xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยโควิด-19 แห่รักษา “แพทย์แผนไทย” เปิดชื่อ-เบอร์ติดต่อคลินิกอาสา 65 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตโควิด-19 ผู้ป่วยล้นเตียง ส่งผลคนแห่ใช้บริการ “แพทย์แผนไทย” สภาการแพทย์แผนไทย เผยได้รับการติดต่อจาก “คลัสเตอร์” ใหญ่ๆ หลายกลุ่มในพื้นที่สีแดงเข้ม แจงชื่อพร้อมเบอร์ติดต่อ “คลินิกแผนไทยอาสา” 65 แห่งทั่วประเทศ เร่งส่งทีมแพทย์ส่วนกลางช่วยพื้นที่ กทม. อีกแรง ด้าน “นายกสภาแพทย์แผนไทย” ระบุ เตรียมปรับสูตรยารับมือเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ผสมเดลตา-อัลฟา ขณะที่ สธ. สั่งการ แพทย์แพทย์แผนไทย-แผนปัจจุบันร่วมดูแลผู้ป่วย Home Isolation

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 4 ที่ดูจะหนักหนาและรุนแรงกว่าทุกครั้ง จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ยังมีสัดส่วนน้อยมากหากเทียบกับประชากรทั้งประเทศ และมีผู้ป่วยมากมายซึ่งไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามเนื่องจากปริมาณเตียงไม่เพียงพอ ขณะที่ผลการรักษาด้วยยาสมุนไพรไทยอย่างฟ้าทะลายโจรเห็นผลเป็นที่พอใจ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนไม่น้อยหันมารับการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนไทยกันมากขึ้น

พท.(แพทย์แผนไทย) หลักทอง ใบสะอาด เลขานุการประชาสัมพันธ์สภาการแพทย์แผนไทย ในฐานะผู้ประสานงาน “โครงการคลินิกอาสาสภาการแพทย์แผนไทยหมอไทยใจดี”
พท.(แพทย์แผนไทย) หลักทอง ใบสะอาด เลขานุการประชาสัมพันธ์สภาการแพทย์แผนไทย ในฐานะผู้ประสานงาน “โครงการคลินิกอาสาสภาการแพทย์แผนไทยหมอไทยใจดี” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดโครงการดังกล่าวเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ติดต่อขอรับบริการจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง และพื้นที่ภาคใต้ โดยมีทั้งที่มาเป็นคลัสเตอร์ เป็นครอบครัว และเป็นรายบุคคล

โดยการวินิจฉัยและจ่ายยานั้นผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังคลินิก สามารถพูดคุยผ่านโทรศัพท์และวิดีโอคอล ซึ่งแพทย์จะซักถามอาการ วินิจฉัย จ่ายยา และจัดส่งยาไปให้ถึงบ้านฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มีแค่ค่าจัดส่ง 50 บาท หรือหากในครอบครัวมีผู้ป่วยหลายคน ก็เสียค่าจัดส่งยา 100 บาท โดยผู้ป่วยในพื้นที่ใดก็ให้ติดต่อไปยังคลินิกอาสาในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอยู่ ส่วนผู้ป่วยที่ติดต่อไปยังผู้ประสานงานระดับภาค หรือสภาการแพทย์แผนไทย ทีมแพทย์ก็จะซักถามอาการเพื่อคัดกรองว่าเป็นผู้ป่วย หรือจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือแค่วิตกกังวล

คลินิกอาสาแพทย์แผนไทย ภาคกลาง
ถ้าพบว่าป่วยหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็จะประสานส่งเคสไปยังคลินิกในพื้นที่ แต่หากแค่วิตกกังวลก็จะแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารเป็นยาเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แต่หากเป็นผู้ป่วยในลักษณะคลัสเตอร์ซึ่งมีจำนวนมาก ต้องใช้แพทย์หลายคน ทีมแพทย์ส่วนกลางก็จะวินิจฉัยและจ่ายยาเอง อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม นอกจากจะมีคลินิกอาสาหลายแห่งที่ให้บริการแล้ว ยังมีทีมแพทย์แผนไทยจากส่วนกลางอีกชุดหนึ่งที่ช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย

“ตอนนี้มีคลินิกอาสาแพทย์แผนไทยที่ผ่านการคัดกรองและเข้าร่วมโครงการแล้วไม่ต่ำกว่า 70 คลินิก มีผู้ขอรับบริการตรวจรักษาและจ่ายยาจากคลินิกอาสารวมแล้วหลายพันราย เฉพาะในแต่ละภาคก็มีผู้ใช้บริการเป็นหลักร้อยคนต่อวัน อย่างคลัสเตอร์ดินแดงมากัน 60 คน ผู้ป่วยที่ขอรับบริการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่รอเตียง เคสที่หนักบางรายก็หายใจติดขัด แพทย์จะวินิจฉัยและจ่ายยาไปตามอาการ โดยแพทย์จะมีการติดตามอาการและผลการรักษาทุกวัน เพื่อให้คำแนะนำและปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายและแต่ละช่วงอาการ หรือบางรายแพทย์แนะนำให้ใช้กระสายยา เช่น น้ำซาวข้าว น้ำมะนาว ในการเสริมฤทธิ์ยา ที่สำคัญคลินิกอาสาจะมีการติดตามอาการจนกว่าผู้ป่วยทุกรายจะหายเป็นปกติ” พท.หลักทอง กล่าว

คลินิกอาสาแพทย์แผนไทย กทม.และปริมณฑล
สำหรับการจัดสรรยาจากสภาการแพทย์แผนไทยให้คลินิกอาสาแต่ละแห่งนั้น พท.หลักทอง ชี้แจงว่า สภาการแพทย์แผนไทยจะจัดส่งยาสมุนไพร 3 ตัวหลักๆ คือ ยาฟ้าทะลายโจร ยาห้าราก และยาจันทน์ลีลา ให้อย่างละ 1,000 เม็ด เมื่อยาใกล้หมดทางคลินิกจะติดต่อขอยาเพิ่มจากส่วนกลาง พร้อมทั้งรายงานการรักษาและการจ่ายยาให้สภาแพทย์แผนไทยทราบเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลในการบริหารและจัดสรรยาต่อไป ซึ่งพื้นที่ที่ใช้ยาเยอะก็คือพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม

“มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่าคลินิกอาสาให้บริการแจกยาฟรี เขายังไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ต้องการขอยาสมุนไพรไปเก็บไว้เผื่อต้องใช้ ลักษณะนี้เราจะแนะนำการกินอาหารเป็นยาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ถ้าภูมิคุ้มกันดีโอกาสติดเชื้อก็น้อย ตอนนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แพทย์แผนไทยเป็นทีมเสริมที่เข้ามาช่วยทีมเสื้อกาวน์ซึ่งตอนนี้งานหนักมาก” พท.หลักทอง กล่าว

พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย
ด้าน พลเรือเอก (พล.ร.อ.) ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย ระบุว่า ตอนนี้เครือข่ายแพทย์แผนไทยทุกกลุ่มที่อาสาเข้ามาช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทำงานกันหนักมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแพทย์แผนไทยของคุณรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ กลุ่มแพทย์วัดโพธิ์ เนื่องจากมีผู้ป่วยโควิด-19 มาใช้บริการกันเยอะ ในส่วนของคลินิกอาสาฯ ของสภาแพทย์แผนไทยก็ทำงานค่อนข้างหนัก นอกจากผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วไปแล้ว ยังมีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มคลัสเตอร์จากหลายพื้นที่ติดต่อเข้ามา เช่น โรงงานซึ่งมีผู้ป่วย 70 คน ยังไม่นับคนรอบข้างของผู้ป่วย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เราต้องดูแลด้วย บางคลัสเตอร์ที่มีอาการเยอะต้องจัดยาเบื้องต้นให้ไปก่อน แล้วค่อยสอบถามอาการของแต่ละคนโดยละเอียดเพื่อจัดยาให้เป็นรายบุคคล และกรอกแบบฟอร์มการรักษาอีกครั้ง

“ตอนนี้สถานการณ์หนักมาก จำนวนผู้ป่วยมากกกว่าที่เราคิด นี่ยังแค่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดระลอกที่ 4 นะ ผมเป็นห่วงว่าสัปดาห์ต่อไปซึ่งเป็นระยะฟักตัวของเชื้อนั้นคาดว่าจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้ ยังไม่แน่ใจด้วยว่าโควิด-19 สองสายพันธุ์ที่ผสมกันคือมีทั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาและอัลฟาในผู้ป่วยคนเดียว เชื้อมันจะดื้อด้านขนาดไหน ซึ่งทางสภาแพทย์แผนไทยเตรียมปรับสูตรยาที่จะส่งให้คลินิกอาสาเพื่อรับมือกับเชื้อพันธุ์ผสมดังกล่าวแล้ว หรือในกรณีที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นและสมุนไพรบางตัวที่ใช้ในตำรับมีปริมาณไม่เพียงพอ ก็อาจต้องนำสมุนไพรที่มีฤทธิ์ใกล้เคียงกันมาปรับใช้แทน” นายกสภาการแพทย์แผนไทย ระบุ

คลินิกอาสาแพทย์แผนไทย ภาคเหนือ
ขณะที่ พท.(แพทย์แผนไทย) วัลลภ เผ่าพนัส อุปนายกสภาการแพทย์แผนไทย คนที่สอง ในฐานะประธานคลินิกอาสาศูนย์ภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า สำหรับคลินิกอาสาแพทย์แผนไทยในพื้นที่ภาคเหนือนั้นขณะนี้ยังสามารถรับมือได้ เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ภาคเหนือไม่เยอะเท่าภาคกลาง แต่เรากำลังวิตกว่าหากมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นยาสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศจะผลิตได้ไม่ทันและไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์ภาคเหนือนั้นอาจไม่กระทบมากเพราะมีคลังยาสมุนไพรของตัวเองเนื่องจากเป็นพื้นที่มีการปลูกสมุนไพรจำนวนมาก เราจึงมีสต๊อกยาอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งบางส่วนก็ได้ส่งไปช่วยคลินิกอาสาในภาคอื่นๆ ด้วย

ด้าน พท.(แพทย์แผนไทย) กัลยา โชติธาดา เจ้าของกัลยาคลินิกแพทย์แผนไทย ในฐานะคลินิกอาสาแพทย์แผนไทย จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้มาใช้บริการเกี่ยวกับการรักษาโควิด-19 ประมาณ 10 กว่าราย โดยมีทั้งคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และประเมินว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง คนที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ติดโควิด-19 คนที่รอผลตรวจ คนที่ทราบผลตรวจแล้วแต่ยังรอเตียงอยู่ที่บ้าน คนที่อยู่โรงพยาบาลสนามแต่รู้สึกว่าตัวเองอาการแย่จึงให้ญาติติดต่อเข้ามาก็มี ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าโรงพยาบาลสนามที่เขาอยู่อาจจะไม่มีแพทย์แผนไทย

คลินิกอาสาแพทย์แผนไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ปกติเราจะจ่ายยาในลักษณะตำรับยา ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัว เช่น ยาห้าราก ยาจันทน์ลีลา เพราะสมุนไพรแต่ละตัวมีสรรพคุณต่างกัน ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาโดยรวมดีกว่ายาสมุนไพรเชิงเดี่ยว คือยาสมุนไพรไทยจะมีทั้งยากระทุ้งพิษคือขับพิษออก ยาแปรไข้หรือรักษาไข้ และยาครอบไข้คือป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีก การใช้สมุนไพรที่หลากหลายจะครอบคลุมมากกว่า” พท.กัลยา กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางด้านกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการนำยาสมุนไพรอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาระยะหนึ่งแล้ว โดยทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โรงพยาบาลสนาม และเรือนจำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในการใช้ยาฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อยและกระจายยาให้ผู้ป่วยและผู้มีผลกระทบกว่า 5.2 ล้านแคปซูล ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรส่วนใหญ่ล้วนมีอาการดีขึ้น

คลินิกอาสาแพทย์แผนไทย ภาคตะวันออก
และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 4 ที่เข้าขั้นวิกฤต โรงพยาบาลสนามมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการให้กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กักตัวรักษาตนเองที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยให้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยดูแลผู้ป่วยร่วมกัน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวและรักษาตนเองที่บ้าน หรือ Home Isolation นั้นทางกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้มีการทำงานประสานกันระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยในการดูแลรักษาผู้ป่วย พร้อมทั้งมีการจัดส่งยาแผนไทยคือยาฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วยเบื้องต้นด้วย และถ้ามีอาการมากอาจจะให้ยาต้านไวรัสซึ่งเป็นแผนปัจจุบันเพิ่มเติม นอกจากนั้น ยังมีการส่งเครื่องวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนไปให้ผู้ป่วยใช้ในการตรวจเช็กอาการของตนเองอีกด้วย

คลินิกแพทย์อาสาแทพย์แผนไทย ภาคใต้
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้เกิดการพัฒนาในการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่ชัดเจนมาก สำหรับการประสานงานระหว่างแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันในการดูแลและจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามและที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation นั้นจะมีการประชุมร่วมกันตลอดเพื่อให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด

ในส่วนของโรงพยาบาลสนามหลายแห่งที่มีแพทย์แผนไทยประจำอยู่ ก็จะทำงานคู่ขนานกับแพทย์แผนปัจจุบันและมีการประชุมร่วมกันอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมาก ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยจึงต้องช่วยกันข้าไปดูแล ซักถาม ตรวจอาการและจ่ายยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยดูบันทึกการรักษาแต่ละวันเป็นหลัก ใครเข้าไปดูแลผู้ป่วยก็บันทึกการรักษาไว้ ใครเข้ามาทีหลังก็ดูบันทึกที่มีอยู่ และจัดยาให้เหมาะกับผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยที่ Home Isolation ก็ดูแลในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่เป็นการซักถามอาการผ่านทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอล และจัดส่งยาไปให้ที่บ้าน

“แพทย์แผนไทยจะมีการซักถามอาการผู้ป่วยแต่ละราย และดูแลการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละช่วงวัย และเหมาะกับอาการที่เป็น ดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ ใครบ้างที่ใช้ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ หากคนไข้ได้รับยาแก้ไข้แผนปัจจุบันไปแล้ว จะจ่ายฟ้าทะลายโจรให้หรือไม่ ในปริมาณเท่าใด เราทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ระบุ

นับเป็นนิมิตหมายใหม่ที่องค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยได้เข้ามาผนึกกำลังกับแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นมหันตภัยร้ายที่คุกคามชีวิตคนไทยอยู่ในขณะนี้ และไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยผงาดในวงการสาธารณสุขระดับโลกก็เป็นได้!




กำลังโหลดความคิดเห็น