xs
xsm
sm
md
lg

เหตุ ‘บิ๊กตู่’ ฉุนริบโควตารัฐมนตรี! พบมือดีล้ำเส้น ‘นาย’ คาบข่าวสปุตนิกบอก ‘ทักษิณ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบื้องหลัง ‘บิ๊กตู่’ ฉุน ฮึ่มริบโควตารัฐมนตรี! ใช้ทีมงาน ‘เสธ.ทหาร’ รุ่นใหม่ไฟแรง จบมหาวิทยาลัยดังของโลกตรวจสอบเชิงลึกพบบางคนทำงานล้ำเส้น ‘นาย’ ได้ชี้วิกฤตโควิด-19 ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ เครียด แต่พร้อมรับผิดชอบในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เดินหน้าปรับแผนใช้รูปแบบ ‘ซิงเกิลคอมมานด์’ แบบทหารใช้ในยามเกิดภัยพิบัติ แบ่ง 3 กลุ่มรับผิดชอบ มั่นใจ ‘3 เหล่าทัพ’ เป็นกองหนุน ‘แพทย์’ ได้ดี ขณะเดียวกัน ควานหามือดีคาบข่าวสปุตนิกV ไปบอก ‘ทักษิณ’ ส่งผลให้การเปิดตัววัคซีนสปุตนิกV ไม่เป็นไปตามแผน

หนึ่งในคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงได้ออกมากล่าวด้วยน้ำเสียงแสดงความไม่พอใจว่า

“มีรัฐมนตรีบางคนพูดจาไม่ดีและนินทาผมในที่ประชุมบางวง ให้ระวังตัวไว้ด้วย ผมเป็นคนตัดสินใจเลือกเข้ามาทำงาน จะชอบหรือไม่ชอบผม อย่านินทาให้ผมได้ยิน ถ้าผมได้ยินอีก ผมจำเป็นต้องปรับออก จะริบโควตานั้นมาเป็นของผมเอง ผมมีทีมงานคอยดูเฟซบุ๊กทุกท่าน ผมไม่วางใจและไม่สบายใจ ใครก็ตามที่สร้างความขัดแย้ง เกลียดชัง ทุจริต ถ้ามีปัญหาผมจะพิจารณาเอาออก”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคณะรัฐมนตรี เพราะหลายๆ ครั้งก่อนจะปิดประชุม ครม.บิ๊กตู่ จะมีข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ และขอให้รัฐมนตรีช่วยจดสิ่งที่สั่งการไว้ เพราะบิ๊กตู่ก็มีสมุดเป็นเล่มและจดสิ่งที่สั่งการไว้เช่นกัน และบิ๊กตู่ ก็ดูว่าสิ่งที่สั่งการไปนั้นได้รับการตอบสนองกลับมาหรือไม่อย่างไร

“รัฐมนตรีชุดนี้ถ้าไม่ปิดตาตัวเองก็จะรู้กันทุกคนว่า บิ๊กตู่ มีทีม เสธ.ทหาร ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ อายุแค่ 40 ต้นๆ ยศพันเอก ประมาณ 10 กว่าคน เสธ.กลุ่มนี้เก่งมาก มีความรู้รอบด้าน ไปถามได้แต่ละ เสธ.จบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก จากฮาร์วาร์ด ออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ คอยมอนิเตอร์ข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ติดตามข้อมูลของรัฐมนตรีทั้งที่เป็นเพจส่วนตัวและเพจกระทรวง”


อย่างในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสธ.กลุ่มนี้จะคอยตรวจสอบข้อมูล และจัดข้อมูลให้นายกฯ ไว้ตอบ ซึ่งรัฐมนตรีทุกคนจะเห็น เสธ.กลุ่มนี้นั่งอยู่กันเป็นทีมแบ่งภารกิจรับผิดชอบประสานหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้ใช้ข้าราชการพลเรือนส่วนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม.นายกฯ ก็เคยกล่าวตำหนิรัฐมนตรีบางกระทรวงว่าไม่ค่อยสนใจในงาน รู้กระทั่งมียอดคนเข้ามาดูในเพจกระทรวงและเพจส่วนตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร และรู้ว่ามีทีมงานของรัฐมนตรีบางกระทรวงทำงานล้ำเส้น ก็เคยกล่าวเตือนให้รัฐมนตรีคอยตรวจสอบด้วย

“พรรคประชาธิปัตย์เคยโดนนายกฯ ต่อว่ามาแล้ว อย่าใช้โครงการหาเสียงมากดดันผม แล้วไปบอกสังคมว่าส่ง ครม.แล้วผมไม่อนุมัติ แบบนี้ไม่ถูก ซึ่งนายกฯ ย้ำตลอดใน ครม.ว่า ไม่มีปัญหากับรัฐมนตรีคนไหน เพราะนายกฯ จะขัดแย้งไม่ได้ ต้องช่วยกันทำงานให้ประเทศ อย่างเรื่องการจัดการปัญหาโควิด-19 คนที่ต้องรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้นคือนายกฯ จะหลีกหนีความรับผิดชอบไม่ได้ และถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องรีบแก้หรือปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในกรณีที่บิ๊กตู่ดึงอำนาจบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากเดิมที่เคยสั่งการผ่านรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ต่อไปนี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการได้โดยตรง ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีจำนวน 31 ฉบับ ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องโรคติดต่อ ทั้งเรื่องของยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ การบรรเทาสาธารณภัย สถานบริการ การจราจรทางบก เรือ อากาศ คนเข้าเมือง ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 


การดึงอำนาจมาขึ้นตรงแบบนี้คือรูปแบบ ‘ซิงเกิลคอมมานด์‘ ที่เหมาะกับการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้เบ็ดเสร็จโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมา แต่ละกระทรวงจะคำนึงถึงแต่หน่วยงานตัวเอง โดยไม่ได้มองถึงภาพใหญ่ในการจัดการทั้งประเทศ

หากมองย้อนไปดูการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกแรก ตั้งแต่ ม.ค.2563-ธ.ค.2563 รวม 11 เดือน มีผู้ป่วยประมาณ 4,200 ราย ระลอกสอง กลางเดือน ม.ค.2564-มี.ค.2564 เพียง 3 เดือนกว่า มีผู้ป่วยระดับ 2 หมื่นต้นๆ และกระทรวงสาธารณสุขก็รู้ว่าต้นตอการระบาดมาจากที่ไหน จึงสามารถจัดการที่สมุทรสาครได้ดี

“ไทยประสบความสำเร็จในการคุมการระบาดรอบแรก และระลอก 2 ได้ดี แต่ระลอก 3 ตั้งแต่ เม.ย.เพียงแค่ 1 เดือน ถือว่ารุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 63,570 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 188 ราย (ณ วันที่ 29 เม.ย.) และมีปัญหาตามมามากมาย คนตายจากโควิด-19 มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกวัน”

แหล่งข่าวระบุว่า ในระลอกที่ 3 นายกฯ บิ๊กตู่ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข ต่างก็รับฟังและเดินตามแผนปฏิบัติการเดิมตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอมา ทั้งเรื่องของยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ การจัดซื้อวัคซีน กำหนดการฉีดวัคซีน หรือแผนการเตรียมโรงพยาบาลและเตียงไว้รองรับผู้ป่วย

“แต่โชคไม่ดี เกิดมีการระบาดจากสถานบันเทิงทองหล่อมาซ้ำเติม จนทำให้เกิดการระบาดไปทั่วประเทศ จะห้ามไม่ให้เดินทางช่วงสงกรานต์ก็ทำไม่ได้ ไม่อยากให้ประชาชนผิดหวัง ทีมแพทย์ทั้งหมดก็รู้ นายกฯ ก็รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังสงกรานต์ ก็มีแผนตั้งรับไว้แล้ว”

ดูเหมือนทุกอย่างยิ่งแย่ลงเพราะระบบการจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลายเป็นเรื่องของแต่ละกระทรวงดำเนินการไป จึงทำให้หลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องติดปัญหากันไปหมด และปรากฏภาพที่ซ้ำเติมให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการระบบสาธารณสุขก็คือ มีคนป่วยไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้มากมาย ติดต่อหน่วยงานรัฐ 1668, 1669 ก็ไม่ได้ เตียงผู้ป่วยก็ไม่มีรองรับ บางคนต้องตายอยู่ที่บ้านซึ่งสังคมเห็นแล้วเกิดอาการหดหู่ และต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวของรัฐบาลบิ๊กตู่ในการจัดการปัญหาดังกล่าว

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์เริ่มติดเชื้อ ต้องกักตัว จึงมีไม่เพียงพอ ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องให้มีการระดมฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ปรากฏว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอหรือไม่มี เพราะทุกอย่างอยู่เพียงในแผนเท่านั้น ตัวเลขผู้ป่วย ตัวเลขคนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน อีกทั้งวิกฤตเศรษฐกิจกำลังจะบานปลาย คนจะตกงานมากขึ้น

“แพทย์ก็อยากให้ล็อกดาวน์ ไม่ต้องล็อกทั้งประเทศ เลือกเป็นพื้นที่เพื่อคุมการระบาด แต่ท่านในฐานะนายกฯ ต้องฟังและตรวจสอบรอบด้าน เพราะถ้าล็อกแล้วเศรษฐกิจเสียหายมากขึ้นก็ยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ตอนนี้นักธุรกิจอยากให้ล็อก คือยอมเจ็บแต่จะจัดการการระบาดจบได้ง่าย”


อีกทั้งยังมาเจอกรณีมี ‘ทหารหัวแดง’ ที่บิ๊กตู่ไว้ใจ นำข้อมูลการเจรจาซื้อวัคซีนสปุตนิก วี" (Sputnik V) ของรัสเซียที่มีการเจรจากันจนจะจบแล้วไปส่งข่าวให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ รับรู้จนเป็นที่มาให้ “พี่โทนี่” หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดใน Club House : Tony Woodsome ว่า ‘จะให้ผมไปช่วยคุยกับ ปูติน รัสเซียก็ได้’

“จริงๆ นายกฯ มีการเจรจาและวางแผนจะแถลงข่าวเรื่องวัคซีนสปุตนิก วี จึงหงุดหงิดมากสั่งให้หาตัวทหารหัวแดงในทีมเสธ. ที่เอาข้อมูลไปบอกทักษิณ จนทักษิณ ออกมาพูดตำหนิรัฐบาล”

นี่คือสารพันปัญหาที่ทำให้นายกฯ บิ๊กตู่ หนักใจมาก และเครียดมากๆ เพราะหากปล่อยให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น และมีคนตายมากขึ้น จะสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขของไทย!

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงนำไปสู่การปรับแผนยุทธศาสตร์การจัดการเรื่องโควิด-19 ทั้งหมด เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและรวดเร็วที่สุด ซึ่งถือเป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่

“บ้านเรามีหมอเก่งมากๆ แต่การระบาดครั้งนี้เทียบได้กับการเกิดภัยพิบัติ ทีม เสธ.จึงเสนอให้มีการจัดการด้วยการใช้แผนฉุกเฉิน หรือแผนภัยพิบัติในลักษณะซิงเกิลคอมมานด์ เพื่อเป็นกำลังเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วย”


แหล่งข่าวระบุว่า แผนฉุกเฉินแบบนี้คือการแบ่งการทำงานเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 คือ บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดจากโรงเรียนแพทย์ จากกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ทหารทุกเหล่าทัพ แพทย์ตำรวจ แพทย์ กทม.ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาเต็มที่ แนะนำวิธีป้องกันสำหรับคนที่ยังไม่ป่วย คนเริ่มป่วย คนป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

กลุ่มที่ 2 ทหารทุกเหล่าทัพจะเข้ามาจัดการด้านโลจิสติกส์ ทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศในการลำเลียงคนป่วย เตียง ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 คือการป้องกัน จะมีทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข อสม. มหาดไทย แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับคนเข้าเมือง ทหารและตรวจคนเข้าเมืองจะเข้าไปรับผิดชอบ

“ทหารจะเชี่ยวชาญ เพราะยามเกิดภัยพิบัติ เขาจะมีแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน เช่น ถ้าเราจะระดมฉีดวัคซีนก็ต้องมีวิธีการส่งวัคซีนให้ถึงพื้นที่โดยเร็ว คนฉีดก็เป็นเรื่องที่กลุ่มที่ 1 เตรียมการไว้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกไว้ช่วยโรงพยาบาลรัฐแล้ว เพราะการฉีดวัคซีน จะช่วยลดความรุนแรงได้ถึง 90% ถ้าเป็นเช่นนี้จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการขาดเตียงในห้องความดันลบ หรือเตียง ICU ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้”


ดังนั้น แผนปฏิบัติการในรูปแบบ ‘ซิงเกิลคอมมานด์’ จึงเป็นหนทางในการจัดการวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังรุนแรงขึ้นขณะนี้ ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงใดที่ชอบนินทา หรือปล่อยให้คนใกล้ชิดออกมาตำหนินายกฯ อยู่บ่อยๆ รวมทั้งปล่อยให้ทำงานล้ำเส้นจนนำไปสู่การทุจริต ก็ถูกหมายหัวไว้เช่นกัน!




กำลังโหลดความคิดเห็น