xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจม็อบ 3 นิ้วถอยหรือรุกสถาบันฯ! ชี้ ‘บิ๊กตู่’ เป่านกหวีด ทหารพร้อมเข้าควบคุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาการชุมนุมของม็อบ 3 นิ้ว ที่จะเคลื่อนพลไปที่พระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ขณะที่กลุ่มรักสถาบันฯ จะออกมาปกป้องเช่นกัน ด้านเลขาธิการพระปกเกล้า ชี้การชุมนุมที่ผ่านมายึดแนวทางสันติวิธี การไล่ ‘บิ๊กตู่’ เป็นเรื่องปกติทางการเมืองแต่ระวังการก้าวล่วงสถาบันฯ เพราะเป็นเรื่องที่เปราะบางในความรู้สึกของคนไทย เชื่อไม่มีรัฐประหาร เพราะทุกฝ่ายมีวุฒิภาวะ ด้าน ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติวิธี ยันผู้ชุมนุมถูกกดทับมานาน ต้องการให้เกิดความสมดุลทางอำนาจ หากเกิดรัฐประหารจะเข้าร่วมม็อบทันที ส่วนแหล่งข่าวกองทัพ ระบุฝ่ายความมั่นคงพร้อมหากรัฐเป่านกหวีด มั่นใจม็อบ 3 นิ้ว อาจถอย!

มีการตั้งคำถามว่า การชุมนุมของม็อบกลุ่มต่างๆ ที่ออกมารวมพลทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าบริหารงานประเทศล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการแก้วิกฤตโควิด-19 นั้น ดูเหมือนจะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงและยกระดับพุ่งเป้าไปสู่การคุกคามสถาบันฯ ที่ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้ต่อการกระทำของกลุ่มคนเหล่านี้

อย่างไรก็ดี แนวทางในการต่อสู้แบบสันติวิธี ที่คนกลุ่มนี้กำลังเดินอยู่นั้นจึงไม่ใช่แนวทางสันติวิธีในมุมมองของฝ่ายที่เห็นตรงข้าม หรือฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอน

โดยเฉพาะการประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เพื่อเคลื่อนขบวนไปพระบรมมหาราชวังนั้น ได้สร้างความกังขาให้คนในสังคมอย่างมากว่า จะนำไปสู่ความรุนแรงได้หรือไม่? เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้ข้ามทะลุจากเรื่องของการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปสู่การจาบจ้วงสถาบันฯ ไปแล้ว!

ตรงนี้คือเหตุผลสำคัญที่บรรดาคนรักสถาบันฯ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน และนัดรวมพลเมื่อวันที่ 5 ส.ค.เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการกับคนเหล่านี้


ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมาถือเป็นการชุมนุมแบบสันติวิธี แต่มีคำถามตามมาที่ผู้ชุมนุมต้องคิดคือสถานการณ์แบบนี้ ต้องมอง 2 ประเด็นคือ ประเด็นทางการเมืองเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลในด้านการบริหารที่มองว่าล้มเหลว ก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาชุมนุม ส่วนสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่รัฐบาลและสังคมจะกลัวว่าจะทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ได้เช่นกัน

“การชุมนุมที่ไม่ไปสร้างความรุนแรง เสียหาย ผมว่าเป็นเรื่องสันติวิธีนะ เพราะสิ่งที่แสดงออกทำให้เกิดแรงกดดัน เป็นเรื่องปกติของการเมือง คุณไม่ได้ไปทำรุนแรง ไม่ได้ไปยิง เป็นการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ คุณบีบแตรรถ ไปไหน คุณผูกธง การชุมนุ มเป็นเรื่องปกติ กฎหมายก็ให้ เพียงแต่วันนี้มันจะซับซ้อนมากขึ้น”


ส่วนที่รัฐบาลกังวลในการชุมนุม ด้วยการให้เหตุผลเรื่องของการควบคุมโรคระบาดนั้น ผู้ชุมนุมก็อาจจะรู้สึกว่ารัฐบาลเอาข้อนี้มาอ้างซึ่งในความเป็นจริงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และประเด็นนี้อาจทำให้คนจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่มาเข้าร่วมเพราะเป็นการระบาดที่รุนแรงมาก

แต่ในมุมมองของบางกลุ่มเข้าใจว่าการชุมนุมเรียกร้องแบบสันติวิธีต้องไม่ใช่แบบที่กลุ่มม็อบดังกล่าวกระทำอยู่นั้น ศ.วุฒิสาร ตันไชย บอกว่า การที่จะทำให้เกิดอำนาจต่อรองจะต้องมีการเผชิญหน้า ซึ่งการเผชิญหน้ามีด้วยกัน 2 อย่างคือ การเผชิญหน้าแบบประนีประนอม ด้วยการยื่นหนังสือ หรือการเจรจาเงียบๆ แต่การออกมาชุมนุมก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการต่อสู้ทางความคิด แต่ต้องอยู่ในขอบเขต และประเทศไทยก็มีกฎหมายการชุมนุมว่าต้องขออนุญาต อย่างไร และผู้ชุมนุมก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

“การชุมนุมที่ไม่ไปสร้างความรุนแรง เสียหาย เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ผมว่าเป็นเรื่องสันติวิธีนะ ซึ่งทุกฝ่ายต้องไม่ยั่วยุ ต้องตั้งมั่นว่าไม่มีความรุนแรง การแสดงวาจาหยาบคาย ก็ต้องพิจารณา คือ แต่ละคนจะมีวิธีของตัวเอง ต้องพิจารณา สังคมมีการรับรู้ หรือปฏิกิริยาเป็นอย่างไร”


ดังนั้น การชุมนุมเพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกนั้นมีการชุมนุมเรียกร้องมานานแล้ว จึงถือเป็นเรื่องปกติในทางการเมือง ซึ่งการเมืองเป็นเรื่องของระบบรัฐสภา ข้อเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ ที่มีขึ้นก็จะถูกนำไปรวมเมื่อมีการเปิดสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

“ก็ต้องดูในการอภิปราย ว่าพรรคฝ่ายค้านมีเหตุผลอะไร ฝ่ายรัฐบาลตอบอะไร ซึ่งหลายคนอาจไม่มีความหวังกับสภาในปัจจุบัน เพราะเมื่อโหวตกันก็อยู่ที่การยกมือ อย่างไรก็แพ้ แต่พรรคร่วมต้องคิดว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ฝ่ายค้านนำเสนอ รัฐบาลตอบอย่างไร ประชาชนเชื่อในสิ่งที่ฝ่ายค้านนำเสนอ แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลยกมือให้ ก็จะมีบทลงโทษทางการเมืองในอนาคต”

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ย้ำว่า ในทางการเมืองแพ้ชนะอยู่ที่การนับคะแนน อยู่ที่มือที่ยกและจะไม่มีทางได้เห็นว่าพรรครัฐบาลพลิกสถานการณ์ไปยกมือให้ฝ่ายค้านสิ่งสำคัญในการนำเสนอข้อมูลนั้น ประชาชน มีการบันทึก มีการจดจำในข้อมูลของผู้ที่นำเสนอ ต้องไม่ใช่วาทะ ไม่ใช่โวหารอีกต่อไป

“นักการเมืองต้องนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ ทำให้คนในสังคมเชื่อได้ พรรคร่วมรัฐบาลเชื่อ หากไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ จะอาศัยความได้เปรียบไม่ตอบอะไร เดี๋ยวก็ชนะ ซึ่งก็ชนะอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อพรรคการเมืองในระยะยาว”

สำหรับการชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้นายกฯ ลาออก จึงเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมรู้สึกเคยชิน เช่นเดียวกับที่นายกฯ บิ๊กตู่ ก็จะตอบกลับมาว่า จะไม่ลาออก ไม่ยุบสภาแน่นอน

“ถ้าผู้ชุมนุมมีหลักฐานอะไร ก็เก็บรวมรวมข้อมูลให้ฝ่ายค้านไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะสภาเป็นทางออกในการแก้ปัญหาทางการเมืองได้”


แต่หากการชุมนุมมีการล่วงล้ำไปถึงเรื่องของสถาบันฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเปราะบางในความรู้สึกของคนในสังคมจะต้องพึงระวังมาก และต้องไม่ลืมว่ามีข้อกฎหมายที่ผู้ชุมนุมต้องระมัดระวังมากขึ้นด้วย จะไม่เหมือนกับประเด็นขับไล่นายกรัฐมนตรี แม้ว่านายกฯ จะมีแฟนคลับเชียร์อยู่ก็ตาม แต่นายกฯ เป็นบุคคลสาธารณะ เข้ามาบริหารประเทศ มีทั้งคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจในการแก้ปัญหา ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะออกมาหรือไม่ออกมาก็ได้เป็นเรื่องปกติทางการเมือง

“เรื่องสถาบันฯ เป็นความเปราะบาง ละเอียดอ่อน หรือความเสี่ยงต้องระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องที่คนในสังคมมีความรู้สึกแตกต่างกันพอสมควรทั้งฝ่ายเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ต้องมาเผชิญหน้า ซึ่งฝ่ายผู้รักษากฎหมาย ก็ต้องระมัดระวัง”

ส่วนจะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่นั้น เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า เชื่อว่าไม่นำไปสู่การรัฐประหารแน่นอน เพราะทุกฝ่ายต่างมีวุฒิภาวะที่จะกระทำภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ ทุกฝ่ายต้องรู้ว่า สังคมไทยรับไม่ได้กับความก้าวร้าว หยาบคาย เพราะถ้ายังทำอยู่มวลชนที่สนับสนุนจะถดถอยไปเอง

“ต้องคุยด้วยเหตุผล ด้วยตรรกะ เพราะสังคมมีหลายกลุ่ม หลายความคิด ถ้าจะใช้วิธีที่ใช้อยู่จะได้แค่กลุ่มเดียว คนอาจจะเห็นด้วยกับเนื้อหาที่ฝ่ายคุณนำเสนอ แต่เขาอาจรับไม่ได้กับวิธีการของกลุ่มคุณก็ได้”

ทั้งหมดจึงอยู่ที่วิธีการแสดงเจตจำนงว่าต้องการอะไร และที่สำคัญที่สุดจะต้องไม่มีความรุนแรง ไม่ต้องเผชิญหน้ากัน ต้องมีความอดทนหากต้องการให้สังคมเชื่อสิ่งที่นำเสนอ ต้องฟังคนอื่น และใช้ภาษาที่มีความสุนทรีย์ ไม่ใช่ใช้ภาษาที่ฟังกันไม่ได้ ไร้เหตุและผล และไม่ใช่ข้ออ้างความไม่สงบที่ทหารจะเข้ามารัฐประหารเช่นกัน


“ทุกวันนี้มีความเสี่ยงเยอะ เราไม่รู้ อะไรคือข้อเท็จจริงคนที่มีขั้วทางความคิด ผมอยากจะใช้คำว่า อคติด้วยซ้ำไป เพราะว่าไม่ชอบอยู่แล้ว ข้อมูลอะไรที่ถูกใจเราเราจะเลือกเชื่อ ทำให้ระหว่างข้อมูลจริง กับข้อมูลความเท็จเราจะไม่ค่อยได้แยกกัน”

อีกทั้งผู้ชุมนุมจะต้องประเมินด้วยว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ใช้ในการชุมนุมนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ และต้องตระหนักด้วยว่าคนในสังคมมีการรับรู้ หรือปฏิกิริยาอย่างไรกับการแสดงออกในกิจกรรมนั้นเช่นกัน

ด้าน ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติวิธี ระบุว่า การเคลื่อนไหวของม็อบที่ผ่านมาเป็นกิจกรรมแบบสันติวิธี และการที่กลุ่มคนต่างๆ ออกมาเรียกร้องเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยึดครองอำนาจมาเป็นเวลานานตั้งแต่รัฐบาล คสช.จนถึงปัจจุบันนี้ ถือเป็นยุคอำนาจนิยมสูงสุด และทำให้คนในสังคมรู้สึกได้ว่าอำนาจต่างๆ มีการกดทับมากจนขาดสิทธิเสรีภาพและทำให้การใช้อำนาจไปละเมิดผู้คนจำนวนมากในสังคม

“เรื่องวัคซีนที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ใช่การพูดแบบไร้เหตุผลว่าไม่ดีอย่างไร รัฐบาลก็ยังสั่งเข้ามาไม่หยุด ผู้คนล้มตายบนถนนเพราะติดโควิด-19 ไม่ได้รับการรักษาก็ว่าเป็นเฟกนิวส์ เด็กๆ ที่ออกมาชุมนุมตามกฎหมาย ก็ไล่จับ ใช้ความรุนแรงยิงกระสุนยางเข้าใส่ หรือเมื่อกระบวนการเข้าสู่ศาล กลุ่ม กปปส.ได้รับการประกันตัว แต่เด็กๆ ไม่ได้โอกาสเหมือนเขา”

แต่ยืนยันว่าผู้ชุมนุมยังคงยึดหลักสันติวิธี ซึ่งคำว่าสันติวิธีไม่ใช่แค่การอยู่นิ่งๆ ยื่นหนังสือถึงผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่เป็นการชุมนุมตามแนวสันติวิธีเพื่อกดดันให้ฝ่ายผู้มีอำนาจได้เห็นได้รับรู้ถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและความต้องการของคนในสังคมที่มีความทุกข์ยาก มีความเหลื่อมล้ำและต้องต่อสู้ท่ามกลางความแตกแยกของสังคมที่ร้าวลึกมาตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา

“ถ้าย้อนไปดูจะเห็นว่าในยุคพฤษภาทมิฬ ประชาชนยังไม่มีความแตกแยก สามารถรวมตัวไปไฝว้ (ไฟต์ คือต่อสู้) กับทหารที่มี บิ๊กจ๊อด เป็นหัวหน้าในการยึดอำนาจ และตั้ง พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะประชาชนเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลทหารตอนนั้นเป็นปัญหาจริงๆ”

แต่หลังจากปี 2549 เป็นต้นมา สังคมไทยมีความร้าวลึกแตกแยกกันเป็นขั้ว แบ่งเป็นสีเหลือง สีแดง และเสื้อหลากสี จนมาถึงปัจจุบันความร้าวลึกยิ่งยากต่อการยึดสันติวิธีรูปแบบของการยื่นหนังสือเพียงเท่านั้น แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ยังคงยึดกิจกรรมตามแนวทางสันติวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงออกมาไฝว้กัน ซึ่งยอมรับว่าการไฝว้ในยุคนี้ยากมากๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากยุคของกลุ่มพันธมิตรและยุคของ กปปส.เคลื่อนไหว


ดร.เอกพันธุ์ ย้ำว่า ยุคนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากฝั่งอำนาจน้อย หรือผู้ชุมนุมไม่มีกลุ่มที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ที่เรียกว่าตำรวจหัวแตงโม หรือกลุ่มข้าราชการเกียร์ว่าง ให้การช่วยเหลือซึ่งต่างจากยุคพันธมิตร หรือ กปปส. ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบ คือกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นศูนย์ ที่ต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจเต็ม 10 คือ 0 ต่อ 10 แต่ในยุคของ กปปส. หรือพันธมิตร ฝ่ายม็อบมีอำนาจที่สูสีกับผู้มีอำนาจรัฐ คือ 5 ต่อ 5 หรือ 4 ต่อ 6 ก็ยังถือว่าต้นทุนของกลุ่มเคลื่อนไหวยังเป็นพลังในการต่อสู้ได้ แต่ยุคนี้ไม่มีเกียร์ว่าง เพราะไม่มีใครกล้าเอาอนาคตเส้นทางชีวิตราชการมาเสี่ยงด้วย

ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลบิ๊กตู่ อยู่มานานตั้งแต่ คสช.ต่อด้วยรัฐบาลพลังประชารัฐ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของกฎหมาย ของกระบวนการยุติธรรม ไปจนเกิดการรวบอำนาจไว้อย่างชัดเจน

“น้องๆ ใช้สันติวิธีต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจที่ต่างกัน เพราะอำนาจถูกรวบหมด ไม่มีข้าราชการเกียร์ว่างที่จะมาช่วย ใครจะอยากมาไฝว้ (ไฟต์ คือต่อสู้) ความเจริญก้าวหน้าไม่มี เขาจึงต้องสู้เพื่อให้อำนาจมันสมดุลมากขึ้น ซึ่งรัฐประหารก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถ้าไร้ตรรกะ...”

สำหรับในการทำกิจกรรมนั้นเท่าที่มีการสอบถาม เด็กๆ จะกลับมาประเมินเช่นกันว่ากิจกรรมที่ทำไปนั้น ตรงไหนที่ทำให้เสียมวลชนไปบ้างเขาก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น เช่น กรณีที่มีการคุกคามศาลยุติธรรม มีการนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผย เป็นต้น

นอกจากนี้ มีสิ่งที่คนในสังคมกังวลกันว่าการชุมนุมของม็อบ 3 นิ้ว อาจจะนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกหรือรัฐประหารเกิดขึ้น ได้นั้น ดร.เอกพันธุ์ บอกว่า หากไร้ตรรกะ และนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารจริง เขาพร้อมที่จะโดดเข้าร่วมเป็นแกนนำในการต่อสู้กับการรัฐประหารเช่นกัน เพราะในความเป็นจริงการเคลื่อนไหวของมวลชนครั้งนี้เพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธีเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจเท่านั้น


แหล่งข่าวจากทหาร บอกว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีการเก็บข้อมูลและเชื่อว่าในฝ่ายความมั่นคงได้มีการพูดคุย หารือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไว้แล้ว และการที่มีกลุ่มที่ปกป้องสถาบันฯ ออกมาต่อต้านและหากมีการปะทะกันจริงกับม็อบ 3 นิ้ว ในเบื้องต้นเป็นเรื่องของกำลังตำรวจหน่วยควบคุมฝูงชนจะดำเนินการ และหากดูแล้วไม่ไหวถึงจะมีการขอกำลังทหารเข้าควบคุม ซึ่งถือว่าเป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลจะสั่งให้ทหารออกมาควบคุมเพราะในครั้งนี้กลุ่มคนรักสถาบันฯ ก็ได้ยื่นหนังสือไปที่ ผบ.ทบ. และ ผบ.สูงสุด อยู่แล้ว

“ไม่ต้องไปกังวล ม็อบ 3 นิ้ว อาจกำลังประเมินสถานการณ์ เพราะเห็นกลุ่มคนที่รักสถาบันฯ ออกมาก็ได้ ต้องจับตาดูกันไป แต่เชื่อเถอะรัฐบาลเตรียมพร้อมอยู่แล้ว นายกฯ เป็นรัฐมนตรีกลาโหมด้วย ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงทั้งสิ้น”

ขณะที่กลุ่มม็อบ 3 นิ้ว ได้ไปยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ามาสังเกตการณ์ชุมนุมและการปฏิบัติงานของตำรวจในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เพื่อเคลื่อนไปที่พระบรมมหาราชวังเช่นกัน!




กำลังโหลดความคิดเห็น