xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่เอาไง! TPIPL ยังไม่ชดใช้รัฐ 5 พันล้านบาท ‘สุริยะ’ กลับชง ครม.ขอประทานบัตรใหม่ให้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชงเรื่อง TPIPL ขอประทานบัตรใหม่ทับพื้นที่ประทานบัตรเดิมทำเหมืองหินปูน 2,700 ไร่ ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น เข้า ครม. ว่ากันว่าบางแปลงทำผิดกฎหมาย และศาลแพ่งมีคำสั่งให้ TPIPL ชดใช้ค่าเสียหาย พันกว่าล้านบาท จับตาคำตัดสินศาลอุทธรณ์คดี TPIPL จะยืนตามศาลชั้นต้นหรือไม่แต่ TPIPL มี ทางเลือกหากต้องการประทานบัตรใหม่ในพื้นที่เดิม ขณะที่กลุ่มศิลาสากล’ อายุประทานบัตรเหลือ 10 ปี ยังยื่นขอใหม่ขยายพื้นที่ถึง เท่าตัว คาดนักธุรกิจเหมืองจะเร่งขอมากขึ้น 

หลังศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)  TPIPL แพ้คดีต้องชดใช้เงิน 5 พันกว่าล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กรณีรุกเข้าทำเหมืองหินปูนนอกเขตพื้นที่ประทานบัตร อีกทั้งยังเข้าทำเหมืองในพื้นที่ห้ามทำเหมือง (BUFFER Zone) ในเขตประทานบัตร ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ยื่นฟ้อง

เมื่อคำสั่งศาลชั้นต้นออกมาแล้ว บริษัท TPIPL ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมายและคาดว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำตัดสินในช่วงมีนาคม-เมษายนที่จะถึงนี้

รายงานจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เมื่อกลางเดือน พ.ย.2563 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตฯ ได้นำเรื่องการขอใบอนุญาตประทานบัตรในการทำเหมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2533 เรื่องการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่า กำหนดเกี่ยวกับการต่ออายุการอนุญาตในที่ดินเดิมที่เคยได้อนุญาตมาก่อน กรณีเป็นคำขออนุญาตที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป

“มีเรื่องของ TPIPL เสนอเข้ามาขอ 10 แปลง รวมพื้นที่ 2,706 ไร่ เรื่องนี้ ครม.คงต้องดูกันให้ละเอียดก่อนจะอนุญาตให้ทำในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพราะ TPIPL มีคดีเรื่องรุกพื้นที่ และศาลตัดสินต้องชดเชยเงินให้รัฐไปแล้ว”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
โดย TPIPL ได้ยื่นคำขอประทานบัตรใหม่ทับพื้นที่ประทานบัตรเดิม รวมทั้งหมด 10 แปลง เนื้อที่ 2,706 ไร่ 79 ตร.ว. ประกอบด้วย เลขที่ 27833/14709, 27873 /14710 หมดอายุ 18 เดือน พ.ย.2561 เลขที่ 27862 /14732 หมดอายุ 23 เดือนมีนาคม 2562 เลขที่ 27874/14766 หมดอายุ 7 เดือนมิถุนายน 2562 เลขที่แปลง  27831/15036 เลขที่  27813/15040 เลขที่ 27824/15042 เลขที่ 27825/15043 เลขที่ 27863/15044 และเลขที่ 27864/15045 จะหมดอายุวันที่ 24 เดือนธันวาคม 2564

ส่วนคดีที่ศาลแพ่งตัดสินไปแล้วกรณีที่ กพร.ฟ้อง TPIPL จะมีทั้งหมด 4 คดี ประกอบด้วย คดีหมายเลขดำที่ สว.4/2559 ศาลสั่งให้ชดใช้ไม่รวมดอกเบี้ยประมาณ 4,047 ล้านบาท, คดีหมายเลขดำที่ สว.6/2559 ศาลสั่งให้ชดใช้ไม่รวมดอกเบี้ยประมาณ 314 ล้านบาท, คดีหมายเลขดำที่ สว.5/2559 ศาลสั่งให้ชดใช้ไม่รวมดอกเบี้ยประมาณ 1,603 ล้านบาท, คดีหมายเลขดำที่ 1/2560 ศาลสั่งให้ชดใช้ไม่รวมดอกเบี้ยประมาณ 326.5 ล้านบาท

แต่คดีหมายเลขดำที่ สว.2/2561 เป็นคดีที่ 5 ยังไม่มีคำตัดสินของศาลออกมา!

อย่างไรก็ดี ในการขอประทานบัตรใหม่ทับประทานบัตรเดิมของ TPIPL นั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าเลขประทานบัตรหรือพื้นที่ในการทำเหมืองนั้นน่าจะเป็นพื้นที่เดียวกับที่ศาลแพ่งได้ตัดสินไว้หรือไม่?

ว่ากันว่า พื้นที่ที่มีการตัดสินและถูกจับตาคือ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 288/2559 (ปัจจุบันเป็นคดีหมายเลขดำที่ สว.5/2559) จากการที่ TPIPL ทำเหมืองในเขตห้ามทำตามประทานบัตรที่ 27833/14709 (BUFFER Zone) ตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนผังโครงการทำเหมือง ซึ่งคำนวณปริมาตรได้ 4,801,547.50 ลูกบาศก์เมตร น้ำหนัก 12,484,023.50  เมตริกตัน ค่าเสียหายเบื้องตันเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,671,128,829.14 บาท

ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 ให้ TPIPL นำแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 12,484,023.50 เมตริกตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิมที่ TPIPL ทำเหมือง โดยผิดกฎหมาย หรือให้ TPIPL ชำระเงินต้นจำนวน 1,602,948,617.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ทราบผลการรังวัด (31 ส.ค.2558) จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 207 วัน เป็นเงิน 68,180,211.74 บาท รวมต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 1,671,128,829.14 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,602,948,617.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กระทรวงอุตสาหกรรม


ขณะเดียวกัน คดีหมายเลขดำที่ สว.1/2560 บริษัท TPIPL ได้ทำเหมืองออกนอกเขตและพื้นที่ห้ามทำตามประทานบัตรที่ 27813/15040 ศาลแพ่งได้พิพากษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ให้ชำระค่าภาคหลวงจำนวน 326.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี เป็นต้น

“2 แปลงก็ทำให้ ครม. คงต้องตรวจสอบระมัดระวังกัน เพราะ TPIPL ทำผิดและศาลมีคำสั่งแล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1 ด้วย ยังยื่นขอประทานบัตรใหม่ หาก TPIPL ได้ก็จะมีอายุประทานบัตร 25 ปี ครม.ก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดในการขออนุญาตผ่อนผัน เรื่องนี้บิ๊กตู่คงหารือกับ มท.1 ด้วย”

ในการยื่นขอประทานบัตรใหม่ของ TPIPL ได้ผ่านขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมดจากการพิจารณาของ กพร. แล้ว รวมทั้งมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายเช่นกัน

“ถ้า ครม.อนุมัติผ่อนผันให้มีการทำเหมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เรื่องก็ต้องกลับไปที่ กพร. และคณะกรรมแร่ฯ ก็ต้องมาพิจารณากันอย่างละเอียด”

แหล่งข่าวบอกว่า หากจะถามว่า TPIPL มีคดีแพ่งอยู่แล้ว และศาลได้ตัดสินให้ TPIPL ต้องชดใช้เงินให้แก่ภาครัฐประมาณ 5-6 พันล้านบาท ทำไม? รัฐมนตรีอุตสาหกรรมยังเสนอเรื่องไปยัง ครม.นั้น เป็นเพราะว่าได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมดแล้วถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ โดยเฉพาะในเรื่องของคดีความ ก็มีการระบุชัดว่าหากผู้ขอประทานบัตรถูกดำเนินคดีอาญาจะไม่สามารถต่อใบอนุญาตประทานบัตร หรือให้ประทานบัตรใหม่ได้ แต่กรณีของ TPIPL เป็นเรื่องของศาลแพ่งตัดสิน ปัจจุบันอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์

“มีระเบียบของ กพร. ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการขอประทานบัตร หมวด 2 ระบุชัด หากจะต่อประทานบัตร จะต้องจ่ายหนี้สินที่ค้างชำระทั้งหมด กรณีนี้ 5-6 พันล้าน ก็ต้องจ่ายให้หมด จึงจะออกใบอนุญาตได้ ก็ต้องดูว่าศาลอุทธรณ์จะตัดสินออกมาอย่างไร และ TPIPL จะเลือกใช้วิธีการไหน  เพราะหากพิจารณาคำตัดสินศาลชั้นต้นจะเห็นว่า TPIPL มี 2 ทางเลือกคือชดใช้ด้วยเงิน หรือถมกลับคืนยังพื้นที่ตรงนั้น ตามที่มีการคำนวณไว้ แต่รัฐต้องไม่เสียเปรียบ”

นอกจากนี้ แปลงที่ขอประทานบัตรใหม่ บางแปลงคาดว่าจะอยู่ติดกับวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ จ.สระบุรี ที่เคยมีเรื่องฟ้องร้องกับบริษัท TPIPL ที่เกรงว่าจะมีปัญหาในเรื่องของมลพิษ และแรงสั่นสะเทือนของการทำเหมืองจะทำให้ศิลปวัฒนธรรม ภาพสลักนูนอายุไม่ต่ำกว่าพันปีที่อยู่บริเวณวัด และพื้นที่ใกล้เคียงเสียหายนั้น เรื่องนี้ศาลปกครองมีคำตัดสินออกมาแล้วว่าแรงสั่นสะเทือน-แรงอัดอากาศยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย

ก็แปลว่า TPIPL สามารถทำเหมืองบริเวณตรงนี้ได้!

วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ จ.สระบุรี

ภาพสลักนูนต่ำ ถ้ำพระโพธิสัตว์
ดังนั้น การยื่นขอประทานบัตรของ TPIPL จำนวน 10 แปลงที่ดูเหมือนจะผ่านตามขั้นตอนของคุณสมบัติตามที่กระทรวงอุตฯ พิจารณาแล้วก็ตาม แต่หากบิ๊กตู่ และ ครม.เห็นว่ายังมีข้อสงสัยก็คงเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องชี้แจงให้กระจ่างก่อนที่ ครม.จะอนุญาตผ่อนผันให้มีการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ได้

เพราะถ้า ครม.ไม่อนุญาตผ่อนผันการทำเหมืองในลุ่มน้ำชั้น 1 คณะกรรมการแร่ฯ ก็ไม่สามารถออกประทานบัตรทั้ง 10 แปลงให้บริษัท TPIPL ได้แน่นอน จึงต้องจับตาดูว่าจะถูกบรรจุในวาระการประชุมของ ครม. เมื่อใด

อีกทั้งยังมีการยื่นขอประทานบัตรในเขตลุ่มน้ำชั้น 1 ของศิลาสากล ที่ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง นครราชสีมา มีการขอประทานบัตรเนื้อที่ 509 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา ซึ่งคำขอนี้เป็นการใช้พื้นที่เดิม 156 ไร่ 44 ว่า ส่วนอีก 353 ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา เป็นการขอขยายพื้นที่เพิ่ม

“การขอผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A ให้เฉพาะพื้นที่เดิม ไม่มีการอนุญาตส่วนที่ขอเพิ่มอีก 353 ไร่ ครม.ก็ต้องดูกันให้ละเอียดว่าตามแผนแม่บทแร่ พื้นที่บริเวณตรงนั้นถูกกำหนดเช่นไร”


แหล่งข่าวระบุว่า ประทานบัตรเดิมในพื้นที่ 156 ไร่ของ ศิลาสากล จะหมดอายุ 4 มกราคม 2573 ก็เท่ากับยังมีเวลาอีกตั้ง 10 ปี แต่ทางศิลาสากลได้รีบยื่นขอประทานบัตรใหม่ โดยประทานบัตรเดิมเป็นการทำแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อทำปูนขาวสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง หรืออุตสาหกรรมน้ำตาลและเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่ประทานบัตรใหม่ ระบุเพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเท่านั้น

“ศิลาสากล ผ่านขั้นตอน EIA มาเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรอว่า ครม. จะว่าอย่างไร”


แหล่งข่าวระบุอีกว่า จากนี้ไปเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการเหมืองต่างๆ จะเร่งยื่นขอประทานบัตรเข้ามามากขึ้น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมติ ครม.เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. ... ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยให้นำข้อเสนอที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุไว้ ไปปรับเพิ่มเติมตามในร่างฉบับดังกล่าว ให้ครอบคลุมถึงเขตพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวหรือเป็นพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศด้วย จะทำให้การอนุรักษ์สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 A เป็นพื้นที่ต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยแท้จริง หากสูญเสียสภาพป่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าบรรดาผู้ประกอบการเหมืองแร่ต่างๆ จะยื่นขอประทานบัตรเพิ่มขึ้นหรือไม่? และการตัดสินของศาลอุทธรณ์ คดี TPIPL จะมีผลให้การขอประทานบัตรใหม่ทับที่ประทานบัตรเดิมจะออกมาเช่นไร!




กำลังโหลดความคิดเห็น