จับตารัฐบาลบิ๊กตู่กำลังเจอวิกฤตสั่นคลอน! ด้าน รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต
ชี้ ‘3 วิกฤต’ ที่กำลังเผชิญเชื่อมโยงกันสะท้อนให้เห็นถึงรัฐบาล ‘ถังแตก’ เป็นรัฐบาล ‘เป็ดง่อย’ หาดุลยภาพไม่เจอ
ระหว่างแก้โควิด-19 กับกู้เศรษฐกิจ เร่งหาเงินกระตุ้นใช้จ่ายในประเทศ หวั่นเงินกองทุนฯ กลุ่มแรงงานทั้ง ‘ประกันสังคม’ และ ‘กบช.’ ในอนาคตจะถูกยืมมาใช้ แนะทางรอด ‘3 ภาคส่วน’ ต้องร่วมมือกัน พร้อมปรับยุทธศาสตร์อย่าหวังพึ่งการท่องเที่ยว ต้องปรับดุลยภาพครัวเรือนผลักดันโครงการในหลวงรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลที่ ๑๐ เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้!
ปัจจุบัน รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญกับวิกฤตหลายรูปแบบที่กำลังสั่นคลอนรัฐบาล โดยเฉพาะวิกฤตจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ดูจะหนักหนาสาหัสเห็นได้จากการโพสต์เตือนของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
“มีคนถามว่าเรียกระลอกนี้ว่าระลอกสามได้มั้ย ตอบไปเลยเรียกว่าระลอกหนักดีกว่า ระลอกแรก เคสติดใหม่ต่อวันสิบรายทำสถิติสูงที่สุด รอบนี้วันละยี่สิบหรือเกือบยี่สิบ เตียง หลายโรงพยาบาลเริ่มเต็ม อีกไม่กี่สัปดาห์จะเป็นการระบาดไปวงที่สองและจะเริ่มเห็นเคสหนัก”
อย่างไรก็ดี วิกฤตต่างๆ ที่จะตามมาจากนี้ไปคนไทยต้องเตรียมตัวตั้งรับเพราะทั้ง 3 วิกฤตที่กำลังเกิดขั้นนั้นล้วนหนักหนาสาหัสที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลบิ๊กตู่ และส่งผลกระทบต่อคนไทยโดยตรง
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า รัฐบาลบิ๊กตู่อยู่ภายใต้ 3 วิกฤตใหญ่ที่เชื่อมโยงกัน และรัฐบาลบิ๊กตู่ ก็ได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีเงินแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐบาล ‘ถังแตก’ นั่นเอง เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะกล้าพูดออกมาตรงๆ หรือไม่?
วิกฤตแรกคือวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีการขยายตัวหรือการแพร่เชื้อของโควิด-19 รวดเร็วกว่า สมรรถภาพในการป้องกันโดยเฉพาะการป้องกันตัวเองของประชาชน ไม่ว่าจะเรื่องของการใส่หน้ากาก การรักษาระยะห่าง การล็อกดาวน์ตัวเองด้วยการอยู่บ้าน ก็คือเมื่อประชาชนการ์ดตกทำให้การติดเชื้อ แพร่เชื้อขยายมากกว่าเดิม
“จริงๆ ตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะมีจำนวนมากแค่ไหนเราไม่อาจรู้ได้ เพราะไม่ได้มีการตรวจคนจำนวนมาก ซึ่งคนที่เป็นอยู่อาจไม่แสดงอาการ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ศักยภาพในการป้องกันมันต่ำกว่าสมรรถภาพการขยายตัวของโควิด-19 จึงกระทบเศรษฐกิจอย่างหนัก”
ที่สำคัญรายได้ของประเทศเราพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดรุนแรง อย่างภูเก็ตมีคนมาเที่ยวจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้มหาศาล แต่เมื่อจำนวนคนเที่ยวหนาแน่น จะป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร ถ้าจะให้ล็อกดาวน์ภูเก็ตเพื่อป้องกัน ก็จะเจอปัญหาในมุมของเศรษฐกิจจะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม
“ถ้าใครดูภาพนักท่องเที่ยวภูเก็ต ก็คงหนักใจไม่รู้จะป้องกันอย่างไร นอกจากล็อกดาวน์ แต่ถ้าล็อกดาวน์ก็จะมีปัญหาเศรษฐกิจตามมา”
นี่คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะหาดุลยภาพระหว่างการล็อกดาวน์กับ เศรษฐกิจได้อย่างไร เพราะหากจะพูดกันตรงๆ ก็คือ รัฐบาลหาดุลยภาพไม่เจอนั่นเอง
วิกฤตที่สอง คือ วิกฤตเศรษฐกิจ ที่แย่อยู่แล้ว ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวขึ้นก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 ระลอกแรก จนถึงระลอกที่ 3 มีคนตกงานมากขึ้น บริษัทปิดกิจการมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี
“ระลอก 3 ธุรกิจเอสเอ็มอีจะปิดตัวอีกเยอะ คนจะตกงานเพิ่มขึ้นอีก รัฐบาลทำได้เพียงอย่างเดียวคือกระตุ้นกำลังซื้อ ตั้งแต่วิกฤตรอบแรกแล้วจนถึงวันนี้คือการแจกเงิน เรามีโครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น”
คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ย้ำว่า วิธีการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้มากมาย เนื่องจากประเทศไทยพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวมากเกินไป ซึ่งเมื่อการส่งออกถูกล็อกไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้ประเทศไทยไม่มีทางออก จะเน้นพึ่งการท่องเที่ยวให้มากขึ้น แต่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้ามาได้ เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างจบ
โดยแหล่งเงินที่รัฐบาลจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้นั้นที่มีโอกาสและเป็นไปได้มากที่สุดคือจะมีการใช้แหล่งเงินในส่วนของภาคแรงงาน ที่มีการออมไว้จำนวนมหาศาลจากเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งหากจะใช้จริงก็ต้องออมมาในรูปของการออกพันธบัตร และยังมีอีกหนึ่งกองทุนในอนาคตคือ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. ที่รัฐเพิ่งจะคลอดออกมาเพื่อเตรียมการไว้ใช้ในยามจำเป็น ซึ่งกองทุน กบช.นั่นรัฐบาลบริหารเอง!
“รัฐบาลพยายามหาทางหาเงินมาใช้จ่าย มันบ่งบอกว่าเขาไม่มีเงินใช้ บิ๊กตู่ก็ได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีเงินแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐบาล‘ถังแตก’.นั่นเอง เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะกล้าพูดออกมาตรงๆ หรือไม่ สัญญาณที่ส่งมาคือพยายามที่จะขึ้นภาษี จะใช้เงินประกันสังคม อนาคตก็กองทุน กบช. เป็นเงินที่ลูกจ้างออมกันไว้ และรัฐสมทบเข้ามา ก็อาจใช้เงินเหล่านี้ไปแจกต่อในช่วงวิกฤต”
ตรงนี้คือปัญหาในการจะหาดุลยภาพของวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลบิ๊กตู่หาดุลยภาพไม่เจอ จึงต้องเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงไปพร้อมๆ กัน
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ระบุอีกว่า การจะหาดุลยภาพทั้ง 2 ให้ไปด้วยกันได้นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐบาล ตัวอย่างเช่น ภาคธุรกิจ เมื่อรู้ว่ามีคนติดโควิด-19 หรือเป็นต้นตอของการระบาดก็ต้องปิดตัวเอง แต่ปรากฏว่าภาคธุรกิจไม่มีใครกล้าหาญที่จะทำเพราะกลัวตัวเองขาดทุน
“เอาง่ายๆ คนของรัฐเป็นตัวแพร่กระจาย กล้าบอกไทม์ไลน์ตัวเองมั้ย เพราะคนของรัฐบาล เขากลัวเสียชื่อเสียง ซึ่งก็ไม่ต่างจากธุรกิจ ก็กลัวขาดทุนนี่คือดุลยภาพของการเห็นแก่ตัวกับส่วนรวม ทำให้หาดุลยภาพไม่เจอ”
ขณะเดียวกัน มีตัวอย่างชัดที่จะแก้ปัญหาเรื่องของดุลยภาพ เช่น บ่อนการพนัน ที่เป็นต้นตอของการเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์
(Super spreader) ถามว่าบ่อนใหญ่ๆ จะยอมปิดในช่วงของการระบาดหรือไม่ และรัฐบาลจะไม่รู้หรือว่ามีบ่อนใหญ่ๆ อยู่ที่ไหนบ้าง จึงอยากถามว่ารัฐบาลกล้าแตะบ่อนใหญ่ที่จะเป็นต้นตอของการระบาดหรือไม่?
“กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าวิธีจัดการแพร่ระบาดในสถานบันเทิงดีที่สุดคือการล็อกดาวน์ แต่รัฐบาลจะทำได้แค่ไหน”
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ การปรับแผนในการจัดการเรื่องวัคซีน ทั้งแผนการฉีดและการนำเข้าวัคซีน ทุกยี่ห้อที่มีคุณภาพแล้วให้ภาครัฐและเอกชนต้องมาร่วมกันฉีดให้ประชากรมากที่สุด เพราะเมื่อไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายได้ แต่สามารถลดปริมาณการติดเชื้อได้ เช่น จากวันละ 300 คน ให้เหลือ 200 และ 100 คนต่อวัน ก็จะเป็นทางออกหนึ่ง
“ลำพังอาศัยจากรัฐบาลรับมือไม่ทัน เพราะโควิด-19 มันพุ่งถึง 1.7 เท่า ต้องขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย ถ้ามีการแพร่ระบาดก็ล็อกดาวน์ไปเลย แล้วช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่ไม่งั้นสู้โควิด-19 ไม่ได้”
วิกฤตที่สาม ที่รัฐบาลกำลังเผชิญ คือ ปัญหา ‘ม็อบ’ กลุ่มต่างๆ เพราะหากปล่อยให้มีการชุมนุม และมีจำนวนคนแน่นๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยิ่งรุนแรงขึ้น ดังนั้น ม็อบต่างๆ จึงต้องระมัดระวังกันให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดตามมา
“ตอนนี้เราหวังการลงทุนจากต่างประเทศไม่ได้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวก็ไม่ได้ เพราะเรื่องของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะลอกันไปก่อน ยิ่งมาเจอความขัดแย้งทางการเมือง ยิ่งทำให้นักลงทุนต้องคิดหนัก ตัวเลขเศรษฐกิจจึงไม่เข้าเป้า”
คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ย้ำว่า 3 วิกฤต คือ วิกฤตโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมืองที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่นั้น ทำให้สถานะของรัฐบาลเรียกได้ว่าเป็น ‘รัฐบาลเป็ดง่อย’ ไม่รู้จะหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร
“จริงๆ อยากจะบอกว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดเงินนะ ถ้ารวมเงินของทุกคน เพียงแต่ว่าเงินเหล่านั้นไปกองอยู่ที่คนจำนวนน้อย ไม่ได้มาช่วยประเทศชาติ ยิ่งการลงทุนมีปัญหา คนรวย คนมีเงินที่มีจำนวนไม่กี่คนต่างก็เก็บไว้ ยังไม่ยอมลงทุน”
สำหรับทางออกที่รัฐบาลจะต้องทำเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น คือรัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่า โลกเศรษฐกิจถูกล็อกแล้ว ซึ่งโลกาภิวัตน์ถูกจำกัดด้วยสงครามเศรษฐกิจ จึงจำเป็นจะต้องปรับสมดุลใหม่ โดยต้องไม่หวังพึ่งการท่องเที่ยวอย่างเดียว คือรัฐจะต้องปรับสมดุลทั้งภายในและภายนอกให้ได้ พร้อมๆ กับรัฐบาลจะต้องปรับสมดุลภาคครัวเรือนให้ได้
“รัฐบาลต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ ลงไปในหมู่บ้านทำกันจริงๆ ไปปรับตั้งแต่ระดับฐานรากให้เข้าถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาให้ได้ คือ ไปสร้างดุลยภาพกับครัวเรือน จากนั้นก็ไปดูดุลยภาพการแข่งขัน การแบ่งปัน ซึ่งจะต้องรู้ว่าถ้าการแข่งขัน คนจนตายลูกเดียว ก็ต้องสร้างดุลยภาพในการแบ่งปันในธุรกิจให้เกิดขึ้น เช่น ในพื้นที่มีผลไม้ทุกฤดูกาล ก็ต้องส่งเสริมให้แปรรูปเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นไวน์ เป็นเหล้า ใครอยากทำให้ไปขึ้นทะเบียน ไม่ใช่ปล่อยให้ผูกขาดเฉพาะกลุ่มทุน”
วิธีการดังกล่าวจะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ พร้อมกับส่งเสริมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ หรือโครงการโคกหนองนา ของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ให้เข้าถึงชุมชนให้มากที่สุด ให้เขาเลี้ยงตัวเองได้ โดยต้องรู้ว่าพื้นที่หรือชุมชนต้องการอะไร ไม่ใช่รัฐอยากใส่อะไรก็ให้ไป ซึ่งไม่ถูกต้อง
“เมื่อส่งเสริมแล้วรัฐก็ต้องแบ่งปันตลาด หรือจัดสถานที่ให้คนเหล่านี้นำผลผลิตออกมาขายได้ด้วย เพราะถ้าแจกเงินอย่างเดียวก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้”
นี่คือ ‘3 วิกฤต’ ที่รุนแรง และกำลังท้าทายรัฐบาลบิ๊กตู่ ว่า จะนำพารัฐนาวานี้ต่อไปได้ดีหรือไม่!