‘3 ผู้บริหาร’ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ชี้เหตุผลคนมาลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 น้อย ยัน Sinovac และ AstraZeneca
ป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ระบุ ‘มหิดล-วช.-สธ.’ จับมือสร้างแพลตฟอร์มสืบค้นวัคซีนที่มีปัญหาอยู่ที่ไหน ฉีดให้ใครสามารถเรียกคืนได้รวดเร็วทันสถานการณ์ พร้อมระบบ ‘Cold Chain’ และ ‘Sensor Monitoring’ กระจายวัคซีนให้ครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ แนะรัฐต้องร่วมมือสมาคมโฆษณา ดึงคนดังแต่ละวงการเปิดโชว์ต้นแขน “ฉีดวัคซีน...เพื่อครอบครัวเพื่อชาติ” เร่งสร้างความตระหนักรู้ที่จะร่วมมือก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน
กระแสข่าวลือเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ว่ารัฐจัดหาวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพจนนำไปสู่ข้อสรุปง่ายๆ ว่า ‘กลัวแพ้’ จึงไม่ต้องการฉีดวัคซีนตัวนี้ ซึ่งรัฐบาลจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อไปไม่ได้ จึงมีการปรับแผนการฉีดวัคซีนใหม่เปิดให้กลุ่มประชากรวัยแรงงานในระบบประกันสังคม 16 ล้านคน เข้ารับการฉีดได้ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. และเตรียมเปิด 25 จุดบริการแบบ Walk-In เพื่อปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากที่สุด!
ที่สำคัญปัญหาของ ‘ความกลัว’ จนไม่อยากฉีดวัคซีนเป็นเพราะเหตุใด และเราจะเรียกความเชื่อมั่นและทำให้ประชาชน 50 ล้านคนออกมาร่วมใจกันฉีดวัคซีนได้อย่างไร ในทรรศนะของ ‘3 ผู้บริหาร’ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย นายแพทย์สมชาย ดุษฎีเวทกุล รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล ระบุว่า ประเด็นแรกสังคมยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน โดยเฉพาะตัวเลข Vaccine Efficacy ซึ่งมี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา
1.ประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการหากติดเชื้อ (Efficacy in preventing in clinical COVID-19) ซึ่งมาจากการทดสอบในประชากรกลุ่มต่างกัน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างกัน และในห้วงเวลาการระบาดต่างกัน จึงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ จากรายงานในวารสารทางการแพทย์ พบว่า Sinovac (บราซิล 51%, ตุรกี 91%) Astra Zeneca 67% Sputnik V 92% Moderna 94% Pfizer 95% Johnson & Johnson 66%
2.ประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการรุนแรง (Efficacy in preventing severe COVID-19) นับเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า นั่นคือถึงแม้จะติดเชื้อ อาการก็จะไม่รุนแรงและไม่ตาย ข้อมูลผลประสิทธิภาพเป็นดังนี้ Sinovac 100% Astra Zeneca 100% Sputnik V 100% Moderna 100% Pfizer 90% Johnson & Johnson 85%
“ขณะนี้ไทยมีวัคซีนที่ใช้อยู่ 2 ชนิด คือ Sinovac และ AstraZeneca สามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ถ้าติดเชื้อ อาการก็จะไม่รุนแรง และไม่ถึงตาย จะส่งผลให้ลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล ลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าห้อง ICU และที่สำคัญลดอัตราการตายลงได้”
ประเด็นที่ 2 คือ ข่าวเฟกนิวส์ทำให้คนกลัววัคซีนมากกว่ากลัวโควิด-19 ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่องทำให้คนไทยสับสนและเกิดความกลัววัคซีน เช่น ข่าวบุคลากรทางการแพทย์ จ.ลำปาง มีอาการคล้ายหลอดเลือดสมองหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 40 ราย ข่าวผลข้างเคียงรุนแรงเลือดออกในสมองหลังจากฉีดวัคซีน Sinovac ที่อุดรธานี พบว่ามีผู้แอบอ้างนำภาพผู้ป่วยคนหนึ่งจาก รพ.ลพบุรีมาใช้ หรือข่าวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเนื่องจากทำให้ลิ่มเลือดอุดตัน ทางกรมควบคุมโรคได้ยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม เป็นต้น เหล่านี้ทำให้สังคมกลับไปสนใจข้อมูล ‘ผลข้างเคียง’ มากกว่า ‘กลัวโควิด-19’
‘หมออยากจะบอกว่า วัคซีนแทบทุกชนิดเมื่อฉีดอาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น อาการไข้ เพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ ชามือแขนขา ส่วนใหญ่อาการจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในเวลาไม่นาน”
ดังนั้น จึงต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการฉีดวัคซีน เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งจะทำให้ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเปิดประเทศได้
ประเด็นที่ 3 เรายึดติดแบรนด์ ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพวัคซีนอื่นๆ ทั้งที่วัคซีนทุกแบรนด์สามารถช่วยลดการติดเชื้อและโอกาสที่จะมีอาการรุนแรง รวมถึงเสียชีวิตลงได้ อีกทั้งผ่านการพิจารณาอนุมัติต่างๆ ซึ่งมีกระบวนการในการตรวจสอบมากมายและมีการติดตามผลโดยตลอด จึงขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจได้ว่า การที่ท่านจะฉีดวัคซีนตัวใด หรือที่ใดนั้นจะได้รับการดูแลอย่างดี โดยทุกสถานที่ฉีดวัคซีนจะมีบุคลากรทางการแพทย์ และมีระบบในการคอยดูแลตลอดให้เกิดความปลอดภัยตามมาตรฐานทางการแพทย์ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง หากมีข้อสงสัยขอให้สอบถามกับทางโรงพยาบาลได้
ประเด็นที่ 4 มีข้อสงสัยว่าวัคซีนผลิตในประเทศจะดีเท่าการนำเข้าหรือไม่? ทั้งที่วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศไทยก็ต้องผ่านมาตรฐานเดียวกันกับวัคซีนจากทุกที่ วัคซีนของ Astra Zeneca ที่ผลิตในไทยมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานทุกขั้นตอนการผลิตจากบริษัทแม่ รวมถึงมีการส่งตัวอย่างวัคซีนที่ผลิตไปตรวจยังห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ศักยภาพของประเทศไทยมีบริษัทที่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับใช้ในประเทศ และก้าวเป็นฐานการผลิตส่งออก เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอนาคตเราจะสามารถพัฒนา วิจัยวัคซีนใหม่ๆ และผลิตได้เอง เป็นสิ่งที่คนไทยควรภาคภูมิใจ
ประเด็นที่ 5 การที่ผู้สูงอายุลงทะเบียนน้อย เพราะขาดการเข้าถึงและทักษะการใช้อุปกรณ์ไอทีในการลงทะเบียนจองฉีด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้แก้ปัญหาโดยเจ้าหน้าที่ อสม. และ รพ.สต. กำลังดำเนินการรวบรวมรายชื่อและนำเข้าระบบ หากทำได้ครบแล้ว คาดว่าผู้ประสงค์ฉีดวัคซีนจะเพิ่มสูงกว่านี้แน่นอน
ส่วนท่านที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่สามารถลงทะเบียนได้ สามารถติดต่อไปยังสถานพยาบาลที่ท่านรักษา เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียน และในลำดับต่อไปประชาชนทั่วไปก็จะสามารถลงทะเบียน หรือ Walk-In เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ขอให้ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ ต่อไป
ประเด็นที่ 6 เป็นเพราะขาดความมั่นใจในระบบขนส่งและควบคุมคุณภาพวัคซีนจากต้นทาง-ผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการ ซึ่งรศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ กล่าวว่า วัคซีนต้านโควิด-19ได้เริ่มทยอยเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และเพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดอย่างมั่นใจและรวดเร็วตามเป้าหมาย คณะวิศวะ มหิดล ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 (COVID-19Vaccines Track and Traceability Platform for Cold Chain and Patient Safety) ซึ่งได้เริ่มใช้แล้วตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา
นับเป็นต้นแบบการเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการ โซ่ความเย็นของวัคซีน (Cold Chain) สู่ภาคสาธารณสุขไทยเป็นครั้งแรก โดยเชื่อมโยงข้อมูล และจัดการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคงคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ตั้งแต่ต้นทางผู้ผลิตวัคซีนไปยังสถานพยาบาลจนถึงปลายทางผู้รับบริการ พร้อมทั้งสามารถติดตามตรวจสอบย้อนกลับ (Track and Traceability) และเรียกคืน (Recall) วัคซีนได้
ด้าน รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย กล่าวว่า ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 จะนำชุดข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่ได้กรอกไว้ในระบบกลาง Co-Vaccine ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งข้อมูลการลงทะเบียนบริษัทผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าวัคซีน ตลอดจนผู้รับบริการวัคซีนมาเชื่อมต่อข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด สธ. และ แอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อแสดงผลด้าน Supply Chain and Logistics นอกจากนี้ หากเกิดปัญหาขึ้น เช่น กรณีที่เกิดปัญหาวัคซีน ระบุวันหมดอายุไม่ชัดเจนมีรอยแก้ไข เป็นต้น แพลตฟอร์มนี้จะสืบค้นได้ว่าวัคซีนที่มีปัญหาอยู่ที่ไหนฉีดให้ใคร สามารถเรียกคืนวัคซีนได้รวดเร็วทันสถานการณ์
ในด้าน การเก็บรักษาวัคซีน โดยใช้ ระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain) จำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ ทั้ง แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จะต้องมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 2-8 องศา ตลอดโซ่อุปทาน โดยมีระบบ Sensor Monitoring คอยตรวจระดับรักษาความเย็นและคอยเก็บข้อมูลติดไว้ที่รถขนส่ง และตู้แช่วัคซีนใน รพ. นอกจากนี้ ระบบติดตาม-ตรวจสอบย้อนกลับ “โซ่ความเย็น” วัคซีนโควิด-19 สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ตลอดโซ่ความเย็น (Cold Chain) ผ่านระบบ IoT ตั้งแต่ข้อมูลผลิตภัณฑ์
ปริมาณ วัคซีนที่ผลิต นำเข้าหรือจัดซื้อ อุณหภูมิการจัดเก็บ จำนวนและชนิดของวัคซีนที่กระจายไปให้แต่ละโรงพยาบาล
และข้อมูลผู้รับบริการวัคซีน โดยแต่ละกล่องของวัคซีนนั้นจะมีหมายเลข Serial ระบุอยู่ เพื่อป้องกันการผิดพลาด สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้อย่างดี และพร้อมจะก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
ประเด็นที่ 7 รัฐ ยังขาดสื่อการรณรงค์ที่มีพลังและโดนใจคนไทย ซึ่ง รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ แนะว่าปัจจุบันเป็นโลกยุคดิจิทัลและโซเชียลมีเดียหากภาครัฐร่วมมือกับสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย แหล่งรวมมืออาชีพคนโฆษณาผลิตคลิปโฆษณาโดนๆ ออกมาสัก 3- 4 เรื่อง ชี้ข้อเท็จจริงที่สั้นกระชับเกี่ยวกับวัคซีนและไวรัสโควิด-19 วัคซีนทำงานอย่างไร ทำไมต้องฉีดวัคซีน-เป้าหมายร่วมกันอย่างไร ประสบการณ์ฉีดวัคซีนของคนดัง อาจจะตามมาด้วยแคมเปญที่สร้างแรงกระตุ้นในสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย
“อย่างเช่น “ฉีดวัคซีน...เพื่อครอบครัว เพื่อชาติ” เชิญคนดังของแต่ละวงการมาเปิดโชว์ต้นแขน ตามด้วยประชาชน พูดสิ่งที่ให้ความหมาย สร้างแรงกระตุ้นแก่คนไทยให้ทำเพื่อครอบครัวและประเทศชาติ เราจะได้ก้าวผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้”
ประเด็นที่ 8 การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในชุมชนทั่วประเทศ ทุกจังหวัดต้องระดมสรรพกำลังผู้นำความคิดในชุมชนสังคม และหน่วยงานต่างๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกัปตันทีม เช่น ที่จังหวัดลำปางเป็นตัวอย่างโมเดลที่ดีของการเสริมสร้างพลังความร่วมมือจากประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่ง อสม.ทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 1.05 ล้านคน และควรมีหน่วยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและ IoT การประสานงานของเครือข่ายในพื้นที่กรณีที่เกิดปัญหา
ประเด็นที่ 9 วัคซีนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง มีการโจมตีในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนและสร้างความตื่นกลัวให้ประชาชนไม่กล้าไปฉีดกัน ทั้งที่ทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขหน่วยงานภาครัฐ กำลังรับภาระหนักหนาสาหัส ภาคเอกชนทุกวิชาชีพ และภาคประชาชนต้องฟันฝ่าความตกต่ำทางเศรษฐกิจนั้นยังมีหลายกลุ่มที่ใช้วัคซีนเป็นอาวุธทางการเมือง จึงถึงเวลาที่ควรยุติความขัดแย้งการโจมตี สร้างข่าวทำลายคุณค่าวัคซีน เพราะวัคซีนคือทางออกเดียวที่จะแก้วิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้
ประเด็นที่ 10 รัฐต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ เพราะ ถ้าไม่ฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ประเทศไทยจะเกิดวิกฤตอย่างไร ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกคนไม่อยากเห็นภาพคนป่วยล้นโรงพยาบาล ขาดออกซิเจน แพทย์และบุคลากรดูแลได้ไม่ทั่วถึง ธุรกิจต้องปิดตาย เศรษฐกิจทรุดยาว การฉีดวัคซีนไม่เพียงสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันชีวิตของตัวเราเองเท่านั้นแต่ยังปกป้องครอบครัวและประเทศด้วย
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ย้ำว่า ทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ สงครามไวรัสโควิด-19 เปรียบเป็นมหากาพย์มีหลายภาคหลายตอน เพราะโลกปัจจุบันเดินทางติดต่อเข้าถึงกันได้รวดเร็ว ขณะที่ไวรัสก็กลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดตลอดเวลา วัคซีนก็จะต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนเป็นหลายเวอร์ชันเช่นกัน
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า โรคอุบัติใหม่ในอนาคตจะเกิดขึ้นเป็นระยะเราต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต วิธีการทำงาน การเรียน การเสพข่าว และการสื่อสาร การใช้นวัตกรรม การดูแลสุขภาพ เป็นต้น แม้จะฉีดวัคซีนแล้วแต่ก็ยังต้องตั้ง “การ์ดสูง” ไว้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายอย่างชัดเจนในทุกส่วนของโลก
ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจึงต้องหันมาร่วมมือสมัครสมานสามัคคีช่วยเหลือกัน ดูแลแก้ไขปัญหาให้ผ่านวิกฤตนี้สู่เป้าหมายไทยต้องชนะ!!