xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง!! ม็อบ REDEM เสี่ยงปะทะ-แกนนำลอยตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปรียบเทียบม็อบ REDEM และราษฎร ผ่านสายตาคนร่วมขบวน ยอมรับ REDEM มาแบบไร้หัวขบวนสุดเสี่ยง ไม่มีการ์ดทางการแต่เป็นทีมที่เคยร่วมขบวนราษฎร ล้วนเป็นแนวชอบปะทะ เมื่อสถานการณ์รุนแรงไม่สั่งยกเลิกชุมนุม คนบาดเจ็บทีมราษฎรต้องเข้าช่วยค่าใช้จ่าย สวดยับงานนี้ REDEM ลอยตัว

ม็อบที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้ชื่อต่างๆ จนถึงในนามราษฎร แม้ระยะแรกจะบอกว่าไม่มีแกนนำ แต่ทุกคนก็ทราบดีว่ามีแกนนำอย่างทนายอานนท์ นำภา เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก จนถึงไผ่ ดาวดิน-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นผู้นำการชุมนุม

แต่แกนนำชุดนี้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ถูกฝากขังที่เรือนจำและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

ช่วงที่ทุกอย่างเริ่มชัดเจนว่าแกนนำของราษฎรทั้งหมดถูกดำเนินคดีแน่ และไม่ได้รับโอกาสที่จะออกมาเคลื่อนไหวต่อได้ กลุ่มเยาวชนปลดแอกจึงลุกขึ้นมาเป็นคณะจัดการชุมนุมต่อจากราษฎร ในนาม REDEM เริ่มครั้งแรก 28 กุมภาพันธ์ ครั้งที่ 2 เมื่อ 6 มีนาคม 2564 และครั้งที่ 3 เมื่อ 20 มีนาคม 2564

จุดเริ่มรุนแรงเริ่มที่สถานทูตพม่า

การชุมนุมตั้งแต่ต้นปี 2564 เริ่มต้นด้วยการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ตั้งแต่หน้าสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกลุ่ม WEVO จากนั้นการชุมนุมที่มีการเดินไปทำกิจกรรมจะมีการปะทะกับ คฝ. แทบทุกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในช่วงชุมนุมเมื่อปี 2563

แม้จะไม่มีการประกาศถึงท่าทีที่เปลี่ยนไปของรูปแบบการชุมนุม แต่เป็นที่รู้กันว่าการชุมนุมในปี 2564 ไม่ได้ยึดหลักชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธอีกต่อไป ผู้ชุมนุมแนวหน้าต่างเป็นฝ่ายเปิดศึกปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนแทบทุกครั้ง

กลุ่มราษฎรนัดชุมนุม 10 กุมภาพันธ์ 13 กุมภาพันธ์ มีปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตลอดและหนักขึ้นเรื่อยๆ


งานแรก REDEM ถูกสวดยับ

เมื่อแนวโน้มของแกนนำราษฎรมีแนวโน้มที่จะถูกดำเนินคดีทั้งหมด จึงกลายเป็นโอกาสที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เคยถูกกลุ่มราษฎรตัดความสัมพันธ์ช่วงที่เริ่มออกไปนิยมแนวทางคอมมิวนิสต์ได้กลับเข้ามาจัดชุมนุมอีกครั้งในนาม REDEM เริ่ม 28 กุมภาพันธ์ 2564 เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรมทหารราบที่ 1 วันดังกล่าวมีการปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน จนต้องเริ่มใช้กระสุนยาง

เหตุการณ์วันนั้นมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น จนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความว่า ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงให้ยุติการชุมนุมในเวลานี้ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องมวลชนทุกท่าน

เช่นเดียวกับนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการที่ลี้ภัยในต่างประเทศ โพสต์ว่า การจัดชุมนุมโดยไม่มีแกนนำ ไม่ใช่ไอเดียที่ดี ผมคิดว่าควรเลิกชุมนุม กลับบ้านแล้วค่อยว่ากันใหม่ดีกว่า

ตามมาด้วยนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส. ที่ติดตามการชุมนุมทุกครั้ง โพสต์ว่า แนวโน้มคงปะทะอีกรอบ ผมเอาไม่อยู่แล้ว แกนนำก็ไม่มีเลย ไม่รู้ใครเป็นใคร


สนามหลวงหนักสุด

การขับเคลื่อนของกลุ่ม REDEM ยังคงเดินหน้าชิมลางครั้งที่ 2 เมื่อ 6 มีนาคม 2564 กับกิจกรรม ขนขยะไปทิ้งที่หน้าศาลอาญารัชดา ครั้งนั้นภายในกิจกรรมไม่มีความรุนแรง แต่เกิดเหตุการณ์รอบนอก เมื่อก่อนเริ่มกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ดและทีมการ์ด WEVO พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่สามารถใช้ก่อความรุนแรงได้ ครั้งนั้นมีการดักชิงตัวผู้ต้องหาจากรถตำรวจที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา นับว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจมาก

นัดต่อมาคือ 20 มีนาคม จัดกิจกรรมส่งจดหมายถึงคนสั่งล้มรัฐธรรมนูญ ที่สนามหลวง มวลชนแนวหน้าเข้ารื้อถอนตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจวางไว้เพื่อป้องกันการบุกรุก เป็นเหตุให้ตำรวจออกคำสั่งให้ยกเลิกการชุมนุมและมีการเข้าควบคุมพื้นที่ ครั้งนี้นับว่ามีการตอบโต้กันรุนแรงทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ขณะที่ผู้ชุมนุมได้ก่อเหตุในหลายจุดบนถนนราชดำเนิน

ขอม็อบแบบปี 63

ภายหลังความวุ่นวายเมื่อ 20 มีนาคม เก่ง อาชีวะ หัวหน้าการ์ดอาชีวะได้โพสต์ข้อความว่า หันกลับมามองการออกมาเรียกร้องกันใหม่ดีไหมครับ เกิดเหตุรุนแรง ตอบโต้กันไปมาแล้วได้อะไร ถามตัวเองดู การเรียกร้องในเนื้อหาข้อมูลมันไม่เกิด

มีแต่พี่น้องโดนจับกุมคุมขัง มีพี่น้องได้รับบาดเจ็บ ทำแบบนี้ได้แต่ภาพหรือเปล่า รุนแรงเพื่อรอรัฐประหาร @สันติวิธีเพื่อไล่นายกฯ (รัฐฯ จะไม่มีความชอบธรรมในการสลายการชุมนุม ถ้าเราใช้สันติวิธี)

กลับมาทำม็อบแบบต้นปีที่แล้วได้ไหม ทำแบบเดินทะลุฟ้า หมู่บ้านทะลุฟ้า สันติวิธีจริงๆ เดินมาจากโคราชกับไผ่ ส่งไผ่เข้าเรือนจำ เดินมาตั้งหมู่บ้าน จนปักหลักได้ มันชัดเจนมั้ยครับ

ลดการสูญเสียพี่น้องเราได้แล้ว ไม่มีใครโดนจับกุมคุมขัง ไม่มีคนเจ็บ ข้อมูลเนื้อหาเข้าถึงคนที่ไม่ได้มาฟัง

ไม่มีแกนนำ-ไปไม่ได้

เช่นเดียวกับทีมการ์ดฟันเฟืองธนบุรี โพสต์ข้อความในทำนองเดียวกันว่า จากนี้ไป ถ้าใครที่ใช้ความรุนแรงในม็อบที่ไม่ใช่การป้องกันตัวเองจากการที่โดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายหรือช่วยมวลชนที่โดนทำร้าย ให้จับตัวไว้ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ดีนะครับ

การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน มันเคลื่อนที่ไปไม่ได้หรอกครับ แล้วสุดท้ายคนที่บาดเจ็บที่โดนจับ ก็มีแต่มวลชนและก็ต้องแลกมากับการบาดเจ็บของคนที่คอยป้องกันมวลชนอีก เราจะตอบโต้เจ้าหน้าที่ต่อเมื่อเข้ามาทำร้ายเพื่อนพี่น้องเรา หรือทำอะไรที่เกินกว่าหน้าที่และทอดทิ้งความเป็นมนุษย์

ตั้งสติตั้งขบวนกันดีๆ เราเสียเวลามากไม่ได้แล้วครับ

สุดท้ายนี้เราหวังว่าขบวนการประชาธิปไตยจะเดินไปในทิศทางเดียวกันเหมือนปีที่ผ่านมา สันติวิธีอาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่การไม่ต้องมีใครสูญเสียเลือดเนื้อ ชีวิต มันคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วครับ เราทุกคนต่างมีครอบครัว มีหน้าที่ มีคนที่รักรออยู่ที่บ้าน แค่พี่น้องทุกคนเสียสละเวลาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยก็มีค่ามากพอแล้วครับ

อย่าให้มีใครต้องมาสละชีวิตเพื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนี้อีกเลย

ม็อบต่างกลุ่มต่างจัด


หนึ่งในผู้สังเกตการณ์ชุมนุมกล่าวว่า การจัดม็อบเป็นเรื่องของแต่ละกลุ่ม ไม่ได้รวมตัวกันเหมือนตอนเป็นคณะราษฎร เพราะเมื่อแนวคิดไม่ตรงกันต่างก็แยกตัวกันออกมา ทำให้มวลชนแยกกันไปตามแต่ละกลุ่ม

อย่างกลุ่มราษฎรที่แยกออกมาจากคณะราษฎร ตั้งแต่ช่วงที่เกิดปัญหาเรื่องการจัดงานการ์ดอาสาเมื่อ 16 มกราคม 2564 ตอนนี้น่าจะเหลือเพียงกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หลังจากที่แกนนำชุดแรกถูกฝากขัง ไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 และชุดของรุ้ง ไมค์ ไผ่ เมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา

ม็อบแผ่วลงชัดเจนเมื่อแกนนำถูกดำเนินคดี โดยเมื่อ 24 มีนาคม แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จัดงานอีกครั้งที่ย่านราชประสงค์ มีคนเข้าร่วมกิจกรรมหนาตา เดิมคาดว่าแกนนำแถว 2-3 อาจถูกสั่งฟ้องในวันที่ 25 มีนาคม แต่อัยการได้เลื่อนนัดออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2564

ทีมเยาวชนปลดแอกที่เคยถูกสกัดออกจากขบวน หลังจากหันเหไปนิยมคอมมิวนิสต์ เริ่มกลับเข้ามาแสดงบทบาทแทนตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีวิธีการทำม็อบที่แตกต่างกัน

เยาวชนปลดแอกในนาม REDEM มาในรูปเดิมคือไม่มีแกนนำ นัดชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยฐานสมาชิกบนแฟนเพจมีมากถึง 1.5 ล้านคน จึงรวมคนได้มากกว่ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่ระยะหลังแผ่วลงอย่างชัดเจน


REDEM มีปัญหาบริหารม็อบ

กลุ่มราษฎรที่รวมแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จัดม็อบอย่างเป็นระบบ มีแกนนำชัดเจน มีทั้งรูปแบบการตั้งเวทีหรือมีรถขบวนปราศรัย แกนนำสามารถสั่งเคลื่อนขบวนหรือยกเลิกการชุมนุมได้ทั้งหน้างานและผ่านโซเชียลมีเดีย

มีการ์ดที่ค่อนข้างชัดเจน แม้ช่วงหลังจะประกาศยุบการ์ดทั้งหมดไปแล้วก็ตาม มีทีม WEVO และการ์ดอาชีวะบางส่วนเข้ามาร่วม แต่แนวทางเปลี่ยนไปจากเดิม จากการ์ดที่คอยปกป้องไม่ให้มวลชนไม่ให้ยั่วยุเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตอนนี้กลายเป็นตัวนำเปิดศึกเสียเอง

มีทุนจากการเปิดรับบริจาค มีเสบียง น้ำ รถสุขา พร้อมให้บริการ รวมไปถึงมีเรื่องของค่ารักษาพยาบาลกับมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บ

ส่วน REDEM มาในรูปแบบไม่มีแกนนำ แต่เป็นที่รู้กันว่า ฟอร์ด-ทัตเทพ อั่ว-จุฑาทิพย์ เป็นแกนนำอยู่ รูปแบบของเขาไม่ต้องใช้เงินทุนมาก นัดรวมตัวที่โซเชียลมีเดีย ไม่มีเวที ไม่มีรถขยายเสียง ไม่มีการ์ดอย่างเป็นทางการ ทำให้มีการ์ดของทีมที่เคยอยู่กับราษฎร เข้าไปเป็นแนวหน้า ซึ่งส่วนใหญ่นิยมความรุนแรง

จะเห็นได้ว่าม็อบที่ REDEM เป็นเจ้าภาพมีการปะทะกับตำรวจ ยกเว้นวันที่ 6 มีนาคม แต่ถ้าไม่มีการจับกุมทีม WEVO ก็อาจมีเหตุปะทะ แต่ทีม WEVO ก็สร้างวีรกรรมชิงตัวผู้ต้องหาจากรถควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

งานแรกของ REDEM 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีการปะทะกับตำรวจ สถานการณ์เริ่มรุนแรง มีแก๊สน้ำตา ตำรวจเริ่มใช้กระสุนยาง ทุกอย่างกำลังคุกรุ่น เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ต้องเป็นผู้ออกมาประกาศให้ยุติการชุมนุม ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพและผู้บาดเจ็บมีเงินจากทีมงานของทราย เจริญปุระ เข้าไปช่วยเหลือ

“พูดง่ายๆ คือ REDEM ประกาศจัดชุมนุม เมื่อสถานการณ์เริ่มรุนแรง กลับไม่สั่งยุติการชุมนุม กรณีของวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาก็เช่นกัน แจ้งว่ายกเลิกการชุมนุมเวลา 19.30 น. แต่ประกาศออกมาที่เวลา 21.33 น. ไม่ต้องพูดถึงค่ารักษาผู้ได้รับบาดเจ็บ คือไม่มี ไม่มีการห้ามปรามแนวหน้าที่สร้างเหตุให้เกิดการปะทะ ดูเหมือนระบบบริหารจัดการม็อบของ REDEM ยังมีปัญหาอยู่มาก”

รู้ไว้ก่อนไปร่วมม็อบ

ส่วนม็อบราษฎร ถ้าไม่เคลื่อนขบวนก็ไม่มีปัญหาเรื่องปะทะ แม้เหตุการณ์เมื่อ 13 กุมภาพันธ์มีการปะทะค่อนข้างแรง แต่แกนนำสั่งยกเลิกชุมนุม อาจมีส่วนที่ยังตกค้างอยู่บ้าง

เราไม่ได้บอกว่าใครดีกว่ากัน เพราะทั้ง 2 ม็อบเริ่มใช้ความรุนแรง เพียงแต่การควบคุมหรือยับยั้งเหตุปะทะ แกนนำมีความสำคัญ การสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงย่อมกลายเป็นม็อบที่ไม่ชอบธรรม

ม็อบ 6 มีนาคม มีทีมสันติวิธีเข้ามาร่วมกับม็อบอยู่บ้าง แต่ทีมเหล่านี้ล้วนเป็นสายเดียวกับม็อบ อาจได้ภาพที่ดูดี แต่คนในก็ทราบดีว่าในนั้นมีทั้งทีมสันติวิธีและทีมที่พร้อมปฏิบัติการสร้างเหตุการณ์ยั่วยุ

คนที่ผ่านประสบการณ์การชุมนุมมาต่างก็เห็นตรงกันว่า การเปิดฉากยั่วยุก่อนไม่เป็นผลดีกับการขับเคลื่อนของม็อบ แต่เมื่อแสดงความคิดเห็นออกไป ก็ถูกสกัดออกมาจากสายที่ใกล้ชิดกับแกนนำ จนหลายคนต้องถอยออกมายืนดูวงนอก

ตอนนี้ทั้ง 2 ม็อบใช้ความรุนแรงเหมือนกัน ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่การ์ด ไม่ใช่มวลชนส่วนใหญ่ วันนี้การ์ดไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้มวลชนที่มาชุมนุม แต่กลับเป็นตัวเปิดศึกเสียเอง

REDEM ไม่มีการ์ดของตัวเอง ที่เราเห็นแนวหน้านั้น มีทั้งภูมิ หัวลำโพง เอ็ม ปลดแอก และรวมตัวกันบางส่วนมาจากการ์ดอาชีวะ เสื้อแดงบางส่วน ดังนั้นคนที่จะไปร่วมชุมนุมควรต้องทราบถึงความแตกต่างของเจ้าภาพที่จัดม็อบแต่ละครั้งก่อนว่ามีระดับความเสี่ยงแค่ไหนอย่างไร




กำลังโหลดความคิดเห็น