xs
xsm
sm
md
lg

3 นิ้วเลิก “ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ” ไม่แคร์มวลชนลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ม็อบ 3 นิ้วเปลี่ยนแนวทางชุมนุมโดยสงบ หันมาเพิ่มความรุนแรงล่อเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้ พบข้อความไมค์ ระยอง โพสต์เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ “หรือสันติวิธีใช้กับเผด็จการไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” จากนั้นม็อบเคลื่อนขบวนมีปะทะตำรวจ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนทำม็อบฟันธงรอบนี้นายทุนสั่งปะทะมั่นใจฝ่ายรัฐไม่หลงกล

กิจกรรมคัดค้านการทำรัฐประหารร่วมประท้วงกับชาวพม่าที่หน้าสถานทูต เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จัดโดยทีม WEVO มีแกนนำอย่างเพนกวิน รุ้ง และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คณะก้าวหน้า เข้าร่วม ครั้งนั้นมีการปะทะกันระหว่างการ์ดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) นับเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่าฝ่ายผู้ชุมนุมเปิดฉากขว้างปาสิ่งของต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน โดยชุดควบคุมฝูงชนมีเพียงโล่กำบังเท่านั้น

จากนั้นเป็นต้นมาการชุมนุมในหลายครั้งมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และชัดเจนว่าผู้เริ่มใช้ความรุนแรงก่อนเป็นฝ่ายของผู้ชุมนุม

หลังจากแกนนำ 4 คนถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มาบุญครอง แล้วเดินไปกดดันตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปก่อนหน้าที่งานจะเริ่ม บางส่วนล้อมชุด คฝ. ปะทะเล็กน้อย แต่ไปพ่นสีทำลายทรัพย์สินทางราชการ ครั้งนั้นทำให้ภาพลักษณ์ของม็อบแย่ลง

13 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมอีกครั้ง แกนนำนัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่พาผู้ชุมนุมเดินไปทำกิจกรรมที่ศาลหลักเมือง ซึ่งมีตำรวจวางแนวสกัดอยู่ สุดท้ายก็เกิดการปะทะที่รุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ แม้แกนนำจะประกาศยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ยอมกลับ ครั้งนั้นแกนนำถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนีกลับก่อน ทิ้งมวลชน

ถัดมามีการจัดกิจกรรมย่อยโดยกลุ่มต่างๆ ในเครือข่าย แต่ไม่มีการเคลื่อนขบวน ภายใต้จำนวนผู้ชุมนุมที่ลดลงเรื่อยๆ

“มีข้อน่าสังเกตว่า ตั้งแต่เข้าสู่ปี 2564 เมื่อไหร่ก็ตามที่ม็อบทำกิจกรรมเคลื่อนขบวนเดินไปตามจุดต่างๆ จะมีการปะทะกับตำรวจแทบทุกครั้ง และหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นการชุมนุมที่อยู่กับที่มักจะไม่มีปัญหา แตกต่างจากปี 2563 ที่แม้ม็อบจะเคลื่อนขบวนแต่แทบจะไม่มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”


เยาวชนปลดแอกฟื้น

เมื่อแกนนำราษฎรถูกดำเนินคดีไม่ได้รับการประกันตัว อย่างเพนกวิน และทนายอานนท์ ม็อบเริ่มดูอ่อนแรงลง แกนนำที่เหลืออย่างรุ้งและไมค์ อัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งเป็นวันที่ 8 มีนาคม 2564 โอกาสสั่งฟ้องมีสูง โอกาสได้รับการประกันตัวมีน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อได้รับการประกันตัวแล้วก็กลับมาจัดกิจกรรมที่ขัดต่อกฎหมายอีก

ภายใต้สถานการณ์ที่ส่อแววว่าแกนนำการชุมนุมอาจหมดไปจากการถูกดำเนินคดี กลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เคยเงียบหายไปหลังจากที่ถูกสายของธรรมศาสตร์ตัดออกจากขบวน เริ่มปลุกมวลชนจัดกิจกรรมเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ในนามกลุ่ม Redem ด้วยการเดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน้ากรมทหาราบที่ 1

เป็นไปตามคาดเมื่อมีการเคลื่อนขบวนจึงมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรงกว่าทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้กระสุนยางสกัดกั้นผู้ชุมนุมที่เข้ามาสร้างความรุนแรง

ใครรุนแรงก่อน-ทั่วประเทศรู้


เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายผู้ชุมนุมจะนำเอาเหตุการณ์ดังกล่าวไปขยายผลว่าตำรวจใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม นั่นถือว่าเป็นการชิงความได้เปรียบ แต่ไม่มีการกล่าวถึงต้นเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติการอย่างนั้น คนที่ติดตามเหตุการณ์ในวันนั้นก็เห็นทั้งจากสื่อทีวี สื่อออนไลน์ที่ Live สด ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่าฝ่ายใดเริ่มใช้ความรุนแรงก่อน

หากมองด้วยความเป็นกลาง ตัดคำว่าพวกเดียวกันออก มองที่ความจริง พิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน ก็จะพบว่าเหตุการณ์วันนั้นเป็นอย่างไร

“เราเตือนฝ่ายผู้ชุมนุมหลายครั้งเรื่องการใช้ความรุนแรงก่อนว่าไม่ใช่ผลดี แต่ก็จะถูกดูถูก เหยียดยามจากฝ่ายสุดโต่งที่อยู่กับม็อบเรื่อยมา จนตอนนี้ต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามการกระทำที่เกิดขึ้น” อดีตผู้ร่วมการเคลื่อนไหวกล่าว

การนำเอาเหตุการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมมาสร้างความชอบธรรมนั้น ที่จริงคนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับสื่อออนไลน์ ประเมินไม่ได้หรือว่าทุกวันนี้มีทั้งกล้องวงจรปิด Live สดทั้งจากตัวบุคคลและสื่ออีกหลายๆ สำนัก ดังนั้น การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงนั้น ความน่าเชื่อถือจึงน้อยลงทุกขณะ

อีกทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม แนวหน้าหลายคนได้รับบาดเจ็บจากฝ่ายเดียวกันที่ขว้างปา ไม่ต้องกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บหลายนาย เมื่อการชุมนุมเพิ่มความรุนแรงขึ้น ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องปกป้องตัวเองด้วยมาตรการต่างๆ ที่หนักขึ้นตามสถานการณ์

ลองไปสำรวจความเห็นของหลายคนที่ยืนในฝ่ายม็อบ จะเห็นได้ว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ น้อยลงเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะทุกคนก็เห็นเหมือนกันว่าใครเริ่มก่อน


ความชอบธรรมเหลือน้อย

ที่ผ่านมา ม็อบเองก็แผ่วลงมาตั้งแต่ปลายปี 2563 การเคลื่อนไหวตลอดตั้งแต่เข้าปี 2564 แม้ในช่วงที่แกนนำคนสำคัญอยู่ครบ มวลชนก็น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องข้อเรียกร้องต่างๆ มีเพียงการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งต้องใช้เวลานาน สาระของการชุมนุมมีน้อย ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงหลังนั้นเป็นการหยิบเอาสถานการณ์ต่างๆ มาเป็นหัวข้อชุมนุม หลายเรื่องจบไปแล้ว เช่น เรื่องบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา แกนนำไม่มีข้อมูลใหม่หรือสาระสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปเห็นด้วยกับม็อบ

แน่นอนว่าสังคมไทยส่วนใหญ่แล้วไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ และทางแกนนำเองไม่มีแนวทางที่เป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่เป็นเพียงกล่าวโจมตีหรือพยายามกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานหรือรูปธรรมที่ชัดเจน

จากนี้ไปการชุมนุมคงไปต่อยาก ทั้งเรื่องการใช้ความรุนแรงที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเปิดฉากก่อน ยิ่งมาเจอเรื่องของแอมมี่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงจุดอ่อนและความไม่เหมาะสมของม็อบ

“ไมค์” โพสต์ปริศนา


“เรามาชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ” ที่เคยชูเป็นธงหลักสร้างความชอบธรรมของการชุมนุม แม้วันนี้อาจมีการอ้างถึงบ้าง แต่การกระทำของผู้ชุมนุมกลับสวนทางกับถ้อยคำดังกล่าว

เมื่อตรวจสอบกลับไปที่ทวิตเตอร์ของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พบข้อความ “หรือสันติวิธีใช้กับเผด็จการไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” ซึ่งในวันดังกล่าวมีกิจกรรมรวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่หน้าห้างมาบุญครอง และเคลื่อนขบวนไปกดดันตำรวจที่ สน.ปทุมวัน มีการทำลายทรัพย์สินทางราชการ มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นม็อบที่มีการเคลื่อนขบวนทั้งหมดจะมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกครั้ง


สงบใช้ไม่ได้ผล

ผู้มีประสบการณ์ทำม็อบ กล่าวถึงสถานการณ์ของการชุมนุมในขณะนี้ว่า ทุกการเคลื่อนไหวทุกครั้งจะต้องมีการวางแนวทางไว้ล่วงหน้า แกนนำม็อบมีหน้าที่เดินตามแผนที่กำหนดไว้ การเปลี่ยนแนวทางการเคลื่อนไหว บุคคลในระดับแกนนำย่อมรับทราบภารกิจ เพราะต้องมีการหารือและยอมรับข้อตกลงกันก่อน

การเปลี่ยนแนวทางการจากชุมนุมโดยสงบมาเป็นการใช้ความรุนแรง แกนนำม็อบต้องทราบล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะเป็นแนวทางที่ระดับหัวขบวนต้องรับรู้ จะเห็นได้ว่าผู้ชุมนุมเปิดฉากขว้างปาเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มมีมาตั้งแต่ 16 มกราคม 2564 เป็นต้นมา แต่เป็นกิจกรรมของการ์ดอาสา ตามมาด้วย 1 กุมภาพันธ์ ที่สถานทูตพม่า ที่ WEVO เป็นเจ้าภาพ

หากนับเฉพาะที่แกนนำราษฎรจัดชุมนุมคือ 10 กุมภาพันธ์ ครั้งนั้นมีการล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ่นสีสเปรย์รถตำรวจ ทำลายทรัพย์สินทางราชการที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ถัดมา 13 กุมภาพันธ์ ที่สนามหลวง ถือเป็นการปะทะกันโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความรุนแรงมากขึ้น

มวลชนน้อยเรื่องรอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้งแกนนำไม่ได้ออกมาตำหนิการกระทำของผู้ชุมนุม แต่เพจที่สนับสนุนการชุมนุมกลับเลือกเฉพาะเอาเฉพาะส่วนที่ตำรวจตอบโต้ผู้ชุมนุมว่าใช้ความรุนแรง ตัดตอนไม่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ฝ่ายผู้ชุมนุมใช้ก้อนหิน ประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง ขว้างใส่เจ้าหน้าที่

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่แกนนำและทีมผู้ชุมนุมออกมาโจมตีนายสมบัติ ทองย้อย ที่ออกมาวิจารณ์ว่าม็อบใช้ความรุนแรงก่อน เพราะนายสมบัติ อาจไม่ทราบเป้าหมายที่แท้จริงของแกนนำ แต่แกนนำทราบแน่นอนเพียงแต่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เรื่องแบบนี้ต้องมีใบสั่งทั้งนั้น ว่าต้องเดินแบบไหน

มาถึงจุดนี้ดูเหมือนคนชี้ทิศทางม็อบ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องจำนวนผู้ชุมนุมอีกต่อไป เพราะยิ่งยืดเยื้อมวลชนยิ่งลดลง การปรับแนวทางหันมาใช้ความรุนแรงเป้าหมายเพื่อล่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับม็อบ ด้วยหวังว่าจะนำมาขยายผล แต่เรื่องแบบนี้ฝ่ายรัฐและตำรวจเขาก็ประเมินออกว่าม็อบจะมาแนวนี้ การสกัดกั้นจึงเป็นไปตามขั้นตอนเริ่มจากเบาไปหาหนัก

จะเห็นได้ว่าม็อบ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ของเยาวชนปลดแอกในนามกลุ่ม Redem ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอน แม้ครั้งนี้จะใช้กระสุนยางแต่ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนัก ทั้งนี้เพราะคนทั่วไปต่างก็เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นและก่อนหน้านั้นตำรวจเป็นฝ่ายถูกกระทำและบาดเจ็บหลายนาย


“แอมมี่” ฉุดคนลดลง

กรณีของนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ the bottom blues ที่ได้กระทำการเผาภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม จนถูกจับกุมและยอมรับเป็นผู้กระทำเอง ฝ่ายที่สนับสนุนการชุมนุมส่วนหนึ่งออกมาปกป้อง ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

ไม่คิดว่าการกระทำของแอมมี่จะทำให้ผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้น เพราะในฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว อาจส่งผลให้มวลชนน้อยลงไปอีกด้วยซ้ำ และไม่น่าเป็นปัญหาสำหรับการเคลื่อนไหวของม็อบเพราะทีมยุทธศาสตร์ต้องมีแผนกำหนดไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

เช่นเดียวกัน หากแกนนำที่เหลือถูกดำเนินคดีในวันที่ 8 มีนาคม 2564 ก็จะมีส่วนที่เหลือจัดชุมนุมต่อตามเป้าหมายของผู้อยู่เบื้องหลัง มวลชนน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะวันนี้ทุกอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายคือการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายรัฐ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564




กำลังโหลดความคิดเห็น