พระดังขั้วอำนาจเดิมทดสอบรัฐบาล เจ้าคุณประสาร วิพากษ์ปมวัคซีน "ประเทศไทยเรายังมีรัฐบาลอยู่ไหม" อดีตพระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ กลับมาครองจีวรเหมือนเจ้าคุณเอื้อน วัดสามพระยา มหาเถรสมาคมออกโรงเตือนเจ้าคุณประสาร ออกคำสั่งเจ้าคุณธงชัย ขาดจากความเป็นพระ ดื้อดึงเจอข้อหาแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ โอกาสกลับมาใหญ่ริบหรี่
ใช่ว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเผชิญกับการเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา และกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้บิ๊กตู่บริหารประเทศอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นม็อบ 3 นิ้ว หรือกลุ่มก้อนอื่นๆ ที่เริ่มเปิดตัวออกมา
แต่ในช่วงที่ยังเป็นรัฐบาลในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าจัดระเบียบพระ ทั้งการสยบม็อบพระที่พุทธมณฑล
ล้างบางขั้วอำนาจเก่าในมหาเถรสมาคม แก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ดำเนินการเรื่องคดีเงินทอนวัดจนพระเถระชั้นผู้ใหญ่ต้องถูกดำเนินคดี รวมไปถึงการใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย เพื่อนำพระธัมมชโยมาดำเนินคดี
แน่นอนว่าความเจ็บปวดจากความไม่สมหวังของพระผู้ใหญ่ที่ต้องพ้นจากอำนาจไปย่อมไม่พอใจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นธรรมดาเพียงแค่รอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้น
เจ้าคุณประสารเปิดฉาก
ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มระบาดในระลอก 3 พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตั้งคำถามว่า "ประเทศไทยเรายังมีรัฐบาลอยู่ไหม" เมื่อ 16 เมษายน 2564
ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดในไทยและทั่วโลก ในแต่ละประเทศก็มีมาตรการ 1-2-3 ไปเรื่อยตามหลักการและขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยมีเป้าหมายในการหยุดยั้งไวรัสร้ายนี้ภายในประเทศของตนให้จงได้
ประเทศในแถบยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ได้เดินหน้าไปไกลมากแล้ว เช่น ผลิตวัคซีนขึ้นมาใช้เองพร้อมทั้จำหน่ายให้ประเทศอื่นๆ หรือแม้กระทั่งแจกจ่ายให้มิตรประเทศไปใช้ฟรีๆ เป็นต้น
สำหรับประชาชนในประเทศเหล่านั้นนับว่าโชคดีที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการให้ประชาชนของเขาเข้าถึงวัคซีนได้ง่าย
สะดวก และครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ทั่วประเทศ
ในประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น ลาว กัมพูชา ก็ปรากฏข่าวว่ารัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนให้ประชาชนของตนแล้ว
ในประเทศมาเลเซียก้าวไกลไปถึงขั้นว่ารัฐบาลจะให้บริการวัคซีนนี้แก่นักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้าไปท่องเที่ยวในมาเลเซีย มาตรการนี้นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว ยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทองในการดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วยในท่ามกลางภาวะการท่องเที่ยวทั่วโลกที่กำลังหายใจรวยริน
สำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะประสบภาวะวิกฤตจากโควิด-19 รอบที่หนึ่ง ระลอกที่ 2 และครั้งนี้ก็เป็นระลอกที่ 3 แล้วก็ตาม รัฐบาลก็ยังคงเป็นแผ่นเสียงตกร่อง คือ พูดเรื่องเดิม มาตรการเดิม วิธีการเดิมๆ ไม่มีอะไรที่จะคืบหน้า เป็น 2-3-4 เลย ไม่มีเลยจริงๆ
วัคซีนชั้นดียังคงมืดมนสำหรับประชาชนในประเทศนี้ ชะตาชีวิตก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโชคดีหรือโชคร้ายกว่ากัน วัดกันเอาเองประชาชนคนไทย
ส่วนรัฐมนตรีบางท่าน ส.ส.บางคน หรือคนในภาครัฐกลับไปในสถานที่ที่ไม่ควร ไม่เหมาะสมกับเกียรติและฐานะที่ดำรงอยู่ เป็นเหตุให้ติดและแพร่เชื้อ ในภาวการณ์เช่นนี้ผู้นำรัฐบาลและองคาพยพของรัฐบาลต่างเงียบกริบ ไม่มีแม้แต่เสียงไอและจาม
วันนี้จึงอยากถามว่า "ประเทศไทยเรายังมีรัฐบาลอยู่ไหม" ใครรู้ช่วยตอบที
จากนั้นที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อ 20 เมษายน 2564 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการแสดงความเห็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเมืองและและขัดคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 จึงให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประสานงานกับพระสังฆาธิการที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป
อดีตพระพรหมสิทธิครองจีวร
ขณะที่ข่าวการกลับมาครองจีวรอีกครั้งของพระ 5 รูปของวัดสระเกศได้แพร่สะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่าเมื่อ 13 เมษายน 2564 ที่อุโบสถวัดสระเกศได้มีพิธีเจริญชัยมงคลคาถาในโอกาสพระภิกษุอธิษฐานครองผ้าไตรจีวรรับเข้าหมู่สงฆ์ประกอบด้วยอดีตพระพรหมสิทธิ อดีตพระราชกิจจาภรณ์ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์ อดีตพระศรีคุณาภรณ์ และอดีตพระครูสิริวิหารการ โดยมีคณะสงฆ์วัดสระเกศเข้าร่วมพิธี
พิธีดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายในวัด กว่าบุคคลภายนอกจะทราบก็เลยพิธีดังกล่าวมาแล้วหลายวัน ทั้งนี้ อดีตพระทั้ง 5 รูปนี้ถูกดำเนินคดีเงินทอนวัด คำพิพากษาของศาลมีทั้งสั่งจำคุก สั่งปรับ โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
การกลับมาครองจีวรอีกครั้งของอดีตพระทั้ง 5 รูป ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคมย่อมต้องทำหน้าที่ให้คำตอบแก่สังคม
มส.แจงพ้นความเป็นสงฆ์
เรื่องดังกล่าว ทาง พศ.ได้หารือกับทางมหาเถรสมาคม โดยชี้แจงว่า ในช่วงการดำเนินคดีเงินทอนวัดเมื่อปี 2561 อดีตพระเถระทั้ง 5 รูปได้ถูกดำเนินการให้พ้นจากสมณเพศตามมาตรา 30 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 ที่ระบุว่า เมื่อจะต้องจำคุกกักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศแล้ว
มหาเถรสมาคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะสงฆ์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ ดังนั้นอดีตพระเถระทั้ง 5 รูปจึงถือว่าพ้นจากความเป็นสงฆ์แล้ว และมอบให้ทาง พศ.ไปหารือพิจารณาแนวทางในการดำเนินการต่อไป
ในพิธีดังกล่าวพบพระเทพรัตนมุนี ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศนั่งเป็นประธานสงฆ์เหมือนเป็นการส่งเสริมสนับสนุน จึงอาจเข้าข่ายความผิดละเมิดจริยาพระสังฆาธิการด้วย
เจ้าคุณเอื้อนผู้ริเริ่ม
ก่อนหน้านี้ ก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเมื่ออดีตพระพรหมดิลก (เจ้าคุณเอื้อน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา เมื่อศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจากจำคุก 6 ปี มาเป็นยกฟ้องไม่ผิดข้อหาฟอกเงิน 5 ล้านบาท เมื่อ 23 กันยายน 2563
หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
อดีตพระพรหมดิลก และอดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา พร้อมด้วยอดีตพระอรรถกิจโสภณ กลับมาที่วัดสามพระยาครองจีวรสู่สมณเพศ มีการสวดมนต์บทสังฆปิติถวายในพระอุโบสถพร้อมอ่านคำพิพากษายกฟ้องในพระอุโบสถต่อหน้าคณะสงฆ์
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้หารือกับมหาเถรสมาคม เมื่อ 30 กันยายน 2563 ได้ข้อสรุปว่า กรณีของอดีตพระพรหมดิลก ช่วงที่ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ประกันตัวจึงขาดจากความเป็นพระตั้งแต่วันนั้น จะเห็นได้ว่าตอนไปขึ้นศาลช่วงที่ไม่ได้รับประกันตัวอดีตพระพรหมดิลก ก็สวมใส่ชุดนักโทษ เมื่อได้ประกันตัวก็ใส่ชุดขาวแสดงว่าเจ้าตัวรู้ดีว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว
ฝ่าฝืนเจอคดีอาญา
แหล่งข่าวจากวงการพระพุทธศาสนากล่าวว่า การกลับมาครองจีวรของพระที่ถูกดำเนินคดีเรื่องเงินทอนวัดนั้นเป็นเรื่องของการตีความ ฝ่ายสงฆ์ก็ตีความว่าไม่ได้เปล่งวาจาสึก และการรอลงอาญาก็ได้ไม่ได้ถูกจำคุกจริง รวมถึงคดีที่ศาลยกฟ้องก็ไม่เข้าข่ายปาราชิก ขณะที่ความผิดในทางโลกแม้จะเป็นการรอลงอาญาก็ตีความว่ามีความผิด ดังนั้น จึงต้องให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้ตัดสิน
เจ้าคุณเอื้อน วัดสามพระยา เมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้องก็กลับมาครองจีวร มหาเถรสมาคมก็ออกมาแจ้งแล้วว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว กรณีของอดีตพระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
หากฝ่ายสงฆ์ที่กลับมาครองจีวรไม่ปฏิบัติตามมติของมหาเถรสมาคม ก็เท่ากับฝ่าฝืนคำสั่ง ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องไปแจ้งความเพราะเข้าข่ายกระทำความผิดมาตรา 208 ประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุว่าผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณรนักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมดทางกลับมาใหญ่
เป็นอันว่าอดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา และวัดสระเกศ คงไม่สามารถกลับมาครองจีวรต่อได้ และถ้าถูกตีความว่าเป็นอาบัติปาราชิกก็ไม่สามารถกลับมาบวชใหม่ได้ พระผู้ใหญ่ระดับนี้จะแอบทำอะไรก็ลำบาก และถูกสังคมจับตาอยู่ตลอดเวลา
“นับตั้งแต่ถูกดำเนินคดีท่านถูกเรียกคืนสมณศักดิ์ พ้นจากการเป็นเจ้าอาวาส มีการตั้งรักษาการเจ้าอาวาสขึ้นทำหน้าที่แทน ทุกอย่างผ่านมหาเถรสมาคมและโครงสร้างของมหาเถรสมาคมปัจจุบันนี้แตกต่างไปจากเดิมพระผู้ใหญ่ในขั้วอำนาจเดิมพ้นจากตำแหน่งไปหลายรูป พ.ร.บ.สงฆ์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมโอกาสที่จะกลับมาสู่สถานะเดิมคงเป็นไปได้ยาก”
ส่วนรักษาการเจ้าอาวาสเป็นเพียงตำแหน่งชั่วคราววัดใหญ่วัดดังสมณศักดิ์ของเจ้าอาวาสก็มีความสำคัญทุกอย่างอยู่ที่มติของมหาเถรสมาคม การแต่งตั้งเจ้าอาวาสข้ามวัดก็มีให้เห็นมาแล้ว
ศาสนจักร-อาณาจักรแยกไม่ขาด
หากมองเฉพาะฝ่ายสงฆ์เพียงด้านเดียวอาจตีความได้ว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซงจากฝ่ายอาณาจักร ทำไมไม่ปล่อยให้คณะสงฆ์ปกครองกันเอง?
แหล่งข่าวจากวงการพระพุทธศาสนากล่าวว่า ที่ผ่านมา ระบบสงฆ์ของไทยผูกติดกับฝ่ายอาณาจักรมาตลอด มีเรื่องของสมณศักดิ์ที่พระส่วนใหญ่อยากได้อยากมี พระผู้ใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญมักไว้วางใจพระในสังกัดของตน ทำให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ไม่สามารถจัดการกับปัญหาของสงฆ์ได้มาเป็นเวลานาน
ยศ ตำแหน่งในระดับพระชั้นปกครองนั้น ย่อมหมายถึงอำนาจ บารมี เพราะแค่ระดับเจ้าคณะอำเภอก็คุมวัดทั้งหมดในอำเภอนั้นได้ยิ่งสูงขึ้นไปอำนาจก็ยิ่งมากตาม หลายเหตุการณ์ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของผลประโยชน์
เมื่อฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาแก้ปัญหา มักถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงกิจการสงฆ์ทั้งหมดเป็นเพราะเข้าไปแตะพระชั้นผู้ใหญ่ คุมวัดดังที่มีฐานลูกศิษย์มาก แต่ถ้าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับพระทั่วไปทุกอย่างก็เงียบ
กรณีพระผู้ใหญ่ 3 รูป เจ้าคุณประสาร เคยก่อม็อบพระที่พุทธมณฑล เพื่อหนุนสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ถ้าสำเร็จวัดในสายของวัดปากน้ำ เช่น วัดพระธรรมกายก็จะไม่เจอกับปัญหาอะไรอีก ส่วนเจ้าคุณเอื้อน วัดสามพระยา เจ้าคุณธงชัย วัดสระเกศ ถือว่าอยู่ในสายอำนาจเดิมของมหาเถรสมาคม มีสายสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกาย
วันนี้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกแล้วทั้งโครงสร้างและเสียงข้างมากในมหาเถรสมาคม รวมถึงกฎระเบียบที่เปลี่ยนไป
หลายวัดจึงเลือกที่จะอยู่อย่างเงียบๆ ทำหน้าที่หลักสืบทอดพระพุทธศาสนา