จับตาฟ้าทะลายโจร จะยกระดับต่อยอด วิจัย และพัฒนา หลังรัฐบาลบิ๊กตู่ ขึ้นทะเบียนบัญชียาหลักใช้รักษาโควิด-19 ได้หรือไม่ ด้าน ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว แจงต่างประเทศออกผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งยาพ่นใส่จมูก ยากินแก้หวัด ‘จีน’ ใช้เป็นยาฉีดรักษาโควิด-19 ขณะที่ไทยมีการศึกษาแต่ไม่ถูกนำมาใช้ มั่นใจถ้า ‘บิ๊กตู่’ เอาจริง ฟ้าทะลายโจรจะเป็น ´Flagship Product of Thailand’ ได้ ด้านรสนา โตสิตระกูล โชว์ตัวเลขปลูกฟ้าทะลายโจร 10 ไร่มีรายได้ 1 ล้านบาท ด้านสมัย คูณสุข วิสาหกิจชุมชนบ้านดงบัง บอกผู้บริโภคต้องระวัง ‘ฟ้าทะลายโจร’ บางแห่งมีสารเคมี พร้อมเปิดต้นทุน และรายได้ต่อไร่/ต่อปี ทั้งเกษตรอินทรีย์ และสารเคมี!
หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศขึ้นทะเบียน ‘ฟ้าทะลายโจร’ ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของความพยายามในการขับเคลื่อนที่จะผลักดันให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรถูกนำไปวิจัย พัฒนา และต่อยอดเพื่อสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย ไม่เพียงเท่านั้น สารสกัดฟ้าทะลายโจรยังสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายประเภท ซึ่งหากรัฐบาลส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ จะพบว่า ‘ฟ้าทะลายโจร’ จะเป็นพืชสมุนไพรที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล
โดยเฉพาะเกษตรกรจะมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน!
• ปลูกฟ้าทะลายโจร 10 ไร่มีรายได้ 1 ล้าน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา บอกว่า รัฐบาลควรเร่งส่งเสริม ทดลอง วิจัยและพัฒนาฟ้าทะลายโจร ให้เป็น ‘ยา’ ทั้งใช้ในประเทศและส่งขายไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันจริงจังจะต้องส่งเสริมให้มีการปลูกฟ้าทะลายโจร และต้องมีแผนการปลูกให้ชัดเจนว่า จะปลูกอย่างไร ที่ไหน จะเก็บเมื่อไหร่ สายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรแต่ละประเภทมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันอย่างไร เพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพให้ได้
“ถ้าไม่มีการควบคุมจะเกิดการล้นตลาด ราคาก็ตกต่ำ คุณภาพในการเก็บเกี่ยวก็ไม่มีคุณภาพ กรมวิชาการเกษตรต้องลงมาจัดทำแผน ซึ่งงานวิจัยเรื่องฟ้าทะลายโจร กรมวิชาการเกษตรมีอยู่แล้ว รู้ว่าสายพันธุ์แต่ละชนิดเป็นอย่างไร”
‘รสนา’ ยังบอกอีกว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกร และโรงงานรับซื้อผงฟ้าทะลายโจร เพื่อนำมาผลิตเป็นสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ออกขายในรูปแคปซูล หรืออัดเป็นเม็ด ทำให้รู้ว่ารายได้ของเกษตรกรที่ปลูกฟ้าทะลายโจร น่าสนใจอย่างยิ่ง และถ้ารัฐบาลให้การสนับสนุนจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างมั่นคง
โดยเมื่อปี 2563 ฟ้าทะลายโจรมีราคากิโลกรัมผงอบแห้ง อยู่ที่ 70 บาท แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดและฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยในการรักษาได้ ขยับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 300 บาท ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นถึง 329% และจากข้อมูลการปลูกพบว่า 1 ไร่ปลูกได้ประมาณ 500-1,200 กิโลกรัม เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำเป็นผงจะได้ 50-120 กิโลกรัม ส่วนจำนวนที่ปลูกต่อไร่ได้ผลผลิตที่ต่างกัน จึงอยู่ที่กระบวนการปลูก การดูแลรักษา และคุณภาพ เป็นต้น
“เกษตรกรจะมีรายได้ต่อไร่ 15,000 บาท แต่ถ้าเกษตรกรรายใดทำได้ไร่ละ 120 กิโล ก็จะมีรายได้ต่อไร่ถึง 36,000 บาท ฟ้าทะลายโจร จะสามารถปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง ก็แปลว่าถ้าเรามีเพียง 1 ไร่ จะมีรายได้ไร่ละ 45,000 บาทถึง 108,000 บาท”
ดังนั้น หากเกษตรกรปลูกฟ้าทะลายโจร 10 ไร่ จะมีรายได้ถึงปีละ 450,000 บาท ถึง 1,080,000 บาท
“เท่าที่คุยกับเกษตรกรที่ปลูกเขาจะมีแหล่งรับซื้อไว้แล้ว ส่วนคนที่ไม่มีแหล่งรับซื้อคงจะลำบาก เรื่องการตลาดเป็นปัญหามาก รัฐจึงต้องเข้ามาดูแลเพราะดินในประเทศไทยสามารถปลูกได้หลายพื้นที่ เวลานี้มีกลุ่มจังหวัดเลย กำลังปลูก เพื่อทำอุตสาหกรรมยา และทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ช่วงที่ยังปลูกไม่ได้จะซื้อผงฟ้าทะลายโจรจากที่อื่นมาผลิตก่อน”
• จีนผลิตยาฉีดฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19
ด้าน ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ทั่วโลกรู้จักกันดี แต่ปัญหาของบ้านเราอยู่ที่ว่า ยังเป็นการผลิตแบบดั้งเดิม ทั้งที่ควรจะมีการส่งเสริม มีนวัตกรรมในการพัฒนาที่มีความหลากหลายระดับ ทั้งระดับของประชาชนที่ทำใช้เอง ระดับของการพัฒนาเพื่อการส่งออก ซึ่งต่างประเทศมีการนำฟ้าทะลายโจรไปสกัดและมีการควบคุมสารหลายตัวและสกัดเอาสารบางตัวเพื่อนำไปผลิตเป็นสิ่งที่เขาต้องการ
“ในฟ้าทะลายโจร จะมีสารสำคัญจำพวก ไดเทอร์ปีนแลคโตน (diterpene lactones) ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาทั้งหมด เช่น ลดการอักเสบ ต้านไวรัส ที่ต่างประเทศจะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปแบบของยาจากสารสกัดเป็นชนิดน้ำ และชนิดแคปซูล”
ตัวอย่างเช่น ที่ประเทศสิงคโปร์ จะใช้เป็นยาพ่นใส่จมูก เพราะสารจากฟ้าทะลายโจรจะช่วยลดการอักเสบได้อย่างดี ส่วนที่ยุโรปจะนิยมผลิตเป็นแคปซูล
“คนยุโรปจะเป็นหวัดบ่อย ก็ต้องหาผลิตภัณฑ์ที่จะมาเสริม หรือป้องกัน และในงานวิจัยผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรบางยี่ห้อได้มีการศึกษาด้วยว่ากินยาฟ้าทะลายโจรไปแล้ว มีผลต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวดีขึ้นหรือไม่ และสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้นอย่างไร”
ส่วนของประเทศจีน น่าสนใจมาก เข้าสกัดเอาสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่อยู่ในฟ้าทะลายโจรไปทำเป็นยาฉีดรักษาโควิด-19 เนื่องจากจีนพบว่ายาฉีดฟ้าทะลายโจร สามารถกำจัดเชื้อ หรือการอักเสบที่ปอดลงได้เพราะคุณสมบัติของสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นหนึ่งตัวในไดเทอร์ปีน มีคุณสมบัติลดการอักเสบได้ดี
“บ้านเราจะให้ยาฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 แบบเป็นเม็ด ในช่วงอาการน้อยๆ แต่ของจีนเขาจะให้ช่วง moderate คือ มีปอดอักเสบเกิดขึ้น”
• ผลักดันฟ้าทะลายโจรเป็น Flagship Product of Thailand
ดร.ภญ.ผกากรอง บอกว่า จากการที่ได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรในหลายประเทศ และในงานวิจัยของประเทศไทย พบว่า มีการศึกษาวิจัยไว้แล้ว ตั้งแต่ในเรื่องของการปลูก การทำให้แห้ง การสกัดไปจนถึงคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยา และยังระบุถึงว่าหากเราต้องการสาระสำคัญของฟ้าทะลายโจร แอนโดรกราโฟไลด์ จะต้องมีการเก็บในช่วงไหน เพียงแต่ว่าจะต้องมีทีมงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำการเก็บรวบรวมข้อมูล
“แต่สิ่งที่ยังไม่มีการวิจัยคือเรื่อง Formulation ในทางตำรับยาเพื่อการพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เราเห็นงานวิจัยของอินเดีย ศึกษาถึงการเอาฟ้าทะลายโจรมาทำให้แห้ง วิธีการทำให้แห้งและทำให้สารสำคัญลดลงไปให้น้อยที่สุด คือ การทำให้แห้งประเภทไหน เช่นการตากในร่ม”
ดังนั้น ถ้ารัฐต้องการจะส่งเสริมและพัฒนาฟ้าทะลายโจรจริงๆ ต้องเริ่มจากองค์ความรู้ภูมิปัญญา ประสบการณ์ในการใช้เป็นฐานในการศึกษาวิจัยและต่อยอด นั่นคือแนวทาง Reverse Pharmacology Approach และผลักดันให้เกิดเป็นงานวิจัย Real World Evidence Studies ให้มีความสมบูรณ์ นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ดี เมื่อทบทวนงานวิจัยอย่างรอบด้าน ก็จะรู้ถึงการปลูก การแปรรูปเบื้องต้น การสกัด และฤทธิ์เภสัชวิทยา จะต้องนำไปสู่กระบวนการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอย่างเหมาะสม ซึ่งประเทศไทยโชคดี เพราะสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรที่มีอยู่นั้นไม่ได้ทำให้ผลิตผลมีความแตกต่างกัน
“ถ้าเราต้องการทำเป็นอุตสาหกรรมยา และต้องการส่งออกต้องควบคุมสารสกัดให้นิ่ง เพราะสารสกัดจะสามารถไปใส่ในผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น สารสกัดเข้มข้น ยับยั้งการแตกตัวของไวรัสโควิด-19 ช่วยลดการอักเสบ เราสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทลูกอม แต่มีความขม ก็ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้รสชาติน่าสนใจมากขึ้น หรือนำไปสอนประชาชนทำสบู่เหลว ล้างมือจากฟ้าทะลายโจร”
นอกจากนี้ สามารถพัฒนาเป็นสเปรย์พ่นคอ พ่นจมูก หรือพัฒนาเป็นยารับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ไม่ต้องกินวันละ 3 ครั้ง อาจกินเพียงวันละครั้งเท่านั้น และฟ้าทะลายโจร ช่วยลดการอักเสบของสิวได้ดี นำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง หรือใส่ผสมในยาสีฟัน หรือทำเป็นอาหารเสริมภูมิได้ด้วย
นี่คือการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมของฟ้าทะลายโจรในทุกระดับ ตั้งแต่ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ และการท่องเที่ยวได้ด้วย
“มาเลเซียมีปลาไหลเผือก เป็น Product Champion ได้ ประเทศไทยก็มีฟ้าทะลายโจรเป็น Flagship Product of Thailand ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงก็ได้ ซึ่งต่างประเทศจับตาดูที่เราเอาฟ้าทะลายโจรมาใช้ ก็รอดูว่า ผลการใช้เป็นอย่างไร เราจะพัฒนาต่ออย่างไร เราต้องเร่งลงมือ และทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำ”
• นวัตกรรมแพลตฟอร์มฟ้าทะลายโจร ต้นแบบสู่สมุนไพรไทย
ดร.ภญ.ผกากรอง ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวมีการนำเสนอผ่านคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ของสภาฯ ไปแล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะสามารถผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้จริง เพราะประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ นักไวรัสวิทยา นักวิจัย แต่สิ่งที่เราขาด คือ ขาดเจ้าภาพหรือหน่วยงานและ Project Manager ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนหรือผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้
“คนที่จะเป็น Project Manager ต้องเข้าใจถึงกระบวนการพัฒนายาทั้งระบบ ต้องรู้เรื่องกลไกการตลาด และช่วงกลางระหว่างวิชาการและการตลาด เพราะผลิตภัณฑ์บางอย่างทำออกมาได้ก่อนโดยไม่ต้องการ Proof ในเชิงการรักษาเลย”
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าสมุนไพรในประเทศไทยมีหลากหลายชนิด จะเน้นให้ฟ้าทะลายโจร เป็นตัวชูโรงไปก่อน และประเทศไทยควรรีบใช้จังหวะของโควิด-19 และโอกาสผลักดันแพลตฟอร์มเรื่องของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรออกมาก่อน และแพลตฟอร์มนี้สามารถนำไปใช้กับสมุนไพรตัวอื่นได้ด้วย
• เทียบต้นทุน-รายรับ ฟ้าทะลายโจรแบบอินทรีย์กับสารเคมี
ขณะที่นายสมัย คูณสุข ประธานที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ บ้านดงบัง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บอกว่า ทางกลุ่มมีปลูกสมุนไพรหลายประเภท และฟ้าทะลายโจร ก็เป็นสมุนไพรหลัก ที่บ้านดงบัง จะเน้นเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งความยากของเกษตรอินทรีย์ คือ ต้องใช้แรงงาน ใช้ต้นทุนสูง เพราะต้องถากหญ้าด้วยมือ แต่ถ้าไม่ได้ ควบคุมด้วยเกษตรอินทรีย์ ก็สามารถใช้ยาฆ่าหญ้า ใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ได้ 2-3 เดือนจนกว่าจะเก็บเกี่ยวซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ต้องยุ่งยากเรื่องหญ้า เพราะเขาใช้ยาคุมไว้ แต่ถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์จะเป็นข้อห้ามในการใช้เคมี นั่นคือ ข้อยุ่งยากของการทำเกษตรอินทรีย์
“ฟ้าทะลายโจร ที่เป็นเกษตรอินทรีย์และเคมีก็เอาไปทำเป็นยา ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐต้องชัดเจนว่าโรงพยาบาลไหน บริษัทไหนที่นำฟ้าทะลายโจรมาผลิตยา เป็นเกษตรอินทรีย์หรือเปล่า ถ้ารัฐบาลคุมไม่ได้ จะได้ฟ้าทะลายโจรที่มีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งแถวนครปฐม แถวกำแพงแสนก็ทำกันอยู่”
นายสมัย ย้ำว่า ตัวเขาพูดอยู่เป็นประจำ ตราบใดที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถคุมให้เกษตรกรปลูกฟ้าทะลายโจรที่ใช้เป็นยาตามบัญชียาหลัก ปราศจากสารเคมีได้ ก็จะเป็นฟ้าทะลายโจรเคมี โดยที่ประชาชนผู้บริโภคไม่รู้ เพราะประชาชนจะเชื่อว่าฟ้าทะลายโจร ก็คือฟ้าทะลายโจร ที่มีสรรพคุณเหมือนกัน แต่มักจะถามกันว่า ฟ้าทะลายโจรที่ซื้อจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำไมกระปุกเป็นร้อย แต่ซื้อที่อื่นเพียงแค่ 50 บาท โดยประชาชนไม่รู้ว่าที่ไปที่มาของฟ้าทะลายโจรเป็นอย่างไร ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรของอภัยภูเบศร จะเป็นสมุนไพรอินทรีย์ทั้งหมด
สำหรับต้นทุนในการผลิตต่อไร่ ต่อปี ซึ่งจะผลิตปีละ 3 ครั้ง โดยใช้คนหนึ่งดูแล ฟ้าทะลายโจร 3 เดือน เดือนละเก้าพัน เท่ากับสองหมื่นเจ็ดพัน ในรอบหนึ่งปี ปลูกได้ 3 ครั้ง ก็หกเจ็ดแปดหมื่น ตรงนี้คือค่าแรงแปดหมื่น นั่นคือ การถอนหญ้า ดูแล และค่าปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งหนึ่งไร่จะได้ผลผลิตประมาณ 800-900 กิโลกรัม และขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท แต่ถ้าผลผลิตไม่งามก็จะลดลงมา และเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จะเหลือประมาณห้าหมื่นหกหมื่นบาทต่อไร่ต่อปี
“เราไม่ได้ปลูกไร่เดียว ก็คูณจำนวนไร่เข้าไป ก็เป็นรายได้ของเกษตรกร พวกเรามี 11 คน มีจำนวน 60 กว่าไร่ ก็อยู่กันได้ ส่วนกลุ่มที่ใช้สารเคมีจะใช้ห้าหมื่น หกหมื่น ไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มนี้จะลดต้นทุนในเรื่องเวลา คือ สองสามเดือนไม่ต้องมาถอนหญ้า ไปทำอย่างอื่น คือ เขาจะได้เปรียบตรงนั้น แต่ผู้บริโภคจะเสียเปรียบทันที”
• วอนปรับราคารับซื้อฟ้าทะลายโจรให้เกษตรกรอยู่รอด
ดังนั้น ต้นทุนของฟ้าทะลายโจรแบบสารเคมีจะถูกกว่าเยอะ โดยรวมหนึ่งไร่ ต่อหนึ่งเดือน เกษตรอินทรีย์จะเป็นค่าคนงานถอนหญ้าก็ประมาณเจ็ดพัน ขณะที่กลุ่มสารเคมีจะฉีดยาฆ่าหญ้า กระปุกเดียวแค่ 250 บาท ก็อยู่ได้ 2-3 เดือน อีกทั้งเกษตรอินทรีย์จะใช้ปุ๋ยขี้ไก่ ปุ๋ยคอก ต้นทุนประมาณ 2 พันบาทต่อไร่ แต่ปุ๋ยเคมีใช้หนึ่งกระสอบต่อหนึ่งไร่ ราคาประมาณ 800 กว่าบาท
“แต่รายรับของทั้ง 2 ประเภทจะไม่ต่างกัน แม้เกษตรอินทรีย์จะมีต้นทุนสูงกว่า แต่เมื่อนำไปขายต่อไร่ ผลผลิตของสารเคมีแม้ต่อไร่จะผลิตได้มากกว่า แต่ขายได้กิโลกรัมบดแห้งเพียง 80-90 บาทเท่านั้น ส่วนฟ้าทะลายโจรแบบอินทรีย์จะได้ 150-160 บาท”
อย่างไรก็ตาม สมุนไพรฟ้าทะลายโจร บ้านดงบัง จะมีกระบวนการผลิตที่ควบคุมโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในช่วงแรก แต่ปัจจุบันเราควบคุมกันเอง เนื่องจากผ่านประสบการณ์การผลิตมาแล้วเกือบ 20 ปี และกลุ่มเรามีโรงล้าง โรงตาก และตู้อบ ครบวงจร
“โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างเครือข่ายไว้มาก ที่ดงบังเป็นต้นแบบ ตอนนี้ที่ปราจีนฯ มีสิบกว่ากลุ่ม และที่กาญจนบุรี”
นายสมัย บอกว่า การทำเกษตรอินทรีย์เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม มีการปลูกสมุนไพรและฟ้าทะลายโจรที่กว่าจะทำเป็นผงแห้ง 1 กิโลกรัมนั้น ต้องใช้สมุนไพรสดถึง 6 กิโลกรัม และราคาขายที่ 150 บาทก็เป็นเวลานานแล้ว จึงอยากขอช่วยยกระดับราคาที่ชาวบ้านอยู่ได้คือควรจะประมาณกิโลกรัมละ 300 น่าจะเหมาะสม
“เมื่อต้นปีช่วงโควิด-19 เข้ามาใหม่ๆ ฟ้าทะลายโจร ดีดราคาขึ้นไปถึงกิโลละ 600 คนก็ซื้อไปผลิตกันได้ ตอนที่ขาด ชาวบ้านก็ตุนกันไว้ จากร้อยห้าสิบ สามร้อย จนถึงหกร้อย คือ เอากลางๆ สัก 300-350 ชาวบ้านอยู่ได้ ไม่ต้องถึง 600 หรอก ช่วงที่ฟ้าทะลายโจรไม่มี โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็ต้องซื้อแพงที่กิโลละ 600 เพื่อมาผลิตเหมือนกัน ตอนนั้นเขาก็ขึ้นให้พวกเรา แต่ตอนนี้ก็ลงมาที่ 150 อีกแล้ว ก็อยากให้เห็นใจขยับราคากันด้วย”
จากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ จะมีการผลักดันให้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ สามารถวิจัย ต่อยอดและพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งออกและสร้างรายได้เข้าประเทศได้หรือไม่? เพราะหากฟ้าทะลายโจรเป็นที่ต้องการมากเท่าใด จะส่งผลดีถึงภาคเกษตรกรได้เช่นกัน