xs
xsm
sm
md
lg

ทางรอด “บิ๊กตู่” จัดอันดับใช้เงินให้ถูกทาง เร่งจ้างงาน-ดูแล SME ไม่ต้องปรับเพดานหนี้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักเศรษฐศาสตร์ชี้ยังไม่จำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงกว่า 60% ของจีดีพี เชื่อเงินกู้ที่มีเพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “ผศ.ดร.ธนวรรธน์” มั่นใจ หลังปูพรมฉีดวัคซีน เริ่มแผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้น จี้รัฐเร่งใช้งบเพื่อการจ้างงาน-พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้าน “ผศ.ดร.ณดา” ติงรัฐบาลต้องลำดับความสำคัญของการใช้งบ ดูแลสาธารสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อลมหายใจให้ SME และชะลอการจัดซื้ออาวุธ ขณะที่ล่าสุด รัฐบาลอัดงบ 2.2 พันล้าน จ้างงาน 1 หมื่นอัตรา

ประเด็นเศรษฐกิจที่ถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้คือ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะ จากปัจจุบันที่กำหนดว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวนมาก ขณะที่รายได้การจัดเก็บภาษีนั้นค่อนข้างน้อย เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการปิดกิจการและการถูกเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีข้อวิตกว่าหากมีการขยายเพดานเงินกู้จะส่งผลดี-ผลเสียต่อประเทศอย่างไร?

เรื่องนี้คงต้องไปฟังความเห็นจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่จะวิเคราะห์เจาะลึกว่า จำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ มีปํจจัยใดบ้างที่จะทำให้ต้องขยายเพดานเงินกู้ และถ้าขยายเพดานการกู้เงินแล้วจะส่งผลดี-ผลเสียอย่างไร?

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การดูว่าเราจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะหรือไม่นั้นมีสิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ส่วน คือ 1.รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มไหม และ 2.จีดีพี ซึ่งเป็นตัวหารนั้นเติบโตเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้หากคาดว่าในปี 2565 จีดีพีจะขยายตัวและเติบโตขึ้น และปี 2566 เศรษฐกิจก็ยังเติบโตได้ดี ความจำเป็นในการกู้เงินลดลง รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องขยายเพดานเงินกู้

แต่ถ้าประเมินว่าในปี 2566 เราจำเป็นต้องกู้เพิ่ม และเศรษฐกิจยังเติบโตไม่เต็มที่ รัฐบาลก็แค่เตรียมการขอปรับเปลี่ยนเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมปรับเปลี่ยนเพดานเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การขยายเพดานหนี้สาธารณะนั้นไม่น่าจะใช่เรื่องยากเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก หากจำเป็นต้องแก้กฎระเบียบก็น่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ โดยอาจจะเป็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะชั่วคราว จาก 60% เป็น 65% หรือ 70% ของจีดีพี ซึ่งสามารถทำได้ จะเห็นได้ว่าท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีหลายประเทศที่ใช้มาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะให้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรป ก็มีหนี้สาธารณะสูงเกิน 100% ของจีดี

“อย่างไรก็ดี คิดว่าตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ เพราะถ้าผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ยังมีเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลซึ่งเป็นการกู้ในงบประมาณเพิ่มอีก 7 แสนล้าน ก็ยังอยู่ในกรอบวินัยการคลังคือหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพี และขาดดุลไม่เกิน 4% ของจีดีพี จึงมองว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถประคองเศรษฐกิจต่อไปได้ เพราะตอนนี้เราเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถ้าเศรษฐกิจเริ่มฟื้น คนเริ่มมีความมั่นใจ เราเริ่มเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ซึ่งเป็นแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องมีการกักตัว เริ่มเปิดการท่องเที่ยว เศรษฐกิจก็อาจจะเติบโตขึ้น จีดีพีขยายตัว รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อขยายกรอบเงินกู้” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

ผศ.ดร.ณดา  จันทร์สม อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ และอธิการบดีฝ่ายวิชาการ  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ และอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ระบุว่า ขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยยังไม่ถึงขั้นปริ่มเพดาน โดยตอนนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 53-54% ของจีดีพี ซึ่งตัวเลขที่เกี่ยวกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้นมี 2 ตัว คือ ระดับของการก่อหนี้ และจีดีพี ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ตอนนี้จีดีพีของไทยยังเติบโตได้อยู่ แม้ปีที่แล้วจีดีพีของไทยติดลบ แต่ปีนี้เชื่อว่าจีดีพีน่าจะเป็นบวกได้ โดยตัวเลขจากสภาพัฒน์ระบุว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ไม่ได้ติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จีดีพีในปี 2564 จะไม่ถึงขั้นติดลบ เพียงแต่จะโตมากน้อยขนาดไหนก็ต้องดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง

“ดังนั้น ถ้าถามว่าไทยควรที่จะขยายเพดานเงินกู้หรือไม่ คิดว่ายังไม่จำเป็น เพราะตอนนี้เงินกู้หรือหนี้สาธารณะ 60% ของจีดีพียังอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ แม้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีปัญหาอยู่ แต่ตอนนี้การปรับเพดานหนี้สาธารณะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่ประเด็นสำคัญคือจะเอาหนี้สาธารณะที่ก่อขึ้นมาไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร ทั้งนี้ การขยายเพดานเงินกู้จะมีผลดีผลเสียอย่างไรก็ขึ้นกับว่ารัฐบาลจะเอาไปใช้ทำอะไร ถ้ารัฐบาลนำเงินไปใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาในลักษณะที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต และความสามารถในการสร้างรายได้ รัฐบาลสามารถนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีมาชำระหนี้ในระยะถัดไปได้ การขยายเพดานเงินกู้ก็ไม่ได้มีผลเสียอะไร” ผศ.ดร.ณดา ระบุ

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิชาการต่างยอมรับว่า “หนี้สาธารณะ” ซึ่งเกิดจากการกู้เงินของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยนั้นถือเป็นภาระที่ประชาชนต้องชำระคืนในรูปของการเสียภาษี โดยแทนที่รัฐบาลจะนำเงินภาษีที่จัดเก็บได้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ก็ต้องนำมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ในภาวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆ ทยอยปิดกิจการ และเกิดปัญหาการว่างงานตามมา รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพื่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่เศรษฐกิจจะเสียหายมากไปกว่าเดิม

เช่น ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 10,000 อัตรา กำหนดอัตราเงินเดือน เดือนละ 18,000 โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะเป็นการเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ จัดสรรอัตราในหน่วยงานราชการที่มีภารกิจสำคัญและเร่งด่วนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ภายใต้งบประมาณการจ้างงานในวงเงิน 2,200 ล้านบาท

การใช้งบเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและช่วยพยุงธุรกิจ SME เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
ทั้งนี้ นักวิชการทั้ง 2 ท่านเห็นตรงกันว่ารัฐบาลควรระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดย ผศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่าให้มีการคอร์รัปชัน อย่าให้เงินรั่วไหล นอกจากแจกเงินผ่านโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนแล้ว รัฐควรใช้งบประมาณเพื่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐจะดำเนินการตามกรอบหลักการและยังมีช่องทางในการฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการจัดสรรงบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการดูแลการจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19

“การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐในช่วงนี้จะเป็นงบขาดดุลและงบที่กู้เพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ในการแจกเงินให้ประชาชนผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการคนละครี่ง เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่หลังจากนี้เชื่อว่างบประมาณจะถูกนำไปใช้เพื่อให้เกิดการจ้างงานและเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลควรทุ่มงบเพื่อใช้ในการจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชน มากกว่าจะนำเงินไปแจกผ่านโครงการต่างๆ เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้นกันก็จะสามารถกลับมาประกอบกิจการตามปกติได้ เศรษฐกิจจะดีขึ้นนั้น ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่า คำถามในลักษณะดังกล่าวน่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจโครงสร้างในการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากทั้งสองกรณีเป็นการใช้งบประมาณคนละส่วนกัน ซึ่งงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนนั้นถูกกันไว้แล้ว โดยใช้เงินงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ถูกกันไว้เพื่อใช้ในกิจกา รสาธารณสุข 6 แสนล้าน ตามมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ซึ่งมีการจัดสรรงบเพื่อจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้ 100 ล้านโดส โดยตอนนี้ไทยมีวัคซีนเข้ามาแล้ว 60 ล้านโดส ยังขาดอีก 40 ล้านโดส โดยหากเป็นวัคซีนซิโนแวค ราคาจะอยู่ที่โดสละ 200 บาท หมายความว่าต้องใช้งบอีก 8,000 ล้านบาท ถ้าเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ราคาจะอยู่ที่โดสละ 1,000 บาท งบที่ต้องใช้คือ 40,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่จัดสรรไว้แล้วนั้นถือว่าเพียงพอ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้รัฐบาลควรชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าเงินที่จะใช้จัดซื้อวัคซีนนั้นถูกจัดสรรไว้แล้ว ซึ่งเป็นคนละก้อนกับโครงการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นักวิชาการชี้ว่าสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้คือการใช้จ่ายงบเพื่อให้เกิดการจ้างงาน
ด้าน ผศ.ดร.ณดา มองว่า สถานการณ์ที่เราเจออยู่ในขณะนี้คือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเงินที่รัฐบาลกู้มาต้องนำไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่ 2 นัย คือ 1.เพื่อการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่กระทบต่อประชาชนมากเกินไป และ 2.เป็นการนำเงินไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น สามารถยืนขึ้นได้ใหม่และเดินหน้าต่อไปได้

ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกจนถึงปัจจุบันนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยวซึ่งเกี่ยวเนื่องกับภาคการบริการในหลาย sector และปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก่อนโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการต่อจีดีพีค่อนข้างสูง ดังนั้น ถ้าไทยยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เหมือนเดิมโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็ยังไม่เกิด

“ตอนนี้ประเด็นอยู่ที่ว่าผลกระทบยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจในหลาย sector โดยเฉพาะเอสเอ็มอีซึ่งช่วงที่ผ่านมาเริ่มที่จะปิดกิจการและล้มหายตายจากไปหลายหมื่นราย แม้โควิด-19 จะหายก็ไม่ได้หมายความว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะหายไปด้วย โควิด-19 หายก็ยังต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อ ทำให้ภาคธุรกิจกลับมายืนและเดินต่อไปข้างหน้าได้ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” ผศ.ดร.ณดา ระบุ

ผศ.ดร.ณดา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาอาจจะเห็นได้ว่ารัฐบาลยังไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เพราะยังมีการใช้เงินงบประมาณไปในเรื่องที่ไม่ได้จำเป็นเร่งด่วน เช่น งบด้านความมั่นคง การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งสามารถชะลอออกไปก่อนได้ ทั้งที่สิ่งที่ต้องดูแลเร่งด่วนคือเรื่องสาธารณสุข และการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยช่วยเหลือให้ภาคเอกชนยืนอยู่ได้ มีสายป่านยาวเพียงพอที่จะช่วยให้เขายังสามารถประกอบกิจการได้เพราะต้องยอมรับว่าหากธุรกิจล้มไปแล้วโอกาสที่จะลุกขึ้นมาใหม่นั้นเป็นเรื่องยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น