จับตาศึกชิงเก้าอี้ 3 รัฐมนตรี กปปส.ที่ถูกคำสั่งศาลพิพากษา หวั่น ‘ภูมิใจไทย’ เคยเป็นเด็กดี เตรียมเปิดเกมรุกขอเก้าอี้เพิ่ม หลัง ‘ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์’ พ้นเก้าอี้ ส่วนกลุ่ม ‘ธรรมนัส พรหมเผ่า’ มาแรง ‘บิ๊กอาย-สันติ’ ร่วมด้วย ขณะที่ก๊วน ‘สมศักดิ์-สุริยะ’ ไม่เข้าตา ด้านอาจารย์นิด้าระบุ มีการตั้งคำถามผู้ที่เสียสละเพื่อชาติเมื่อเสร็จศึกกลับถูกตัดสินจำคุก เชื่อกลุ่ม กปปส.จะหายไปจาก พปชร.บิ๊กตู่ต้องหาคนรุ่นใหม่รักษาฐาน กทม. วงในแจงทั้งหมดอยู่ที่ ‘3 ป.’ จะเลือกคนใน-คนนอก เพื่อกู้ภาพลักษณ์เหมือนได้ ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ นั่งคลังปล่อยให้ ‘สันติ’ กินแห้วต่อไป!
คำพิพากษาคดี กปปส. ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกรวม 39 คน เป็นจำเลยฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุม ชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือที่รู้กันในสังคมว่าเป็นคดีไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขัดขวางการเลือกตั้ง
โดยผลการตัดสินครั้งนี้ทำให้รัฐมนตรี 3 คนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นจากตำแหน่งและสิ้นสภาพ ส.ส. ไปด้วยตามมาตรา 160 (7) และมาตรา 98 (6) ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรร รมว.ศึกษาธิการ (จำคุก 6 ปี 16 เดือน) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส (จำคุก 7 ปี) และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม (จำคุก 5 ปี)
ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำคุก 5 ปี นายชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน นายอิสสระ สมชัย จำคุก 7 ปี 16 เดือน ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ จำคุก 4 ปี 16 เดือน และนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพุทธะอิสระ จำคุก 4 ปี 8 เดือน
ทั้ง 8 คนไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากศาลมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ดังนั้น จึงต้องติดตามว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวต่อไปหรือไม่?
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ศาลอุทธรณ์ได้อนุญาตประกันตัวทั้ง 8 คนแล้ว ตีราคาประกันคนละ 8 แสนบาท ห้ามจำเลยที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินทางออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ดี คดี กปปส.ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างยิ่ง และเมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว จึงมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยต่างเชื่อว่า ทั้ง 39 คนเป็นผู้เสียสละ ทำเพื่อประเทศชาติ ขณะผู้ที่เห็นด้วยเชื่อว่าคำตัดสินครั้งนี้ทำให้สังคมได้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้มี 2 มาตรฐานตามที่มีการโจมตีของฝ่ายคณะราษฎร หรือม็อบกลุ่มต่างๆ แต่สุดท้ายทุกฝ่ายต่างก็เคารพและยอมรับในคำตัดสินของศาลเป็นที่สุด
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากที่ 3 รัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปนั้น คือแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ว่า 3 เก้าอี้รัฐมนตรีจะถูกหยิบยกขึ้นมาต่อรองกันอย่างไร
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มสธ. บอกว่า สิ่งที่น่ากังวลจากผลของการตัดสินของศาลนั้น อยู่ที่ว่าสถานการณ์การเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลจะเดินกันอย่างไร โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ที่เพิ่งมีปัญหาในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ของ ส.ส.6 คนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มดาวฤกษ์ จากพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ในวาระ 2 แต่ปรากฏว่า นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ... ขึ้นมาพิจารณาก่อน
ทำให้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยต่างวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมทันที หลังผลการออกเสียงให้มีการเลื่อน เห็นชอบ 331 ต่อ 160 เสียง
“ถ้าบรรยากาศเป็นแบบนี้เรื่อยๆ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากต้องเปลี่ยนม้ากลางศึก จากการที่ 3 รัฐมนตรีต้องคดี ก็ต้องมาดูกันว่าสัดส่วนโควตาจะเป็นอย่างไร ภูมิใจไทยจะต่อรองอะไรอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคิด”
โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมาอีก 9 คน หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคก็ยังไม่มีการต่อรองเพื่อขอเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่ม ซึ่งในความเป็นจริงพรรคควรได้เพิ่มอีก 1 ที่นั่งใช่หรือไม่? และถ้าจะไปดึงโควตาจากพรรค ปชป.จากการพ้นตำแหน่งของนายถาวร ก็อาจจะไม่ถูกต้องจากจำนวน ส.ส.ที่ ปชป. มีอยู่ ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรค พปชร.ที่ได้ไปนั้นมากเกินกว่าจำวน ส.ส.อยู่แล้ว
“ถ้าจะไปดึงจาก ปชป.มาให้ภูมิใจไทย เชื่อว่า ปชป.คงไม่ยอมแน่นอน”
รศ.ดร.ยุทธพร บอกว่า ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ความขัดแย้งในภาพใหญ่ และศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ผ่านได้ทั้งหมดจึงไม่มีอะไรน่ากังวล และไม่มีสัญญาณอะไรที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนถึงขั้นต้องยุบสภา ที่สำคัญรัฐบาลบิ๊กตู่ ก็อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบอยู่แล้ว
“สิ่งที่ผมและสังคมอยากเห็นซึ่งรัฐบาลต้องทำในจังหวะนี้ คือหาคนที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้านจริงๆ สังคมให้การยอมรับ มาดูแลกระทรวงที่ว่างลง ไม่ได้มุ่งใช้โควตาของมุ้งมาเป็นรัฐมนตรี”
อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้รัฐบาลหรือนายกฯ บิ๊กตู่ ดึงคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพรรคร่วมจะต้องหารือและหาจุดลงตัวให้ได้ก่อนว่า 3 เก้าอี้ที่ว่างลงนั้น เป็นโควตาพรรคใคร อย่างไร แต่ยังเชื่อว่า เก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลง ยังเป็นของพรรคเดิม คือ รมช.คมนาคม ยังเป็นของพรรค ปชป. ส่วน ก.ศึกษาและดีอีเอส ซึ่งเป็นของพรรค พปชร.ก็มีโอกาสที่นายกฯ บิ๊กตู่ จะดึงคนนอกเข้ามา ขณะที่ ปชป.จะไม่เอารัฐมนตรีคนนอกแน่นอน
“ศึกษาควรได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ เพราะมีปัญหาข้างในเยอะ ควรได้รับการแก้ไข คนที่เข้ามาต้องสามารถดีลกับทุกกลุ่มได้ เช่น กลุ่มผู้ชุมนุม นักเรียนเลว ส่วนดีอีเอส ซึ่งถูกโจมตีมากเกี่ยวกับการถูกปิดกั้นข่าวสารต่างๆ ก็ต้องเลือกคนที่สังคมยอมรับเข้ามาดูแล”
รศ.ดร.ยุทธพร ย้ำว่า การจะได้รัฐมนตรีเป็นคนนอก หรือคนใน ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่ต้องจัดการเร่งด่วนขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ของรัฐบาล และกลุ่ม ‘3 ป.’ มากกว่าว่าจะเคลียร์ปัญหากับพรรคร่วม รวมทั้ง ส.ส.ในพรรค พปชร.ได้อย่างไร
“พลังประชารัฐต้องเคลียร์กันให้ชัดเจน จะเอาใครเข้า เอาใครออก เพราะอาจมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีในก๊วนต่างๆ แต่ในภาพใหญ่ของรัฐบาลเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร”
ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า กรณีที่อดีตแกนนำ กปปส.ซึ่งย้ายมาสังกัดพรรค พปชร.ถูกศาลตัดสินจำคุกในคดีชุมนุม กปปส. จะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงพรรคในพื้นที่ กทม.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากฐานเสียงพรรคในพื้นที่กรุงเทพฯ มาจาก 2 ส่วน คือ
กลุ่มที่ชื่นชอบบิ๊กตู่ ซึ่งจะเป็นชนชั้นกลางที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม และอีกกลุ่มคือชนชั้นกลางที่ชื่นชอบ กปปส. และบางส่วนก็เข้าร่วมชุมนุมด้วยจึงมีความผูกพันกับแกนนำ กปปส. เมื่อกลุ่ม กปปส.เข้าร่วมกับ พปชร.ก็ลงคะแนนให้ ดังนั้น เมื่อแกนนำ กปปส.ถูกตัดสินว่ามีความผิด มวลชนก็อาจจะตั้งคำถามกับบิ๊กตู่ ว่า แกนนำ กปปส.เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อชาติ ทำไมเมื่อเสร็จศึกกลับถูกตัดสินจำคุก!
ขณะที่กลุ่มการเมืองอื่นๆ ในพรรคกลับมีบทบาทมากขึ้น บางกลุ่มถึงขั้นเข้ามากุมอำนาจในพรรค มวลชนก็อาจจะรู้สึกน้อยอกน้อยใจและเริ่มวางเฉยต่อพรรค ไม่มีแรงจูงใจที่จะสนับสนุน พปชร. ซึ่งแม้กลุ่มที่รู้สึกแบบนี้อาจจะมีไม่มากนักแต่ก็เป็นปฏิกิริยาที่ไม่อาจมองข้าม
สำหรับระยะเวลาที่กลุ่ม กปปส.ใน พปชร.ถูกจำคุกนั้น นานถึง 5-6 ปี และยังติดเงื่อนไข “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ซึ่งจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ จึงเชื่อว่ากลุ่ม กปปส.จะหายไปจาก พปชร. ดังนั้น พรรคต้องเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่โปรไฟล์ดีมารักษาฐานคะแนนเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ แทนกลุ่ม กปปส.
“พลังประชารัฐไม่สามารถเอานักการเมืองที่มีอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองสายต่างจังหวัดมาลงพื้นที่กรุงเทพฯ แทน กปปส.ได้ วัฒนธรรมทางการเมืองของคนเมืองกับคนต่างจังหวัดแตกต่างกัน คนต่างจังหวัดจะชอบนักการเมืองที่ขับเคลื่อนแบบระบบอุปถัมภ์ ลงพื้นที่ให้เห็นหน้าค่าตาตลอด ช่วยงานศพงานบวช ช่วยฝากงานให้ลูกหลาน แต่คนกรุงเทพฯ จะมองผลงานในภาพกว้าง เน้นคนที่มีความรู้สูง หัวคิดทันสมัย พลังประชารัฐจึงต้องหาทีมใหม่มาอุดช่องโหว่ตรงนี้”
แหล่งข่าวจากพรรค พปชร. บอกว่า คาดการณ์กันว่าพรรคภูมิใจไทยจะขยับขอเก้าอี้เพิ่ม ซึ่งจากการคุยกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็เกรงว่าจะต้องเสีย 1 เก้าอี้ให้แก่ภูมิใจไทย ก็อยู่ที่ผู้ใหญ่จะหารือกันอย่างไร ซึ่ง ปชป.ก็ไม่ต้องการจะเสีย เพื่อรักษาโควตาให้แก่ ส.ส.ภาคใต้ ส่วนในพรรค พปชร. การที่นาย ณัฏฐพล และนายพุทธิพงษ์ ถูกศาลสั่งดังกล่าว และนายณัฏฐพล ยังถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี รวมถึง นางทยา ทีปสุวรรณ ภรรยา นายณัฏฐพล ที่ต้องคดีเดียวกันและศาลมีคำสั่งจำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 26,666 บาท แม้รอลงอาญา 2 ปี แต่ก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทำให้หมดสิทธิลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. จากนี้ไปบทบาทของ กปปส.ในพรรคก็คงไม่มีอำนาจต่อรองอีกแล้ว
“บทบาทของกลุ่ม กปปส.ที่เคยเข้มแข็ง มีภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่กลุ่มสีเทาๆ และเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอำนาจต่อรองภายในพรรค พปชร.จะกลายเป็นดาวดับ เพราะแกนนำ 2 คน ถูกตัดสิทธิไปแล้ว แต่มุ้งที่จะมีบทบาทมากจะเป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่ ส.ส.ในพรรคย้ำว่าใจถึงพึ่งได้ ซึ่งบิ๊กป้อม จะเรียกใช้งานตลอด ก็ต้องดู ธรรมนัส จะเคลื่อนไหวอย่างไร มุ้งเล็กๆ พวกไหนจะวิ่งเข้ามาซบบ้าง”
นอกจากนี้ ยังมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หรืออาจารย์แหม่ม ซึ่งโลกโซเชียลตั้งฉายาเธอว่า ‘โฆษกบิ๊กอาย’ ที่ถูกจับตามาตลอดว่าสามารถเติบโตในเส้นทางการเมืองอย่างรวดเร็ว แถมลือว่าเธอเป็นผู้มีเขี้ยวเล็บแหลมคม และอยู่เบื้องหลังแทงทะลุหัวใจจนทำให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม 4 กุมาร ต้องออกจากพรรค พปชร.ไปอย่างเจ็บปวด
“อาจารย์แหม่ม เป็นคนใกล้ชิดบิ๊กป้อม จัดอยู่ในก๊วนเดียวกับ ธรรมนัส ดูกันให้ดีจะมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่ใจถึงพึ่งได้ตั้งแต่สมัยอยู่พรรคเพื่อไทยอีกคนมาเข้าก๊วน จริงๆ สันติ น่าจะอยู่ในก๊วน ส. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสันติ ไม่ต้องพึ่งทุนจากใครในการดูแลมุ้งตัวเอง แต่จะช่วยมุ้งอื่นได้ด้วย”
ดังนั้น เก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลงจึงต้องดูกันต่อไปว่า ‘พี่น้อง 3 ป.’ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะตัดสินใจเลือกคนนอกหรือคนในพรรคเข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่หากจะมองย้อนไปถึงเก้าอี้ รมว.คลังที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ หมายมั่นปั้นมือ แต่สุดท้ายบิ๊กตู่ ก็เลือกคนนอกอย่างนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ มาดำรงตำแหน่ง ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์รัฐบาลบิ๊กตู่โดยตรง!