xs
xsm
sm
md
lg

“เฟกนิวส์โควิด-19” ระบาดหนัก ก.ดิจิทัล เผย “3 กลุ่ม” ต้นตอข่าวลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รองปลัด ก.ดิจิทัล” เผยเฟกนิวส์โควิด-19 ระบาดจาก 3 กลุ่มหลัก ชี้มี “กลุ่มก่อกวน” อวตารสร้างข่าวปลอม ทั้งหวังผล-คึกคะนอง-มีอาการทางจิต ขณะที่ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย” พบ ช่วง ธ.ค.63-ม.ค.64 มีเฟกนิวส์เรื่องโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ด้าน “Cofact” เผยพบการวนซ้ำของข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19  ทั้งที่เคยถูกแฉมาแล้วว่าเป็นเรื่องลวงโลก

ขณะที่ผู้คนกำลังเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และพยายามติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ทันท่วงที แต่ปัจจุบันกลับพบว่าข่าวสารที่ปรากฏในสื่อโซเชียลนั้นมีไม่น้อยที่เชื่อถือไม่ได้เพราะกลายเป็น “เฟกนิวส์” จึงเกิดคำถามตามมาว่าเฟกนิวส์มาจากไหน? ใครเป็นคนสร้าง? และจะตรวจสอบอย่างไรว่าข่าวนั้นๆ เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า?

 นายภุชพงค์  โนตไธสง  รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายภุชพงค์ โนตไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้ว่า แม้เฟกนิวส์จะมีมานานแล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อโซเชียลต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้การแพร่ขยายของข่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนไฟไหม้ฟาง ซึ่งลักษณะข่าวที่มักจะเกิดเฟกนิวส์มีอยู่ 4 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.ประเด็นซึ่งเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ 2.ประเด็นที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ 3.ประเด็นที่ส่งผลต่อสุขภาพ และ 4.ประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งกรณีโควิด-19 บังเอิญเข้าข่ายทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว จึงมีเฟกนิวส์โควิด-19 เกิดขึ้นมากมาย

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เข้าข่ายลักษณะข่าวทั้ง 4 กลุ่มเลย เพราะโควิด-19 มีผลโดยตรงต่อสุขภาพ เป็นโรคระบาดซึ่งถือเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมทั้งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศด้วย ดังนั้น จึงมีเฟกนิวส์เกี่ยวกับโควิด-19 เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันตรวจสอบและสกัดกั้นเพื่อไม่ให้เฟกนิวส์เหล่านี้มาซ้ำเติมปัญหาโควิด-19 ที่หนักอยู่แล้ว” นายภุชพงค์ ระบุ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า จากข้อมูลของ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย” พบว่า ช่วงเดือน ธ.ค.2563-ม.ค.2564 มีเฟกนิวส์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นกว่าช่วง 6 เดือนก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย.-พ.ย.2563 มีเฟกนิวส์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 เพียงเดือนละ 2-3 ข่าวเท่านั้น แต่ในเดือน ธ.ค.2563 และ ม.ค.2564 กลับมีเฟกนิวส์โควิด-19 เกิดขึ้นเดือนละไม่ต่ำกว่า 20 ข่าว หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า โดยมีทั้งข่าวที่เกี่ยวกับการป้องกัน-รักษา การแพร่ระบาด และคำสั่งของภาครัฐที่เกี่ยวกับการสกัดกั้นโควิด-19 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีเฟกนิวส์โควิด-19 เกิดขึ้นจำนวนมากน่าจะเกิดจากผู้คนกลับมาให้ความสนใจโควิด-19 ที่เข้ามาระลอกใหม่ ทำให้มีผู้เห็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์จากความหวาดกลัวโควิด-19

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย (CofactThailand)
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย (CofactThailand) ระบุว่า เฟกนิวส์โควิด-19 เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะจากเดิมที่ผู้คนเดือดร้อนจากผลกระทบของโควิด-19 อยู่แล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากข้อมูลเท็จที่สร้างความตื่นตระหนก หรือได้รับอันตรายจากการทำตามข้อแนะนำที่เป็นเรื่องหลอกลวง ที่น่าสังเกตคือ จากข้อมูลพบว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์เฟกนิวส์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 เป็นข่าวลือข่าวลวงวนซ้ำไปมาอีกรอบทั้งที่มีการตรวจสอบแล้วว่าไม่เป็นความจริง อีกทั้งวัฒนธรรมความเกรงใจที่ทำให้ไม่เกิดการแก้ไขท้วงติงข้อมูลที่ส่งต่อกันมาในกลุ่มเพื่อนร่วมงานหรือเครือญาติ จึงทำให้ข้อมูลเท็จเหล่านั้นวนไปมาไม่จบสิ้น

“แม้เฟกนิวส์หลายๆ เรื่องเกี่ยวโควิด-19 จะมีการพิสูจน์กันไปแล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ถูกนำกลับมาแชร์กันบนโลกออนไลน์อีกครั้ง ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้คนตื่นตัวเรื่องการป้องกันโควิด-19 เมื่อเจอข้อมูลอะไรที่เกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งตนไม่เคยรู้มาก่อนก็รีบโพสต์รีบแชร์ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่” สุภิญญา ระบุ


ส่วนว่าเฟกนิวส์โควิด-19 เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ อธิบายเรื่องนี้ว่า เนื่องจากสื่อโซเชียลเป็นโลกเสมือนจริง คนจึงกล้าที่จะสร้างเฟกนิวส์ หรือโพสต์ข้อมูลโดยไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า เพราะเชื่อว่าการติดตามหาผู้โพสต์เป็นไปได้ยาก ซึ่งจากการตรวจสอบของกระทรวงดิจิทัลฯ พบว่า มีกลุ่มคนที่ทำให้เกิดเฟกนิวส์อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มที่ตั้งใจก่อกวน สร้างกระแส ซี่งกลุ่มนี้คือต้นตอที่สร้างเฟกนิวส์ขึ้นมา เป็นกลุ่มที่เก่งเรื่องสื่อโซเชียล และมีไม่น้อยที่มาในรูปของอวตาร กลุ่มนี้น่ากลัวสุด เนื่องจากมีเจตนาสร้างความปั่นป่วนหวาดกลัวให้แก่ผู้คนในสังคม โดยผู้ที่ทำนั้นมีทั้งผู้ที่เจตนาจะสร้างความวุ่นวาย เพื่อหวังผลบางอย่าง คนที่ทำเพราะความคึกคะนอง และคนที่มีอาการทางจิต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาครอบครัว

2.กลุ่มที่ต้องการสร้างกระแสเพื่อหวังผลประโยชน์ เช่น โพสต์เรื่องชุดตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Test สามารถใช้ตรวจเองได้ เพราะตนเองขายชุดตรวจโควิด-19 โพสต์เฟกนิวส์เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้คนตื่นกลัวจะได้สั่งซื้อหน้ากากอนามัยจำนวนมากๆ ซึ่งกลุ่มนี้มีทั้งคนที่รู้และไม่รู้ว่าเป็นเฟกนิวส์

3.กลุ่มที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โพสต์หรือส่งต่อเฟกนิวส์เกี่ยวกับโควิด-19 ให้เพื่อนฝูงญาติมิตรด้วยความปรารถนาดี โดยไม่ได้ตรวจสอบที่มาหรือข้อมูลที่แท้จริง กลุ่มนี้มีทุกเพศทุกวัย แต่ที่พบมากสุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ


“โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มียารักษา จึงเป็นเรื่องที่ผู้คนหวาดกลัวและไม่มีความรู้ในการจัดการ จึงพยายามหาว่ามีวิธีการใดที่จะทำให้โควิด-19 ไม่สามารถทำอันตรายเราได้ จึงมีผู้ที่สร้างเฟกนิวส์เพื่อหาประโยชน์จากการขายสินค้า หรือใช้ประเด็นนี้ในการสร้างความปั่นป่วน ตื่นตระหนก ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็มีเฟกนิวส์ที่เกิดจากความหวังดี ต้องการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้เพื่อนฝูงญาติมิตร ซึ่งไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่เป็นผลดีทั้งสิ้น” นายภุชพงศ์ ระบุ

เนื่องจากเฟกนิวส์มีที่มาหลากหลาย มีการอ้างอิงข้อมูลเนื้อหาที่ดูน่าเชื่อถือ หลายคนจึงสงสัยว่าจะเรารู้ได้อย่างไรว่าข่าวนั้นๆ เป็นเฟกนิวส์หรือไม่ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้แนะนำวิธีตรวจสอบเฟกนิวส์ไว้ 12 ข้อ ดังนี้ 1) อ่านข่าวทั้งหมดโดยไม่เชื่อพาดหัวข่าวเพียงอย่างเดียว 2) ตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์ที่นำมาเผยแพร่ 3) ตรวจสอบแหล่งที่มาตัวตนของผู้เขียน 4) ดูความผิดปกติของตัวสะกดภาษาที่ใช้หรือการเรียบเรียง 5) พิจารณาภาพประกอบข่าว 6) ตรวจสอบวันที่ของการเผยแพร่ข่าว 7) ตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาใช้ 8) หาข้อมูลเปรียบเทียบกับเว็บไซต์อื่น 9) ตรวจสอบว่าข่าวสารที่ส่งต่อกันมามีวัตถุประสงค์ใด 10) พิจารณาความสมเหตุสมผลของข่าว 11) ตรวจสอบอคติของตนเอง และ 12) หากมีคำถามหรือข้อสงสัยควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ


ส่วนเรื่องของการปราบปรามหรือสกัดกั้นการแพร่ของเฟกนิวส์โควิด-19 นั้น ทางกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยนายภุชพงค์ เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการตรวจสอบ ตักเตือน และจับกุมดำเนินคดีผู้ที่สร้างและเผยแพร่เฟกนิวส์โควิด-19 อย่างเข้มข้น ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่ 1 คือ ผู้ที่สร้างเฟกนิวส์เพื่อต้องการให้สังคมเกิดความปั่นป่วน เมื่อตรวจพบ User ID ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หรือที่เรียกว่าตำรวจไซเบอร์จะเข้าไปจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย หากเป็นกลุ่มที่ 2 คือ ปั่นกระแสเฟกนิวส์โควิด-19 เพื่อหวังผลประโยชน์ ก็จะตักเตือน ทำความเข้าใจ และคาดโทษไว้ แต่หากเป็นกลุ่มที่ 3 คือ ส่งต่อเฟกนิวส์โควิด-19 เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะทำความเข้าใจ แนะนำการตรวจสอบเฟกนิวส์ และให้ระมัดระวังการโพสต์ข้อมูลที่อาจเป็นเท็จ

นอกจากนั้น ในปี 2564 กระทรวงดิจิทัลฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ยังได้เตรียมแผนการดำเนินการสร้างการรับรู้เท่าทันข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเติมความรู้โดยจะผลิตสื่อที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เช่น วิดีโอต่างๆ ที่สอดคล้องกับ 4 กลุ่มข่าว สื่อไวรัลที่อยู่ในกระแสของสังคม พัฒนาระบบในการใช้ตรวจสอบข่าวปลอมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งขอความร่วมมือกับสำนักข่าวต่างๆ ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น