สันติวิธีเช่นนี้จะทำให้เกิดรัฐประหารหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ต้องการคำตอบ!


หน่วยความมั่นคงประเมินม็อบ

แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุว่า หน่วยงานความมั่นคงได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวของม็อบกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เวลานี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องให้ความสำคัญกับการแก้วิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวของม็อบมีหน่วยงานความมั่นคงดูแล โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการจัดการในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งจะเห็นว่าตำรวจควบคุมฝูงชน ได้ออกมาปฏิบัติการดูแลพื้นที่การชุมนุมอยู่แล้ว

“ไม่ใช่แต่ฝ่ายความมั่นคงประเมิน ฝ่ายม็อบเขาก็ประเมินในการเคลื่อนไหวทุกครั้ง พูดง่ายๆ เขาก็เช็กเรตติ้งตัวเขาเองตลอดว่า เสียคะแนนไปหรือไม่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สามเหลี่ยมดินแดง เป็นเรื่องที่แกนนำม็อบระดับใหญ่ก็รู้ว่าจะทำให้เสียมวลชนใน กทม.ไปหรือไม่”

ดังนั้น การจัดกำลังของฝ่ายตำรวจในการควบคุมพื้นที่จะมีการจัด คฝ.จากทั้งนครบาลและตำรวจภูธรที่อยู่ในจังหวัดใกล้ๆ เข้ามาดูแล ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้กำลังทหาร เว้นแต่ตำรวจ ประเมินว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงก็จะขอกำลังทหารเข้ามาช่วยควบคุม และตำรวจจะถอยมาอยู่ด้านหลัง

“ตำรวจเขามีหลายหน่วย จะใช้ ตชด.เข้ามาช่วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บังคับบัญชาหรือนายเขาจะสั่งการอย่างไร แต่ในหลักการย้ำกันว่าให้ใช้วิธีการจากเบาไปหาหนัก เพราะไม่เช่นนั้นฝ่ายตำรวจจะเป็นจำเลยของสังคม”

ม็อบสมรภูมิดินแดงมี 3 กลุ่ม

รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐต้องแยกแยะให้ได้ว่าผู้ที่มาชุมนุมนั้นเป็นม็อบจริงๆ หรือเป็นพวกก่อกวนที่รับจ้างมาก่อกวน ต้องการป่วนการชุมนุม หวังผลให้เกิดการจลาจล ซึ่งรัฐเชื่อว่า ผู้ที่มาชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงนั้นมีการผสมผสานกันหลายพวก เพราะจากการที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมมาแล้วนั้น ประเมินได้ว่าผู้ชุมนุมที่นี่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีวะ เป็นวัยรุ่น ส่วนคนมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ก็มีเช่นกันแต่สัดส่วนเป็นกลุ่มไหนเท่าไหร่ ยังไม่ชัดเจน

“การต่อสู้ของม็อบกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ยอมไม่ได้ต้องตอบโต้ หรือเอาคืนทันทีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้แก๊สน้ำตา ยิงกระสุนยาง เหมือนพวกอาชีวะสถาบันต่างๆ ที่ยกพวกตีกัน จะป่วนเจ้าหน้าที่ทันที ยิ่งแรงไปม็อบก็แรงตอบ ม็อบกลุ่มนี้จะมี 3 พวก คือ 1.พวกที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองจริง 2.กลุ่มวัยรุ่นประเภทเลือดสถาบันแรง แพ้ไม่ได้ ใครทำพวกกูเจ็บต้องเอาคืน ผสมกับพวกเอามัน เพื่อนชักชวนก็มาทันที และ 3.กลุ่มรับจ้างชุมนุม”

แหล่งข่าวบอกอีกว่า การเคลื่อนไหวของรุ่นใหญ่ ที่มีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ในรูปแบบ Car Mob เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา และการจัดชุมนุมในรูป Car Park (Car Mob+ Hyde Park) เมื่อ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ต้องเฝ้าติดตามเช่นกันว่าจะถูกยกระดับการต่อสู้เป็นอย่างไร และมวลชนมีทิศทางเข้าร่วมอย่างไรบ้าง

ในส่วนของม็อบกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มราษฎร ม็อบทะลุฟ้า กลุ่มฟันเฟืองอาชีวะ และกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นแนวร่วมชู 3 นิ้ว ก็มีการเฝ้าติดตามดูการเคลื่อนไหวตลอด รวมไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่
ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่ม 3 นิ้ว ทางหน่วยงานความมั่นคงก็ได้ติดตามดูเช่นกัน




รัฐบาลประเมินสถานการณ์ผิดพลาด

ด้านแหล่งข่าวจากผู้นำการเคลื่อนไหวในยุคพฤษภาทมิฬ ระบุว่า วันนี้ต้องถือว่าเป็นโชคดีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะสถานการณ์โควิด-19 นอกจากจะเป็นการเปิดจุดอ่อนของรัฐบาลให้สังคมได้รับรู้ว่ามีการบริหารงานล้มเหลว มีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจำนวนมาก และปัญหาการจัดหาวัคซีนที่จะมาฉีดให้ประชาชน รวมทั้งวัคซีนที่จัดหามานั้นยังถูกโจมตีในเรื่องของประสิทธิภาพอีกด้วย

จากวิกฤตโควิด-19 กลับเป็นตัวช่วยให้รัฐบาลบิ๊กตู่ ตีความผิดๆ ว่าผู้ชุมนุมที่ออกมานั้น เป็นเพียงส่วนน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลบิ๊กตู่ ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นและต้องการให้บิ๊กตู่บริหารประเทศต่อไป

“รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงมองผิด ข้อมูลที่พวกเราติดตามพบว่า หากคนไม่กลัวว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีที่รักษา ชนชั้นกลางจะเข้าร่วมม็อบเต็มถนนแน่นอน แม้มีโควิด-19 ก็ยังมีผู้มาชุมนุมจำนวนมาก”

ที่สำคัญการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่มีตั้งแต่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชน รากหญ้าที่ได้รับความเดือดร้อนมาเข้าร่วมจำนวนมาก แม้ว่ารัฐจะดำเนินการจับกุมแกนนำรุ่นเด็กไปหลายคน ทั้งนายเพนกวิน หรือพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และแกนนำคนอื่นๆ ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถหยุดขบวนการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ได้

“รุ่นเล็ก สู้กันมานานตามรูปแบบ ชุดความคิดและวัฒนธรรมของพวกเขาที่ดูเหมือนจะใจร้อน แต่ในความเป็นจริงพวกนี้มีความลึกซึ้งและเข้าใจเป้าหมายในการสู้มาก รุ่นใหญ่ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ก็ต้องประเมินกันว่าถ้าสู้แบบนี้โอกาสเพลี่ยงพล้ำเยอะ ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการสู้เช่นกัน”


แกนนำประเมินสรรพกำลัง รอวันดีเดย์

โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมแบบ Car Park ก็ประเมินกันต่อเนื่อง จะเห็นว่าม็อบสามารถหลบเสียงครหาว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่จากการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ และทุกเส้นทางที่ขบวน Car Park ผ่านไปนั้น เราสามารถประเมินเสียงต่อต้านและเสียงสนับสนุนได้เช่นเดียวกันโดยเฉพาะศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ กทม. เราประเมินได้ว่าคน กทม.คิดอย่างไร และเมื่อมีการจัดทั่วประเทศ ก็สามารถประเมินในแต่ละจังหวัดได้เช่นกัน

“คนที่ออกมายืนริมถนนชู 3 นิ้ว ย่อมมีความหมาย ซึ่งหากเรามีการจัดกิจกรรมนี้บ่อยๆ และมีการแตะมือกัน ก็จะสัมผัสได้ทันทีว่าพลังของม็อบพร้อมเมื่อไหร่ วันดีเดย์ควรเป็นวันไหน เพราะการสู้กับอำนาจรัฐที่มีเครื่องมือ มีอำนาจ จึงต้องใช้ความอดทนและเวลาที่สุกงอม”

ในส่วนของม็อบรุ่นเล็ก มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือส่วนของระดับมหาวิทยาลัยก็จะเห็นเกือบทุกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทั่วประเทศ ส่วนที่ 2 จะเป็นกลุ่มของเด็กอาชีวะ ทั้งที่เรียนอยู่ในปัจจุบัน และที่จบไปแล้ว และส่วนที่ 3 จะเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนระดับมัธยมเข้าร่วม

“จะเห็นว่ากลุ่มนี้จะมีรูปแบบของตัวเอง แต่มีเป้าหมายเดียวกันเวลานี้คือไม่เอาบิ๊กตู่ บิ๊กตู่ต้องออกไป การปฏิเสธไม่เอาบิ๊กตู่ในเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของโควิด-19 และวัคซีน ที่สะท้อนภาพรัฐบาลล้มเหลวได้ตรงใจคนในสังคมมากที่สุด”

ชี้จุดอ่อน-จุดแข็ง พลังอาชีวะ

แหล่งข่าวระบุอีกว่า ในการชุมนุมทุกครั้งจะมีการประเมินและสรุปบทเรียนเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เสียมวลชนที่มีอยู่ ในทางตรงข้ามก็ต้องการได้มวลชนเข้ามาเติมเต็มให้มากขึ้น ซึ่งในกรณีของกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงนั้น เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งให้การชุมนุม ซึ่งจุดแข็งของกลุ่มผู้ชุมนุมตรงนี้คือสู้ไม่ถอย และอย่าดูถูกหรือประเมินว่าเขาไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือ ม็อบกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดในการบริหารงานของบิ๊กตู่ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจที่ครอบครัวได้รับ เรื่องของวัคซีน เป็นต้น

“ถามว่าเขามีอาวุธที่จะสู้รัฐได้หรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ได้ แต่พวกนี้โดยพื้นฐานเขาไม่ชอบตำรวจอยู่แล้ว ยิ่งมาทำรุนแรงยิ่งตอบโต้ เด็กกลุ่มนี้จะรู้สึกเหมือนอยู่ในเกมหรือไปแข่งรถบนถนนแล้วเจอตำรวจ พวกนี้เล่นเอาตำรวจปวดหัวเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ตำรวจ บรรดาม็อบรุ่นกลาง รุ่นใหญ่ก็ปวดหัว แต่ต้องให้สังคมเรียนรู้การเคลื่อนไหวของม็อบไปพร้อมๆ กัน เพราะม็อบวันนี้ไม่ได้มีกลุ่มเดียวแต่มีความหลากหลายมาก”

(รูปบน) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ (รูปล่าง) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด การเคลื่อนไหวของรุ่นใหญ่ในรูปแบบ Car Mob


อย่างไรก็ดี ม็อบกลุ่มนี้ก็ได้มีการเฝ้าระวังเช่นกันว่า จะมีสายของตำรวจหรือหน่วยความมั่นคงแฝงตัวเข้ามาร่วมชุมนุมกับพวกเขาหรือไม่ ซึ่งเราเชื่อกันว่าจะมีสายตำรวจแฝงมาแน่นอน เหมือนกับที่แกนนำม็อบรุ่นใหญ่ได้คนที่มีอุดมการณ์ชู 3 นิ้ว แฝงอยู่ในวงการตำรวจเช่นกัน

“เราเชื่อว่าการรัฐประหารไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะจะอาศัยความชอบธรรมในการหาเหตุผลทำรัฐประหารอย่างไร ยกเว้นว่าเกิดเหตุการณ์ชุมนุมเผาสถานที่ต่างๆ ทั้งในต่างจังหวัด และ กทม. แต่ปัจจุบันไม่มี ผู้ชุมนุมทุกแห่งไม่มีการพักค้างคืน ที่สามเหลี่ยมดินแดงพอได้เวลาก็กลับเหมือนกัน”

อย่ามองว่าเป็นม็อบรับจ้าง

ด้าน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สมาชิกพรรคภูมิใจไทย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหนึ่งในนักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในยุค 14 ตุลาคม 2516 บอกว่า ม็อบที่ชุมนุมกันอยู่ไม่ใช่ม็อบยืดเยื้อ พวกนี้จะมาไวไปไวโดยเฉพาะม็อบที่สามเหลี่ยมดินแดงนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

“ม็อบดินแดงก็เหมือนหินอยู่ในรองเท้า จะสร้างความรำคาญ ที่จะต้องอดทนให้ได้ ต้องไม่ไปมองว่าเด็กถูกจ้างมา เขามาเพราะอารมณ์ ความรู้สึกว่าเพื่อนถูกรังแก ไม่ได้วัคซีน ญาติเสียชีวิตเพราะโควิด-19 เขาต้องการให้บิ๊กตู่ออกไป ไม่ได้คิดเปลี่ยนแปลงเหมือน 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา 2519 และกลุ่มม็อบยังไม่มีพลังเป็นกลุ่มหน้าเดิม พวกชนชั้นกลาง คนที่มีบทบาทหรือมีอิทธิพลในสังคมยังไม่มีการขยับ”

อีกทั้งเชื่อว่าผู้ที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณนั้นมีความเข้าใจต่อเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติ เนื่องเพราะไม่มีใครต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุม แค่สร้างความรำคาญ ทั้งจากเสียงปืนจากการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา จุดพลุ เสียงเบิ้ลเครื่องยนต์ แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

“ฝ่าย คฝ. ก็ดูจะเข้าใจม็อบ และไม่ใช้วิธีการเด็ดขาดเวลานี้ ทั้งตำรวจและฝ่ายปกครองก็รู้ เข้าใจ จึงประคับประคองสถานการณ์กันไป อยากทำอะไรก็ทำไป แต่อย่าสร้างความเสียหาย เหมือนกับที่เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19”

 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
อีก 2 เดือน บิ๊กตู่อาจยุบสภา-ลาออก-ปรับ ครม.ครั้งใหญ่

นายสมศักดิ์ ระบุว่า รัฐบาลจะดึงสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และกำลังเข้าสู่ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รวมไปถึงรอดูว่าสถานการณ์การแก้วิกฤตโควิด-19 มีแนวโน้มเป็นอย่างไร

“ในช่วง 2 เดือนนี้จะเป็นแบบนี้ไปก่อน หากทุกอย่างผ่าน และตัวเลขโควิด-19 ดีขึ้น ไม่สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาล ถึงตอนนั้นรัฐบาลอาจเลือกยุบสภา ลาออก หรือปรับ ครม.ครั้งใหญ่ก็ได้”

ต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ล่าช้าม็อบจะออกมาเพียบ

ส่วน นายพีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุค 14 ตุลาฯ 2516 บอกว่า รัฐบาลต้องเร่งแก้วิกฤตโควิด-19 จัดหาวัคซีนมาเร่งฉีดและแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยด่วน เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปอีกเพียง 2 เดือน ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะเข้ามาร่วมชุมนุมและทำให้ม็อบขยายวงกว้างมากขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งกอบกู้เศรษฐกิจให้เร็วที่สุด สร้างชีวิตใหม่ให้คนที่กำลังประสบปัญหาจากโควิด-19 เพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น

“ทำให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้าน ในชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ มีเงินใช้ เช่น ออกนโยบายสร้างบ้านหลังละ 5 แสนให้กลุ่ม อสม. ด้วยการใช้แรงงานในหมู่บ้านโดยตรง ต่อหลังคาดว่าเป็นค่าแรง 1.5 แสนบาท และให้ ธ.ก.ส. ออมสิน ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนชำระเดือนละประมาณ 2,500 บาท จะทำให้มีรายได้หมุนเวียนในหมู่บ้านได้ หรือส่งเสริมหาที่ดินให้มีการปลูกฟ้าทะลายโจร แล้วหาตลาดรองรับ”


ส่วนเรื่องการเมืองนั้นเป็นการต่อสู้ทางความคิดของคน 2 ขั้ว ถ้าไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง รัฐจะต้องทำงานให้หนักและควบคุมวิธีการทำงานของตำรวจอย่าให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อตำรวจแล้ว ยังจะเป็นอันตรายต่อสังคมด้วย

“อย่าไปมองว่าเด็กพวกนี้ถูกจ้างมา แต่จะต้องมองหาวิธีการยุติความรุนแรงซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งหาทางออก”

โดยบทสรุปของทั้งหน่วยงานความมั่นคง และอดีตแกนนำกลุ่มต่างๆ เชื่อว่าการชุมนุมขับไล่รัฐบาลครั้งนี้จะไม่มีเหตุการณ์นองเลือดเหมือน 6 ตุลาคม 2516 แน่นอน เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันกับเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะปัญหาในเชิงโครงสร้างและการปั่นกระแสม็อบชนม็อบที่เคยใช้ในอดีต เชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด




กำลังโหลดความคิดเห็น