xs
xsm
sm
md
lg

“ชมรมเภสัชชนบท” ประกาศระดมทีมทั่วประเทศช่วยผู้ป่วยโควิด-19 “Home Isolation” ใน กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายฝ่ายผนึกกำลังช่วยผู้ป่วยโควิด-19  “Home Isolation” ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย “ชมรมเภสัชชนบท” นำทีมเภสัชอาสาทั่วประเทศกว่า 400 คน ปวารณาตนเป็น “เภสัชประจำบ้าน จ่าย-แนะนำการใช้ยา และให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งรักษาตัวที่บ้าน รวมทั้งคนใกล้ชิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ขณะที่เครือข่าย “We Care Network” จัดหมออาสาจาก รพ.เอกชน ดูแลผู้ป่วยผ่านระบบไลน์ พร้อมแจก “Covid Care Box” ด้านกลุ่มจิตอาสาช่วยไทย เปิดแพลตฟอร์ม Jitasa.Care เช็กพิกัด สถานที่สำคัญ ขอความช่วยเหลือโควิด-19 พร้อมเปิดรับจิตอาสาต่อสู้โรคระบาด

ในภาวะที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันละกว่า 16,000 ราย สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย การให้ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ ไม่มีโรคร่วม รักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและติดตามอาการผ่านระบบวิดีโอคอล จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อยู่ในขั้นวิกฤต การที่เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลจะติดตามดูแลผู้ป่วย Home Isolation ได้อย่างทั่วถึงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้มและมีผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งที่เป็นคน กทม. ประชากรแฝง และแรงงานต่างด้าว

เหล่าบรรดาจิตอาสาจึงพร้อมใจผนึกกำลังเพื่อแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นที่พึ่งสร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ท่ามกลางมรสุมร้ายโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยพวกเขาเหล่านี้มีปณิธานว่าจะติดตามดูแลผู้ป่วยจนกว่าจะหาย จะจับมือเพื่อข้ามผ่านวิกฤตไปด้วยกัน!

นายอารยะ โรจนวณิชชากร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะประธานเครือข่าย We Care Network
กลุ่มแรกที่มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) คือ เครือข่าย “We Care Network” ซึ่งได้ร่วมมือกับสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ กลุ่มธุรกิจอาหาร รวมถึงแพทย์-พยาบาลจิตอาสาจากภาคเอกชน ในการจัดทำโครงการ “COVID-19 Home Care” เพื่อแจกจ่าย “Covid Care Box” หรือกล่องเราดูแลกัน ซึ่งเป็นอุปกรณ์และเครื่องใช้จำเป็นต่างๆ อันได้แก่ เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนปลายนิ้ว เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ชุดทดสอบแอนติเจนอย่างง่าย สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ยาสามัญประจำบ้าน สเปรย์แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมไปถึงคู่มือแนะนำการดูแลตนเอง ให้แก่ผู้ป่วย Home Isolation ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงและสีแดงเข้มที่มีผู้ป่วยหนาแน่น อีกทั้งโครงการนี้ยังมีทีมแพทย์อาสาจากภาคเอกชนที่มาช่วยดูแล ติดตามอาการ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยผ่านทางระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine อีกด้วย

นายอารยะ โรจนวณิชชากร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานเครือข่าย We Care Network เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากรแฝงเยอะ การทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในการเข้าถึงผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะที่สถานพยาบาลต่างๆ มีกำลังไม่เพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) เราจึงได้จัดทำโครงการ COVID-19 Home Care เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์

ยาและอุปกรณ์ต่างๆ ที่บรรจุใน Covid Care Box
ซึ่งผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสามารถเข้าโครงการ Covid Home Care โดยสมัครผ่านแอปพลิเคชัน Line OA ชื่อ COVID-19 Home Care หรือพิมพ์ @covidhomecare หรือลงทะเบียนที่เพจ facebook page : we care network

“ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้การเข้าถึงการรักษาเป็นไปได้ยาก โครงการเราจึงมีแพทย์อาสาคอยให้คำปรึกษาและประสานกับทางโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วยเพื่อลดช่องว่างตรงนี้ ขณะที่ Covid Care Box นั้นเราแจกไปเกือบ 1,000 กล่องแล้ว และกำลังจะจัดหาเพิ่มอีก 1,000 กล่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ได้ไม่มากก็น้อย” นายอารยะ ระบุ

ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท
อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญและมีพลังอย่างยิ่งคือ “ชมรมเภสัชชนชท” ซึ่งได้ระดม "เภสัชกรอาสา RX Volunteer" ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายเภสัชกรจากทั่วประเทศ เครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการปัญหาระบบยา (นพย.) กลุ่มเภสัชกรร่วมใจรับใช้สังคม รวมถึงอาจารย์และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อมุ่งช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะ

ภก.(เภสัชกร) สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท เปิดเผยว่า กลุ่มเภสัชฯอาสาจะเข้ามาเสริมทีมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ กทม.ในการดูแลผู้ป่วย Home Isolation โดยจะช่วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการประสานติดตามข้อมูลและให้คำแนะนำการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) สำหรับผู้ป่วย Home Isolation ให้ได้รับยาได้เร็วขึ้นตามแนวทางรักษาใหม่ซึ่งจะรีบจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด ทันทีที่รู้ผลว่าติดโควิด-19 รวมถึงให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ที่ผู้ป่วยต้องการ

“ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางคนตรวจแบบแรบบิทเทสต์ พบว่า ผลเป็นบวกก็รักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งเครือข่ายเภสัชกรพบว่า ผู้ป่วยล้วนมีภาวะอ้างว้าง ว้าเหว่และขาดที่พึ่ง มีคำถามในการดูแลสุขภาพจำนวนมากที่รอคอยคำตอบ ทั้งการใช้ยาและสิ่งที่ต้องทำเมื่อใช้ยาครบคอร์สแล้ว รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือต่างๆ ที่รอคอยจากภาครัฐ เช่น การติดเชื้อทั้งครอบครัว การจัดหาออกซิเจนในกรณีออกซิเจนในร่างกายต่ำ การส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในกรณีที่อาการรุนแรง ชาวต่างประเทศและแรงงานข้ามชาติที่รอการรักษา ดังนั้น เภสัชฯ อาสาจะไม่ใช่แค่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยเท่านั้น แต่จะทำหน้าที่เป็นเภสัชฯ ประจำบ้านของผู้ป่วย จะดูแลกันจนกว่าจะหาย โดยประสานงานและให้คำแนะนำการใช้ยาแบบเจาะลึกถึงตัวผู้ป่วย รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ” ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าว

ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ในฐานะกรรมการชมรมเภสัชชนบท
ด้าน ภญ.(เภสัชกรหญิง) สุภาวดี เปล่งชัย หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ในฐานะกรรมการชมรมเภสัชชนบท ชี้แจงถึงการช่วยติดตามดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ของกลุ่มเภสัชกรอาสา ว่า การรักษาในระบบ Home Isolation ซึ่งผู้ป่วยสามารถตรวจหาเชื้อเอง เมื่อทราบผลว่าตนเองติดโควิด-19 ก็ไปลงทะเบียนที่ 1330 สายด่วย สปสช. จากนั้น เภสัชกรอาสาจะประสานในการจัดส่งและให้คำแนะนำในการใช้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ให้แก่ผู้ป่วยดังกล่าว โดยเภสัชฯ อาสาจะโทร.ไปสอบถามอาการและรายละเอียดของผู้ป่วยแต่ละคนตามรายชื่อที่ได้จาก สปสช. เช่น อายุ และน้ำหนักเท่าไร ตั้งครรภ์หรือไม่ เพื่อให้สามารถจ่ายยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน เนื่องจากปริมาณของยาต้องสอดคล้องกับน้ำหนักตัว ขณะที่หญิงมีครรภ์ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้

ซึ่งเภสัชฯ อาสาไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลงทะเบียนไว้กับสายด่วน 1330 เท่านั้น แต่ดูแลคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดของผู้ป่วยด้วย เนื่องจากคนเหล่านี้มีทั้งคนที่อาจติดโควิด-19 แล้ว และคนที่เสี่ยงจะติดโควิด-19 โดยเภสัชฯ อาสาจะสอบถามอาการของบุคคลดังกล่าวอย่างละเอียด หากพบว่าใครมีอาการบ่งชี้ว่าติดโควิด-19 ก็จะจ่ายยายาฟาวิพิราเวียร์ให้ด้วย ส่วนคนที่ยังไม่ติดจะแนะนำการปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ


“ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ทีมเภสัชฯ อาสาช่วยประสานและจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ประมาณ 1,000 ราย บางเคสตอนโทร.มายังสายด่วน 1330 แจ้งว่าในบ้านมีผู้ป่วยแค่ 2 ราย แต่ตอนเภสัชฯ อาสาประสานไป มีผู้ป่วยในบ้านติด 5 คน เราดูแลทั้งหมด รวมถึงคนใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงด้วย เราไม่ได้แค่จ่ายยา แต่จะดูแลให้คำแนะนำไปจนกว่าเขาจะหายดีกันทั้งบ้าน ถ้าพบว่ามีผู้ป่วยที่อาการหนักเราจะพยายามประสานหน่วยงานอาสาต่างๆ เพื่อหาเตียงให้แก่ผู้ป่วยด้วย หรือบางกรณีตอนเภสัชฯ อาสาประสานไป ผู้ป่วยได้ย้ายไปโรงพยาบาลสนามแล้ว เราก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลสนาม” ภญ.สุภาวดี กล่าว

ประธานชมรมเภสัชชนบท ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการเภสัชกรอาสา RX Volunteer นั้นเพิ่งเริ่มดำเนินการมาได้แค่ 15 วัน โดยรุ่นแรกมีเภสัชฯ อาสาเข้าร่วมประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจทั้งในส่วนของการดูแลผู้ป่วย และการทำงานอย่างทุ่มเทของเหล่าอาสาสมัคร ทางชมรมเภสัชชนบทจึงได้มีแนวคิดที่จะขยายทีม โดยได้เปิดรับสมัครเภสัชฯ อาสารุ่นที่ 2 ซึ่งขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมแล้ว 300 กว่าคน ซึ่งเท่ากับว่าขณะนี้โครงการเภสัชกรอาสา RX Volunteer มีกำลังเภสัชฯ อาสาอยู่ประมาณ 400 กว่าคน โดยเภสัชแต่ละคนจะดูแลผู้ป่วย 3 ครอบครัว เป็นเวลา 10-14 วัน จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ไม่น้อยทีเดียว

Jitasa.Care Map
นอกจากนั้น ทางด้านกลุ่มจิตอาสาช่วยไทย ซึ่งเป็นจิตอาสาภาคเอกชน ที่ต่อยอดมาจาก งาน ThaiFightCOVID ได้ช่วยกันระดมความคิด สร้างอาวุธให้ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ต่อสู้กับโรคโควิด-19 ด้วยการเดินหน้าการสร้าง Digital Map Platform ในชื่อ www.Jitasa.Care ในโครงการจิตอาสาดูแลไทย Jitasa.Care ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยโควิด-19 เช่น จุดพักคอย รพ.สนาม จุดตรวจโควิด-19 จุดตรวจวัคซีน SOS (ขอความช่วยเหลือ)

ซึ่งหากประชาชนที่เข้าไปใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดก็ให้คลิกสี่เหลี่ยมมุมขวามือ จากนั้นเลือกเรื่อง หรือสถานที่ที่ต้องการ ทั้งนี้ เมื่อลองคลิกเข้าไปที่ SOS (ขอความช่วยเหลือ) พบว่า ในแผนที่จะขึ้นสัญลักษณ์สีแดง พร้อมกับมีข้อมูลเบื้องต้นของผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ พิกัด พร้อมเบอร์ติดต่อกลับ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยไม่น้อยทีเดียว




กำลังโหลดความคิดเห็น