ตลาดหุ้นกู้ส่งสัญญาณไม่ดี โควิด-19 ทำหลายบริษัทมีปัญหาสภาพคล่อง ขอขยายอายุชำระหนี้ ขณะที่คนมีเงินออมหลายคนไม่ทนดอกเบี้ยต่ำเดินเข้าสู่ตลาดหุ้นกู้ หากเกิดปัญหาต้องทำใจรับสภาพ ด้านชมรมคนถือหุ้นกู้เตือนกันเอง กอดเงินไว้แม้ดอกต่ำ แต่ต้นไม่สูญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้คนมีบัญชีเงินออม 5 หมื่น 1 แสน เริ่มถอนเงินใช้
โควิด-19 ที่หวนมาระบาดระลอกนี้รุนแรง มีการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ผู้ติดเชื้อในเมืองไทยทะลุหลักหมื่นต่อเนื่องกันมาตลอด ยอดผู้เสียชีวิตเกินร้อยคนต่อวัน ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการเข้มเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และมีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการฉีดวัคซีน
แต่โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนเท่านั้น มิติอื่นๆ ก็ถูกกระทบตามไปด้วย ทั้งเรื่องทางสังคม เด็กหลายคนต้องกำพร้า บางคนอาจไม่ได้เรียนต่อ บ้าน-รถยนต์อาจถูกยึด หรืออาจถูกฟ้องร้องบังคับเพื่อชำระหนี้ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจมีทั้งถูกกระทบโดยตรงและทางอ้อม หากสถานการณ์นี้ยืดเยื้อและแพร่ระบาดในวงกว้างมากขึ้น ภาคธุรกิจอื่นย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย
หนีเงินฝากมากขึ้น
ในอีกด้านหนึ่งผลจากโควิด-19 ยังกระทบถึงผู้ที่มีเงินออม ไม่ว่าเขาจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคงหรือไม่ก็ตาม ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง จนช่องทางในการออมเงินที่ไม่มีความเสี่ยงเหลือน้อยลง จนหลายคนตัดสินใจยอมเลือกออมเงินในพื้นที่เสี่ยงจากเดิมที่ยึดหลักเงินต้นครบ แลกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงในระดับ 3% ขึ้นไปในตลาดหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน
ตัวแทนจำหน่ายหุ้นกู้บริษัทหลักทรัพย์กล่าวว่า ช่วงที่ดอกเบี้ยเงินฝากลดต่ำลง คนมีเงินออมไม่มีแหล่งออมเงินที่ไม่มีความเสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูง ไม่มีโปรโมชันของธนาคารพาณิชย์ในการระดมเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาลหลายรุ่นจำหน่ายหมดลงอย่างรวดเร็ว สลากออมทรัพย์ของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธ.ก.ส.) ลดรางวัลและลดการออกสลากลง ส่วนสลากออมทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์แม้จะยังมีจำหน่ายอยู่แต่ราคาต่อหน่วย 5,000 บาท ถือค่อนข้างสูงหลายคนเข้าถึงยาก
“ลูกค้าจรเข้ามาซื้อหุ้นกู้มากขึ้นในช่วงโควิด-19 เนื่องจากแหล่งออมในช่องทางอื่นผลตอบแทนต่ำจนไมน่าจูงใจ คนที่เข้ามาในตลาดหุ้นกู้ทราบดีว่ามีความเสี่ยงทั้งเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ทั้งจากดอกเบี้ยและเงินต้น แต่ยอมแลกเพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่า”
หุ้นกู้จากบริษัทที่มีความมั่นคงสูงได้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A มักจำหน่ายผ่านธนาคารพาณิชย์ จัดสรรให้ลูกค้าประจำของธนาคาร ส่วนหุ้นกู้ที่อันดับรองลงไปจะหาได้จากบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ส่วนใหญ่แล้วหุ้นกู้ระดับ A ขึ้นไปมักให้ผลตอบแทนต่ำกว่าหุ้นกู้ที่ได้รับอันดับต่ำกว่า แน่นอนว่าความเสี่ยงมีความแตกต่างกัน
หน่วยงานที่กำกับดูแลการออกหุ้นกู้ พยายามช่วยผู้ลงทุนผ่านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หุ้นกู้ที่เสนอขายผู้ลงทุนทั่วไปได้จะต้องอยู่ที่ BBB+ ในอดีตหุ้นกู้ระดับ A ก็เคยมีปัญหามาแล้วเช่นกัน เพราะการจัดอันดับเป็นเพียงการวิเคราะห์จากสถานการณ์ในขณะนั้น ไม่ได้รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของบริษัท
หุ้นกู้มีหลายประเภท ผู้ที่ต้องการลงทุนต้องศึกษารายละเอียดให้ดี เพราะจะมีผลต่อการชำระหนี้หากบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้
หุ้นกู้ยืดหนี้ 9.8 พันล้าน
ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) เปิดเผยว่า สิ้นไตรมาส 2 ปี 2564 มีหุ้นกู้เอกชน 9 บริษัท จำนวน 17 รุ่น ขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป มูลค่ารวมกว่า 9.8 พันล้านบาท เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบโควิด-19 ส่งผลต่อสภาพคล่อง กิจการที่ขอยืดหนี้หุ้นกู้ออกไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์และเหล็ก
ผู้บริหารของ Thai BMA กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า เป็นตัวเลขที่ยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนอย่างชัดเจน อาจมีรายใหม่ที่ขอยืดหนี้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ปีนี้ยังไม่ดีขึ้น แต่เชื่อว่าจะมีน้อยรายและไซส์ไม่ใหญ่มากระดับ 1,000-2,000 ล้านบาทเท่านั้น หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายหรือควบคุมได้ เชื่อว่าบริษัทเหล่านี้จะกลับมามีกระแสเงินสดและสามารถจ่ายคืนผู้ถือหุ้นกู้ได้ โดยคาดว่าจะไม่มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้
จับตาหุ้นกู้อสังหาฯ
นักบริหารเงินให้ความเห็นว่า การขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปของผู้ออกหุ้นกู้ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักของผู้ถือหุ้นกู้บริษัทดังกล่าว แม้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะเพิ่มดอกเบี้ยให้อีกเล็กน้อยก็ตาม นั่นเป็นกรณีของผู้ที่ซื้อหุ้นกู้ไปก่อนหน้า ส่วนหุ้นกู้รุ่นใหม่ที่ทยอยออกมานั้นเป็นสิทธิของผู้สนใจพิจารณา อันดับความน่าเชื่อถือก็ส่วนหนึ่ง แต่ควรดูแนวโน้มของอุตสาหกรรมกับแนวโน้มของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประกอบด้วยว่ามีผลต่อความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้หรือไม่
โควิด-19 ทำให้อำนาจซื้อของคนลดลง ทั้งขาดรายได้ ตกงานหรือยอดค้าขายไม่ดีเหมือนเดิม การควบคุมโรคถือเป็นปัจจัยชี้ขาด ถ้ารายได้ของคนหายไปเป็นจำนวนมาก ย่อมกระทบต่อยอดขายของภาคธุรกิจ
ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 หลายคนจับตามองกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นพิเศษ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกซบเซา หลายบริษัทเร่งขึ้นโครงการ จากมาตรการภาษีที่ดินของรัฐบาล จนเกิดความกังวลว่าจำนวนที่อยู่อาศัยจะล้นตลาด สถาบันการเงินถูกควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพราะเกรงภาวะฟองสบู่ เมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะลำบาก กำลังซื้อคนในประเทศลดลง ดังนั้น การเปิดโครงการใหม่คงทำได้ยากในเวลานี้
ขณะที่ต้นทุนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เงินตลอดเวลา เมื่อไม่มีรายได้ใหม่เข้ามาจึงอาจเป็นปัญหาในเรื่องภาระหนี้สินที่มี เช่น หุ้นกู้ ดังนั้นหุ้นกู้กลุ่มนี้จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ
แนะกอดเงิน แม้ดอกต่ำ-ต้นไม่สูญ
ขณะที่เพจชมรมคนรักหุ้นกู้และพันธบัตร Wandhana Wanwong ได้โพสต์ข้อความ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจยังไม่จบง่ายๆ ช่วงนี้สมาชิกอย่าเอาเงินไปเสี่ยงกับตราสารใดที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงมากเลยครับ อ่านที่นักลงทุนสมัยก่อนที่โดนผิดนัดชำระหนี้กันให้มากๆ เข้าไว้ หลายบริษัทมีทั้งกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจ มีเครดิตเรตติ้งที่ดี ก็ยังสามารถผิดนัดชำระหนี้กันเรื่อยมา อย่าคิดว่าชื่อเสียงดีจะไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้เสมอไป
ในเมื่อลงทุนไปแล้วทำให้นอนไม่หลับแล้วยังจะไปเสี่ยงเพียงเพื่อดอกเบี้ยที่มากขึ้นประมาณ 4% ต่อปี 2 ปีผ่านไปได้มากขึ้นรวม 8% แล้วเงินต้นทั้ง 100% ล่ะครับ ทำไมไม่รอสัก 1-2 ปีให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง ยิ่งถ้าคิดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นเพราะภาวะเงินเฟ้อที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้น แล้วจะรีบลงทุนตอนนี้ไปเพื่อ
ช่วงนี้อย่าไปกังวลกับการลงทุนที่จะต้องเอาชนะภาวะเงินเฟ้อเลยครับ ยังไงก็ไม่มีทางชนะ อัตราเงินเฟ้อจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้นโดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มฟื้นตัว ดังนั้นยิ่งคิดจะเอาชนะก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม ในชีวิตจริงตราบใดที่เงินต้นเรายังอยู่ครบแค่อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูงขึ้นก็ยังดีกว่าสูญเงินต้น
วันนี้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แต่ยังมีอนาคตที่ยังคลุมเครือรอเราอยู่
ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีวันหมดอายุนั้นจะลงทุนไปเพื่อ.. ในเมื่อเราไม่ได้รับคืนเงินต้นเลย เหมือนให้เงินคนอื่น 100 แล้วเค้าแบ่งคืนให้แค่ปีละไม่กี่บาทเท่านั้น ยิ่งคิดเป็น NPV แล้วน่าจะไม่คุ้ม ที่ให้คืนในรูปดอกเบี้ยก็เอาจากเศษของเงินต้นที่เราจ่ายไปนำกลับมาให้เราในชื่อดอกเบี้ยเท่านั้น
เรื่องสุดท้ายคือ หลักประกันของตราสารหนี้ พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าเป็นหลักประกันที่มีความมั่นคงเพียงพอหรือเปล่า เป็นหลักประกันของกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ถ้าเกิดปัญหาในกลุ่มแล้วหลักประกันนี้ก็อาจจะลอยหายไปในอวกาศได้เช่นกัน
หน่วยงานที่ดูแลและกำกับไม่ได้รับประกันเงินต้นให้แก่นักลงทุนแต่อย่างใด ไม่รับรองแม้กระทั่งความถูกต้องของข้อมูลเพราะอาจจะถูกแต่งเสริมขึ้นมาได้ แค่ยื่นให้พิจารณาตามขั้นตอนที่กำหนดอย่างถูกต้องก็สามารถออกเสนอขายให้นักลงทุนได้
สิ่งที่ควรทำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่นับวันจะเลวร้ายลงและยังไม่เห็นโอกาสที่จะพลิกฟื้นกลับมาในระยะนี้คือ การรักษาเงินต้นให้ปลอดภัยที่สุดเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีผู้ใด แค่อ่านตามโพสต์ในห้องนี้แล้วรู้สึกเป็นห่วงแทนหลายคนเท่านั้นครับ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ผ่านโพสต์นี้ไปได้เลยครับ ขอบคุณมากครับ
โพสต์นี้มีแนะนำด้วยหรือว่าไม่ควรจะลงทุนอะไรเลย แค่เตือนให้พิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนเท่านั้น
ถอนเงินใช้พยุงชีพ
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานภาพรวมเงินรับฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย สิ้นเดือน มิ.ย.2564 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.09 แสนล้านบาท นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยเป็นการปรับตัวลงในเกือบทุกธนาคาร ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของการนำเงินฝากไปลงทุนในตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ประกอบกับมีการทยอยเบิกใช้สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งทำให้ภาพรวมเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 ชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.0% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอัตราการขยายตัวที่ 5.0% YoY ในไตรมาสที่ 1/2564
นอกจากนี้ หากพิจารณาเงินฝากในกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย จะพบว่า เงินฝากกลุ่มรายย่อยยังเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับภาพรวมเงินฝากทั้งระบบ อย่างไรก็ดี ภาพเงินฝากรายย่อยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) เงินฝากรายย่อยในกลุ่มที่วงเงินต่อบัญชีสูงกว่า 1 ล้านบาท (สัดส่วน 65% ของเงินฝากรายย่อยโดยรวม) ซึ่งประคองการเติบโตได้สูงกว่าเงินฝากรายย่อยในภาพรวม และ 2) เงินฝากรายย่อยในกลุ่มที่วงเงินต่อบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท (สัดส่วน 35% ของเงินฝากรายย่อยโดยรวม) ที่มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวงเงินต่อบัญชีไม่เกิน 50,000 บาท และกลุ่มวงเงินต่อบัญชีเกินกว่า 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งอาจสะท้อนภาพการนำเงินฝากบางส่วนมาใช้เพื่อประคองสถานการณ์ในช่วงโควิด-19
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะทำให้ความต้องการสินเชื่อจากกลุ่มลูกค้าที่ยังพอมีรายได้หรือศักยภาพนั้นเป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำให้การเติบโตของสินเชื่อปิดสิ้นปี 2564 ในอัตราการเติบโตใกล้เคียงระดับกลางปีที่ประมาณ 4.5% ซึ่งชะลอลงจากที่ขยายตัว 5.8% ในปี 2563