รัฐบาล ผนึกเอกชน เดินหน้าจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์น่า สปุตนิก เพิ่มอีก ตั้งเป้าฉีด 70% ของประชากรกว่า 50 ล้านคน ‘รมว.อว.’ ระบุมี รพ.สนามรองรับได้ 12,822 เตียง พร้อมขยายอีก 25,000 เตียง แนะประชาชนควรฉีดวัคซีน ชี้ทุกค่ายคุณภาพเหมือนกันเตรียมส่งทีมแพทย์ พยาบาล สังกัด อว. ร่วม สธ. ฉีดทั่วประเทศ ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันไม่ได้ฉีดวัคซีนช้า จน ‘บิ๊กตู่’ ถูกวิจารณ์บริหารวัคซีนล้มเหลว แต่เป็นเพราะหาวัคซีนไม่ได้! เร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนและปรับแผนตามสถานการณ์ แจงนายกฯ จัดทีมจัดหาวัคซีนใหม่แบ่ง 2 ทีม เชิญชวนประชาชนลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้ 1 พ.ค.นี้
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ดูจะหนักหนาสาหัสและสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนมากกว่า 2 ระลอกที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแตะหลักพันราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นหรือการออกมาโพสต์ของประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเจ็บป่วยทรมานและไม่สามารถติดต่อเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ โดยเฉพาะมีผู้ป่วยบางรายติดเชื้อทั้งครอบครัว
นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้!
ที่สำคัญการออกมาโพสต์เตือนของวงการแพทย์เพื่อให้ทุกคนเตรียมรับมือกับการระบาดที่รุนแรง อย่างกรณีของ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ระบุว่า..‘ระลอกนี้เชื้อดุกว่าเดิม’ จากเคส 200 กว่ารายของระลอกนี้ที่โรงพยาบาล
1.ปกติโดยทั่วไปถ้าเป็นเชื้อระลอกแรก 7 วันไปแล้ว เชื้อจะน้อยลงแม้ว่าตรวจ PCR บวกแต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น แต่เชื้อของระลอกนี้ 10 วันแล้วยังเพาะเชื้อขึ้นอยู่ แสดงว่าเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
2.รอบก่อนๆ ไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรงเกิดปอดอักเสบ แต่รอบนี้พบมากขึ้นกว่าเดิม
3.หลังจากที่ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ คนที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจะเริ่มมีอาการให้เห็น แต่รอบนี้เร็วกว่าเดิม
ไม่ถึงสัปดาห์ก็เริ่มมีอาการมากขึ้น การอักเสบเกิดขึ้นเร็วการให้ยาต้านไวรัส กับยาสเตียรอยด์ต้องพร้อม การวินิจฉัยปอดอักเสบต้องทำได้เร็ว
4.ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกและเสมหะมีมากกว่าเดิม เชื้อกระจายได้ง่าย
5.สัปดาห์นี้เป็นต้นไป เราจะเห็นเคสหนักในไอซียูมากขึ้น
จากที่เห็นก็น่าจะสอดคล้องกับข้อมูลในประเทศอังกฤษ ที่มีสายพันธุ์ B117 ระบาดพบว่าควรมีวิธีเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ได้แก่การป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชนด้วยมาตรการต่างๆ รวมถึงการกระจายวัคซีนที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรค
นี่คือเหตุการณ์ที่อาจารย์หมอคาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ที่รัฐบาลจะต้องรับมือกับสถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชนในประเทศให้ได้!
อีกทั้งการออกมาเรียกร้องของภาคเอกชนให้มีการนำเข้าวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะออกค่าใช้จ่ายเพื่อนำวัคซีนมาฉีดให้พนักงานในบริษัท เป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐได้ด้วย และเสนอให้มีการปรับแผนในการฉีดวัคซีนให้มีความเหมาะสมในพื้นที่สำคัญๆ เพราะไม่เช่นนั้นประเทศจะเจอภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
จากปรากฏการณ์เคลื่อนไหวต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น จึงนำไปสู่กระแสโจมตีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าบริหารวัคซีนล้มเหลวที่สุด เพราะมีผู้ได้รับวัคซีนประมาณ 1.3% จากประชากรทั้งประเทศประมาณ 66 ล้านคน ซึ่งตัวเลขจากศูนย์ข้อมูล Covid-19 มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 864,840 โดส ใน 77 จังหวัด (28 ก.พ.-21 เม.ย.2564) แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 746,617 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 118,223 ราย ส่วนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ประมาณ 60-70%
ดังนั้น การจัดหาวัคซีนและการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลบิ๊กตู่ โดยตรง!
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ประเด็นการโจมตีในเรื่องวัคซีนว่าล้มเหลวเพราะฉีดให้ประชาชนได้น้อยนั้นความจริงไม่ใช่เรื่องของการฉีด แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดหาวัคซีน ซึ่งปัจจุบันขาดแคลนทั่วโลก และวัคซีนที่เรามีอยู่ในมือเวลานี้ล้านกว่าโดส ที่กำลังกระจายออกไปทุกจังหวัดเป็นวัคซีนที่เราจัดซื้อมาจำนวน 2 ล้านโดส ที่กำหนดส่งมอบกันตั้งแต่ ก.พ-เม.ย.และมีการฉีดไปแล้วประมาณ 8 แสนกว่าโดส
“เราจะระดมฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าทั่วประเทศ 3 แสนรายให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ เรื่องการฉีดจึงไม่ใช่ปัญหาฉีดวันละแสนโดสก็ทำได้รวดเร็ว ปัญหาอยู่ที่จัดหาวัคซีน ซึ่งวัคซีนไม่ใช่สินค้าที่วางขายทั่วไป ต้องมีการเจรจากับผู้ขาย ผู้ผลิต และวัคซีนโควิด-19 ก็ยังวิจัยไม่เสร็จ”
สิ่งสำคัญอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นกระทรวงสาธารณสุขที่จะจัดหาวัคซีนที่ดีมีประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยมาฉีดให้ประชาชน เพราะวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ทั่วโลกเอามาใช้ในภาวะฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตจึงมักจะมีเงื่อนไขในการนำมาใช้ค่อนข้างมากเพราะผลวิจัยยังไม่เสร็จสมบูรณ์เช่น ถ้าเกิดผลข้างเคียงบริษัทจะไม่รับผิดชอบ ดังนั้น ในการเลือกวัคซีนจึงต้องมีความมั่นใจ
“ที่เราเจรจาแล้วไม่ได้เป็นเพราะเขาไม่มีวัคซีนมากกว่า เราไม่ได้เกี่ยงเรื่องแพงหรือถูกเพราะในสถานการณ์แบบนี้ถือว่าคุ้ม ตอนนี้หลายบริษัทสายการผลิตมีปัญหาด้วย”
อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า จะมีการระดมฉีดอย่างจริงจังในเดือน มิ.ย.นี้ ตามแผนเดิมจะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข้ามาจำนวน 60 ล้านโดส ซึ่งจะฉีดฟรีให้ประชาชนตามความสมัครใจทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายให้ฉีดถึง 70% จากเดิมกำหนดไว้ 60% ของจำนวนประชากร จึงจำเป็นจะต้องจัดหาเพิ่มอีกประมาณ 35-37 ล้านโดส
“คิดตัวเลขกลมๆ ถ้าประชากร 70 ล้านคน ต้องการฉีด 70% ก็เกือบ 50 ล้านคน วัคซีนที่จะหาเพิ่มประมาณ 35-37 โดส ก็เจรจาหลายบริษัททั้งไฟเซอร์ สปุตนิก โมเดอร์น่า เป็นต้น ซึ่งนายกฯ ได้ตั้งคณะทำงานไปจัดซื้อมีเอกชนเข้าร่วมด้วย”
ในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมนั้นจะแบ่งทีมจัดหาเป็น 2 ส่วน คือ ภาครัฐ และอีกส่วนเป็นเรื่องของภาคเอกชน ที่จะมีทั้งส่วนของสภาหอการค้า จะสนับสนุนงบประมาณซื้อวัคซีนฉีดให้พนักงานของเขา และให้รัฐไปฉีดให้อีกส่วนก็เป็นเรื่องของโรงพยาบาลเอกชนไปจัดหาวัคซีนเพื่อบริการให้ลูกค้าของโรงพยาบาลนั่นเอง
ส่วนในเรื่องแผนการฉีดวัคซีนนั้นมีอยู่แล้วเพียงแต่จะต้องมีการปรับไปตามสถานการณ์ได้ด้วยไม่ใช่ดื้อดึงยึดตามแผนอย่างเดียว อย่างเช่นแหล่งท่องเที่ยว นายกฯ ได้สั่งการให้ฉีดที่ภูเก็ต ซึ่งเวลานี้ฉีดไปถึง 26% ภายใน 1 สัปดาห์ และการฉีดพื้นที่ไหนเราก็ดำเนินการตามหลักการระบาดวิทยาเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อได้สำเร็จ
ประเด็นสำคัญคือ อยากสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้แปลว่าฉีดแล้วไม่เป็นอะไร เพราะทุกวัคซีนอาจมีอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้ แต่ทุกอย่างต้องมีเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับได้ และควรติดตามข้อมูลเรื่องของวัคซีนตลอด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน และกระทรวงสาธารณสุขจะเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน 1 พ.ค.นี้ใน 4 ช่องทางหลัก คือ1.ทางไลน์หรือแอปพลิเคชันหมอพร้อม 2.รพ.ของรัฐ 3 อสม.ในพื้นที่ 4.ยื่นความจำนง
“เพราะวัคซีนเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด วันนี้ยืนยันผลป้องกันได้ 100% วันพรุ่งนี้ก็อาจผิดได้ ซึ่งเรื่องนี้เราก็เจอกันมาหลายหนแล้ว ทั้งผลการติดเชื้อ การป้องกัน จึงอยากให้ประชาชนติดตามการแถลงของรัฐทุกวันจะได้ข้อมูลที่เป็นจริง”
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น รัฐบาลได้มีการตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับซึ่ง ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า กระทรวง อว.ได้มีการจัดโรงพยาบาลสนามในสังกัด อว.ไว้รองรับถึง 12,822 เตียง และถ้ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็สามารถจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้เพิ่มอีก 25,000 เตียง ส่วนในเรื่องการฉีดวัคซีนนั้น ทาง อว.ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ และพยาบาลในสังกัดอยู่ทั่วประเทศจะส่งทีมเข้าไประดมช่วยกระทรวงสาธารณสุขในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน
“ขอประชาชนอย่ากังวลเรื่องคุณภาพของวัคซีนเพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เลือกสรรสิ่งที่ดี หากจะมีผลข้างเคียงก็น้อยมากขออย่าได้กังวล ไปฉีดกันเถอะเพราะทุกวัคซีนไม่ได้ต่างกันนัก”
สำหรับประชาชนที่ต้องการโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาตัว หรือต้องการทราบข้อมูลโควิด-19 ให้ติดต่อไปยังสายด่วน 1330, 1442, 1668, 1669, 1646 และ 1323 ได้ทันที!