xs
xsm
sm
md
lg

คำสั่ง ‘ก.คลัง’ ทำ รพ.ทั่วประเทศป่วน สร้างไม่เสร็จ-กระทบผู้ป่วย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แพทย์ชนบท” เผยระเบียบ ว.318 กระทบโครงการก่อสร้างของ รพ.ทั่วประเทศ เหตุ ดึงงบก่อสร้างที่เบิกไม่ทัน 30 ก.ย.63 กลับไปเป็นงบกลาง จึงเบิกจ่ายไม่ได้ ซ้ำให้ ผอ. เจียดงบบำรุง รพ. ที่มีน้อยนิดมาใช้ หรือไปขอรับบริจาคเอง ส่วนที่จะให้เบิกงบปี 65 ออกมาก่อน คาดต้องรอถึง ม.ค.ปีหน้า “นพ.สุภัทร” แนะเบิกงบกลางปี 64 มาโปะได้ทันที ย้ำวงเงินน้อยกว่าซื้อเรือดำน้ำ โวยทุกโครงการโดน ว.318 หมด! ยกเว้นการก่อสร้างอาคารรัฐสภา

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โรงพยาบาลเป็นสถานที่สำคัญที่จะดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ผู้ป่วยด้วยสาเหตุจากโรคอื่นๆ ก็ยังมารับบริการอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลหลายแห่งจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยที่นับวันจะเพิ่มขึ้น แต่กลับเจอปัญหาใหญ่ที่ทำให้การก่อสร้างอาคารทางการแพทย์สะดุด นั่นคือระเบียบที่เรียกว่า “ว.318”

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า เนื่องจากกลางปี 2563 ทางกระทรวงการคลังได้มีนโยบายรัดเข็มขัด โดยการรีดงบประมาณที่ตกค้างจากทุกหน่วยงานนำมากองคืนที่งบกลาง ซึ่งหนึ่งในนั้นคืองบก่อสร้างที่กันเงินไว้และไม่สามารถสร้างเสร็จหรือเบิกจ่ายได้ทันในวันที่ 30 ก.ย.2563 โดยหนังสือสั่งการฉบับดังกล่าวเรียกว่า “ว.318” ซึ่งได้กำหนดกฎเหล็กไว้ว่า โครงการในปีงบ 2555-2562 ที่ทำไม่แล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ย.2563 งบประมาณนั้นจะถูกพับไป โดยไม่สามารถขอกันงบได้อีก

ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างอาคารผู้ป่วย 4 ชั้นหลังหนึ่ง ซึ่งสัญญาระบุว่าต้องแล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ย.2562 แต่ปรากฏว่าสร้างไปได้ 3 ชั้นแล้วผู้รับเหมาทิ้งงานไปในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งกว่าที่โรงพยาบาลจะดำเนินการตามระเบียบราชการที่มีขั้นตอนมากมายแล้วเสร็จจนได้ผู้รับเหมารายใหม่เวลาก็ล่วงไปกว่า 1 ปี และแม้จะได้ผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการก่อสร้างต่อ แต่การก่อสร้างย่อมต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้กว่าจะสร้างเสร็จก็หลัง 30 ก.ย.2563 แต่ผลจากระเบียบ ว.318 ทำให้งบประมาณที่ค้างจ่ายต้องพับไปและดึงกลับไปเป็นงบกลาง โดยที่กระทรวงการคลังไม่สนใจเหตุผลที่ทำให้การก่อสร้างหรือการเบิกจ่ายล่าช้า ซึ่งมักเกิดจากผู้รับเหมา ไม่ใช่เพราะโรงพยาบาลเจ้าของโครงการละเลยเพิกเฉยแต่อย่างใด

นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันตึกผู้ป่วยและอาคารต่างๆ ของโรงพยาบาลที่สร้างไม่เสร็จนั้นกลับกลายเป็นภาระของผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งมี 2 ทางเลือกคือ ทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างไม่เสร็จ หรือพยายามหาเงินจากแหล่งอื่นมาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบปัญหาดังกล่าวและแจ้งให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบแล้ว ซึ่งเบื้องต้นทางกระทรวงได้ให้แนวทางในการแก้ปัญหาไว้ 3 แนวทาง คือ

1)ให้นำงบเงินบำรุงของโรงพยาบาลนั้นๆ มาจ่ายค่าก่อสร้างที่ค้างอยู่ ซึ่งอาจใช้ได้กับโครงการก่อสร้างขนาดเล็กที่ค้างจ่ายอยู่แค่ 2-3 ล้านบาท

2)โยกประมาณปี 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดการได้มาจ่ายค่าก่อสร้างที่ค้างจ่ายในส่วนนี้

3)ให้แต่ละโรงพยาบาลขอเบิกงบประมาณปี 2565 มาจ่ายค่าก่อสร้างที่เหลือ เพื่อให้การก่อสร้างอาคารที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วเสร็จ ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางหลักที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

คำสั่ง ว.318 ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาในการเบิกจ่ายงบก่อสร้างของโรงพยาบาลหลายสิบแห่ง
ทั้งนี้ ค่าก่อสร้างที่โรงพยาบาลค้างจ่ายนั้นมีอยู่ 2 กรณีด้วยกัน คือ

1.กรณีการก่อสร้างที่สร้างต่อไม่ได้เพราะโรงพยาบาลไม่มีเงินจ่าย กรณีนี้โรงพยาบาลอาจทำเรื่องขอเบิกงบประมาณปี 2565 มาจ่าย อย่างไรก็ดี แม้ในทางบัญชี งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.2564 แต่กว่าจะได้เงินจากการเบิกจ่ายอย่างเร็วก็น่าจะเดือน ม.ค.2565

2.กรณีอาคารสร้างเสร็จแล้วและส่งมอบงานไปแล้วแต่โรงพยาบาลยังไม่ได้จ่ายค่างวดงานเนื่องจากโรงพยาบาลเบิกเงินไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้โรงพยาบาลอาจถูกผู้รับเหมาฟ้องร้องเพื่อเรียกเงินที่ค้างจ่ายเนื่องจากขณะนี้ผู้รับเหมาก็มีปัญหาสภาพคล่องเช่นกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำให้โรงพยาบาลนำงบเงินบำรุงโรงพยาบาลมาจ่าย หรือขอรับบริจาคจากผู้ใจบุญมาจ่ายค่าก่อสร้าง โดยหากเป็นโครงการก่อสร้างที่ใช้งบไม่มากก็อาจจะพอทำได้ แต่บางโครงการที่มีค่าก่อสร้างเป็น 10 ล้าน การหาเงินบริจาคให้พอกับค่าก่อสร้างที่ต้องจ่ายย่อมเป็นไปได้ยาก

ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า ปัญหาการเรียกคืนงบประมาณตามระเบียบ ว.318 ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้รับความลำบากมาก กลายเป็นภาระที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต้องไปวิ่งหาเงินมาใช้ในโครงการก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาเงินบริจาคหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลเองนั้นก็มีจำกัดจำเขี่ย ขณะที่แต่ละโรงพยาบาลก็มีค่าใช้จ่ายเยอะอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลต้องจัดสรรงบในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เช่น ชุดพีพีอี หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ

และหมดไปกับการจัดระบบเพื่อดูแลและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก รวมถึงการจัดการสถานที่ในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งจนถึงปัจจุบันทางโรงพยาบาลก็ยังไม่ได้รับงบชดเชยจากรัฐบาลแม้แต่น้อย ส่งผลให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลายแห่งเกิดความเครียดเป็นอย่างมาก ไม่รู้จะเอางบตรงไหนมาจ่ายค่าก่อสร้าง

“มันไม่ใช่ความผิดใดๆ ของ ผอ.โรงพยาบาล แต่เกิดจากความล่าช้าของระเบียบราชการ การจะขอรับบริจาคในช่วงเศรษฐกิจอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าจะเบิกงบปี 65 มาจ่าย กว่าจะได้ก็น่าจะเดือน ม.ค.ปีหน้า การก่อสร้างแต่ละโครงการก็จะล่าช้าไปอีกอย่างน้อย 1 ปี จริงๆ แล้ววิธีที่ง่ายที่สุดคือ รัฐบาลนำงบกลางของปี 64 มาจ่ายเลย เพราะเงินค่าก่อสร้างที่เบิกจ่ายไม่ทันภายใน 30 ก.ย.2563 และถูกดึงกลับไปตามระเบียบ ว.318 นั้นก็ดึงกลับไปไว้ในงบกลางนี่แหละ เพราะฉะนั้นดึงกลับมาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และงบประมาณที่ใช้ก็คงน้อยกว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำ เท่าที่รู้ ว.138 มีผลต่อโครงการก่อสร้างของทุกกระทรวง แต่มีโครงการเดียวที่ไม่ถูกเรียกงบคืนก็คือการก่อสร้างสัปปายะสภาสถาน หรืออาคารรัฐสภา คงไม่ต้องบอกว่าผู้รับเหมาในโครงการนี้เป็นใคร” นพ.สุภัทร ระบุ

โครงการของโรงพยาบาลที่ต้องหยุดการก่อสร้างเนื่องจากไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้ เพราะถูกเรียกงบคืนจากคำสั่ง ว.318
ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบทระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ข้อกำหนด ว.318 ส่งผลให้โครงการก่อสร้างของหลายสิบโรงพยาบาลต้องหยุดชะงัก เช่น

- โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เกิดปัญหากรณีของอาคารผู้ป่วย 114 เตียง ที่สร้างไปแล้ว แต่เกิดปัญหาพับในงวดที่ 7-10 เป็นเงิน 4,406,490 บาท และงวดที่ 11-17 เป็นเงิน 26,349,920 บาท รวมเป็น 30,756,410 บาท เงินบำรุงที่พอมีอยู่บ้างก็ต้องหามาไว้สำหรับจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เตียงผู้ป่วย เพื่อเปิดใช้อาคารหลังนี้ให้ได้ตามมา เพราะงบนี้ได้มาแต่ตัวอาคารเปล่าๆ เท่านั้น

- โรงพยาบาลอรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีปัญหากรณีตึกผู้ป่วย ซึ่งการก่อสร้างเสร็จไม่ทันตามที่ ว.318 กำหนด เพราะมีการบอกเลิกสัญญากับผู้รับเหมารายแรก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เนื่องจากทำงานไม่เสร็จ วงเงินที่เหลือจากการทิ้งงาน 136 ล้านบาทเศษ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลอรัญประเทศ จึงต้องเริ่มต้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับเหมารายใหม่ ได้ลงนามในสัญญากับบริษัทที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ในวงเงิน 135 ล้านบาท ต่ำกว่าเงินที่เหลือจากการทิ้งงานครั้งแรก และส่งคืนคลังกว่า 1.4 ล้านบาท สัญญาก่อสร้างรายที่ 2 จะสิ้นสุดวันที่ 20 มิถุนายน 2564 แต่อาคารนี้วงเงินเกิน 100 ล้าน จึงต้องส่งมาให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบเสียก่อน

ผู้รับเหมาเบิกไปแล้ว 8 งวดงาน จากทั้งหมด 14 งวด กำลังจะส่งมอบงวดที่ 9-11 ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและส่งมอบงวดสุดท้ายภายในเดือนเมษายน 2564 แต่งบถูกพับไปเป็นเงิน 40 ล้านบาท ทำให้ผู้รับเหมาจะไม่สามารถเบิกเงินได้ เป็นภาระให้โรงพยาบาลต้องหางบมาปิดจ็อบเอง หรือทนกับงานก่อสร้างอาคารบริการที่ไม่แล้วเสร็จ เพราะงบโดนตัดไป และยังไม่มีคำตอบจากส่วนกลางว่าจะหามาเติมได้เมื่อใด

- โรงพยาบาลกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร เกิดปัญหาผู้รับเหมารายแรกทิ้งงาน ทางโรงพยาบาลแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน จนได้ผู้รับเหมารายใหม่ซึ่งทำงานดี เร่งงานตามงวดงาน ส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อ 21 ต.ค.2563 ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดตามระเบียบของ ว.318 ที่ระบุว่าต้องเสร็จทันวันที่ 30 ก.ย.2563 เพียง 21 วัน ส่งผลให้แม้จะส่งมอบตึกแล้วแต่โรงพยาบาลไม่มีเงินจะจ่ายผู้รับเหมาตามสัญญา เพราะงบถูกกระทรวงการคลังดึงกลับไป ทั้งโรงพยาบาลและผู้รับเหมาจึงต้องทนแบกหนี้ถึง 21.7 ล้านบาท ซึ่ง ผอ.โรงพยาบาลกำแพงเพชรต้องวิ่งหาเงินมาจ่ายผู้รับเหมาเอง อีกทั้งยังต้องหางบอีกกว่า 50 ล้านบาทมาจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ เตียงผู้ป่วย และอุปกรณ์สำนักงาน เพื่อให้สามารถเปิดบริการอาคารได้ทุกชั้นตามแผนด้วย

- โรงพยาบาลบางละมุง จ.ชลบุรี สร้างอาคารผู้ป่วยขนาด 10 ชั้น งบประมาณ 284.1 ล้านบาท ประสบปัญหางบพับ จาก ว.318 จำนวนสูงถึง 90 ล้านบาท เนื่องจากผู้รับเหมารายแรกทิ้งงาน ทำให้ทางโรงพยาบาลต้องบอกเลิกสัญญา แจ้งค่าปรับ ริบหลักประกันจากผู้รับเหมารายแรกส่งคืนคลัง กว่าจะเรียบร้อยก็ ม.ค.2563 แล้วจึงจัดหาผู้รับเหมารายใหม่ ลงนามในสัญญาเมื่อเดือน มี.ค.2563 เป็นเงินค่าก่อสร้าง 135.8 ล้านบาท สัญญา 14 งวดงาน ระยะเวลาก่อร้าง 450 วัน กำหนดเสร็จ มิ.ย.2564 ผู้รับเหมาส่งงานและได้เงินไปได้ 5 งวด ส่วนงวดที่ 6 เลยวันที่ 30 ก.ย.2563 จึงไม่สามารถเบิกเงินได้ และงบพับไปรวม 90 ล้านบาท เมื่อเบิกเงินไม่ได้ ผู้รับเหมาแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว จึงต้องขอหยุดงานก่อสร้าง

- โรงพยาบาลกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุ 4 ชั้น วงเงิน 80.64 ล้านบาท โดยงบที่ถูกพับไป ได้แก่ งวด 6 ซึ่งก่อสร้างเสร็จไปแล้วจำนวน 3,448,960 บาท และเงินค่าก่อสร้างสำหรับงวดงานที่ 7-15 เพื่อให้งานเดินต่อเนื่องในปี 2564 นี้ ไม่ใช่หยุดการก่อสร้างแล้วรอไปอีก 1 ปี




กำลังโหลดความคิดเห็น