xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการนิด้า! ตีแผ่ ‘11 ข้อ’ บริหารประเทศ ตะลึงยุค ‘บิ๊กตู่’ ทุจริตสูงกว่ายุค ‘ทักษิณ’!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการนิด้าตีแผ่ระบอบทักษิณกับระบอบประยุทธ์ 11 ข้อสำคัญ ชี้แต่ละข้อใครมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน แต่ที่น่าประหลาดพบในยุคบิ๊กตู่มีดัชนีชี้วัดชัดเจนมีการทุจริตสูงกว่าทักษิณ และยังขยายขอบเขตอำนาจ ‘กอ.รมน.’ เป็นโครงสร้างใหญ่ของจังหวัด ส่วนฝีมือด้านเศรษฐกิจยุคบิ๊กตู่ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ล้วนๆ จับตามวลชนรวมพลขับไล่ ‘บิ๊กตู่’ หลังตกงาน คนจนยิ่งจนลง!

ดูเหมือนว่าวิกฤตต่างๆ กำลังถาโถมเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจต่างๆ เจ๊งต้องปิดกิจการ คนตกงานมากขึ้น ประชาชนยิ่งจนลง ขณะที่วิกฤตการเมืองเกิดความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงมวลชนกลุ่มต่างๆ ทยอยออกมาโจมตีระบอบประยุทธ์ พร้อมขับไล่ ‘บิ๊กตู่’ ออกไป

ด้านวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังระบาด ก็กระหน่ำซ้ำเติมสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโดยเฉพาะ ‘วัคซีนโควิด-19’ กลายเป็นประเด็นโจมตี ‘การเมืองแทรก’ จนทำให้การบริหารวัคซีนไม่เป็นไปตามหลักวิชาการทางการแพทย์


หากจะถามว่าบิ๊กตู่คิดอย่างไร ก็คงจะมีคำตอบชัดเจนในการประชุมรัฐสภา “ผมแก้ปัญหาทุกเรื่องที่พะรุงพะรัง ผมพร้อมสู้ ทุกวันนี้มีคนไล่ผม แต่จะบอกว่ายิ่งไล่ ผมยิ่งสู้”

ขณะเดียวกัน การออกมาพูดของ ‘พี่โทนี่’ หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีใน Club house : Tony Woodsome แต่ละครั้งที่ดูเหมือนจะถือไพ่เหนือกว่า? ล่าสุดเมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็แสดงความเป็นงง กับนโยบายบิ๊กตู่ ในการช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการเพิ่มโรงรับจำนำ

ว่าไปแล้วการออกมาเคลื่อนไหวของทักษิณ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณ และระบอบประยุทธ์ รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการประเทศของทักษิณและบิ๊กตู่ มีจุดอ่อน จุดแข็งที่ต่างกันอย่างไร และใครมีฝีมือกว่ากัน




โดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า ถ้าจะเปรียบเทียบระบอบทักษิณ และระบอบประยุทธ์ จะมีด้วยกันในหลายประเด็น

ประเด็นแรก ด้านเศรษฐกิจ

ทักษิณ : บริหารเศรษฐกิจ จะมีทิศทางและวิสัยทัศน์เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการสรรหาแนวทางใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารประเทศ แต่กลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่กลุ่ม sme บางอย่างได้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่คิดมาในช่วงนั้น ซึ่งในเวลานั้นจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง

พล.อ.ประยุทธ์ : ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีทิศทางเหมือนเดิม ยังเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่าวิสัยทัศน์ไม่แหลมคม และความคิดสร้างสรรค์ด้อยกว่า ระบอบทักษิณ ส่วนกลุ่มได้รับผลประโยชน์ คือ กลุ่มทุนขนาดยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาด ซึ่งไม่แตกต่าง แต่ที่แตกต่างคือพวก SME จะไม่ได้ผลประโยชน์เท่าไหร่ เนื่องจากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคบิ๊กตู่ ส่วนใหญ่จะเป็นเมกะโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วนเชื่อมจังหวัด หรือโครงการพัฒนา EEC ซึ่งทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับผลประโยชน์

“SME ไม่ได้ประโยชน์ รัฐบาลบิ๊กตู่ไม่มีระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน” ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูงในยุคบิ๊กตู่ ซึ่งในยุคทักษิณก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว แต่ช่วงบิ๊กตู่ ขยายความเหลื่อมล้ำมากขึ้น!

ตรงนี้มีผลมาจากฝีมือในการแสวงหาเงินเข้าประเทศของระบอบบิ๊กตู่ ด้อยกว่าระบอบทักษิณ ทำให้มีการกู้เงินจำนวนมาก และทำให้หนี้ครัวเรือนของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

หากจะแย้งว่าทุกรัฐบาลก็กู้เหมือนกัน แต่อัตราการกู้ยุคบิ๊กตู่ มากมายมหาศาลเทียบกันแล้ว ไม่ว่ายุคทักษิณ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมกันแล้วยังไม่เท่ายุคบิ๊กตู่ ที่สำคัญคือ สัดส่วนของการกู้ต่อ GDP ของประเทศพุ่งสูงจนแตะเพดาน

นอกเหนือจากนโยบายและวิสัยทัศน์แล้ว ในเรื่องของประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจ จะเห็นว่าทักษิณ มีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะทักษิณ เติบโตมาจากการเป็นนักธุรกิจและมีเครือข่ายทางธุรกิจที่ค่อนข้างกว้างขวาง

ขณะที่ บิ๊กตู่ เติบโตจากระบบราชการทหาร จึงมีเครือข่ายทางธุรกิจที่ค่อนข้างจำกัด แม้จะมีรองนายกฯ ทางด้านเศรษฐกิจ แต่ ‘พลัง’ ระหว่างรองนายกฯ กับนายกฯ ต่างกัน ซึ่งหาก คนที่เป็นนายกฯ มีความเชี่ยวชาญและมีเครือข่ายทางด้านเศรษฐกิจด้วยก็จะช่วยให้การบริหารเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น การเปรียบเทียบภาพรวมทางเศรษฐกิจจะพบว่ายุคบิ๊กตู่ ด้อยกว่ายุคทักษิณ อย่างชัดเจน




ประเด็นที่ 2 ด้านการเมือง

ทักษิณ : ได้คะแนนเสียงจากนโยบายประชานิยมในเชิงสวัสดิการ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน ซึ่งทักษิณ เลือกที่จะทำนโยบายออกมาก็จะได้รับความนิยมจากประชาชน ทำให้ชนะเลือกตั้งมาจากเสียงข้างมาก ซึ่งทำให้พรรคมีความเข้มแข็งและเป็นพรรคขนาดใหญ่

ผลที่ตามมาก็คือ เผด็จการรัฐสภา เนื่องเพราะในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ได้ ส.ส.ถึง 377 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง จึงสามารถควบคุมเสียงในสภาได้หมดส่งผลให้กลไกการตรวจสอบในสภาอ่อนแอ

ส่วนยุคบิ๊กตู่ : เป็นรัฐบาลผสมของสองส่วน คือส่วนแรกจากที่มีกติกาที่ได้เปรียบ เพราะฐานสมาชิกวุฒิสภา 250 ที่มีที่มาจากคณะรัฐประหารที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนที่ 2 มาจากเสียงข้างมากในสภาที่เกินกึ่งหนึ่งไปเล็กน้อย

“บิ๊กตู่มาจากกติกาที่ได้เปรียบ และจากการเลือกตั้งที่อาศัยจากพรรคการเมืองที่เกิดจากการผสมผสานของบรรดานักเลือกตั้ง ส่วนนโยบายที่ใช้หาเสียงก็ไม่แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ”

ที่สำคัญมีการดึงคนในระบอบทักษิณมาเป็นพวกจำนวนมาก และเกิดผลตามมาคือเผด็จการรัฐสภา เพราะเสียงอะไรต่างๆ ซึ่งจะถูกควบคุมโดยเสียงข้างมาก โดยเฉพาะกลไกของ ส.ว. ทำให้การแก้ไขกฎหมายหรืออะไรต่างๆ ก็แก้ไขได้ยากหากรัฐบาลไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลบิ๊กตู่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ ซึ่งมีการกระทำหลายครั้งถูกตั้งคำถามว่าจะมีการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตั้งแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือการออกพระราชกำหนดต่างๆ หรือการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย

ประเด็นที่ 3 ทิศทางการกระจายอำนาจ

ทักษิณ : ให้ความสนใจเรื่องการกระจายอำนาจลงไปในบางระดับ ไปยังท้องถิ่น มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายทางการเมือง เครือข่ายของพรรค

พล.อ.ประยุทธ์ : เน้นการรวมศูนย์อำนาจในระบบราชการ สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายทหาร ราชการ และกลุ่มทุนเป็นหลัก และยังมีการออกกฎหมายที่ควบคุมประชาชนมากขึ้น เช่น กฎหมายเรื่องการชุมนุมสาธารณะที่ออกในช่วงรัฐบาล คสช. ปัจจุบันก็พยายามออกกฎหมายควบคุมการทำงานองค์การพัฒนาเอกชน ภาคประชาชนมากขึ้น

อีกทั้งยังมีการขยายอำนาจกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ไปยังจังหวัดต่างๆ และกำหนดให้ กอ.รมน.เป็นโครงสร้างถาวรประจำจังหวัดอีกโครงสร้างหนึ่ง และบทบาทที่สำคัญ คือ การควบคุมมวลชน

ประเด็นที่ 4 องค์กรอิสระ

ทักษิณ : ควบคุมองค์กรอิสระโดยผ่าน รัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง

พล.อ ประยุทธ์ : ใช้อำนาจผ่าน ส.ว.ที่มาจาก คสช. สามารถที่จะเลือกบุคคลที่มีความคิด อุดมการณ์ ในทิศทางเดียวกัน

ประเด็นนี้ทั้งสองจึงไม่แตกต่างกัน ทำให้องค์กรอิสระมีแนวโน้มในการใช้วิจารณญาณ ที่ดูเหมือนว่าอาจจะไม่เป็นกลางอยู่บ้างเป็นครั้งคราว และเลือกอยู่ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐเป็นหลัก




ประเด็นที่ 5 การทุจริต

จากข้อมูลองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) ประเทศทั่วโลกที่มีปรากฏออกมาในช่วง 20 ปี ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ปี 2545-2549 พบว่า CPI อยู่ในช่วงอันดับที่ 61-70 หลักจากนั้นจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 80 กว่าๆ แต่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ขยับสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 100 และสมัยยิ่งลักษณ์ ปี 2556 อยู่ในลำดับที่ 102

ส่วนรัฐบาลบิ๊กตู่ ในช่วง 2 ปีแรก ภาพลักษณ์การทุจริตดีขึ้นมากจากอันดับที่ 102 ยุคยิ่งลักษณ์ มาอยู่ที่อันดับ 85 และปี 2558 ลงมาอยู่ที่ 76

ที่น่าแปลกคือในปี 2559 พบว่า CPI พุ่งขึ้นเป็นอันดับที่ 101 ปี 2560 ลงมาอยู่ที่อันดับ 96 ปี 2561 ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 99 และขึ้นเป็นอันดับที่ 101 ในปี 2562 ส่วนในปี 2563 สูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ประเทศไทย คืออันดับที่ 104

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า การทุจริตในยุคบิ๊กตู่ สูงกว่ายุคทักษิณแน่นอน!


“ยุคบิ๊กตู่ กลไกการตรวจสอบอาจทำได้ยาก เพราะรัฐบาลกุมอำนาจไว้เยอะ แต่ดัชนี CPI สะท้อนภาพให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลบิ๊กตู่ ทุจริตมากกว่ารัฐบาลทักษิณ”

ประเด็นที่ 6 การบริหาร


ทักษิณ : เน้นการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และผ่านเครือข่ายหัวคะแนนและลงไปยังชาวบ้าน

พล.อ.ประยุทธ์ : พึ่งพาหน่วยงานรัฐบาล ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการคิดนโยบายต่างๆ ลดลง ซึ่งในการทำโครงการต่างๆ จะอยู่ที่หน่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอื่นๆ

ประเด็นที่ 7 การละเมิดสิทธิ


ทักษิณ : มีการละเมิดสิทธิที่สูงมาก ซึ่งจะพบว่ามีการตายของประชาชนจากนโยบายรัฐบาลสูงมาก เช่น นโยบายปราบยาเสพติด มีการฆ่าตัดตอน ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแท้จริงก็ต้องเสียชีวิตไปด้วย หรือกรณีที่มัสยิดกรือเซะ ที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก

พล.อ.ประยุทธ์ : การละเมิดสิทธิ จะเน้นไปในการจับกุมผู้ไม่เห็นด้วยเป็นหลัก ส่วนการเสียชีวิตจำนวนมากอย่างที่เคยเกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ไม่มีปรากฏให้เห็น จะมีก็แต่การจับกุมผู้ไม่เห็นด้วย เข้าคุย การปรับทัศนคติ และการใช้มาตรา 112 รวมไปถึงการลิดรอนในเรื่องของสิทธิการประกันตัว

“รัฐบาลบิ๊กตู่ ก็มีคนตาย แต่เป็นการตายจากการบริหารที่ผิดพลาดในประเด็นโควิด-19 ที่ล่าช้า สับสน ไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดคนตายทะลุหลักพันไปแล้ว”


ประเด็นที่ 8 การบริหารภาวะวิกฤต

ทักษิณ : มีกรณีใหญ่ 2 กรณี คือ วิกฤตสึนามิ ที่มีคนตายจำนวนมาก กับวิกฤตไข้หวัดนก จะพบว่ารัฐบาลทักษิณ ทำได้มีประสิทธิภาพสูงกว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ เพราะยุคนั้นช่วงเกิดวิกฤตไข้หวัดนก ไม่ได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ยาวนานเหมือนรัฐบาลบิ๊กตู่ แต่ใช้กลไกทางการเมืองและใช้กฎหมายที่มีอยู่เป็นหลัก ตามระบอบประชาธิปไตย

พล.อ.ประยุทธ์ : ใช้กลไกปกติน้อยไปหน่อย และเลือกที่จะใช้กลไกพิเศษ โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งแม้จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็ตาม แต่ประสิทธิภาพในการป้องกัน เปรียบได้เหมือนไฟไหม้ฟาง คือช่วงแรกดูจะดี แต่ได้แค่ระยะเดียว จากนั้นจะแย่ลงตามลำดับ กระทั่งแย่มากในปัจจุบัน

ประเด็นที่ 9 ด้านบุคลิก

ทักษิณ : จะเป็นคนปากไว ชอบวิจารณ์คนที่ไม่เห็นด้วย มีความเชื่อมั่นสูง

พล.อ.ประยุทธ์ : มั่นใจตัวเองสูง ชอบวิจารณ์คนอื่น โดยเฉพาะเกิดผิดพลาดอะไรจะโทษประชาชน

ทั้ง 2 คน จะมีบุคลิกที่คล้ายกัน เพราะเขามีความเชื่อมั่นในการควบคุมกลไกต่างๆ ได้ ซึ่งทักษิณ ได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จในสภา

ขณะที่บิ๊กตู่ เกิดจากช่วงแรกมาจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถจัดการเบ็ดเสร็จ แต่ในช่วงหลังเลือกตั้ง ความมั่นใจตรงนี้แม้จะลดลง แต่เพราะมีฐานเสียง ส.ว.250 หนุน ก็ทำให้มั่นใจขึ้น

“พูดถึงความใจร้อน และการตอบโต้ ทักษิณ ใจร้อนจริง แต่บิ๊กตู่ ใจร้อนกว่า อารมณ์แปรปรวนมากกว่า”

ประเด็นที่ 10 องค์กรภาคประชาชน

ทักษิณ : มองว่า องค์กรภาคประชาชนเป็นปรปักษ์ระดับปานกลาง มีการวิจารณ์ NGO อยู่เสมอ แต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอะไรมากนัก

พล.อ.ประยุทธ์ : มององค์กรว่า เป็นปรปักษ์ ระดับที่สูงมาก และสูงกว่าทักษิณซึ่งจะมีการวิจารณ์ออกมาเป็นระยะ วิจารณ์ NGO รับเงินจากต่างชาติ และมองการเคลื่อนไหวของประชาชนในลักษณะค่อนข้างเป็นปรปักษ์

ประเด็นที่ 11 เครือข่ายอำนาจในระบบราชการ


ทักษิณ : นำเอากลไกทางด้านการเมืองและการบริหารงานเชิงธุรกิจหรือระบบนอกราชการเข้ามาบริหารบ้านเมือง ดังนั้น ความรู้สึกของข้าราชการแบบเดิมๆ ก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองถูกรุนรานพื้นที่ของอำนาจ เพราะถูกคนแบ่งปันอำนาจที่ตนเองเคยถือครองมายาวนาน

พล.อ.ประยุทธ์ : จะตัดการมีส่วนร่วมกับกลไกอื่นๆ นอกระบบราชการออกไป มุ่งระบบราชการเป็นหลัก รื้อฟื้นระบบราชการออกมาซึ่งข้าราชการมีบทบาทในการเขียนโครงการ การอนุมัติโครงการ การทำโครงการอะไรต่างๆ หรืออำนาจอื่นๆ


แต่ถ้าจะมองกันให้ลึกลงไปจะพบว่า ในด้านการบริหาร การพัฒนา ระบบบริหารสมัยใหม่ สิ่งที่บิ๊กตู่บริหารเป็นทิศทางไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่นัก เพราะในทางพื้นฐาน กลไก ระบบราชการของประเทศประชาธิปไตย ‘ราชการ’ จะต้องเล็กลง เพราะจะอาศัยการบริหาร โดยเครือข่าย ก็ดึงเอาภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนธุรกิจ หรือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินนโยบายมากขึ้น นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตย

‘ยุคบิ๊กตู่ จึงสวนทางกับระบอบประชาธิปไตยที่ทุกประเทศยอมรับ”

อย่างไรก็ดี บิ๊กตู่จะไม่จบด้วยการถูกปฏิวัติยึดอำนาจเหมือนทักษิณ เพราะเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่ปรากฏให้เห็น แต่จะมีเพียงเงื่อนไขที่ประชาชนจะรวมพลังออกมาขับไล่จำนวนมากขึ้นๆ โดยเฉพาะยิ่งมีคนตกงาน คนจนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเท่าไร จะเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลบิ๊กตู่มากเท่านั้น!!




กำลังโหลดความคิดเห็น