xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์เดินเครื่องช่วยลูกหนี้ก่อน NPLs หลอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แบงก์พาณิชย์เร่งแก้ปัญหาลูกหนี้โควิด-19 ทั้งภาคบุคคลและธุรกิจ เสนอแนวทางสินเชื่อใหม่ดอกต่ำ จำนองสินทรัพย์พร้อมสัญญาซื้อคืนแต่ยังขาดมิติเงินขาดมือ แบงก์ออมสินโดดลงมาช่วยปล่อยกู้ แต่มีวงเงินจำกัด คานอำนาจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ กดดอกเบี้ยไม่เกิน 11% ดึงดอกเบี้ยธุรกิจนี้ลงช่วยคนเดือดร้อน นักการเงินประเมินแบงก์พาณิชย์มีข้อจำกัด แนะตั้งหน่วยงานกลางบริหารหนี้เหมือนอดีต

ท่ามกลางการต่อสู้กับโควิด-19 ทั้งด้านสุขภาพของประชาชนที่ภาครัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ซึ่งประชาชนอายุระหว่าง 18-59 ปีจะเริ่ม 7 มิถุนายนนี้ แม้จะมีปัญหาบ้างในเรื่องแอปที่ใช้ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่แอปจากภาคส่วนอื่นยังคงรองรับนัดคิวฉีดให้ประชาชนได้ในแต่ละพื้นที่

ส่วนมิติอื่นอย่างเช่นภาระหนี้สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไป หรืออาจต้องตกงานนี้ เจ้าภาพหลักอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาทำหน้าที่ออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ หารือกับสถาบันการเงิน เพื่อหาทางออกช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถฝ่าฟันสถานการณ์นี้ไปให้ได้

แนวทางลดดอกเบี้ย ลดผ่อนชำระเงินต้น พักเงินต้น พักดอกเบี้ย เปลี่ยนโครงสร้างให้เป็นหนี้ระยะยาว หรือรวมหนี้ที่มีหลักประกัน ล้วนเป็นสูตรสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้ที่มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในเบื้องต้นเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กับเจ้าหนี้ได้หาทางออกร่วมกันบนแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ไว้ แต่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ทางแบงก์ชาติยังมีคลินิกแก้หนี้เป็นแนวทางช่วยเหลือแต่อาจต้องแลกกับการติดรายชื่อในเครดิตบูโร หรือหากกระบวนการไปถึงขั้นฟ้องร้องก็มีมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้หาทางออกร่วมกันอีกรอบ รวมไปถึงหากสถาบันการเงินใดที่ไม่ดำเนินตามแนวทางของแบงก์ชาติ ลูกหนี้สามารถร้องเรียนมาที่แบงก์ชาติได้เช่นกัน

การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องของแต่ละสถาบันการเงินที่จะหาทางออกร่วมกับลูกหนี้แต่ละราย ในภาพรวมแล้วโควิด-19 ทำให้ลูกหนี้ตั้งตัวไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รายได้ลดลงหรือตกงาน พวกเขาไม่ได้จงใจเบี้ยวหนี้ อีกทั้งไม่มีใครคิดว่าสถานการณ์นี้จะลากยาวมามากกว่า 1 ปี ดังนั้นเจ้าหนี้ควรเห็นใจลูกหนี้อาจต้องยอมสูญเสียรายได้บ้าง เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสฟื้นตัวได้

การควบคุมโรค ทั้งมาตรการป้องกัน รวมถึงการฉีดวัคซีนเพื่อสกัดกั้นโควิด-19 อาจใช้เวลาสั้นกว่าการแก้ปัญหาเรื่องภาระการเงินของบุคคลและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจต้องกินเวลาอีก 3-5 ปีกว่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง

คิดให้ครบ-สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ปัญหาตอนนี้คือการปรับโครงสร้างหนี้ภาคบุคคลไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขหรือแนวทางใดก็ตาม อาจทำให้ลูกหนี้บางรายขาดสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายสำหรับการดำรงชีพ เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ดอกเบี้ยต่ำมีเพียงสถาบันการเงินของรัฐเท่านั้นที่เปิดให้ผู้ที่เดือดร้อนกู้ได้ เจ้าภาพหลักได้แก่ ธนาคารออมสิน แต่วงเงินที่ให้มีแค่จำนวนหนึ่งและไม่เพียงพอต่อความต้องการ การเปิดให้กู้แต่ละรอบพบว่าเต็มอย่างรวดเร็ว

แหล่งข่าวจากวงการธนาคารกล่าวว่า ที่ออมสินทำได้เป็นเพราะเป็นธนาคารของรัฐ ได้รับการสนับสนุนในเรื่องต้นทุนเงินดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลช่วยรับผิดชอบในเรื่องความเสี่ยงหากเกิดหนี้เสีย ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของเอกชนทำได้ยากเพราะมีเรื่องของกฎเกณฑ์ต่างๆ อีกมาก รวมถึงต้องคำนึงผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น เราจึงเห็นมีเพียงธนาคารของรัฐเท่านั้นที่ทำได้

ที่จริงแล้วในยามที่เกิดวิกฤต บ้านเรายังไม่มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปแบบ ส่วนใหญ่ใช้ธนาคารของรัฐเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ครอบคลุมในทุกมิติ เช่น เมื่อแบงก์พาณิชย์ปรับโครงสร้างลูกหนี้ของแบงก์ตนเองแล้ว วงเงินบางส่วนของลูกหนี้อาจถูกจำกัดลงไป การแสวงหาแหล่งสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำมักมีจำกัดเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นของเอกชน

เราได้เห็นธนาคารออมสินเข้ามาถือหุ้นในบริษัทที่รับจำนำทะเบียนรถแล้วเสนอดอกเบี้ยต่ำกว่าในตลาดให้ลูกค้านับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาภาระของประชาชนได้ หลังจากที่ธนาคารออมสินเข้าถือหุ้นสัดส่วน 49% ในบริษัทเงินสดทันใจ เครือของบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD แล้วทำตลาดที่ดอกเบี้ยต่ำ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี


ออมสินดึงดอกเบี้ยจำนำทะเบียนลง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงการเดินหน้าบทบาทธนาคารเพื่อสังคม ที่ธนาคารฯ เร่งเพิ่มช่องทางช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ที่ขาดสภาพคล่องเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำและได้รับเงินเร็ว อีกทั้งเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการช่วยประชาชนกลุ่มฐานรากที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบในครั้งนี้

ธนาคารฯ ร่วมกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ลงชั่วคราว เหลือเพียง 0.49% (หรือเท่ากับ 11% ต่อปี) สำหรับผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อในช่วงเวลาโปรโมชัน 2 เดือน จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษนี้ตลอดอายุสัญญา ทั้งนี้ เปิดรับจำนำทะเบียนทั้งที่เป็นรถมอเตอร์ไซค์ปลอดภาระหนี้ และที่ประสงค์รีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระดอกเบี้ยสัญญาเดิม ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเพิ่มสภาพคล่องในชีวิตประจำวันของผู้ที่เดือดร้อนได้

นอกจากนี้ ธนาคารฯ ได้เปิดจุดบริการสินเชื่อจำนำทะเบียนภายในสาขาธนาคารออมสิน จำนวนกว่า 550 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางแก่ผู้ที่สะดวกใช้บริการที่สาขาของธนาคาร โดยมีทีมงานของ บจ. เงินสดทันใจ พร้อมมอบบริการด้วยขั้นตอนที่สะดวกรวดเร็ว ให้ผู้ที่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อสามารถรับเงินได้ภายใน 15 นาที ผู้ที่สนใจสามารถไปติดต่อขอสินเชื่อที่จุดบริการเงินสดทันใจภายในสาขาธนาคารออมสินกว่า 550 สาขา ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (ตรวจสอบรายชื่อสาขาธนาคารให้บริการได้ที่ www.gsb.or.th) และที่สาขาของศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ จำนวนกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ

เพิ่มทางเลือกให้ผู้เดือดร้อนเงิน

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ที่จริงยังมีธุรกิจการเงินอีกหลายแห่งที่คิดดอกเบี้ยกับลูกค้าสูง เมื่อเทียบกับต้นทุนทางการเงินที่ระดมมาได้ จะเห็นได้ว่าออมสินเลือกที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เนื่องจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ผู้ประกอบการในตลาดมีไม่มาก เป็นธุรกิจที่กำไรสูงมาก คิดดอกเบี้ยสูงเกินจริง มีส่วนต่างดอกเบี้ยราว 15-20% เมื่อเทียบกับธนาคารมีส่วนต่างเพียง 2-3 แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่ต่างกัน ดอกเบี้ยที่ลงมาเหลือที่ 11% ถือว่ายังมีกำไร

ถือว่าเป็นตัวช่วยลดภาระผู้ที่เดือดร้อน คือได้สินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าเจ้าอื่นๆ มาก อีกทั้งยังเปิดรีไฟแนนซ์ให้ผู้ที่ต้องแบกรับกับเจ้าหนี้เดิมที่ดอกเบี้ยสูง หากย้ายมาจะช่วยลดภาระผ่อนต่อเดือนลงได้ วิธีการนี้ถือเป็นการเข้ามาถ่วงดุลกับผู้ประกอบการรายอื่น ส่งผลให้หลายเจ้าต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา

อีกด้านหนึ่งหากรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้รวดเร็ว กิจการที่เคยหยุดไปกลับมาเปิดให้บริการได้ รายได้ของผู้คนก็จะกลับคืนมา ส่วนกิจการที่ไปต่อไม่ไหว รัฐอาจต้องส่งเสริมให้มีการจ้างงานในภาคอื่นๆ เพื่อช่วยดึงแรงงานที่ตกงานกลับเข้ามามีงานทำอีกครั้ง มีกำลังผ่อนชำระต่อหนี้สินที่เคยมีอยู่ ทุกฝ่ายย่อมได้รับผลบวกจากสถานการณ์ที่คลี่คลาย


เสนอวิธีจำนองทรัพย์

ลูกหนี้ในทุกกลุ่มหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ ย่อมส่งผลต่อตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสถาบันการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต

ขณะนี้ได้เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์เริ่มขยับให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ประเภทที่เป็นเจ้าของกิจการบ้างแล้ว ด้วยซอฟต์โลนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือ อย่างธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกรไทย ที่มีแนวทางช่วยเหลือที่ใกล้เคียงกันทั้งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ ประกอบด้วย

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี เปิดกว้างให้ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่

ลูกค้าเดิมที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่มีอยู่กับธนาคาร สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท (นับรวมวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินทุกแห่ง)

มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราวในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้รับสิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต ในราคาต้นทุนรับโอนบวกค่าธรรมเนียม Carrying Cost 1% บวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง หักค่าเช่าที่ลูกค้าชำระมาแล้ว มาตรการนี้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีค่าธรรมเนียมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการรับโอนและการโอนคืนกลับให้ลูกค้า สําหรับลูกค้าที่มีความประสงค์โอนทรัพย์สินเพื่อชําระหนี้ ต้องมียอดสินเชื่อธุรกิจคงเหลือกับธนาคาร ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และไม่เป็น NPL ณ 31 ธันวาคม 2562 รวมทั้งทรัพย์สินที่โอนต้องเป็นหลักประกันกับธนาคารก่อน 1 มีนาคม 2564


สศค.สั่งพิโกไฟแนนซ์ช่วยลูกหนี้

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) จึงได้ออกหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ให้ลูกหนี้ตามความเหมาะสมและตามสมควรที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แต่ละรายจะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของตนเองได้ โดยการ

1.ลดค่างวดหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้

2.เปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว

3.พักชำระค่างวด หรือพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน หรือพักเงินหรือพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย หรือวิธีการอื่นใดที่จะสามารถช่วยบรรเทาภาระหนี้แก่ลูกหนี้ได้

นอกจากนี้ ยังได้ขยายระยะเวลาการส่งรายงานงบการเงินสำหรับรอบปีบัญชี 2563 ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564

แก้หนี้ได้ไม่ทุกมิติ

นักบริหารเงินประเมินสถานการณ์นี้ว่า การแก้ปัญหาหนี้แต่ละแบงก์ต่างคนต่างหาทางออกให้ลูกหนี้ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุกแบงก์ระมัดระวังโดยที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นควบคู่ไปด้วย ไม่มีแบงก์ใดกล้าที่จะเสนอทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกหนี้เป็นหลัก ขณะที่ธนาคารของรัฐเองมีข้อจำกัดในเรื่องวงเงินที่ให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจไม่ครอบคลุมในมิติอื่น เช่น การเข้าถึงสินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยต่ำ

แม้ว่าสถาบันการเงินจะหาทางช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น พักต้น พักดอกหรือลดดอกเบี้ยให้ แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความช่วยเหลือดังกล่าวอาจไม่นานพอที่จะรอให้ทุกอย่างฟื้นตัว ที่จริงน่าจะมีแนวทางอื่นเสริมเข้ามา เช่น มีหน่วยงานกลางเพื่อรับซื้อหนี้แล้วนำมาบริหารเหมือนกับในอดีต เพื่อลดปัญหาความไม่สะดวกของธนาคารพาณิชย์ และสามารถให้เงื่อนไขที่ช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างแท้จริง




กำลังโหลดความคิดเห็น