xs
xsm
sm
md
lg

คนตกงานเฮ! ตำแหน่งว่างรับกว่าแสนอัตรา ลูกจ้างโรงงาน-ก่อสร้างต้องการเยอะสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อธิบดีกรมการจัดหางาน” เผยมีตำแหน่งงานว่างกว่า 1 แสนอัตรา เปิด 5 อันดับแรงงานที่ตลาดต้องการสูงสุด และ 5 อันดับตำแหน่งงานระดับ ป.ตรี ที่ผู้ประกอบการต้องการ พร้อมชี้ช่องทางหางาน ทั้งวัยทำงาน ผู้สูงอายุ และเด็กที่ยังเรียนไม่จบ แนะ “186 อาชีพอิสระ” ยุคโควิด-19 ทั้งแปลกใหม่ ทำง่าย ลงทุนน้อย ผลตอบแทนดี

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง และทำให้มีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานยังมีข่าวดี โดยนอกจากจะมีการรวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานว่างไว้ให้ที่ผู้สนใจมากมายแล้ว ยังมีการส่งเสริมอาชีพในรูปแบบต่างๆ ไว้เป็นทางเลือกในการสร้างงานสร้างรายได้อีกด้วย

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่กรมการจัดหางานรวบรวมจากสถานประกอบการทั่วประเทศ พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ค.64 มีตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ (ในระบบ Smart Job) จำนวน 107,948 อัตรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานฝ่ายผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า แรงงานระดับล่าง กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนแรงงานและเป็นที่ต้องการของนายจ้างอย่างมาก อย่างเช่นแรงงานประมง และก่อสร้าง เนื่องจากงานเหล่านี้เป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำ

โดยตำแหน่งงานที่นายจ้าง/สถานประกอบการแจ้งความต้องการในระบบ Smart Job 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการผลิตต่างๆ แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการประกอบอื่นๆ 3.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 4.ตัวแทนนายหน้า และ 5.พนักงานบริการลูกค้า

สำหรับตำแหน่งงานว่างระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีจำนวน 13,358 อัตรา ซึ่งตำแหน่งงานว่างในระดับปริญญาตรีที่นายจ้าง/สถานประกอบการแจ้งความต้องการในระบบ Smart Job 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.นักการตลาด เจ้าหน้าที่การตลาด เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการขาย 2.ผู้จัดการฝ่ายอื่นๆ ที่มิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น 3.เจ้าหน้าที่บริหารงานลูกค้า 4.ผู้จัดการฝ่ายค้าปลีก และ 5.ผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขาย

“ตำแหน่งงานว่างโดยรวมในปัจจุบันมีประมาณแสนกว่าตำแหน่ง ที่มากสุดคืองานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต เช่น แปรรูปอาหารทะเล ผมได้คุยกับผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเลที่สมุทรสาคร เขาบอกว่าช่วงนี้ที่สมุทรสาครต้องการแรงงานประมาณ 4 หมื่นคน ยังไม่รวมจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหลักๆ อย่าง สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี ซึ่งยังต้องการแรงงานจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีภาคการก่อสร้าง ซึ่งเฉพาะบริษัทอิตาเลียนไทยต้องนำเข้าแรงงานก่อสร้างเป็นพันคนเลย เพราะไม่มีแรงงานไทย ส่วนตำแหน่งงานที่ทำงานในออฟฟิศที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้าน เช่น เลขา พนักงานบัญชี วิศวะ ก็ต้องการเยอะเช่นกัน” อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุ


อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการด้านแรงงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 นั้น กรมการจัดหางานมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกช่วงวัยได้มีอาชีพ มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการรวบรวมตำแหน่งงานว่างจากนายจ้าง/สถานประกอบการที่มีความต้องการแรงงานในทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา และอัตราค่าจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งประชาชนผู้ว่างงานที่ต้องการมีงานทำ สามารถเลือกสมัครงานโดยผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

1)ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์จัดหางานสาขา ทุกแห่ง

2)เว็บไซต์ https://smartjob.doe.go.th ซึ่งเป็นการให้บริการจัดหางานในรูปแบบออนไลน์ ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปลงทะเบียนสมัครงาน และเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งงานว่างซึ่งรวบรวมมาจากทั่วประเทศได้ด้วยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา

3)แพลตฟอร์มหางาน “Smart Job Wallet” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงบริการหางานได้มากยิ่งขึ้น

4)กิจกรรมนัดพบแรงงาน (Job Fair) ซึ่งมีทั้งการนัดพบแรงงานครั้งใหญ่ การนัดพบแรงงานย่อย และการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางกรมการจัดหารงานจึงต้องชะลอการจัดงานนัดพบแรงงานออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

5)กรมการจัดหางานได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงาน ทั้งตำแหน่งงานว่าง ให้คำแนะนำในการเพิ่มทักษะอาชีพ โดยเน้นการให้บริการตรงถึงระดับตำบล ชุมชน และครัวเรือนที่ยากจน

6)บริการจัดหางานและรับขึ้นทะเบียนแก่ผู้ประกันตนในกรณีว่างงาน โดยจัดให้บริการ ณ จุดขนส่งต่างๆ ทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) บริเวณชานชาลา สถานีรถไฟหัวลำโพง และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สายใต้ใหม่)


นอกจากนั้น กรมการจัดหางานยังให้บริการจัดหางาน Part-time โดยรวบรวมตำแหน่งงานว่างแบบ Part-time จากสถานประกอบการ และประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ที่ต้องการหางานและทำงานแบบระยะสั้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการมีงานทำและสร้างรายได้เพิ่ม โดยผู้ที่สนใจสามารถดูตำแหน่งงานว่าง Part, -time โดยตรงได้ที่ Facebook Fanpage : “เสิร์ฟงานด่วน” และเว็บไซต์ https://smatjob.doe.go.th

ทั้งนี้ นอกจากการจัดหางานให้แก่ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานแล้ว กรมการจัดหางานยังหาช่องทางในการหาตำแหน่งงานให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุและนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบด้วย โดยผู้สูงอายุที่สนใจหางานสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://smartjob.doe.go.th/elderly หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานใกล้บ้าน ส่วนนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบต้องการหางานพาร์ทไทม์ หรือหาที่ฝึกงานสามารถเข้าไปดูข้อมูลและสมัครงานได้ที่เว็บไซต์ www.เด็กฝึกงาน.com

คนงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลนับเป็นกลุ่มแรงงานที่กำลังขาดแคลนในขณะนี้
ไม่เพียงแต่หาตำแหน่งงานให้แก่ผู้ที่ว่างงานเท่านั้น กรมการจัดหางานยังมีภารกิจในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่ผู้ว่างงานและผู้ที่สนใจด้วย โดย นายไพโรจน์ ชี้แจงว่า ในส่วนการฝึกอบรมทักษะอาชีพให้แก่ผู้ว่างงานนั้นเนื่องจากขณะนี้มีปัญหาการแพร่ระบาดของคิด-19 ทางกรมการจัดการงานจึงต้องงดกิจกรรมดังกล่าวไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งจัดคอร์สฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์แทน นอกจากนั้น กรมการจัดหารงานยังได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “อาชีพอิสระ” เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ว่างงาน หรือต้องการหารายได้เสริม ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าชมข้อมูลอาชีพ และคลิปสาธิตการประกอบอาชีพ ได้ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/vgnew ของกองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน ได้ทุกที่ ทุกเวลา

“เรามีข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพอิสระที่แนะนำในช่วงโควิด-19 ถึง 186 อาชีพ ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ลงทุนน้อย สามารถทำได้ง่าย ได้รับผลตอบแทนดี ซึ่งบริการที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ ได้แก่ รับจ้างพาสุนัขไปเดินเล่น รับจ้างทำเซอร์ไพรส์ รับจ้างเล่นเกม รับจองบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์ รับดูดวง รับสอนวิชาโหราศาสตร์ รับจ้างพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล รับซ่อมตุ๊กตา รับจ้างออกแบบคำถามใน E-Book รับจ้างทำสติกเกอร์ไลน์ นอกจากนั้น ยังมีงานหัตถกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างทำเคสโทรศัพท์ ทำช่อดอกไม้ เย็บหน้ากากอนามัย ทำเหรียญโปรยทาน ทำเสื้อผ้าสุนัข ทำอาหารเพื่อสุขภาพ ทำซูชิ ทำไอศกรีม” อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเท่านั้น กรมการจัดหางานยังช่วยหาช่องทางการจัดจำหน่ายให้ด้วย โดยมีตลาดขายสินค้าออนไลน์ซึ่งรวบรวมสินค้าจากกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มแม่บ้านต่างๆ มาจัดจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานจัดหางานจังหวัดเนื่องจากหลังการฝึกอาชีพได้เกิดเป็นกลุ่มชุมชนที่ผลิตสินค้าขึ้นมา กรมการจัดหางานจึงนำสินค้าจากชุมชนเหล่านี้มาช่วยขาย เช่น กลุ่มเครื่องจักสาน สินค้าโอทอป ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มต่างๆ มีรายได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี




กำลังโหลดความคิดเห็น