xs
xsm
sm
md
lg

มวลชน กปปส. มีสิทธิร่วมขับไล่บิ๊กตู่ หากม็อบ 3 นิ้วไม่แตะสถาบัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการสะท้อนการเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร รองอธิการ ม.ทักษิณ ชี้ความขัดแย้งและความรุนแรงจะเข้มข้นขึ้น อาจนำไปสู่เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ’ แนะทางออกรัฐอย่าปิดกั้นเปิดพื้นที่ให้ชุมนุม เลิกหาคนอยู่เบื้องหลัง อย่ามองผู้ชุมนุมเป็น ศัตรู’ เชื่อข้อเรียกร้องไม่สุกงอม ม็อบจะฝ่อไปเอง’ ด้าน สุริยะใส’ ฟันธง รัฐบาลบิ๊กตู่ไม่ได้มีเสถียรภาพแข็งแกร่ง แจงอย่าประเมินกำลังม็อบ นิ้วพลาด มั่นใจการเคลื่อนไหวในโซเชียลยังมีพลัง จับตาหากม็อบราษฎรไม่แตะสถาบันฯ มวลชน กปปส.พร้อมเข้าร่วมขับไล่รัฐบาลบิ๊กตู่

สังคมกำลังเฝ้าติดตามว่าสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองของบรรดากลุ่มราษฎร หรือม็อบชู 3 นิ้ว และกลุ่มต่างๆ มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นหรือไม่? โดยเฉพาะการชุมนุมล่าสุดของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เรียกตัวเองว่า ‘Restart Democracy’ หรือรีเด็ม (REDEM) ที่มีการนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ จนนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกสู่สายตาประชาชน จึงมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมและตำรวจที่ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่?

ที่สำคัญการปะทะที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามว่าวันนี้สังคมไทยกำลังก้าวสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ และจะมีทางออกกับสถานการณ์นี้อย่างไร หรือสังคมไทยต้องเดินสู่ความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ

ขณะเดียวกัน การดำเนินคดีต่อแกนนำ กปปส.จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่?


รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ บอกว่า สังคมไทยน่าจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความรุนแรงที่เข้มข้นขึ้นในอนาคต และอาจนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้ หรือยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน มาจากปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง

1.ความขัดแย้งทางความคิดอย่างน้อยจากคน 2 รุ่น คือ คนรุ่นใหม่ ที่มีทั้งนิสิต นักศึกษา และทั่วไป กับกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่ในโครงสร้างและกลไกต่างๆ ของรัฐ ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้มันแหลมคมขึ้นเพราะมีความคิดเชิงคุณภาพ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ใช้แค่อารมณ์ความรู้สึก แต่เขาทำงานทางความคิด ผ่านการศึกษา เรียนรู้ในช่องทางต่างๆ ทำให้มีหูตากว้างไกลขึ้น

‘ความขัดแย้งครั้งนี้มันแหลมคมขึ้น มีโอกาสที่จะเผชิญหน้ากันมากขึ้นในอนาคต’

ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ก็มีสไตล์ในการแสดงออกแบบคนหนุ่มสาว เมื่อไม่มีพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์จากกลไกอำนาจรัฐ จึงเท่ากับเป็นการกดทับ แต่ถ้ามีพื้นที่แสดงออก เขาจะแสดงออกเชิงคุณภาพ เสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์ได้

“แต่วันนี้ทุกประตู ทุกโอกาสปิดกั้นไปหมด เป็นการผลักดันให้เขาไม่มีทางเลือก ก็ยิ่งแสวงหาการแสดงออก และยิ่งมาเจอกระบวนการสกัดกั้นเลือกปฏิบัติ เพราะเด็กๆ ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับการประกัน แต่แกนนำ กปปส.8 คน มีรัฐมนตรี ส.ส.รวมอยู่ได้รับการประกัน ก็ยิ่งไปเติมความรู้สึกไม่ยุติธรรมให้เขาเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายจึงออกมาสไตล์ที่เกิดขึ้น”

2.ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง กลไก หรือกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีการผลักดันเรียกร้องให้มีการแก้ไข แต่ก็ยังเป็นทางตัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ควรให้สังคมได้มีส่วนร่วม ที่จะเสนอกฎหมายที่เหมาะกับสังคมไทยได้ด้วย

“โครงสร้าง กลไก กติกาที่ถูกร่างขึ้นมาเมื่อหลายปี จึงเป็นแรงกดอันที่ 2 เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับคนหนุ่มสาวอีกแล้ว แต่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าของกลุ่มอื่นในสังคมด้วย ชาวไร่ ชาวนา คนยากจน ประชาชนกลุ่มต่างๆ ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยอีกแล้ว”

3.ความขัดแย้งจากปัญหาเดิมของสังคมไทยที่ไม่ได้รับการแก้ไข แต่ถูกหมักหมมไว้ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ความยากจนในชนบทหรือในพื้นที่ต่างๆ หรือในเรื่องเขตที่ดิน ก็มีกลุ่มประชาสังคม มีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

“เมื่อปัญหาเดิมไม่มีการแก้ไข โครงสร้างไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาใหม่ทางความคิดกลับแหลมคมขึ้นมา ทั้ง 3 เรื่องจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าที่เข้มข้นขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะไม่ใช่แค่นิสิต นักศึกษา หรือคนหนุ่มสาว แต่จะมีพวกชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร กลุ่มคนชายขอบต่างๆ เครือข่ายที่ดิน จะดาหน้ากันเข้ามาเรียกร้องในสิ่งที่เขาเผชิญ”

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ
รศ.ดร.ณฐพงศ์ บอกว่า จุดอ่อนของม็อบ 3 นิ้ว คือเรื่องเอกภาพทางความคิดของการเคลื่อนไหว ซึ่งน่าจะเกิดจากการรวมกลุ่มแบบหลวมๆ และการเชื่อมกันที่ไม่สนิทนัก จึงทำให้มีข้อเรียกร้องหลายระดับ ซึ่งข้อเรียกร้องที่หลากหลาย หากไม่สามารถจัดระบบความคิดที่ดี จะทำให้กระจัดกระจาย บางทีก็แหลมคมจนเกิดปัญหาได้

ในการเคลื่อนไหวที่ไม่มีแกนนำ จึงเกิดความสุ่มเสี่ยงในการบริหารจัดการ ควบคุมมวลชน ให้อยู่ในความเรียบร้อยได้อย่างไร นี่คือปัญหาใหญ่ในการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในยุคนี้

“จุดอ่อนนี้จะทำให้เกิดการปะทะได้ง่าย เพราะมีหลายกลุ่ม ซึ่งควรมาสร้างเอกภาพทางความคิดให้ชัดเจน”

อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้การเคลื่อนไหวนำไปสู่ความรุนแรง รัฐจึงไม่ควรปิดกั้น แต่ต้องอำนวยความสะดวกของการแสดงความคิดเห็นของผู้คน หากใครเคลื่อนไหวเกินขอบเขต เกินกฎหมาย รัฐก็ไปดำเนินการตามกฎหมายได้ แต่ไม่ใช่รัฐเปิดประตูต้อนรับอีกกลุ่มที่มาชุมนุมเพื่อสนับสนุนรัฐ แต่อีกกลุ่มเราไม่ต้อนรับเพราะไม่หนุนเรา แบบนี้ทำให้เกิดการเผชิญหน้าได้

แต่สิ่งที่สังคมจะต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ จะต้องสร้างภาวะของความอดทนอดกลั้นของความเห็นต่างให้ได้ ส่วนจะสร้างได้อย่างไรก็จะต้องมาช่วยกันออกแบบให้ได้ ปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการทำให้ไม่สามารถอดทนอดกลั้นได้ จึงพร้อมจะจัดการทันทีกับคนที่มีความเห็นต่างแบบที่ไม่มีใครฟังใคร

“สังคมไทยต้องมาสร้างบทสนทนาทางสังคม เราต้องให้ทุกกลุ่มมีส่วนสร้างตัวบทสนทนา แล้วค่อยคิดว่าจะสร้างพื้นที่สนทนากลุ่มต่างๆ ได้อย่างไร ไม่ใช่แค่หนุ่มสาว แต่มีคนอีกมาก ต้องทำให้ทุกกลุ่มมีส่วนร่วม พื้นที่ภาคใต้เราก็มีการสร้างบทสนทนาร่วมกันให้ทางใต้เกิดความสุข และยั่งยืน เป็นต้น”

ดังนั้น หากรัฐปล่อยทุกอย่างให้เป็นเช่นนี้ ไม่มีการสนทนา และพยายามไปปิดกั้น จึงมีความสุ่มเสี่ยงพอสมควรที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ซึ่งไม่มีใครอยากเห็นการเผชิญหน้าและการสูญเสียในสังคมไทยอีกแล้ว

“ผมอยู่ในช่วงพฤษภาทมิฬ เห็นการสูญเสีย ยุคนั้นเป็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง ม็อบมือถือ แต่เทียบยุคนี้กลุ่มเป้าหมายอาจจะต่างกัน แต่ลักษณะการเผชิญหน้าคล้ายๆ กัน คืออำนาจรัฐกับกลุ่มประชาชน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนหนุ่มสาว แต่มีคนกลุ่มอื่นในสังคมด้วย”

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)




รศ.ดร.ณฐพงศ์ ย้ำว่าเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ผู้ที่รักษาระดับการเคลื่อนไหวไว้ได้ตลอดทั้งปี คือกระบวนการนิสิต นักศึกษา จึงเชื่อว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีความคล้ายพฤษภาทมิฬที่มีการเลี้ยงระยะไปเรื่อยๆ เกิดกระแสเคลื่อนไหวมาตลอด แต่ถ้ารัฐปิดกั้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะแตก ส่วนการจับแกนนำไปเรื่อยๆ นั้น หากเขาทำผิดกฎหมายก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่จะต้องไม่เหวี่ยงแห และต้องผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม

อีกทั้งรัฐมีทางป้องกันไม่ให้นำไปสู่พฤษภาทมิฬได้ ด้วยการเริ่มต้นให้กลุ่มต่างๆ พูดและส่งเสียงได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะส่งเสียงด้านการเมืองเท่านั้น สามารถส่งเสียงเรื่องอื่นๆ เรื่องปากท้อง ภาวะความยากลำบาก ความหิวโหย และเรื่องอื่นๆ เรื่องรัฐธรรมนูญ ก็จะตามมาได้

“ยิ่งปิดกั้น ยิ่งเร่งสู่ความรุนแรงเร็วขึ้น ปล่อยให้เขาชุมนุมไปเถอะ เดี๋ยวก็ฝ่อ เพราะข้อเรียกร้องมันหลายข้อ แต่จริงๆ ข้อเรียกร้องที่จะประสบความสำเร็จ จะเป็นข้อเรียกร้องที่สุกงอมทางความคิดและสังคมขานรับ แต่ข้อเรียกร้องของม็อบมีหลายข้อ เป็นข้อเรียกร้องที่สังคมไทยยังไม่สุกงอมพอ มาตรา 112 ก็ไม่ขานรับ โอกาสจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องยาก”

รศ.ดร.ณฐพงศ์ ยืนยันว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวใดที่มวลชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยแล้วประสบความสำเร็จ เรื่องนี้สามารถดูได้จากการเคลื่อนไหวทั่วโลก แต่หากปิดกั้น จะมีคะแนนสงสาร กลายเป็นตัวเร่ง ดึงมวลชนไปร่วมชุมนุม ดังนั้น จึงอยู่ที่การจัดการของรัฐบาล และตำรวจที่ควบคุมฝูงชน จะต้องมีความอดทนอดกลั้นให้มาก

“การนำแบริเออร์มาใช้ มันเหมือนอยู่กลางกรุงเบอร์ลิน ซึ่งไม่ควรกระทำ แต่กลับเป็นสิ่งที่เร้าอารมณ์ของผู้ชุมนุม เจ็บปวด เคียดแค้นมากขึ้นไปอีก เมื่อเด็กไม่ใช่มีอาวุธ ตำรวจก็มีขอบเขตของการจัดการ ถ้ามีความรุนแรงแบบนี้ จะใช้อะไรจัดการ ฉีดน้ำ กระสุนยาง แต่ถ้าอะไรที่มากเกินไป จะมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมสังคม มองผู้มาชุมนุมเป็นศัตรูอันฉกรรจ์”

นอกจากนี้ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจด้วยว่า ในทุกๆ การเคลื่อนไหวมีผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะยุค 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภาทมิฬ รวมถึงยุค กปปส.ก็มีคนหนุนหลัง ทุกๆ การเคลื่อนไหวมีการสนับสนุนของผู้คนและกลุ่มต่างๆ อยู่แล้ว อันนี้ปฏิเสธไม่ได้

“พฤษภาทมิฬ ก็มีอาจารย์มาช่วยให้ข้อคิด เป็นวิทยากร คนกลุ่มนี้ กลุ่มนั้น มาช่วยบริจาค ประเด็นมีใครอยู่เบื้องหลัง หรือไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องสนใจ แต่สิ่งที่รัฐต้องดูคือเบื้องหน้าคือเขาปรารถนาและเรียกร้องอะไร ไม่ใช่มาดูว่าใครอยู่เบื้องหลัง เหมือนมีโครงการทุจริต กลับมาถามว่าใครพูด ไปหาคนพูดมา แทนที่จะไปหาความจริงว่าทุจริตกันตรงไหน”

ดังนั้น รัฐไม่ควรไปเสียเวลากับการหาว่าใครอยู่เบื้องหลังของการชุมนุม แต่จะต้องจัดการกับเบื้องหน้าด้วยการพินิจพิเคราะห์ให้สำเร็จด้วยกระบวนการต่างๆ อย่างเป็นธรรม เพื่อไม่ให้นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬอีกครั้งหนึ่ง!

 ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และหนึ่งในอดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า กรณีที่อดีตแกนนำ กปปส. ถูกศาลตัดสินจำคุกและต้องหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นเชื่อว่าน่าจะกระทบต่อความรู้สึกของมวลชน กปปส. มวลชนเหล่านี้บางส่วนก็ให้การสนับสนุนรัฐบาล กรณีนี้จึงมีผลกระทบต่อรัฐบาลทางอ้อม อย่างไรก็ตาม ความผิดหวังที่มวลชนมีต่อรัฐบาลไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาตามที่รับปากไว้ ไม่ว่าเป็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ขณะที่ปัญหาคอร์รัปชันนั้นนอกจากรัฐบาลจะแก้ไม่ได้แล้วยังเป็นผู้สร้างปัญหาเสียเอง

สำหรับเสถียรภาพของรัฐบาลในขณะนี้นั้น รัฐบาลไม่ได้อยู่ได้เพราะมีเสถียรภาพแข็งแกร่ง ไม่ได้มีผลงานที่จะมาค้ำยันเพื่อเรียกศรัทธาหรือแรงสนับสนุนจากประชาชน แต่เพราะอีกฝ่ายอ่อนแอและเกิดความแตกแยกระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันเอง เหตุที่การชุมนุมของกลุ่มราษฎรทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ ไม่ใช่เพราะคนส่วนใหญ่ชื่นชอบรัฐบาล แต่เพราะกลุ่มราษฎรโจมตีสถาบันฯ คนส่วนใหญ่จึงไม่เอาด้วยกับม็อบ เชื่อว่าถ้ากลุ่มราษฎรไม่แตะสถาบันฯ คนส่วนใหญ่รวมถึง กปปส.อีกไม่น้อยจะออกมาร่วมชุมนุมไล่รัฐบาลด้วย

การเมืองไทยถึงทางตันมานานแล้ว แต่ผู้นำประเทศมองไม่เห็น เพราะเขาเชื่อว่าเขามีอำนาจ แต่ระวังวันที่หมดอำนาจอะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งการชุมนุมเคลื่อนไหวของมวลชน ไม่ว่าเป็น พันธมิตร กปปส. หรือกลุ่มใดๆ ก็เพื่อต้องการให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ได้ออกมาเจ็บมาตายเพื่อให้ใครได้เป็นรัฐบาล” ดร.สุริยะใส กล่าว

ส่วนสถานการณ์ของม็อบราษฎรนั้น ดร.สุริยะใส มองว่า เราจะด่วนสรุปว่าตอนนี้ม็อบมาถึงโค้งสุดท้ายแล้วคงไม่ได้ เพราะแม้จำนวนมวลชนที่ออกมาชุมนุมจะลดลงไปมาก แต่การเคลื่อนไหวในโซเชียลยังเป็นไปอย่างเข้มข้นและจำนวนผู้ที่เคลื่อนไหวในโซเชียลก็ไม่ได้ลดลงจากช่วงที่เริ่มชุมนุมใหม่ๆ ดังนั้น หากมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้นหรือสุกงอมพอก็อาจเป็นจังหวะที่ม็อบขยับและเบ่งบานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

แต่การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำในระยะยาวแล้วถือเป็นการวางกลยุทธ์ที่ผิดพลาด เพราะการควบคุมการชุมนุมเป็นไปได้ยาก หากเกิดเหตุรุนแรงจะลุกลามบานปลายได้ง่ายเพราะไม่มีแกนนำควบคุมสถานการณ์ และอาจถูกแทรกแซงจากมือที่ 3 ได้ อีกทั้งเมื่อชุมนุมไปนานๆ โดยธรรมชาติแล้วจะมีความขัดแย้งภายในเกิดขึ้น ขณะที่แรงกดดันจากความคาดหวังของมวลชนก็มีมากขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผู้ชุมนุมอาจมองข้ามไปคือ ช่วงที่พลังในการชุมนุมยังแข็งแกร่ง ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จะเป็นไปแบบโอนอ่อนผ่อนตาม แต่เมื่อใดที่มวลชนอ่อนกำลังลง เจ้าหน้าที่จะยิ่งรุกคืบ ปฏิบัติการอย่างจริงจังแข็งกร้าว และเร่งจับกุมดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุม ดังนั้นสถานการณ์ในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ชุมนุมต้องระมัดระวัง

ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ขณะที่ ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า การปรับรัฐมนตรี ครม.อันเนื่องมาจากอดีตแกนนำ กปปส.ถูกตัดสินจำคุกนั้น ไม่น่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล เนื่องจากโครงสร้างของรัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรค จัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละครั้งก็มีโควตาของแต่ละพรรคแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว การปรับ ครม.ครั้งนี้จึงเป็นไปตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก อาจจะมีปัญหาการเรียกร้องตำแหน่งจากพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาลซึ่งยังไม่เคยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่บ้าง แต่อำนาจต่อรองของพรรคเล็กก็มีไม่มากนัก






กำลังโหลดความคิดเห็น