ผลพวงจับ “แอมมี่” ขยายวงกล่าวหากันเอง “ใครเป็นสายตำรวจ” แบ่งฝ่ายถือหาง ลามถึงเรื่องเงินบริจาค “อมหรือไม่” ทราย-บุ๊ง ไม่แจง คนทำม็อบเผยเรื่องแบบนี้ไม่มีใครแจง วัดใจนายทุนม็อบราษฎรเมื่อหมดแกนนำเงินบริจาคไหลเข้าอีกหรือไม่ เตือนทีมคุมกระเป๋าเงินเปิดบัญชีส่วนตัวสรรพากรจ้องสอบ ตัวอย่างมีให้เห็น สมหวัง อัสราษี นปช. ถูกเรียกเก็บ 572 ล้าน
เป็นอันว่าแกนนำ 3 คนของกลุ่มราษฎรถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ 8 มีนาคม 2564 เมื่อรวมกับ 4 คนแรกที่ถูกควบคุมตัวเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ ส่งผลให้แกนนำหลักอยู่ในเรือนจำ ทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
ในช่วงจังหวะเวลาที่แกนนำราษฎร 4 คน ชุดแรกถูกควบคุมตัวไม่ได้ประกัน 3 แกนนำที่เหลือต่างรับทราบถึงชะตากรรมที่จะเกิดขึ้น แม้จะจัดกิจกรรมตามข้อเรียกร้องได้ต่อ แต่มวลชนเริ่มลดน้อยลงพร้อมๆ กับความรุนแรงของม็อบที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มหนักขึ้น
พร้อมๆ กับการกลับมาแสดงบทบาทในการชุมนุมครั้งใหม่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เคยถูกกลุ่มราษฎรตัดออกจากขบวน ในนามกลุ่ม REDEM ไม่ว่าจะเป็นการส่งไม้ต่อระหว่างกัน หรือสบโอกาสที่แกนนำกลุ่มราษฎรกำลังจะหมดไป จึงได้เริ่มกิจกรรมเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ครั้งนี้ความรุนแรงของการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 13 กุมภาพันธ์ที่จัดโดยราษฎร และกลุ่ม REDEM จัดชุมนุมอีกครั้ง 6 มีนาคม 2564 ในวันดังกล่าวตำรวจจับกุมทีม WEVO พร้อมอุปกรณ์ที่อาจใช้ก่อความรุนแรง และมีการแย่งชิงผู้ต้องหาจากรถตำรวจ
“แอมมี่” ลามเงินบริจาค
ช่วงที่ก่อนกลุ่ม REDEM จะชุมนุมในเย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แอมมี่ The Bottom Blues หรือนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ได้กระทำการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ หน้าเรือนจำคลองเปรม คืนวันที่ 27 เข้าต่อวันที่ 28 แต่หลายคนไม่ทราบ แอมมี่จึงโพสต์ภาพดังกล่าวจนกลายเป็นเหตุที่ถูกจับกุมตัวซึ่งเจ้าตัวรับสารภาพ
แต่การจับกุมแอมมี่ กลับกลายเป็นเรื่องที่มีการกล่าวหากันไปมาของหัวขบวนม็อบ ว่ามีการชี้เบาะแสให้ตำรวจจับกุมตัวแอมมี่ โยงไปจนถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ในม็อบ ลามไปถึงกล่าวหาว่าอมเงินบริจาค หลังจากที่พยายามกล่าวถึงแม่ของแอมมี่ ต้องเตรียมเงินเพื่อประกันตัว บางฝ่ายจึงมองว่าทำไมไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทีมส่วนกลาง
เป้าหมายทั้งหมดจึงพุ่งไปที่ทีมสนับสนุนหลักอย่างทราย เจริญปุระ และปกรณ์ พรชีวางกูร หรือเฮียบุ๊ง “เรื่องที่มีคนไปปล่อยข่าวว่ากองทุนไม่มีเงินประกันตัวแอมมี่ จนแม่แอมมี่ต้องไปวิ่งหาเงินประกันเอง คนปล่อยข่าวอันนี้คือโคตรสารเลวเลยนะ แม่แอมมี่รวย เขาไม่อยากรบกวนเงินกองทุนประกันตัว เพราะมีคนโดนข้อหาเยอะ เขาเลยจะใช้เงินตัวเองประกัน แล้วกูกับแม่แอมมี่ก็รู้จักกัน ตั้งแต่เกิดเรื่องเราโทร.คุย โทร.ประสานกันตลอด” เฮียบุ๊งกล่าว
แต่เรื่องนี้กลับไม่จบมีตัวละครเพิ่มเข้ามาหลายคน ทั้งแป้ง (Headache stencil) ต้อม ยุทธเลิศ ผู้กำกับภาพยนตร์ กับฝ่ายที่ออกมาตั้งข้อสงสัยในการกล่าวหาครั้งนี้ อย่าง “เซียนแว่น” สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ แกนนำม็อบกลุ่มราษฎร เชียงราย และแนวหนุนอีกหลายคนว่าคลิปที่แอมมี่กระทำผิดนั้นส่งให้ใครแล้วถึงมือตำรวจได้อย่างไร
มีการกล่าวไปถึงบุคคลหนึ่งที่เคยมีประวัติฉ้อโกงเงินที่เข้ามาใกล้ชิดกับแกนนำที่คุมเงินว่ามีส่วนรู้เห็นกับการจับกุมแอมมี่ คือ นายนนท์ ปราบจะบก ที่เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกฤติเดช กรองทอง เรื่องดังกล่าวทั้งบุ๊ง และทรายมีการชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กเรื่องที่นนท์ ไม่เกี่ยวข้องกับเงินบริจาคและได้พ้นจากการทำหน้าที่ไปแล้ว
กูไม่ชี้แจง
ปัญหาเรื่องเงินบริจาคของม็อบ 3 นิ้วนั้นเคยมีเสียงเรียกร้องให้ชี้แจงงบมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ตั้งแต่การเคลื่อนไหวที่รู้จักในนามเยาวชนปลดแอก เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ หรือการ์ดอาจต้องการอุปกรณ์ป้องกัน บางทีมต้องเดินทางไปกลับด้วยรถ 2 แถว แต่กลับมีการนำเอาตุ๊กตาเป็ดและอื่นๆ มาใช้ในการชุมนุม จนเกิดกระแส #FreeYouthชี้แจงงบ
ด้าน FreeYouth ได้ออกมาชี้แจงเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563 FreeYouth ไม่เคยเปิดรับบริจาคอย่างเป็นทางการ เราเพียงขายสินค้าเพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินงานระยะยาว โพสต์ที่เคยลงรับบริจาคเป็นของคณะราษฎร ซึ่งเราไม่ได้ดูแลเรื่องนี้เพียงช่วย PR ดอกไม้ ลูกโป่ง ชุดมาสคอตไม่ได้มาจากเรา แต่มาจากที่อื่นๆ
จากนั้น 26 พฤศจิกายน 2563 นายปกรณ์ พรชีวางกูร ได้โพสต์ข้อความชี้แจงรายละเอียด จากกรณีมีดรามา เรื่องการนำเงินบริจาคม็อบไปทำอะไรบ้าง จนกระทั่งเกิดแฮชแท็ก #แจงรายจ่ายม็อบด้วยจ้า หลังมีการ์ดราษฎรได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง “เรื่องเงิน...กูกับทรายขอตอบเลยว่า...ไม่แจง และจะไม่แจงแม้แต่บาทเดียว กูจะเอาไปทำไรก็เรื่องของพวกตน ใครมีปัญหาเรื่องนี้นั่นคือเรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู พวกกูทุกคนทำงานรู้กันก็พอแล้ว”
รอบไหนก็ไม่ชี้แจง
ก่อนหน้านี้ เคยเกิดกรณีการรับบริจาคของบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่ฝ่ายม็อบมองว่ายืนกันคนละฝั่ง เรียกร้องให้มีการชี้แจง ซึ่งก็ได้ชี้แจงออกไป แต่เมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมเกิดความสงสัยในม็อบของตัวเองจึงเรียกร้องบ้าง ต้นทางอย่างบุ๊งและทรายได้แจ้งชัดเจนว่าไม่ชี้แจง ทำให้บางฝ่ายมองว่าฝ่ายม็อบเรียกร้องคนอื่นได้แต่กับฝ่ายตัวเองกลับไม่ชี้แจง
กรณีของแอมมี่ เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายร่วมม็อบด้วยกันถึงความโปร่งใสของการใช้เงินบริจาค เช่น หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ และกาณฑ์ ศศิพัฒน์ พงษ์ประภาพันธ์ แนวร่วมที่เคยอยู่กับการชุมนุมมาก่อน แต่ผู้ที่ดูแลด้านเงินบริจาคไม่ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว
11 มีนาคม 2564 ดาราดังอย่าง ทราย เจริญปุระ ที่ดูแลด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในม็อบ ได้โพสต์ข้อความ “ถือว่ามาชวนคุยนะคะ คำถามเรื่องแจงบัญชีอะไรนี่มันก็มีมาเรื่อยๆ อยู่แล้วเนอะ และเราก็บอกทุกทีว่าเหตุผลที่เปิดไม่ได้มันคืออะไร คนช่วยหลายคนไม่อยากเปิดตัว และเจ้าหน้าที่ก็เลือกจะกดดัน หว่านหมายไปทุกที่ที่เห็นว่าเกี่ยวข้องแม้จะน้อยนิด
เรื่องแบบนี้ก็ดำเนินมาเรื่อยๆ เราเองก็ทำงานของเราเรื่อยๆ โดยคนรู้กระบวนการก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะเราไม่บอกใคร หน้างานไม่เป็นไร ไม่ต้องรู้ คุณสู้ข้างหน้าก็เหนื่อยแล้ว หลังบ้านก็ดูแลกันไปเงียบๆ เพราะเราก็ต้องรับผิดชอบชีวิตพวกเขา”
เจ้าของบัญชีเตรียมตัว
แหล่งข่าวที่คลุกคลีกับการทำม็อบ กล่าวว่า เงินบริจาคเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองคงไม่มีใครกล้าที่จะเปิดเผยออกมาว่าใช้ทำอะไรบ้าง เพราะจะทำให้ถูกตรวจสอบง่ายจากฝ่ายรัฐและโอกาสที่จะถูกสกัดก็มีสูง เรื่องแบบนี้ต้องไว้ใจกัน ส่วนฝ่ายบริหารเงินจะใช้จ่ายไปในทางที่ทุจริตหรือไม่ คนข้างในน่าจะทราบกันดีและตรวจสอบกันเอง
ม็อบทุกม็อบต้องขับเคลื่อนด้วยเงิน หากเงินบริจาคไม่ไหลเข้ามาการเคลื่อนต่อก็ทำได้ยาก ยิ่งตอนนี้แกนนำหลักทีมราษฎรอยู่ในเรือนจำทั้งหมด เงินที่ไหลเข้าอาจสะดุดบ้างหากยังไม่เห็นเป้าหมายในอนาคต หากเงินบริจาคยังเหลือพอก็สามารถใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อไปได้
เรื่องเงินบริจาคนั้นอาจมีทั้งการโอนเงินเข้ามาในบัญชี แต่ทุนใหญ่มักถือเงินสดมาให้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะมีข้อตกลงระหว่างธนาคารพาณิชย์กับกรมสรรพากรที่ต้องแจ้งยอดเงินเข้าออกกันไว้ เช่น จำนวนครั้งที่โอนตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปีขึ้นไป หรือ 400 ครั้ง/ปี และมียอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
สิ่งที่จะตามมาในอนาคตของทีมสนับสนุนอย่างเฮียบุ๊งและทราย เนื่องจากบัญชีรับบริจาคในม็อบทั้งหมดกระทำในนามบุคคล นั่นหมายถึงกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบที่มาของเงินได้ (กรณีโอน) และเงินบริจาคครั้งนี้ไม่ใช่บัญชีเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่เป็นการใช้เคลื่อนไหวทางการเมือง
ตัวอย่างชัด สมหวัง นปช.
ก่อนหน้านี้ มีคดีตัวอย่างให้เห็นแล้วคือ นายสมหวัง อัสราษี หนึ่งในแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีตผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีการกระทรวงพาณิชย์ (นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "สมหวัง อัสราษี-เฮียหวัง" เมื่อ 3 ตุลาคม 2562 ระบุว่า
ใครไม่โดนกับตัวเองจะไม่รู้ว่าหนักแค่ไหนแบบเดียวกับผม ผมอยู่ นปช. มีแต่ใจเกินร้อยกับพี่น้อง แต่หารู้ไม่ว่า ตัวเองกำลังมีชะตากรรมที่ต้องแบกรับแทนคนอื่น สามเกลอ (นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) ใช้ผมไปเปิดบัญชีเพื่อรับเงินบริจาค และกิจกรรมอื่นๆ
โดยที่พวกเขาไม่ยอมใช้ชื่อตัวเองไปเปิดบัญชีรองรับเงิน เพราะเขารู้ว่าจะถูกสรรพากร ประเมินเสียภาษี ทั้งหมดนี้ผมโดนสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากเงินเหล่านี้เป็นเงิน 572 ล้าน ผมจะเอาที่ไหนไปจ่าย ก็เลยโดนฟ้องล้มละลาย และตอนนี้โดนอายัดทรัพย์ และอายัดบัญชีทั้งหมดเหลือแต่ตัวแล้วครับ แถมเป็นบุคคลล้มละลายด้วย ไม่สามารถทำอะไรได้เลย
...นี่คือ สมหวัง อัสราษี ผมมันโง่เอง รักพวกจนไม่คิดถึงชีวิต และอนาคตตัวเอง บทเรียนที่แสนแพงในชีวิต ฉิบหายทั้งตระกูล เพียงเพราะคำว่าเพื่อน
สรรพากรเล็งภาษี
แหล่งข่าวจากแวดวงสรรพากรกล่าวว่า การใช้บัญชีส่วนตัวเปิดรับบริจาคนั้นต้องดูเจตนาว่านำไปใช้เพื่อประโยชน์ใด หากเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ต้องแจงที่มาที่ไปได้ ดีที่สุดคือการเปิดบัญชีใหม่เพื่อความโปร่งใส เมื่อเงินเข้ามาแล้วจ่ายออกไปตามวัตถุประสงค์ มีหลักฐานชัดเจนอย่างนี้จะไม่มีปัญหา เมื่อครบตามเป้าหมายแล้วก็ปิดบัญชี
แต่ถ้าเป็นการเปิดบัญชีรับบริจาคในนามส่วนตัว แล้วไม่สามารถชี้แจงการใช้จ่ายเงินว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใด ตรงนี้อาจเข้าข่ายว่าเป็นรายได้ ซึ่งจะมีเรื่องของภาษีที่ต้องชำระเข้ามาเกี่ยวข้อง หากปล่อยให้เวลายืดออกไปจะมีเรื่องของดอกเบี้ยปรับ บวกกับระยะเวลาที่ไม่ยื่นภาษีบวกรวมเข้ามาด้วย
คนที่เปิดบัญชีส่วนตัวรับเงินบริจาคเพื่อกิจกรรมทางการเมืองนั้น ท่านต้องทราบว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบได้ เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรเรียกมาชี้แจงต้องอธิบายที่มาที่ไปการใช้เงินได้ เพราะการเปิดบัญชีส่วนตัวจะแตกต่างกับบัญชีมูลนิธิที่ทำเพื่อสาธารณประโยชน์ ตัวอย่างในอดีตก็มีให้เห็นแล้ว
ในม็อบครั้งนี้จะเป็นลักษณะเปิดบัญชีรับบริจาคในนามบุคคล เกือบทุกภาคส่วน การ์ดก็เปิด ทีมอื่นๆ ก็เปิด ทีมใดที่สร้างผลงานดีย่อมมีเงินบริจาคจากผู้ที่เห็นด้วยเข้าไปมาก แม้แต่แกนนำถูกคุมขังในเรือนจำก็เปิดรับบริจาคเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสู้คดี หรือเป็นค่าอาหารภายในเรือนจำ ตรงนี้เจ้าของบัญชีต้องทราบถึงผลที่จะตามมา