อาจารย์ยักษ์แจง ‘โคก หนอง นา โมเดล’ ชุบชีวิตคนตกงาน และคนรุ่นใหม่ที่สนใจวิถีธรรมชาติตามรอยศาสตร์พระราชาเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงตลอดไป แจงจะมีบิ๊กโปรเจกต์บนเนื้อที่ 3 พันไร่สร้าง ‘ชุมชนวิถีชาวน้ำบึงรัก’ ที่เพียบพร้อมไปด้วยป่าพันธุ์ไม้ คลองเพื่อการประมง ผืนนาเกษตรอินทรีย์ที่พร้อมจะเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงคนกรุงเทพฯ มีลานจักรยาน ท่าเรือศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเบื้องต้นจะทำต้นแบบเพียง 100 ไร่ คาดจะผุด 8 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ขณะที่เชียงใหม่ ตาก และโคราช ยึดโมเดลนี้แล้ว
วิกฤตโควิด-19 ที่มีการระบาดในรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ภาคแรงงานตกงานมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการ ภาคส่งออก ธุรกิจเอสเอ็มอีที่คาดหวังจะฟื้นตัวในปี 2564 ก็กลับสาหัสไปกว่าเดิมเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งมีตัวเลขคาดการณ์จากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ว่าจะมีแรงงานตกงานทะลุถึง 7.13 ล้านคน
ส่วนธนาคารโลก (World Bank) ระบุเส้นความยากจนของประเทศไทย ซึ่งประชากรจะเข้าสู่ภาวะยากจนจากพิษโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะงักและชะลอตัว จะมีรายได้อยู่ที่ 165 บาทต่อวัน ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และยิ่งมาเจอโควิด-19 ระบาดซ้ำในปี 2564 คนเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร
‘โคก หนอง นา’ กำลังเป็นความหวังให้แก่คนไทยที่ต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจให้สามารถมีอยู่ มีกิน ได้ด้วยการนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มาประยุกต์ใช้ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
แต่ด้วยความไม่เข้าใจทำให้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินก้อนที่ได้รับจากการตกงานตัดสินใจลงทุนทำโครงการในทัน
สุดท้าย ‘เจ๊ง’ ! เงินก็หมด กลายเป็นปัญหาไม่จบสิ้น
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ‘อาจารย์ยักษ์’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งได้ลงมือทำตามแนวทางศาสตร์พระราชาด้วยตนเอง บอกว่า การทำเกษตรทฤษฎีใหม่จะทำให้ทุกคนมีอยู่มีกิน ขุดหนอง ลงไปลึก แล้วเอาดินขึ้นมาถมทำโคกให้สูง เพื่อปลูกป่า คันนาก็ทำให้สูง น้ำไม่ท่วม บนคันนาเราก็สามารถปลูกพืช ต้นพริก ต้นกล้วยพันธุ์ต่างๆ หรือพันธุ์พืชที่เราต้องการไว้กิน ไว้แบ่งปัน และเหลือก็ขาย ส่วนในหนองน้ำ หรือในคลอง เราก็เลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลาได้
“ผลผลิตที่มีอยู่ในพื้นที่จึงมีความมั่งคั่งยิ่งกว่าทองคำ การจัดการในพื้นที่รูปแบบนี้ภาษาบ้านๆ เขาเรียกว่า โคก หนอง นา จึงเป็นที่มาของ โคก หนอง นา โมเดล”
แต่การเข้าใจในเชิงทฤษฎีในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่เพียงเท่านี้ใช่ว่าจะทำให้ทุกคนทำเป็น ทำได้ และมีอยู่มีกินได้ตลอดไป
อาจารย์ยักษ์ บอกว่า คนที่อ่านและเข้าใจในเกษตรทฤษฎีใหม่ แล้วตัดสินใจไปลงทุน ลงมือทำปรากฏว่าเจ๊งกันไปเยอะ ดังนั้นจึงอยากจะแนะนำให้ใครก็ตาม หรือแรงงานที่ตกงานอยู่ในขณะนี้ ถ้ามีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจพอเพียง และคิดอยากจะทำโครงการ ‘โคก หนอง นา’ ให้ไปเข้ารับการอบรมตามศูนย์เรียนรู้ด้านศาสตร์พระราชา ที่มีอยู่ในจังหวัดต่างๆ ก่อนจะดีที่สุด
“คนที่ไปลงมือทำแล้วเจ๊ง โทร.มาปรึกษากันเยอะ ก็ได้แนะนำให้ไปอบรม จะใช้เวลา 4-5 วันในการอบรมแต่ละครั้ง ในส่วนของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติก็มี 40 กว่าสาขาและยังมีที่เป็นลูกศิษย์ เป็นเครือข่ายที่จัดให้มีการอบรมอีกหลายแห่ง”
ตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่เปิดให้มีการอบรมก็มีของทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวอยู่วิทยา หรือเจ้าพ่อกระทิงแดง ชื่อ ‘ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา’ บนพื้นที่ 50 ไร่ อยู่ที่เขาใหญ่ ในโครงการ ‘พึ่งตน เพื่อชาติ’ ที่ได้จัดให้มีหลักสูตรอบรมและมีผู้เข้าอบรมแล้วกว่า 500 คน
“ทายาทรุ่น 3 กระทิงแดง ได้ไปเข้าอบรมที่ชุมชนกสิกรรมวิถีมาบเอื้องมาก่อน และเชื่อว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชา จะช่วยในการดำรงชีวิตใหม่ เพราะหลังโควิด-19 ทำให้คนตกงานมาก ครอบครัวเดือดร้อน ซึ่งไม่รู้ว่าวิกฤตนี้จะจบเมื่อไหร่ จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อตอบแทนสังคม”
อาจารย์ยักษ์ บอกว่า การเข้าอบรมในหลักสูตร 4-5 วัน ตั้งแต่การสร้างปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มหรือการละลายพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม กิจกรรมเดินชมพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างองค์ความรู้มากขึ้น กิจกรรมลงแปลง คือการลงมือเพาะปลูกจริง เพื่อสร้างทักษะ และทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งในสิ่งที่ทำมากขึ้น การเรียนรู้ในการพึ่งตนเองที่เกิดจากการพัฒนาพื้นที่มาใช้ประโยชน์ รู้เรื่องของแหล่งอาหารหรือทรัพย์ในดินนั่นเอง
“รู้มั้ย การอบรมทำให้มีการติดต่อเป็นเครือข่ายกัน ใครมีอะไร ก็ไปช่วยกัน บางทีพันธุ์ไม้ที่เราจะปลูกในพื้นที่โคก หนอง นา ของเราเอง ไม่ต้องใช้เงินซื้อเลย เพราะเราจะได้จากเครือข่าย ไปช่วยกันปลูก ไปช่วยกันขุด เรียกว่าประเพณีลงแขก ที่เราจะต้องฟื้นประเพณีเหล่านี้ขึ้นมาให้คนจับต้องได้”
สิ่งสำคัญเมื่อผู้อบรมกลับไปทำโครงการในพื้นที่ ในชุมชนของตัวเอง มีการติดต่อเชื่อมโยงกัน แบ่งปันกัน อยู่รอดด้วยกัน โดยยึดหลัก ‘Our Loss is Our Gain’ คือ ‘ยิ่งให้ไป ก็ยิ่งได้มา’
ตรงนี้คือวิธีการสร้างรากฐานให้ครอบครัว ชุมชน สังคมเติบโตตามศาสตร์พระราชาให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืนมากขึ้น
อาจารย์ยักษ์ ระบุว่า จากการที่เกษตรทฤษฎีใหม่เติบโตและมีเครือข่ายมากขึ้น ทำให้คนที่มีกำลังทรัพย์ และกำลังสมองได้มาช่วยกันพัฒนาและต้องการสร้างเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เริ่มจากชุมชนกสิกรรมวิถีมาบเอื้อง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการสร้างให้สังคมได้เห็นว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร มีการขยายเครือข่ายไปอีกจำนวนมาก และชุมชนที่นี่บริหารงานในรูปแบบสหกรณ์ สมาชิกได้รับจัดสรรที่ดิน ผ่านการซื้อหุ้นสหกรณ์แต่ไม่มีการแบ่งโฉนด และไม่มีการซื้อที่เพื่อเก็งกำไร ส่วนโครงการที่ 2 คือ ศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ที่พนมสารคาม และโครงการที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นวิถีใหม่ของคนเมือง และเป็นแหล่งอาหารเพื่อป้อนคนกรุงเทพฯ โดยตรง
โครงการที่ 3 จะเป็นพื้นที่ที่ถูกพัฒนาตามรูปแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม ที่มีสภาพเป็นคลอง และจะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชนอาสาพัฒนามหานคร ของ นายวรเกียรติ สุจิวโรดม เจ้าของวาทกรรม ‘ไม่อยากเป็นคนจนที่มีแต่เงิน’ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจส่งออกเคมีภัณฑ์ โดยนำที่ดิน 133 ไร่ ที่ย่านหนองจอก มาทำ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งมีเป้าหมายจะทำเป็นแหล่งเรียนรู้และความมั่นคงทางอาหาร
ส่วนโครงการที่ 3 ของอาจารย์ยักษ์ นั้น เป็นความร่วมมือของแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบิน ที่ต้องการจะสร้างศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา และต้องการจะทำเป็นแหล่งอาหารเพื่อป้อนคนกรุงเทพฯ โดยตรง
“มีนายทุนที่ต้องการเสนอขายที่ 3 พันไร่ ที่เดิมปลูกข้าวโดยใช้สารเคมี ให้มาพัฒนาตามเกษตรทฤษฎีใหม่ในรูปแบบโคก หนอง นา เป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ตอนนี้เราต้องการทำในที่ดินที่มีอยู่แล้ว 100 กว่าไร่ เป็นโมเดลต้นแบบก่อน ส่วนที่ 3 พันไร่ เป็นเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไป”
ส่วนที่ดินแปลง 3 พันไร่นี้จะอยู่ประมาณ 2 ฝั่งคลอง 14 ที่จะกินพื้นที่ 2 จังหวัดคือ กทม.และฉะเชิงเทรา และจะสามารถขยายได้ถึง 4 พันไร่
แต่โครงการที่จะเป็นโมเดลที่ 3 นั้น เบื้องต้นจะทำในที่ดิน 100 กว่าไร่ จะแบ่งให้เป็นที่อยู่อาศัยโดยต้องเข้ามาเป็นสมาชิก เพียง 155 แปลง ภายในนั้นจะเป็นรูปแบบ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ ที่จะมีการปลูกป่า ทำประมง เลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา ทำนา มีโรงสี และมีโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงเรียน ศูนย์ปฏิบัติธรรม มีสถานที่ออกกำลังกาย เป็นลานขี่จักรยาน เส้นทางเดิน ส่วนที่ขุดเป็นคลองก็จะทำเป็นท่าเรือ
“คนจะมาอยู่ที่นี่ได้ ต้องผ่านการอบรมศาสตร์พระราชา 4-5 วัน ตามศูนย์กสิกรรมฯ ก่อน และจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ จะมีรายได้ มีปันผลจากผลผลิตที่ทำในโครงการ และจะต้องปลูกบ้านอยู่ในโครงการ ตามแบบที่คณะกรรมการอนุมัติด้วย”
อาจารย์ยักษ์ บอกอีกว่า โครงการนี้จะต้องขุดคลอง เอาดินมาทำเป็นโคกให้แล้วเสร็จก่อนจะถึงหน้าฝนปีนี้ และที่ดินนั้นก็มีผู้ที่เชื่อมั่นในศาสตร์พระราชา ได้ลงขันออกให้ก่อน ส่วนคนที่จะเข้ามาอยู่ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดิน คือต้องซื้อแปลงละ 1 ไร่ แต่จะใช้ปลูกบ้านของตัวเอง ได้เพียง 100 ตารางวา ที่เหลืออีก 3 งาน จะต้องให้เป็นพื้นที่ในการทำโครงการ
โดยบริษัทอาสาชาวนามหานครเพื่อสังคม จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ และคาดว่าจะใช้ชื่อโครงการ ‘ชุมชนวิถีชาวน้ำบึงรัก’ เพราะที่ดินแปลงนี้อยู่ในตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอวังน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
“ชุมชนแห่งนี้จะเป็นที่อยู่ของคน น้ำ ป่า ปลา กุ้ง ส่วน ท้องนา เต็มไปด้วยความรักความเมตตากัน มีนักเพาะพันธุ์ปลาเสนอตัวมาทำให้ จะมีศูนย์กสิกรรมธรรมชาติให้ได้เรียนรู้ จะเป็นแหล่งอาหารที่จะป้อนให้คนกรุงเทพฯ หากเกิดวิกฤตเกิดขึ้น รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต”
อาจารย์ยักษ์ บอกว่า ตั้งใจจะทำเป็นต้นแบบให้กับที่นี่ ส่วนอีก 3 พันไร่นั้น ก็อาจจะขยายโดยให้ชาวนา หรือเจ้าของที่ดินตรงนั้นค่อยๆ เรียนรู้และทำกันขึ้นมา ซึ่งไม่ต้องการใช้วิธีซื้อที่ดินแล้วมาทำต่อไป อีกทั้งรูปแบบดังกล่าวจะทำให้ได้ 8 จุดรอบ กทม.
“เรามีไลน์กรุ๊ปกลุ่มเกษตรกร ชาวนาเป็นพันคน เขาคิดและต่อยอดที่จะทำในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ ตอนนี้มีที่เชียงใหม่ ตาก และที่โคราช ก็เริ่มวางแผนกันแล้ว”
สำหรับโครงการโคก หนอง นา ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการถูกให้ออกจากงาน มีคนตกงานหลากหลายอาชีพ ทั้งต่างประเทศมาช่วยกันระดมสมองเพื่อทำโครงการนี้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ในรูปจิตอาสาด้วย
อีกทั้งรัฐบาลโดยกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีงบกว่า 4 พันล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีงบ 3 พันกว่าล้านบาท และหน่วยทหารพัฒนา ก็มีงบจำนวนหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยชุมชนที่ต้องการทำโครงการโคก หนอง นา อยู่แล้ว
“ควรอบรมเรียนรู้จากการลงแขก ทำกันจริงๆ เราจะได้เพื่อนเป็นเครือข่ายไปช่วยทำ ให้พันธุ์ไม้ ถ้าเงินไม่พอ ก็ขอทุนจากรัฐสนับสนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด จะทำให้ครอบครัวมีความมั่นคง มีอยู่ มีกิน จะเริ่มจากที่ดิน 1 ไร่ 3 ไร่ 5 ไร่ หรือเท่าไหร่ ก็สามารถไปติดต่อกรมพัฒนาชุมชนเพื่อดูรูปแบบในการพัฒนาได้”
ดังนั้น ผู้ที่สนใจและเชื่อมั่นในศาสตร์พระราชาสามารถติดต่อไปในแต่ละศูนย์ฯ ของแต่ละจังหวัดเพื่อความมั่งคงของแต่ละครอบครัวได้ เพราะไม่รู้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเราอีกนานเพียงใด!