xs
xsm
sm
md
lg

ก.เกษตรฯ จับมือสภาอุตฯ ดัน “นิคมอุตสาหกรรมผลไม้” เลือกจันท์-ลำพูน-นครศรีฯ-อุดรฯ เป็นพื้นที่เป้าหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.เกษตรฯ เร่งผลักดันให้มีการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมผลไม้” ในทุกภาคทั่วประเทศ หวังสร้างมูลค่าเพิ่ม ปลดล็อกปัญหาราคาตกต่ำ สินค้าล้นตลาด เล็งปักหลัก 4 จังหวัด จันทบุรี ลำพูน อุดรธานี และนครศรีธรรมราช ตั้งเป้าสิ้นปี 64 ผุดที่ “จันท์” อย่างน้อย 1 แห่ง “อลงกรณ์” เผย เน้นดึงเอกชนเข้าร่วม และสร้างในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว

กล่าวได้ว่าผลไม้ไทยมีรสชาติดีและเป็นที่ต้องการของทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นหนึ่งในสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แต่หลายครั้งเกษตรกรชาวสวนกลับต้องประสบปัญหาขาดทุนเพราะราคาผลไม้ตกต่ำและสินค้าล้นตลาด อีกทั้งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้สายการบินทั่วโลกต้องหยุดบินก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นเจ้าแห่งผลไม้เมืองร้อน มีพื้นที่ปลูกผลไม้ถึง 7 ล้านไร่ทั่วประเทศ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี และเป็นที่เลื่องลือว่ามีผลไม้เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโลก อย่าง ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง เงาะ ลองกอง แต่บ่อยครั้งที่เกษตรกรชาวสวนได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาผลไม้อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) จึงเร่งผลักดันให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ในทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อสนับสนุนให้มีการแปรรูปผลไม้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดความสูญเสีย โดยมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ทุกจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันขับเคลื่อน

ทั้งนี้ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้จะเจาะไปในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้ในแต่ละภาคของประเทศ เป้าหมายแรกคือ พื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแผล่งผลิตผลไม้แหล่งใหญ่ของไทย โดยเลือก จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตผลไม้ของภาคตะวันออก รายล้อมด้วยจังหวัดที่ผลิตผลไม้อย่าง จ.ระยอง และ จ.ตราด อีกทั้งอยู่ใกล้กับโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ Eastern Fruit Corridor (EFC) ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะดำเนินการที่ จ.ระยอง อีกด้วย

ส่วนภาคเหนือ พื้นที่เป้าหมายที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ ได้แก่ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยแหล่งใหญ่ของภาคเหนือ และอยู่ไม่ไกลจากจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตผลไม้ของภาคเหนืออย่าง จ.พิษณุโลก และ จ.อุตรดิตถ์ อีกทั้งยังสามารถส่งผลไม้แปรรูปจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปยังมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สะดวกรวดเร็ว

ขณะที่ภาคกลาง มีพื้นที่เป้าหมายที่สามารถจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้อยู่หลายจังหวัด อันได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา สิงห์บุรี โดยจะมี บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เข้ามาร่วมมือด้วย

สำหรับภาคอีสาน พื้นที่เป้าหมายคือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทำนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ เพราะนอกจากจะมีนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีรองรับอยู่แล้ว และอยู่ไม่ไกลกับ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้แล้ว ยังโดดเด่นเรื่องโลจิสติกส์โดยสามารถขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจาก จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ติดกับอุดรฯ ไปยัง สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สะดวกด้วย

ส่วนภาคใต้ พื้นที่เป้าหมายที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ คือ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนอกจากจะเป็นจังหวัดที่มีการปลูกผลไม้จำนวนมากและเป็นจุดเชื่อมระหว่างภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ตอนล่างแล้ว ยังมีโครงการอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์วัลเลย์) อีกด้วย


นายอลงกรณ์ ขยายความต่อว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมผลไม้จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่
หรือเอกชนที่มีความสนใจ โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เนื่องจากสามารถใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ การดำเนินการไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ นิคมอุตสาหกรรมผลไม้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมเดิมได้เลย บางแห่งมีโรงงานว่างสามารถนำมาปรับเพื่อใช้เป็นโรงงานแปรรูปผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ผลไม้เป็นวัตถุดิบได้ ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมผลไม้จะสอดรับไปกับโครงการ “หนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“จากข้อมูลพบว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกผลไม้ได้มากขึ้น ในปี 2564 นี้ เกษตรไทยจึงมีการปลูกและผลิตผลไม้ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นถึง 20% กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องวางแผนรับมือและสร้างความยั่งยืนให้ผลไม้ไทย จากเดิมที่ผลิตและจำหน่ายในรูปของผลไม้สดเป็นหลัก ก็จะขยายไปในส่วนของการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ผลไม้เกรดเอก็ส่งออกและจำหน่ายในประเทศในรูปของผลไม้สด ส่วนเกรดรองๆ หรือผลไม้ที่ล้นตลาดก็นำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป โดยมีนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ขึ้นมารองรับในส่วนนี้ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลไม้และป้องกันปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ โดยเรามีเป้าหมายว่าภายในปี 2564 นี้จะมีนิคมอุตสาหกรรมผลไม้เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 แห่ง โดย จ.จันทบุรี จะเป็นพื้นเป้าหมายแห่งแรกที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้น” ที่ปรีกษา รมว.เกษตรฯ กล่าว


นายอลงกรณ์ ระบุว่า เนื่องด้วยประเทศไทยมีการปลูกผลไม้แทบทุกจังหวัด และผลไม้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ กระทรวงเกษตรฯ จึงวางแผนการส่งเสริมและพัฒนาผลิตผลจากผลไม้แบบครบวงจร โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลอุตสาหกรรมผลไม้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมผลไม้จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ส่วนของปลายน้ำ

ทั้งนี้ ฟรุตบอร์ดจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการขับเคลื่อนของนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ เนื่องจากคณะกรรมการชุดนี้จะมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานผลไม้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จากสวนถึงผู้บริโภค รวมทั้งกำลังเร่งปรับแผนโลจิสติกส์ (logistics plan) ระบบการขนส่งกระจายผลไม้ทั้งผลไม้สดและแปรรูป ทั้งในและต่างประเทศ โดยเพิ่มแผนการขนส่งทางรางเชื่อมไทยเชื่อมโลก เชื่อมทางรถไฟจีนที่ลาวและที่ด่านผิงเสียง ชายแดนเวียดนามสู่ตลาดจีน เกาหลี รัสเซีย มองโกเลีย เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรป วางแผนการวิจัยและพัฒนาผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ใช้วิทยาการสมัยใหม่และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่ม วางแผนสื่อสารประชาสัมพันธ์และการตลาด

“ผลไม้ไทยมีศักยภาพสูงมากและเป็นท็อป 10 ในการส่งออกของประเทศ เรามีตลาดทั้งในจีน ยุโรป และตะวันออกกลาง เช่น ราชาผลไม้อย่างทุเรียน สามารถส่งออกไปจีนได้ถึงปีละ 60,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เราสามารถนำมาต่อยอดในการส่งออกผลไม้แปรรูปหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ผลไม้เป็นวัตถุดิบหลัก โดยฟรุตบอร์ดซึ่งมีนักบริหารมืออาชีพระดับประเทศ เช่น ดร.กนก อภิรดี อดีตประธานธนาคารเอสเอ็มอี และผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย จะเข้ามาช่วยวางแผนการตลาดตรงนี้” นายอลงกรณ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น