ปมเลือก ผอ.ไทยพีบีเอส ปัญหาซ้ำซากตั้งแต่ปี 59-64 ทั้งเรื่องคุณสมบัติและความโปร่งใส แฉ “ชวรงค์” ตั้งเกณฑ์แปลกประหลาด ห้ามใช้สื่อประกอบการแสดงวิสัยทัศน์-ให้เวลาแค่ 15 นาที ทั้งที่ ผอ.ต้องบริหารองค์กรซึ่งใช้เงินภาษีประชาชนปีละเกือบ 3 พันล้าน เผยสัมพันธ์ลึกผู้บริหาร สสส.-ไทยพีบีเอส ด้าน “แก้วสรร” ชี้เป็นองค์กร GMO ที่ไซฟ่อนเงินผ่านสารพัดโปรเจกต์
กล่าวได้ว่าปัญหาการสรรหาผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ผอ.ไทยพีบีเอส ที่ล่าสุดได้ “รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล” ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย ขณะที่สังคมเคลือบแคลงเรื่องความโปร่งใสนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอสในปี 2564 เท่านั้น หากแต่เรื่องนี้เหมือนการฉายหนังซ้ำเมื่อครั้งที่มีการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส เมื่อปี 2560
หากย้อนไปในปี 2560 จะพบว่ามีประเด็นปัญหาในการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอสที่คล้ายกับปี 2564 อยู่หลายจุด โดยเฉพาะเรื่องวิธีการและขั้นตอนในการสรรหาซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ความโปร่งใส” โดยการสรรหาในปี 2560 นั้น หลังจากคณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร และรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทั้ง 7 คน (จากเดิมสมัคร 9 คน แต่ถอนตัวไป 2 คน) ครบถ้วนแล้ว เห็นว่า ในจำนวนผู้สมัคร 7 คน ในเบื้องต้นน่าจะมีผู้สมัครไม่เกิน 2 คน ที่เหมาะสมที่จะได้รับการเสนอชื่อต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส
จากนั้นคณะกรรมการสรรหาก็ได้ทำการโหวตกันว่า 2 คนนั้นจะเป็นใคร โดยกรรมการแต่ละคนใช้วิธีเขียนชื่อของผู้สมัคร 2 คน ที่ตนเองเลือกลงในกระดาษแล้วเปิดออกดูในที่ประชุม เพื่อดูว่าผู้สมัครคนใดที่ได้คะแนนมากลำดับ 1 และลำดับ 2 ซึ่งผู้สมัคร 2 คนที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ก็คือ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส (ในสมัยของ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้อำนวยการไทยพีบีเอส) จากนั้นก็เสนอรายชื่อทั้ง 2 คน ไปให้คณะกรรมการนโยบายลงมติเลือก 1 คน เป็น ผอ.ไทยพีบีเอส
แต่กรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมของไทยพีบีเอส ในขณะนั้น อย่างน้อย 3 ท่าน คือ นายณัฐวัฒน์ อริย์ธัชโภคิน นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม และนายแก้วสรร อติโพธิ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว โดยนายแก้วสรร ได้ทำหนังสือเห็นแย้ง โดยระบุว่าวิธีการคัดเลือกดังกล่าวไม่ถูกต้อง ที่ถูกคือคณะกรรมการสรรหาต้องโหวตให้คะแนนผู้สมัครทั้ง 7 คน เป็นรายบุคคลไปจึงจะเป็นธรรม หากผู้ใดได้คะแนนเกินเกณฑ์กำหนดก็ถือว่าผ่านการกลั่นกรองและให้เสนอชื่อได้
“คณะกรรมการสรรหากลับลุแก่อำนาจ ไม่กลั่นกรองคุณสมบัติผู้ใดเลย โหวตตัดผู้สมควรให้เหลือ 2 คน โดยไม่มีเหตุผลว่า 2 คนที่ได้นี้เหมาะสมแก่ตำแหน่งหรือไม่ อีก 5 คนที่ตกไปมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ ไม่มีการวินิจฉัยให้ปรากฏเลย ถือเป็นการปฏิเสธสิทธิของผู้สมัคร ที่เมื่อสมัครแล้วก็มีสิทธิต้องได้รับการพิจารณาในเนื้อผ้า” นายแก้วสรร ระบุ
อีกทั้งขณะนั้นหลายคนมองว่า นายอดิศักดิ์ ซึ่งเป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นตัวเก็งและน่าจะได้รับตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส เนื่องจากมีประสบการณ์ในการบริหารสื่อมานาน แต่สุดท้ายกลับพลิกโผ เมื่อทางผู้สนับสนุน รศ.ดร.วิลาสินี ใช้หนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นข้ออ้างว่านายอดิศักดิ์ เป็นผู้ไปล็อบบี้ให้ สตง. เอาผิดกับ รศ.ดร.วิลาสินี จากกรณีที่ “ผู้บริหารชุดเก่า” นำเงินไทยพีบีเอสไปซื้อหุ้นกู้บริษัทซีพีเอฟซึ่งเป็นเอกชน อันเป็นเหตุให้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส ไปเมื่อเดือน มี.ค.2560 ก่อนที่จะมีการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ ในช่วงต้นเดือน ก.ค.2560 เนื่องจากผู้บริหารเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามระเบียบของ ส.ส.ท. คือใช้จ่ายเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่ได้ขออนุมัติจากบอร์ดนโยบาย โดย“รศ.ดร.วิลาสินี” ซึ่งเป็นรอง ผอ.ในช่วงที่มีการซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวก็มีชื่อเข้าข่ายการกระทำผิดร่วมกับ “หมอกฤษดา” ด้วย
จากข้อครหาเรื่องนายอดิศักดิ์ ล็อบบี้ สตง. คณะกรรมการสรรหาจึงตัดสินใจดัน รศ.ดร.วิลาสินี ขึ้นเบอร์ 1 ด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุม ส่งผลให้สังคมต่างเรียกการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ในครั้งนั้นว่า “ฮั้วแตก” และ “หวยล็อก-หวยเต็ง” และถูกเปรียบเทียบไปถึงการที่ สสส. ส่งหมอฟันที่ไร้ประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนอย่าง ทพ.กฤษดา ขึ้นเป็น ผอ. ไปก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ในปี 2564 นั้นก็ถูกมองว่าไม่โปร่งใสเช่นกัน เนื่องจากมีผู้สมัคร 5 ราย แต่ผู้ที่มีโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์มีแค่ 2 รายเท่านั้น คือ “รศ.ดร.วิลาสินี” อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส และ “ผศ.ดร.มานพ กาญจนบุรางกูร” อดีต ผอ.องค์การสะพานปลา ขณะที่อีก 3 รายถูกคัดออก ซึ่งหนึ่งในคือ “นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที” พิธีกรข่าว News1 (ASTV) ที่มีประสบการณ์ในแวดวงสื่อมายาวนาน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจาก ผอ.ไทยพีบีเอส เป็นตำแหน่งระดับบริหาร ดังนั้น ผู้ที่สมัครทุกคนควรมีโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์ว่ามีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้สถานีโทรทัศน์ซึ่งขับเคลื่อนด้วยภาษีของประชาชนแห่งนี้เป็นสื่อที่มีคุณภาพ มีกลยุทธ์ในการบริการจัดการองค์กรอย่างไร วิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการสื่อสาธารณะเป็นอย่างไร และมีประสบการณ์ในการทำงานสื่ออย่างไรบ้าง
นอกจากนั้น ยังมีข้อกำหนดในการแสดงวิสัยทัศน์ที่ผิดปกติ โดย จดหมายที่ออกโดย “นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” ประธานกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ซึ่งแจ้งให้ผู้สมัครนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา “แบบปากเปล่า” โดยไม่ใช้สื่อหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ประกอบในการนำเสนอ อีกทั้งให้ใช้เวลาแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารสถานีโทรทัศน์ที่ใช้งบจากภาษีประชาชนปีละกว่า 2,000 ล้านบาท “แค่ไม่เกิน 15 นาที” เท่านั้น โดยจากข้อมูลพบว่า งบประมาณประจำปี 2563 ของไทยพีบีเอสนั้นสูงถึง 2,953.86 ล้านบาท เลยทีเดียว
ทั้งนี้ หากหันไปดูการสรรหาผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณของรัฐหลายๆองค์กรก็ล้วนแต่ให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ประกอบทั้งสิ้น เช่น การสรรหาผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค กำหนดให้ผู้เข้าร่วมการคัดเลือกสามารถใช้สื่อประกอบในการแสดงวิสัยทัศน์ โดยใช้สื่อแสดงวิสัยทัศน์เป็นเวลา 10 นาที และสัมภาษณ์อีก 30 นาที รวมเป็น 40 นาที
นอกจากนั้น สังคมยังตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอสนั้นต่างมีสายสัมพันธ์โยงใยกับผู้บริหารของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมโปร่งใส อีกทั้งยังมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เริ่มจาก “ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” ที่ข้ามห้วยจากผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มานั่งตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส ในปี 2559 ทำให้พนักงานไทยพีบีเอสบางส่วนไม่พอใจ ถึงขั้นยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งให้คณะกรรมการสรรหาเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง ทพ.กฤษดา เนื่องจากมองว่า ทพ.กฤษดา ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านสื่อเลย เมื่อรอดจากกรณีดังกล่าวมาได้ ทพ.กฤษดา ก็ได้แต่งตั้ง “รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล” ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ ภายใต้สังกัด สสส. ให้เป็นรอง ผอ.ไทยพีบีเอส แต่ต่อมาทั้งคู่ได้มีชื่อพัวพันกับการนำเงินไทยพีบีเอสไปซื้อหุ้นกู้บริษัทซีพีเอฟ จนถูก สตง.ตรวจสอบ และทำให้ ทพ.กฤษดา ต้องลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ รศ.ดร.วิลาสินี ก็พ้นจากเก้าอี้ไปด้วย
ส่วน “รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล” ซึ่งนั่งตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส ควบ 2 สมัยนั้น นอกจากจะเคยป็นผู้อำนวยการอาวุโสสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ ภายใต้สังกัด สสส. แล้ว ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ สามีของเธอยังเป็นผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนปัจจุบันอีกด้วย
ขณะที่ "นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี" ประธานกรรมการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ปี 2564 ก็เคยดำรงตำแหน่งกรรมการและรองเลขาธิการภายในมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ในช่วงที่มูลนิธิฯ ดังกล่าวได้รับทุนจาก สสส. โดยเป็นการรับทุนติดต่อกัยถึง 8 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2551-2558 รวม 14 โครงการ เป็นเงินรวมกว่า 96.4 ล้านบาท และมีชื่อนายชวรงค์ เป็นผู้รับผิดชอบ จำนวน 9 โครงการ จึงมีผู้เคลือบแคลงใจว่าการที่คณะกรรมการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ที่มีนายชวรงค์ เป็นประธาน เลือก รศ.ดร.วิลาสินี ซึ่งเป็นอดีตลูกหม้อ สสส. นั่งตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส นั้นเป็นกระบวนการ “ต่างตอบแทน” หรือไม่?
ด้าน นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการธรรมาภิบาลไทยพีบีเอส และอดีต คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับไทยพีบีเอส ว่า ขณะนี้มีพฤติกรรมที่เรียกว่าองค์กร GMO คือ Genetically Modified Organization (องค์กรที่ตัดต่อพันธุกรรม) เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งองค์กร GMO ที่ว่านี้มีการเอาเงินภาษีบาปมาใช้เปลี่ยนแปลงในระดับยีน (Gene) กระบวนการของรัฐที่มีอยู่เดิม เมื่อใช้เงินกันง่าย ไซฟ่อนเงินกันง่าย เกิดโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อใช้เงินไปสร้างโครงการนั่นโน่นนี่ โดยอ้างว่าเพื่อสาธารณะ
“คนเหล่านี้เคยเอาเงินขององค์กรไปลงทุนในในบริษัทยักษ์ใหญ่หลายล้าน เอาไปทำสื่อ จนสังคมเห็นเฟกนิวส์ที่เผยแพร่กัน ก็มีคำถามจากสังคมว่าเงินที่ใช้กันมันต่างอะไรกับสถานีโทรทัศน์ของเอกชน ทั้งที่เป็นเงินของคนไทย เงินที่ใช้กันง่าย สาธารณะได้อะไรบ้าง? คุ้มไม่คุ้มกับเงินจำนวนมาก ได้เฟกนิวส์หรือสติปัญญาของคนในชาติ ยิ่งสังคมเข้าสู่สังคมข่าวสารสมัยใหม่ คุ้มค่าหรือไม่? นี่หรือผลพวงภาษีบาปที่ก่อกำเนิดองค์กร GMO ในสังคมไทย นี่คือมุมมองที่ผมเห็น” นายแก้วสรร กล่าว