วัคซีน Sinovac จากจีน จำนวน 2 ล้านโดส ที่กำลังจะนำมาฉีดในเฟสแรกปลายเดือน กพ.นี้ ยังเป็นที่กังขาว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หลังผลการวิจัยของบราซิล แค่ 50.38% บรรดาเพจหมอแนะก่อนฉีดต้องทำอย่างไร พร้อมยุให้ ‘บิ๊กตู่’ ฉีดก่อนเพื่อเรียกความเชื่อมั่น วงในชี้ Sinovac ประสิทธิภาพดีลดอาการป่วยรุนแรงได้ 100% ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขได้ ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ. แจงขอให้ประชาชนไว้ใจ มีการตรวจสอบตามมาตรฐาน GMP และ GLP จากผู้เชี่ยวชาญ ยันถ้าเป็น 6 เดือนที่แล้ว ‘หมอและครอบครัว’ จะไม่ยอมฉีดแน่มั่นใจการฉีดจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ พยุงระบบสาธารณสุขได้ หากไม่ฉีดเกิดการระบาดจะมีคนตายถึง 6 แสนคน!
ผลทดสอบของศูนย์ชีวการแพทย์บูทันทัน (Butantan Biomedical Center) ที่ได้ทำการทดลองเชิงคลินิกวัคซีน CoronaVac ของ Sinovac ในเฟส 3 ที่ประเทศบราซิล พบว่ามีประสิทธิภาพทั่วไปอยู่ที่ 50.38 เปอร์เซ็นต์นั้น ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและเกรงว่ารัฐบาลบิ๊กตู่จะนำวัคซีนที่ไม่ได้ประสิทธิภาพมาฉีดให้คนไทย
ส่งผลให้โลกโซเชียลมีการตั้งประเด็นคำถามในเชิงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่า ‘คุณจะฉีดวัคซีนไหม’ ซึ่งมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย โดยเฉพาะเสนอให้ฉีดวัคซีนโควิดให้ "บิ๊กตู่" ก่อนเป็นตัวอย่าง ซึ่งได้รับสติกเกอร์และคอมเมนต์สนับสนุนมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีเพจหมอ เช่น 1412 Cardiology มีข้อแนะนำว่าไม่ควรไปโจมตีรัฐบาลด้วยข่าวนี้ซึ่ง CoronaVac ของ Sinovac เรายังไม่สามารถสรุปประสิทธิภาพของวัคซีน และผลข้างเคียงต่างๆ ในเบื้องต้นได้ เพราะการศึกษาเฟส 3 ยังไม่เสร็จและถูกตีพิมพ์ ถึงมันจะห่วยแตกก็ต้องถูกตีพิมพ์ให้รู้ว่ามันห่วย แต่ไม่ใช่ยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดแล้วเอามาฉีดให้คนไทย
ในเพจหมอ บอกอีกว่า ก่อนจะไปลงทะเบียนฉีดวัคซีนกับรัฐบาล ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน ‘ถามเค้าก่อนว่าเป็นวัคซีนอะไร’ พร้อมเรียนรู้กลไกและชนิดของวัคซีนที่จะฉีดด้วย ..และจะฟังแค่เค้าบอกว่าดี เค้าบอกว่าฉีดได้ไม่พอ ต้องอ่านผลการศึกษาในเฟส 1-3 เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเพจหมอ เช่น ‘อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว’ เขียนรายละเอียดถึงวัคซีนโควิดที่ผ่านการรับรองและชี้ให้เห็นว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมีเกณฑ์ประเมินอย่างไร และบทสรุปที่สำคัญคือคนไทยควรจะฉีดวัคซีนโควิดเพื่อลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่และมีการระบาดรุนแรงเพื่อพยุงระบบสาธารณสุข ส่งเสริมการสร้าง Herd Immunity
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องไม่นิ่งนอนใจผลทดสอบของทางบราซิล เพื่อนำมาใช้ในการประเมินการฉีดวัคซีน Sinovac ที่จะมีขึ้นในเดือน ก.พ.นี้ ทั้งในเรื่องขั้นตอนต่างๆ วิธีการฉีด กี่เข็ม ห่างกันกี่วัน เรื่องกลุ่มอาสาสมัครเป็นประชากรกลุ่มใด มีโอกาสติดเชื้อ หรือติดโรคมากน้อยเพียงใด เรื่องของตัวเลขประสิทธิภาพการป้องกันแบบใดในระหว่างป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันแบบติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือป้องกันอาการรุนแรงจนอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดได้ แต่เมื่อฉีดวัคซีนนี้แล้วไม่ปรากฏอาการรุนแรงหรือไม่ทำให้เสียชีวิตในที่สุด
“กลุ่มประชากรที่เป็นอาสาสมัครก็มีนัยสำคัญในทางสถิติส่งผลกับตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนได้ เพราะถ้าผลทดสอบใช้บุคลากรทางการแพทย์ก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าประชาชนทั่วไป”
ดังนั้น เชื่อว่า ก.สาธารณสุข จะต้องดูผลการทดสอบทั้งจากวัคซีนของ Pfizer, Moderna, AstraZeneca และ Sinovac ที่อาจจะมีการใช้ในระดับ Head to Head เพื่อความปลอดภัยของคนไทยเช่นกัน
“ว่ากันว่า Sinovac ใช้อาสาสมัครเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในระดับหมื่นคนที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด ผลออกมาป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้ 100% ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และป้องกันการป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นการลดภาระระบบสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้วงการแพทย์ต่างก็รอผลวิจัยที่จะตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เราไม่ควรฟังแค่แถลงการณ์และแถลงข่าวจนตื่นตระหนกกัน”
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ขอข้อมูลทั้งหมดจาก Sinovac ไปแล้วและรอคำตอบเป็นทางการว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดคืออะไร เพราะในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนที่กำลังดำเนินการทางเอกสารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด
“ต้องรอข้อมูลจาก Sinovac แต่ข้อดีของวัคซีนจีนคือใช้เทคโนโลยีรูปแบบเชื้อตายฉีดเข้าไปในร่างกาย เป็นการทำวัคซีนแบบดั้งเดิมที่เคยทำกันในวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี หรือวัคซีนโรคโปลิโอ เป็นเทคนิคที่เราคุ้นชิน ซึ่งประเทศจีนได้ฉีดให้ทหารและบุคลากรทางการแพทย์ของเขาไปแล้วหลายแสนคน ไม่พบผลข้างเคียงที่น่าวิตก เมื่อเทียบกับวัคซีนบางรายที่ฉีดไปแล้วไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ พยาบาล”
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำว่า วัคซีนที่เลือกจะนำมาใช้นั้นต้องคำนึงถึง 1.คุณภาพ ประสิทธิภาพต่างๆ ที่เหมาะสม 2.ราคา เพราะต้องใช้วัคซีนในการฉีดจำนวนมาก 3.จำนวนวัคซีนที่ประเทศผู้ผลิตจะมีให้ ซึ่ง 2 ล้านโดส จีนจะให้เราได้ใน 1-2 เดือน
“ผู้ผลิตรายอื่นแม้จะมีคุณภาพดี แต่จะส่งมอบให้เราได้ตอนปลายปี เราจะรอกันหรือเปล่า ก็ต้องชั่งน้ำหนักดู”
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษา ก.สาธารณสุข นพ.ทรงคุณวุฒิ รก.ระดับ 11 หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุขและโฆษก สธ. บอกว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและให้เชื่อมั่นว่าวัคซีนที่รัฐบาลเลือกมาฉีดให้ประชาชนต้องได้มาตรฐาน GMP (วัคซีนปลอดภัยมีคุณภาพ) ถูกต้องตามหลักวิชาการทุกด้าน มีคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดซึ่งล้วนเป็นแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอกทั้งสิ้น
หากจะถามว่าทำไม? เราต้องฉีดวัคซีนโควิด คำตอบก็คือ เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตัวนี้เป็นเชื้อตัวใหม่หรือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ประเทศไทยหรือคนไทยทั้ง 68 ล้านคนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน หากเราปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อตัวนี้ก็จะติดกันอย่างรวดเร็ว เราจะสูญเสียประมาณ 10% นั่นหมายความว่าจะมีผู้เสียชีวิตถึง 6 แสนคน ซึ่งจะเหมือนกับอเมริกา และอิตาลี แต่เนื่องจากไทยมีมาตรการที่ดี จึงสามารถชะลอการติดเชื้อได้ ไม่แพร่กระจายรวดเร็วเหมือนประเทศอื่นๆ
รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะฉีดให้ฟรี โดยมีการเตรียมวัคซีนเบื้องต้นไว้ประมาณ 63 ล้านโดส เพื่อครอบคลุมประชากรไทยร้อยละ 50 ภายในปี 2564 ซึ่ง 1 คนจะต้องฉีด 2 เข็ม จึงต้องมีเกณฑ์การฉีดว่าจะต้องฉีดให้กลุ่มไหนก่อน โดยจะได้วัคซีน Sinovac จากจีนจำนวน 2 ล้านโดส ในเดือน ก.พ.-เม.ย. เดือน พ.ค.จะได้จาก Oxford-AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดส และรัฐบาลได้อนุมัติซื้อวัคซีนจาก Oxford-AstraZeneca อีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส
ตามไทม์ไลน์ เฟสแรกจะต้องฉีดให้กลุ่มเสี่ยงตายก่อนใน 5 จังหวัดที่มีภาวะเสี่ยงหรือพื้นที่สีแดง ซึ่งจะเริ่มฉีดช่วงปลาย ก.พ.นี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย 1.กลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ อสม. เจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนาม 2.กลุ่มที่มีโรคประจำตัว เสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง ผู้สูงอายุและกลุ่มจำเป็นอื่นๆ จากนั้นก็จะเข้าสู่เฟส 2 และเฟส 3 ต่อไป
“ถ้าวัคซีนเหลือ เราก็จะฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงเป็น เพราะในโซนสีแดงจะมีทั้งผู้เสี่ยงตายและเสี่ยงเป็นอยู่ด้วยกัน เวลานี้ทั้ง 2 กลุ่ม ต้องมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี หรือ New Normal ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ใช้เจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างไว้ ซึ่งพวกนี้อาจไม่ปรากฏอาการ แต่ก็สามารถไปแพร่ให้กลุ่มเสี่ยงตายคือคนที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุได้”
ที่สำคัญการฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดสต่อคน ตามหลักวิชาการนั้น เป็นการมุ่งเน้นสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน หรือที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ซึ่งจะหยุดยั้งการระบาดของโรค หรือถ้าระบาดก็จะลดน้อยถอยลง จนใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ กระทั่งไม่มีการระบาดเกิดขึ้นเลย
นพ.รุ่งเรือง ย้ำว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนที่นำมาฉีดนั้นมีคณะกรรมการตรวจสอบ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิภายในและภายนอก ก.สาธารณสุข ร่วมพิจารณาในทุกขั้นตอนการวิจัย จะต้องได้ตามมาตรฐาน GMP : Good Manufacturing Practice และมาตรฐาน GLP : Good Laboratory Practice ซึ่งในการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนคอตีบ ก็มีผลข้างเคียง เช่นใน 100 คน จะมี 1-2 คน มีอาการไข้ ส่วนวัคซีนคอตีบ ก็จะมีอาการปวดแขนบ้าง เป็นต้น
“ถ้าเราใช้หลักวิทยาศาสตร์พิจารณา ก็จะไม่เกิดการตื่นตระหนก ดูมือถือของจีน ช่วงออกใหม่ๆ ก็มีกระแสโจมตี แต่ด้วยเทคโนโลยีในการพัฒนา วันนี้มือถือจีนก็ไปได้ไกลมาก เหมือนวัคซีน Sinovac หรือค่ายอื่นๆ ถ้าฉีดเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา บอกได้เลยหมอก็จะไม่ฉีด ไม่ให้คุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัวฉีดแน่นอน”
แต่วันนี้ Sinovac ผ่านกระบวนการพัฒนาจนไปสู่ระดับการมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ตัวหมอมีความมั่นใจและยืนยันว่าจะฉีดวัคซีนโควิดทั้งครอบครัว!!
ขณะที่นายหยิน เหว่ยตง ประธานบริษัท Sinovac Biotech ยืนยันว่า วัคซีน CoronaVac ของทางบริษัทมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 จากผลการทดลองทางคลินิกของวัคซีนในเฟส 3 เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าวัคซีน CoronaVac มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ได้ทั่วโลก !
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีน Sinovac ของจีน อาจต้องให้ ‘บิ๊กตู่’ ฉีดวัคซีนตัวนี้เป็นอันดับแรกหรือไม่?