แฉสาย "ฮาร์ดคอร์" เข้ามาสวมม็อบก่อเหตุรุนแรง 4 นัดติด เป้าหมายปะทะตำรวจ ผู้จัดรู้แกวประกาศยุติชุมนุม การ์ดแนวหน้าประเมินมีทั้งผู้จัดรู้เห็นและไม่อยากให้มี กลุ่มที่ดินแดงเป็นทีมจัดตั้งพวกที่ทำก็เพื่อนๆ กันทั้งนั้น ยอมรับแก้ปัญหานี้ยาก เชื่อหากปล่อยแบบนี้ทุกครั้งม็อบฝ่อแน่
ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก แต่ละวันมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวถูกนำมาบังคับใช้เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์ทางการเมืองกลับร้อนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนัดชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 5 เหตุการณ์
เริ่มที่ 7 สิงหาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) หรือ REDEM วันที่ 10 สิงหาคม 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรือราษฎร วันที่ 11 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้า 13 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้า จัดอีกเป็นครั้งที่ 2 และ 15 สิงหาคม 2564 กิจกรรม Car Park ของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ร่วมกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ก่อนหน้านี้ มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน แต่การชุมนุมเมื่อ 7 สิงหาคม 2564 ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งปะทะกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชนบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง และมีการเผาป้อมตำรวจ
ถัดมา 8 สิงหาคม 2564 ศาลถอนประกันนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดีเดิม และแกนนำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งกลุ่มแนวร่วมฯ กำหนดวันชุมนุม 10 สิงหาคม แม้การชุมนุมในวันดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้โดยไร้แกนนำ แต่ก็เกิดการปะทะในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงอีกครั้งหนึ่ง มีการเผารถควบคุมผู้ต้องขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จากนั้นได้มีการแจ้งการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า ในวันที่ 11 สิงหาคม ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในเวลา 15.00 น. เมื่อถึงเวลาชุมนุมผ่านไปเพียง 55 นาที ทางกลุ่มประกาศยุติการชุมนุม แต่มีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ที่สามเหลี่ยมดินแดงเช่นเคย ปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน ครั้งนี้มีการเผารถยกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
13 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้า จัดการชุมนุมอีกครั้งที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แก้มือรอบที่แล้วที่ต้องยุติการชุมนุมอย่างรวดเร็ว ครั้งนี้มีการเคลื่อนขบวนไปพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงและเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดิม
และอีกหนึ่งการชุมนุมคือ 15 สิงหาคม 2564 กลุ่มของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) ร่วมกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร่วมกันจัดกิจกรรมคาร์ปาร์ก เคลื่อนขบวน 3 เส้นทางคือพื้นที่ราชประสงค์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ปิ่นเกล้า และพระนครศรีอยุธยา-ห้าแยกลาดพร้าว โดยครั้งนี้กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศนัดรวมพลังคนพันธุ์ R และชาว 2 ล้อเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ห้าแยกลาดพร้าว เวลา 14.00 น.เช่นเดียวกัน
สามเหลี่ยมดินแดงทีมจัดตั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมในรอบนี้ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มใด จะมีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งประจำการเตรียมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงทั้ง 4 ครั้ง กลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ทำหน้าที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และก่อเหตุสร้างความวุ่นวาย โดยเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคมพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงด้วยกระสุนจริง
หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงการชุมนุมทั้ง 4 ครั้ง ที่ผู้จัดการชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมจากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ปะทะทุกครั้ง กลายเป็นที่เข้าใจตรงกันว่า เมื่อม็อบประกาศยุติการชุมนุม หลังจากนั้นเป็นการเปิดไฟเขียวให้ผู้ชุมนุมที่เหลือใช้ความรุนแรงหรือไม่
“แต่ทั้งหมดสะท้อนว่าผู้จัดทราบดีว่าจะมีเหตุการณ์ปะทะแน่ เรื่องนี้เป็นไปได้ทั้งผู้จัดงานไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวเลยยุติการชุมนุม และอีกมุมหนึ่งคือรู้เห็นกับกลุ่มที่สร้างความรุนแรง เพียงแต่ตัดตอนเรื่องของความรุนแรงออกจากกลุ่มที่จัดชุมนุม” หัวหน้าการ์ดของการชุมนุมประเมินเหตุการณ์
ถ้ายึดตามหลักการชุมนุมที่ผ่านมา ภาพการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้จัดการชุมนุม โดยเฉพาะการที่ผู้ชุมนุมเปิดฉากกับตำรวจก่อน
ฮาร์ดคอร์สวมม็อบ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงกับการชุมนุมทั้ง 4 ครั้งนั้น เสมือนเป็นความจงใจที่จะปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยได้รับคำตอบจากทีมงานม็อบที่อยู่ทั้ง 4 เหตุการณ์ว่า
กลุ่มที่อยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เป็นทีมจัดตั้งประจำพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นกลุ่มหลักที่ร่วมทำกิจกรรมในจุดนัดหมาย อาจมีคนของกลุ่มที่แยกดินแดงเข้ามาร่วมในขบวนบางส่วน จากนั้นจะชักชวนให้ผู้ร่วมกิจกรรมไปสมทบที่สามเหลี่ยมดินแดง
ประเมินว่าที่สามเหลี่ยมดินแดง เป็นทีมอาชีวะกลุ่มหนึ่งที่เคยทำหน้าที่การ์ดร่วมกันมาตั้งแต่ชุมนุมในช่วงแรก แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันทำให้ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายไปในแนวทางที่ต้องการ เนื่องจากแกนนำผู้ชุมนุมส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงระหว่างมวลชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะภาพลักษณ์การชุมนุมจะออกมาไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป
ดังนั้น สายปะทะหลายทีมจึงถูกกันออกไป แต่เมื่อมีการนัดทำกิจกรรมตั้งต่อไป พวกเขาก็จะเข้ามาแทรกอยู่ด้วยเสมอ แน่นอนว่าในขณะนั้นคงไม่มีใครที่จะแยกหรือห้ามปรามทีมเหล่านี้ได้ ซึ่งทีมเหล่านี้เข้ามาตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มราษฎร เห็นชัดที่สนามหลวง ด้วยการรื้อตู้คอนเทนเนอร์ แม้ว่าแกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว แต่พวกเขายังคงอยู่พร้อมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“เราเป็นแนวหน้าด้วยกัน ดูหน้างานก็รู้ว่าเป็นทีมของใคร เพราะเป็นเพื่อนกันทั้งนั้น เพียงแต่แนวทางในการทำงานอาจไม่ตรงกัน เลยแยกตัวไปตามแนวทางที่ตัวเองถนัด ดังนั้นเมื่อต้นทางของผู้จัดชุมนุมทราบว่ามีทีมปะทะรออยู่แล้ว เลยตัดสินใจยุติการชุมนุม ไม่ใช่เป็นการส่งสัญญาณลุยกับตำรวจแต่อย่างใด” หนึ่งในชุดการ์ดที่ดูแลการชุมนุมกล่าว
สวมม็อบแก้ยาก
ทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านการชุมนุมยอมรับว่า การแก้ปัญหาจากการสวมม็อบทำได้ยาก อีกอย่างก็เป็นสิทธิของเขาในการชุมนุม ส่วนการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ที่จะเข้าร่วมต้องพึงทราบว่าอาจมีผลกระทบตามมาและต้องรับผิดชอบตัวเองหากเกิดปัญหาขึ้น
ที่จริงแล้วการเข้ามาสวมม็อบถือเป็นเรื่องของมารยาท กลุ่มที่คิดจะทำควรให้เกียรติผู้จัดด้วยการปรึกษาหารือกันก่อนว่าอนุญาตหรือไม่ เป็นไปในรูปแบบใด เนื่องจากอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์การชุมนุม หากกลุ่มที่เข้ามาสวมใช้ความรุนแรง
อย่างการชุมนุมวันที่ 15 สิงหาคมของทีมบก.ลายจุด และณัฐวุฒิ ซึ่งกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ของม่อน อาชีวะ ได้ประกาศนัดพลคนอาชีวะ กลุ่มมอเตอร์ไซค์และกลุ่มเยาวชนที่ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปลายทางที่คาร์ม็อบเคลื่อนขบวนมาจากอยุธยา แนวโน้มอาจไม่ต่างจากจุดที่แยกดินแดงที่มีทีมปะทะตำรวจเตรียมไว้แล้ว
คณะจัดงานทราบดีว่า ระยะหลังมีการสวมม็อบจากกลุ่มที่เตรียมใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ผู้จัดงานต้องการ อย่างที่ห้าแยกลาดพร้าว เราได้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้วว่า คณะที่มาทำกิจกรรมร่วมกันจะมีกรอบแค่ไหน ส่วนพวกที่ทำเกินกว่ากรอบให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไป เชื่อว่าแกนนำอย่างเต้น ณัฐวุฒิ จะควบคุมสถานการณ์ได้
ม็อบ 7 สิงหา-พม่าแนวหน้า
เขากล่าวต่อไปว่า การชุมนุมของแต่ละกลุ่มมีแนวทางแตกต่างกันไป อย่างกลุ่ม REDEM ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องม็อบไม่มีแกนนำ ในบางครั้งไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเหตุการณ์วันที่ 7 สิงหาคม 2564 พบว่ามีชาวพม่ามาร่วมชุมนุมด้วย
เพจ Look Myanmar ได้โพสต์เตือนชาวพม่าว่า แอดขอประณามกลุ่ม REDEM ที่ใช้คนพม่ามาเป็นด่านหน้าในการชุมนุมเมื่อ 7 สิงหาคม หากคุณมีความจริงใจมาด้วยใจจริง การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ใดๆ เลยที่เกี่ยวข้องกับคนพม่าเลย ดังนั้น การชุมนุมเมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาไม่สมควรจะมีคนพม่ามาเกี่ยวข้อง
และขอให้คนพม่าที่อ่านเพจนี้เตือนไปยังพี่น้องร่วมชาติ ท่านที่มาหางานทำในประเทศไทย ไม่ง่ายที่จะได้รับอภัยโทษในประเทศนี้และหากพวกท่านโดนจับ ใครจะมาจ้างทนายให้ท่าน รวมถึงหากโดนจับท่านจะถูกแบล็กลิสต์โดนส่งกลับพม่า และกลับมาไทยไม่ได้อีก ด้วยความเป็นห่วงคนพม่าที่เข้ามาชุมนุม หรืออยากจะมาร่วมชุมนุมในครั้งต่อไป
ส่วนเหตุการณ์ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันดังกล่าวตำรวจสามารถควบคุมพื้นที่ได้ก่อนช่วงเวลาเคอร์ฟิว
ม็อบ 10 สิงหา-รุ้งดึงกลับไม่เป็นผล
ส่วนการชุมนุมเมื่อ 10 สิงหาคมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แกนนำถูกดำเนินคดี ส่วนที่ยังพอเหลืออยู่อย่าง น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) พยายามโพสต์บนทวิตเตอร์หลายข้อความที่จะยับยั้งสถานการณ์ที่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“คู่ต่อสู้ของเราไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ คฝ. (เดี๋ยวพวกนี้ไว้รอเช็กบิลทีหลัง) แต่คู่ต่อสู้ของเราตอนนี้คือพวกทรราชและเรากำลังไปล่ามัน ขอให้มวลชนใช้อุปกรณ์ตามที่เรากำหนดไว้เท่านั้น”
“มุ่งที่เป้าหมายห้ามปรามกันให้ได้ มองเป้าหมายใหญ่คือการไล่ทรราช หยุดการปะทะเมื่อไม่จำเป็น”
“มวลชนที่อยู่แยกดินแดงหนูขอค่ะ ขอให้กลับบ้านโดยทันที เพื่อความปลอดภัยของทุกคนค่ะ”
“วันนี้ไม่ใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเรา เรายังต้องการพลังจากพี่น้องมวลชนทุกคนในการต่อสู้ครั้งต่อไป วันนี้พวกเราบรรลุเป้าหมายเบื้องต้นแล้ว ขอให้มวลชนกลับบ้านโดยทันที เพื่อออกมาต่อสู้ร่วมกันในครั้งต่อไป”
เช่นเดียวกับม็อบทะลุฟ้า ที่เกิดการปะทะทั้ง 2 ครั้ง ในขบวนเราคุมคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมได้ แต่จะมีพวกวัยรุ่นที่แซงขบวนขึ้นไปจนไปรื้อตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกมาระงับเหตุ
แต่ละม็อบเป้าสุดท้ายไม่เหมือนกัน
แม้แต่ละกลุ่มจะมีเป้าหมายเดียวกันคือไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศต่อไป แต่เป้าหมายสุดท้ายอาจไม่เหมือนกัน กลุ่มน้องๆ เยาวชน แน่นอนว่าสายที่เขาหนุนคือพรรคสีส้ม และคนของพรรคสีส้มก็เข้าร่วมกิจกรรมหลายครั้ง ส่วนกลุ่มที่เข้ามาใหม่ เป็นรุ่นใหญ่อย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ชัดเจนว่ามาทางสายเพื่อไทย
วิธีการของแต่ละสายก็ไม่เหมือนกัน กลุ่มเด็ก-เยาวชน เน้นไปที่การใช้พื้นที่ Social ในการแจ้งข่าวสาร เร้าอารมณ์ หลายครั้งไม่ใช่ข้อมูลจริง จึงทำให้ไม่สามารถครองใจกลุ่มคนที่ยึดความถูกต้องของข้อมูลได้ ส่วนรุ่นใหญ่ เน้นความรอบคอบรัดกุม ยึดการปราศรัย ไม่เน้นการพามวลชนไปพื้นที่เสี่ยง อาจไม่ทันใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจึงมีจำกัด
เยาวชนปลดแอก หรือ REDEM กลุ่มนี้แม้จะเคยเป็นเนื้อเดียวกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ หรือราษฎร มาก่อนแต่เกิดความขัดแย้งกันเรื่องแนวคิดของแกนนำแต่ละกลุ่ม จึงแยกกันทำงาน สังเกตได้ว่าสายเยาวชนปลดแอกจะไม่โพสต์กิจกรรมของกลุ่มราษฎร แต่กลุ่มราษฎรหลายครั้งพร้อมสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนปลดแอก และเข้ามาแก้ปัญหาหน้างานในการชุมนุมบางครั้ง รวมถึงช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลในบางสถานการณ์
กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ หรือราษฎร นอกจากจะเดินกิจกรรมของตนเองแล้ว ยังมีอีกทีมหนึ่งคือทะลุฟ้า ดังนั้น จึงช่วยสนับสนุนกิจกรรมร่วมกัน
ส่วนกลุ่มอื่น เช่น ไทยไม่ทน เดิมมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายญาติวีรชนเดือนพฤษภา 35 เมื่อถูกคำพิพากษาจำคุกอีกครั้งจากคดีเก่า ทำให้กลุ่มนี้อ่อนแรงลงไป มีการฝากงานให้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เข้ามารับหน้าที่ต่อ และได้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ออกมาทำกิจกรรมคาร์ม็อบร่วมกัน