xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.โค่น ‘ตัวเต็ง’ ตกสนาม เตรียมแผนกลยุทธ์สงคราม Social Media ถล่ม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แผนกลยุทธ์ชิงผู้ว่าฯ กทม.เบื้องต้น จะเห็นเพียง ‘บิ๊กแป๊ะ-ชัชชาติ’ ตัวเต็ง ส่วน ปชป. ‘อภิรักษ์-ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ ไม่ลง ที่เหลือแค่ไม้ประดับ ส่วน ‘อาจารย์เอ้’ ขายฝัน ขณะที่พรรคกล้าขอเล่นบทบาทเป็นพันธมิตร ไม่ลงแข่ง ชี้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ‘ต้องมี 6 คุณสมบัติ’ จึงจะคว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯ ได้ วงในระบุผู้สมัครแต่ละคนต้องใช้เงิน 400-1,000 ล้านบาท คาดศึกครั้งนี้เป็นสงคราม Social Media ทั้ง Air War -Ground War ถล่มแหลกมั่นใจพรรคใหญ่-ตัวเต็ง พลาด เหตุ ‘บิ๊กแป๊ะ-ชัชชาติ’ มีจุดอ่อนขุดคุ้ยได้ จับตา ‘ไอ้โม่ง’ ที่เพอร์เฟกต์สุดๆ ที่พรรคใหญ่หมายตา!

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่? หรือจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่! แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ดูจะดุเดือด และมีการคาดการณ์ไว้ว่าผู้สมัครพรรคการเมืองใหญ่ไม่มีทางชนะเลือกตั้งแน่นอน และนี่อาจเป็นคำตอบสำคัญได้ว่าการชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันของผู้สมัครอิสระ ที่ล้วนต้องมีคุณสมบัติสุดเพอร์เฟกต์เพื่อมาให้คนกรุงเทพฯ ได้เลือกสรร

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล บอกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา คาดว่าจะประมาณเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ขึ้นอยู่กับความพร้อมในเวลานั้น และการเลือกตั้งครั้งนี้ในส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็น่าจะเป็นไปตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ซึ่งหมายถึงว่า พปชร.จะไม่ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิดตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 ที่กำหนดห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง

“พปชร.จะใช้วิธีการเดียวกับการเลือกตั้ง อบจ.คือไม่ส่งผู้สมัครในนามของพรรค แต่จะใช้กลไกอะไร อย่างไรในการหนุนผู้สมัครอิสระที่รู้กันอยู่ว่าจะทำงานให้พรรคได้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกัน แต่ต้องไม่ให้ผิดกฎหมาย เพราะจะทำให้ถูกร้องเรียนถึงขั้นยุบพรรคได้”


 ‘บิ๊กแป๊ะ’ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.
อย่างไรก็ดี การส่งผู้สมัครอิสระก็เป็นการแก้ปัญหาภายในพรรคได้เช่นกัน เพราะในความเป็นจริงพรรคต้องการส่ง ‘บิ๊กแป๊ะ’ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ลงสมัคร ซึ่งพรรคมั่นใจในคุณสมบัติ คอนเนกชัน และทุน รวมทั้งการประสานงานกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน จะทำให้ได้แรงหนุนจากข้าราชการและเครือข่ายท้องถิ่นที่ พล.ต.อ.อัศวิน มีอยู่ได้อีกช่องทางหนึ่ง

“จริงๆ กกต.เคยชี้แจงแล้วว่าพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ เพราะมาตรา 34 ไม่ได้ห้ามพรรคหรือกลุ่มการเมืองส่งผู้สมัคร แต่กฎหมายห้ามข้าราชการการเมือง หรือ ส.ส.ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ อาจเกิดการกลั่นแกล้ง และอาจส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม ซึ่ง ปชป. เพื่อไทย ก็ได้ส่งผู้สมัคร อบจ.ในนามพรรคที่ผ่านมา แต่ พปชร.เลือกที่จะไม่ส่งบิ๊กแป๊ะ เพื่อแก้ปัญหาภายในด้วย”

นางทยา ทีปสุวรรณ
ทั้งนี้ เพราะเกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคที่ต้องการส่งนางทยา ทีปสุวรรณ ภรรยา นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ว่าฯ กทม. อีกทั้งนางทยา เป็นผู้ที่มีเครือข่าย ส.ก. ส.ข. ที่ช่วยให้ ส.ส.พรรค พปชร.ชนะเลือกตั้งใน 12 เขตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา

“บิ๊กแป๊ะ ด้อยกว่าทยา อาจจะเป็นเรื่องของคอนเนกชัน ส.ก. ส.ข. แต่ต้องไม่ลืมว่าข้อได้เปรียบของบิ๊กแป๊ะ ก็มี ไม่เช่นนั้นกลุ่มคนในเครื่องแบบในพรรคและนอกพรรคไม่หนุนบิ๊กแป๊ะกันหรอก อีกทั้งการกำจัดจุดอ่อนที่ด้อยกว่าทยา เติมเต็มจากคุณอัศวิน ได้อยู่แล้ว”

หากจะถามว่า ทำไม? พปชร.ไม่เลือกส่งผู้ว่าฯ อัศวิน ก็มีเสียงข่าวลือที่เปรียบเปรยกันในทางการเมืองว่ากันว่า “ถูกส่งให้คุมบ่อตกปลา ก็เข้าใจว่าเป็นของตัวเอง เลยไม่ยอมให้ใครตกใช่หรือไม่” ก็อาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ถูกมองผ่านก็เป็นได้!

ขณะเดียวกัน มีชื่อของ ‘อาจารย์เอ้’ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีวิชันก้าวไกล เห็นได้จากเพจต่างๆ ทั้งการ Live สด พรีเซนต์เรื่องราวต่างๆ มากมาย มีความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เพียบพร้อมด้านการพัฒนาเมือง แต่เขาก็มีจุดอ่อนที่เชื่อว่าพรรคการเมืองไม่อยากจะส่งสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

‘อาจารย์เอ้’ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“ชาวลาดกระบัง หรือกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกัน รู้ว่าอาจารย์เอ้ อยากลงผู้ว่าฯ กทม.มาก มีการต่อสายแล้ว แต่พรรค พปชร. ไม่สนใจ เห็นว่าพรรค ปชป.ก็ไม่สนใจ หาก อ.เอ้ จะลงจริงๆ ก็คงลงอิสระ แม้จะโปรไฟล์สอบผ่าน เป็นคนสร้างความฝัน ขายฝันได้ตลอด เหมือนลูกโป่งที่แตกกลางทาง และไม่มีกลุ่มทุนหนุน เชื่อเถอะไม่มีโอกาสได้ ถ้าไม่มีพรรคใหญ่หนุน”

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แม้มีกระแสออกมาว่าผู้ที่อยู่ในข่ายจะลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.มี 4 คน ประกอบด้วย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรค ซึ่งเป็น ส.ส.กทม.มาหลายสมัย นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เคยเป็นหนึ่งในทีมรองผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. ช่วงปี 2547-2551 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ดูแลด้านโยธาและจราจร ในยุคที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม.ช่วงปี 2547-2548 และนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นทีมเศรษฐกิจทันสมัย ยุคปัจจุบันที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค เป็น ลูกชายคนโตของ ‘ดร.ซุป’ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีหลายสมัยของพรรค ปชป. และเป็นอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD)

“ทั้ง 4 คน เมื่อเปรียบกับบิ๊กแป๊ะแล้วไม่น่าจะสู้ได้ ต้องไม่ลืมว่าชื่อพรรคประชาธิปัตย์ใน กทม.ดับไปแล้ว คิดจะใช้ฐานเสียง ส.ก. ส.ข. ก็อ่อนแอถูก พปชร.ดูดไป การส่งครั้งนี้ก็คงแค่อยากสร้างฐาน ส.ก. ส.ข. ขึ้นมา ได้ข่าวว่า ปริญญ์ ก็คงไม่ลง รวมทั้ง นายอภิรักษ์ ก็ไม่เอาแล้ว”

ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้านั้น เชื่อว่าจะไม่ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แน่นอน แต่จะทำพรรคกล้าให้เป็นพันธมิตรกับผูสมัครฯ ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. โดยมีเป้าหมายที่จะสามารถพูดคุยกับผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสนามเลือกตั้งใหญ่คือสนามเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

“ถึงพรรคกล้าจะมีนายอรรถวิทย์ สุวรรณภักดี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เก่ง ฉลาด วิชันดี เรื่องทุนไม่มีปัญหา แต่ด้วยบารมีที่ยังไม่ถึง ซึ่งไม่ต่างกับนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ปัจจุบันในแง่บารมีก็ยังไม่ถึงเช่นกัน”

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ด้านแหล่งข่าวจากพรรคฝ่ายค้าน บอกว่า เวลานี้พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะส่งใครลงสมัคร เพราะต้องมีการพูดคุย และดูตัวผู้สมัครของพรรครัฐบาลว่าจะส่งใครกันบ้าง ซึ่งต้องไม่ลืมว่า สนาม กทม.มีความสำคัญมาก มีงบประมาณปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาทในการพัฒนา แม้พรรคอนาคตใหม่ หรือปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล ซึ่งส่งผู้สมัครครั้งแรก ในการเลือกตั้งทั่วไปได้ที่นั่งใน กทม.ถึง 9 ที่นั่งจาก 30 เขต แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจไม่เป็นไปตามที่พรรคก้าวไกลคาดไว้ก็ได้

“เพื่อไทยต้องรอบคอบไม่ไปตัดคะแนนหรือทำให้ชัชชาติ ต้องมีปัญหา หรือข้อครหาในการโจมตีของพรรครัฐบาลได้ ยิ่งคุณหญิงหน่อย ออกจากพรรคไปแล้ว เราเองก็ต้องยิ่งระมัดระวัง เพราะหากคุณหญิง ลงสมัครผู้ว่าฯ หรือไปร่วมมือกับกลุ่มอื่นก็จะโจมตีได้ง่าย”

ในการวิเคราะห์เพียงเบื้องต้นจะเห็นว่าคู่ต่อสู้ใน กทม.จะมีตัวเต็ง คือ บิ๊กแป๊ะ กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่เตรียมตัวลงชิงผู้ว่าฯ กทม.มาร่วม 5 ปีแล้ว และครั้งนี้ ทีมงานนายชัชชาติ ก็มีความพยายามที่จะชูความโดดเด่นและความพร้อมในการพัฒนากรุงเทพมหานคร

แหล่งข่าวจากพรรค พปชร.ประเมินการเลือกตั้งในครั้งนี้ เชื่อว่าใน 50 เขต ผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละคนจะใช้เงินในการเลือกตั้งประมาณคนละ 400-1,000 ล้านบาท ถึงจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง

“ถ้าบอกว่าเขตละ 4 ล้านบาทที่จะให้ ส.ก. ส.ข. ทำงาน ก็จะเป็นเงิน 200 ล้านบาท บอกได้เลยโอกาสที่จะได้คะแนนก็ยังน้อยมาก นี่ไม่ร่วมค่าอื่นๆ นะ ถึงได้บอกว่าคนที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ ต้องรู้ว่าทุนจะมาจากไหนด้วย”

ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้มีองค์ประกอบที่พรรคการเมืองเลือกใช้ในการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในยุคปัจจุบันซึ่งต้องมีความพร้อมใน 6 ด้านจึงจะมีโอกาสชนะเลือกตั้งได้ ประกอบด้วย

1.โปรไฟล์เยี่ยม เป็นนักบริหารที่มีชื่อเสียง อายุต้องไม่มาก คือประมาณ 50 ปีเศษ ไม่มีข้อครหาในเรื่องของผลประโยชน์ สามารถนำความสามารถที่มีอยู่มาต่อยอดในการบริหาร กทม.ที่มีงบประมาณปีละ 20,000 กว่าล้านบาทได้ และเงื่อนไขหลักต้องไม่เป็นนักการเมือง
2.มีไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ในการสั่งการ การใช้ Social Media ในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเข้าถึงคนทุกกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม.
3.ต้องมีเครือข่าย หรือมีพันธมิตร เพราะยุคสมัยนี้การจะชนะได้ต้องทำทั้ง Air War และ Ground War ด้วยการใช้ Social Media ให้มีพลังที่สุด

“2 แสนคนที่เชื่อว่าก้าวไกลจะได้จากคนกลุ่มนี้จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เล่น Social Media ทั้งสิ้น ถ้าบิ๊กแป๊ะ ใช้สื่อพวกนี้ไม่เป็นโอกาสพลาดก็มีเช่นกัน

4.ทุนหรือเงิน ซึ่งผู้สมัครต้องมีด้วย และถ้าผู้สมัครมีข้อ 1, 2 และข้อ 3 ที่เพียบพร้อม มั่นใจได้ว่าบรรดากลุ่มทุนต่างๆ จะกระโดดเข้ามาเอง อย่าลืมว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องใน กทม.มีมากมาย
5.‘Endorsement’ ผู้ที่จะมารับรองหรือการันตีตัวผู้สมัคร ข้อนี้สำคัญเช่นกัน อย่างกรณีของ ‘อาจารย์เอ้’ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ต้องบอกว่า คะแนนข้อ 1 พุ่งกระฉุด ข้อ 2 และ 3 ก็สอบผ่าน แต่ถ้าบิ๊กในพรรคไม่รับรอง โอกาสที่พรรคจะส่งสมัครผู้ว่าฯ กทม.ก็ไม่มี แล้วจะได้รับเลือกตั้งได้อย่างไร
6.เป็นบุคคลที่มีความใสสะอาด ไม่ต้องกลัวการถูกตรวจสอบ เพราะในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะถูกขุดคุ้ยกันแน่ๆ เช่น กรณี นายชัชชาติ ข้อ 1-5 เชื่อว่าประชาชนคนกรุงเทพฯ ให้การยอมรับแน่ๆ แต่ถ้าคู่ต่อสู้งัดข้อมูลเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทย อยู่เบื้องหลัง หรือขุดข้อมูลสมัยเป็นรัฐมนตรีคมนาคม มาถล่ม ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง แต่การใช้สื่อโซเชียลถล่มอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่แข็งแกร่งหรือไม่โปร่งใสจริงๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน

“พรรคพลังประชารัฐเองก็ต้องระวัง มีการพูดกันว่า บิ๊กแป๊ะ ต้องยอมให้ ‘เอิร์ธ’ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม.ลูกชายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาร่วมในทีม เป็นรองผู้ว่า กทม. ตรงนี้อาจเป็นจุดอ่อนให้คู่ต่อสู้ใช้มาตรา 34 ตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาถล่มได้ และอาจขุดคุ้ยเรื่องของ พล.ต.อ.อัศวิน มาร่วมถล่มเชื่อมโยงลูกชายได้ด้วย”


แหล่งข่าวย้ำว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ เชื่อว่า ทุกพรรคการเมือง หรือผู้สมัครอิสระจะจัดหาทีม Social Media ที่รู้และเข้าใจในยุทธศาสตร์การเลือกตั้งและเน้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แบบเกาะติดทุกแง่ ทุกมุม ที่พร้อมจะนำเสนอแบบยิงถี่ๆ และเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด

“วิธีนี้จะทำให้ผู้ที่เลือกใช้เพียงสื่อกระแสหลักตายได้ง่ายๆ เพราะคนรุ่นใหม่จะมีวิธีโยน และโยกประเด็น จนทำให้สื่อกระแสหลักแกว่งเพราะกลัวตกข่าว หรือหลงประเด็นเดินตามได้เช่นกัน”

ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะทำให้ ‘ตัวเต็ง’ พลาดเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ก็เป็นได้ และเมื่อใกล้จะถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อาจมีผู้สมัครที่สอบผ่านตั้งแต่ข้อ 1-6 ที่วันนี้อาจเป็นเพียง ‘ไอ้โม่ง’ ที่อยู่ในสายตาพรรคการเมืองโดดเข้าสู่สนามนี้...จึงต้องจับตาดูกันต่อไป!?




กำลังโหลดความคิดเห็น