xs
xsm
sm
md
lg

ชี้จุดแข็ง-จุดอ่อน “กลุ่มตู่-เต้น-นักศึกษา” “นักรัฐศาสตร์” ฟันธง ล้ม “ประยุทธ์” ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการชี้พลังของกลุ่มจตุพร-ณัฐวุฒิ-กลุ่มนักศึกษา ไม่มากพอจะล้ม “พล.อ.ประยุทธ์” เชื่อ 3 กลุ่มรวมกันได้ยาก เหตุจุดยืนแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องสถาบัน ด้านพิภพ ธงไชย-ครป.-เครือข่ายพลังงาน ยันไม่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มตู่ “ผศ.วันวิชิต” ระบุสาเหตุเดียวที่รัฐนาวาจะล่ม คือความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ “รศ.ดร.ยุทธพร” มองว่า ยังไม่มีประเด็นที่ใหญ่พอจะดึงประชาชนออกมาร่วมชุมนุม เชื่อแก้ รธน.ไม่ได้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่ออีกสมัย

ประเด็นที่สังคมจับตาอยู่ในตอนนี้คงหนีไม่พ้นการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของสองคู่หู “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ประกาศรวมพลเคลื่อนไหวในนาม “กลุ่มสามัคคีประชาชน” เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” อดีตแกนนำเสื้อแดง ที่แท็กทีมกับบรรดาอดีตแกนนำ นปช. ออกมาประกาศร่วมสู้กับกลุ่มคณะราษฎร ในห้วงเวลาที่พลังของม็อบคณะราษฎร รวมถึงนักศึกษากลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มรีเดม กลุ่ม Spring Movement และคณะจุฬาฯ ดูจะอ่อนแรงลง ซึ่งหลายฝ่ายต่างมองว่าการขับเคลื่อนของทั้ง 3 กลุ่มนั้นน่าจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้รัฐบาลบิ๊กตู่อยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ดี ล่าสุด “โหรวารินทร์” หรือนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรชื่อดังได้ทำนายว่าดวงของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นจะอยู่ในตำแหน่งยาวนาน กระทั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังได้เป็นรัฐบาลอีกสมัย

ส่วนว่าพลังของ 3 กลุ่มจะสามารถโค่นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ได้หรือไม่นั้นคงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินการวางยุทธศาสตร์ของทั้ง 3 กลุ่ม ว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ แต่ละกลุ่มจะไม่โจมตีกัน ไม่แตะในทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่น ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจุดร่วมของทั้ง 3 กลุ่ม แม้ก่อนหน้านี้กลุ่มนักศึกษาจะโจมตีนายจตุพรเนื่องจากไม่พอใจที่จตุพร แนะนำตักเตือนเรื่องแนวทางการชุมนุมของกลุ่มราษฎรว่าท่าทีที่แสดงออกอาจไม่เป็นผลดีต่อการชุมนุมในระยะยาว แต่ปัจจุบันทั้งจตุพร และณัฐวุฒิต่างหลีกเลี่ยงที่จะกระทบกระทั่งกับกลุ่มนักศึกษา โดยจตุพร และณัฐวุฒิจะไม่พูดเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของกลุ่มราษฎร

ส่วนการขับเคลื่อนของแต่ละกลุ่มนั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นไปแบบต่างคนต่างเดิน กลุ่มใครกลุ่มมัน เนื่องจากกลุ่มนายจตุพร ชูธงว่าจะไม่แตะสถาบัน ขณะที่นักศึกษาจะกลับลำไม่พูดเรื่องสถาบันเพื่อมาร่วมกับกลุ่มนายจตุพร ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะกลุ่มนักศึกษาเดินมาไกลแล้ว การที่นักศีกษาจะกลับลำมาเล่นแค่ 2 เรื่อง คือแก้รัฐธรรมนูญ และให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก คนภายนอกก็ไม่เชื่อแล้ว ส่วนแนวร่วมที่ไปร่วมกับแต่ละกลุ่มหรือจะไปปราศัยในเวทีไหนก็ขึ้นกับความสะดวกใจ อย่างเช่น นายวีระ สมความคิด ก็คงรู้สึกว่าร่วมกับนายจตุพรในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือผลักดันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีเนื้อหาที่ชอบธรรมมากกว่าจะไปร่วมกับกลุ่มนักศึกษา

“ตอนนี้พลังของนักศึกษาอ่อนแรงลงมาก เนื่องจากแกนนำจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดี ฉะนั้นหลายฝ่ายมองว่าการออกมานำขบวนของนายจตุพร รอบนี้จึงเหมือนการมาทำการบ้านอีก 2 ข้อที่เด็กทำค้างไว้ ยังทำไม่เสร็จ คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรนูญ และการกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แต่จะไม่ไปแตะต้องเรื่องสถาบัน” ผศ.วันวิชิต ระบุ

สำหรับการประเมินพลังของกลุ่มนายจตุพรนั้น ผศ.วันวิชิต มองว่า ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะบอกว่ากลุ่มของนายจตุพรมีโอกาสที่เติบโตหรือไม่ ต้องรอดูในระยะยาว บางคนก็อาจจะอยากมาร่วมแต่ยังไม่ไว้ใจนายจตุพร เนื่องจากวันเปิดตัวมีคนเสื้อแดงจำนวนมากออกมาสนับสนุน คนอีกฝ่ายก็อาจมองว่าคนเสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ความรุนแรง ถ้ามาร่วมกับจตุพรก็จะถูกเหมารวมว่าเป็นพวกเดียวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต นายจตุพร จึงต้องระวัง ไม่ใช้วาทะโวหารในลักษณะทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม และต้องสร้างแนวคิดแบบสันติอหิงสาให้ได้ จึงจะสามารถสร้างความไว้วางใจให้กลุ่มอื่นๆ ที่จะมาร่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ทั้งนี้ กิจกรรมใหญ่ในวันที่ 22 พ.ค.2564 ซึ่งครบรอบ 7 ปีการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะมีคนมาร่วมค่อนข้างเยอะ แต่ก็คงไม่ถล่มทลายเหมือนการชุมนุมช่วงแรกๆ ของกลุ่มนักศึกษา

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน
ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับท่าทีของหลายกลุ่มซึ่งไม่ได้มาร่วมเคลื่อนไหวกับนายจตุพรอย่างที่หลายคนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มพันธมิตรฯ” ซึ่งมีข่าวว่า นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะมาร่วมชุมนุมด้วย แต่ในการชุมนุมของ “กลุ่มสามัคคีประชาชน” ที่นำโดยนายจตุพร เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ไม่เห็นแม้แต่เงาของนายพิภพ

และเมื่อสอบถามไปยังเจ้าตัว นายพิภพ ก็ยืนยันว่าตนไม่ได้มีความคิดที่จะไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มนายจตุพร ส่วนข่าวที่ออกไปนั้นเป็นเรื่องที่ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกลุ่มญาติวีรชน พฤษภา 35 ไปให้สัมภาษณ์เอง

ขณะที่ “กลุ่ม ครป.” ที่แม้จะมี นายเมธ มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ไปขึ้นเวทีกับกลุ่มสามัคคีประชาชน แต่ก็ไปในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของ ครป. โดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ในฐานะประธาน ครป.ชี้แจงว่า ครป.ไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามัคคีประชาชนแต่อย่างใด การที่นายเมธ เลขา ครป.ไปร่วมกับกลุ่มดังกล่าวน่าจะเป็นเพราะมีแนวคิดตรงกันในเรื่องการขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ส่วน “กลุ่มเครือข่ายปฎิรูปพลังงาน” ซึ่งมี นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน ไปร่วมขึ้นเวทีกับกลุ่มสามัคคีประชาชนก็ไปในนามส่วนตัวเช่นกัน

โดย นายอิฐบูรณ์ ระบุว่า เครือข่ายพลังงานยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง การขึ้นปราศัยบนเวทีสามัคคีประชาชนของตนนั้นเป็นเพียงการนำข้อมูลเรื่องการผูกขาดด้านพลังงานซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไปเผยแพร่เท่านั้น เนื่องจากตนมองว่าเวทีดังกล่าวไม่ใช่ของคุณจตุพร เพียงคนเดียว แต่เวทีหลักๆ เป็นของญาติวีรชน พฤษภา 35 ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์เริ่มต้นในการต่อสู้จากพลังบริสุทธิ์ของประชาชนอย่างแท้จริง

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจาร์ประจำสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจาร์ประจำสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประเมินศักยภาพของทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว ว่า ขณะนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทั้ง 3 กลุ่มจะเคลื่อนไหว เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น พ.ร.บ.การชุมนุม การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการจับกุมแกนนำ แม้แต่กลุ่มราษฎรที่มีมวลชนจำนวนมากตอนนี้ก็ยังเคลื่อนไหวลำบาก

สำหรับโอกาสที่ม็อบคณะราษฎรจะรวมกับกลุ่มของนายจตุพร นั้นก็เป็นไปได้ยากเพราะเนื้อหาอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน เนื่องจากข้อเรียกร้องของกลุ่มนายจตุพร แตกต่างจากข้อเรียกร้องของม็อบคณะราษฎร โดยกลุ่มนายจตุพรเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ส่วนคณะราษฎรเรียกร้อง 3 ข้อ คือให้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ลาออก 2.แก้รัฐธรรมนูญ และ 3.ปฏิรูปสถาบัน อีกทั้งบริบทและมุมมองทางการเมืองของทั้งสองกลุ่มก็เป็นคนละเจเนอเรชันกัน โลกทัศน์ทางการเมืองจึงแตกต่างกัน

ส่วนโอกาสที่กลุ่มของนายณัฐวุฒิ จะรวมกับกลุ่มของนายจตุพร หรือกลุ่มคณะราษฎร มีความเป็นไปได้หรือไม่ นายณัฐวุฒิ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวต่อไปหรือไม่ อย่างไร โดยณัฐวุฒิ ระบุว่าต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของสถานการณ์และเวลา และแม้นายจตุพร กับนายณัฐวุฒิ ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน แต่การที่นายจตุพร ไปร่วมกับกลุ่มเสื้อหลากสีและกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะที่เป็นขั้วตรงข้ามกับกลุ่ม นปช. อาจทำให้กลุ่มกลุ่ม นปช.ไม่ยอมรับนายจตุพร

นายจตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และแกนนำกลุ่มสามัคคีประชาชน
ส่วนว่ากลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง 3 กลุ่ม จะมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไรบ้างนั้น ผศ.วันวิชิต วิเคราะห์ว่า สำหรับ “นายจตุพร” จุดแข็งคือ ชูธงเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด ส่วนจุดอ่อนคือภาพลักษณ์ของนายจตุพรที่ถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว ขณะที่การเมืองในปัจจุบันไม่ใช่การเมืองที่พร้อมจะแตกหัก คนส่วนใหญ่จึงอาจจะไม่ไว้ใจจตุพร แม้ว่าหลังจากพ้นโทษออกมานายจตุพร จะพยายามลดความก้าวร้าวลง มุมมองวิธีคิดบางส่วนตกผลึกมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่าจริงๆ แล้วการเมืองไทยต้องการอะไร จึงต้องจับตาดูว่าจตุพร เวอร์ชันใหม่จะมีทิศทางทางการเมืองอย่างไร

ขณะที่ “นายณัฐวุฒิ” จุดแข็งคือมีแนวทางที่ชูธงประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน แต่มีวาทศิลป์และไหวพริบที่เหนือกว่านายจตุพร และมีฐานะเป็นตัวเชื่อมกับกลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมือง การที่นายณัฐวุฒิออกมาแสดงความเห็นปกป้องกลุ่มนักศึกษาทำให้เขาได้ใจจากผู้ชุมนุมกลุ่มนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ส่วนจุดอ่อนก็คือท่าทีของนายณัฐวุฒิ ซึ่งหมิ่นเหม่ในความรู้สึกของคนทั่วไป ทั้งในกรณีที่มองว่าณัฐวุฒิ มีภาพลักษณ์ของความรุนแรงในระดับดีกรีที่สูงกว่าจตุพร และกรณีที่นายณัฐวุฒิ ออกตัวปกป้องกลุ่มนักศึกษา ซึ่งแม้จะไม่ได้พูดว่าลึกๆ แล้วเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของนักศึกษาคืออะไร แต่สังคมก็รู้ดี อีกทั้งขณะเดียวกัน วาทศิลป์และไหวพริบของณัฐวุฒิ ก็กลายเป็นหลักฐานมัดตัวเองในหลายครั้ง คำพูดบางอย่างเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามเอาไปจับผิด อย่างกรณีที่นายณัฐวุฒิ เคยประกาศบนเวทีเสื้อแดงว่า “เผาเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง”
ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวได้กลายเป็นเครื่องหมายติดตัวณัฐวุฒิ มาตลอด

ส่วน “ม็อบนักศึกษา” นั้น แม้จะมีจุดแข็งตรงที่เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ แต่ก็มีจุดอ่อนที่ข้อเรียกร้องบางอย่างเป็นประเด็นที่คนไม่เห็นด้วย และขณะนี้แกนนำถูกจับกุมไปไม่น้อย ม็อบจึงอ่อนกำลังลงมาก และยากที่จะฟื้นตัว

ขณะที่ รศ.ดร.ยุทธพร ประเมินจุดแข็ง-จุดอ่อนของทั้ง 3 กลุ่ม ว่า สำหรับ “กลุ่มของนายจตุพร” จุดแข็งคือคนที่มาร่วมเคลื่อนไหวมีที่มาจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งอดีตเสื้อหลากสี อดีตคนเสื้อแดง ส่วนจุดอ่อนคือพลังในการเคลื่อนไหวไม่ได้มากเหมือนเดิม

ส่วน “กลุ่มของนายณัฐวุฒิ” มีจุดแข็งตรงที่มีฐานมาจากกลุ่ม นปช. อย่างไรก็ดี นปช.เองก็เป็นจุดอ่อน ซึ่งไม่รู้ว่าปัจจุบัน นปช. จะมีพลังมากน้อยแค่ไหน หลังจากถูกจับกุมปราบปรามเมื่อหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งปัจจุบัน กลุ่ม นปช.ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรที่ชัดเจน

ขณะที่ “กลุ่มนักศีกษา” นั้นมีจุดแข็งตรงที่มีอุดมการณ์ความคิดแบบคนรุ่นใหม่ และมีทักษะด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียซึ่งมีความสำคัญมากในปัจจุบัน ส่วนจุดอ่อนคือข้อเรียกร้องและหลายประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาอาจจะเป็นประเด็นที่ใหม่เกินไปสำหรับสังคมไทย ทำให้การระดมคนจากกลุ่มต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” อดีตแกนนำเสื้อแดง
อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้จะมีหลากหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ ผศ.วันวิชิต มองว่าพลังของทั้ง 3 กลุ่มคงไม่เพียงพอที่จะโค่นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ โดยพลังของม็อบเป็นเพียงปัจจัยที่สร้างความอึดอัดให้รัฐบาลเท่านั้น แต่รัฐบาลยังไปต่อได้ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต่อเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกัน ท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของวุฒิสมาชิกก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้สังคมและทำให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนแรงขึ้น แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่สุกงอมพอที่พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจะเคลื่อนไหวอะไร ทั้งสองพรรคยังคงรอดูท่าทีของการเมืองนอกสภาก่อน

“คิดว่าการเคลื่อนไหวของทั้ง 3 กลุ่ม คงเป็นไปในลักษณะวูบวาบหวือหวาเหมือนตลาดหุ้น บางวันก็เป็นสีเขียว บางวันก็เป็นแดง บางวันคนมากบางวันคนน้อย เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนอยู่มาก ประเด็นความขัดแย้งต่างๆ ที่ม็อบหยิบยกขึ้นมามันไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง จนกว่ารัฐบาลจะเกิดวิกฤตภายใน หรือมีปัญหาขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่จริงจัง ไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งมีพลังมากกว่าการเคลื่อนไหวของม็อบ หากพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอารัฐบาล พรรคพลังประชารัฐก็ไปต่อยาก” ผศ.วันวิชิต ระบุ

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า เป็นไปได้ยากที่การเคลื่อนไหวของทั้ง 3 กลุ่มจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะไม่ใช่แค่แต่ละกลุ่มผนึกกำลังกันแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย คือ 1) ต้องมีประเด็นที่จุดกระแสในการเคลื่อนไหว นำไปสู่การระดมมวลชนได้ และต้องมีจุดเปลี่ยนในเชิงสังคมการเมือง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ 2) การจะผนึกกำลังกันต้องมีอัตลักษณ์ร่วมของแต่ละกลุ่ม แต่ปัจจุบันทั้ง 3 กลุ่มมีอัตลักษณ์เฉพาะ การสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย 3) ต้องทำให้หน้าต่างแห่งโอกาสเปิดเสียก่อน แต่ตอนนี้หน้าต่างยังไม่เปิด การชุมนุมยังติดเงื่อนไขของกฎหมาย ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่เกิดในปี 2540

“จากปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่าไม่น่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง การที่ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งไม่ใช่เรื่อง่าย จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าสุดท้ายสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจริงๆ ไม่ใช่พลังของมวลชนที่มาร่วมชุนุม แต่เกิดจากการรัฐประหารของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในสมัยพันธมิตรฯ หรือ กปปส. การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล้วนเกิดจากการรัฐประหาร” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว


ส่วนข้อเรียกร้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นประเด็นร่วมของทั้งกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลและภายในพรรคร่วมรัฐบาลเองนั้น รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการแก้ในเชิงเทคนิค แก้ในมาตราที่แต่ละพรรคได้รับผลกระทบ เช่น การกำหนดสัดส่วนผสมในการนับคะแนนเลือกตั้ง เรื่องไพรมารีโหวต แต่การจะจุดกระแสเรียกร้องของสังคมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย

“จะเห็นได้ว่าแม้แต่ช่วงที่วุฒิสมาชิกโหวตคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ก็ยังไม่มีกระแสอะไรที่จะทำให้คนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือต่อต้านการใช้อำนาจของ ส.ว. ซึ่งสาเหตุที่พลังในการแก้รัฐธรรมนูญมีน้อยเพราะปัจจุบันอุดมการณ์ของคนในสังคมมีความหลากหลาย การจะทำให้พลังการเรียกร้องในเรื่องต่างๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงเป็นไปได้ยาก ซึ่งหากรัฐธรรมนูญยังเหมือนเดิม ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็มีโอกาสสูงที่พลังประชารัฐจะได้เป็นรัฐบาล” รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ

ซึ่งสอดคล้องกับ ผศ.วันวิชิต ที่มองว่า ถ้ารัฐธรรมนูญยังเป็นเหมือนเดิม วุฒิสภายังมีสิทธิในการโหวตเลือกนายกฯ ก็เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐก็ยังคงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม




กำลังโหลดความคิดเห็น