ม็อบคณะราษฎรเบรกชุมนุมรอก้าวหน้า-เพื่อไทยเลือกตั้ง อบจ.เสร็จ ขณะที่เยาวชนปลดแอกไปสุดหลุดกรอบประชาธิปไตยชูแนวทางคอมมิวนิสต์ เพนกวิน-รุ้ง ประสานเสียงแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมไม่ใช่สมาชิกปลดแอกตัดหางยึดมั่นในประชาธิปไตย รักษาสัมพันธ์มหาอำนาจ
หลังจากการนัดชุมนุมใหญ่ครั้งสุดท้ายของปี 2563 ของม็อบคณะราษฎร เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 เพื่อรับฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีบ้านพักทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าความต้องการของผู้ชุมนุมคือต้องการเห็นการพ้นตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กระทำผิด
กว่า 4 เดือนของการชุมนุมแบบไม่ค้างคืนกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ที่มา ส.ว.) และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีเพียงข้อ 2 เท่านั้นที่รัฐบาลรับไปแก้ไข แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะสำหรับการดำเนินการ
ช่วงที่แกนนำคณะราษฎรไม่ส่งสัญญาณใดๆ ที่จะชุมนุมต่อ แกนนำจำเป็นต้องสร้างกระแสเพื่อให้มวลชนได้เห็นถึงการเคลื่อนไหว แม้ว่าจะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวย่อยก็ตาม แต่ดูเหมือนแกนนำแต่ละคนจะเลือกทำกิจกรรมที่ไร้ทิศทาง
Free Youth กู่ไม่กลับ
หนึ่งในนั้นคือ ความพยายามจะเข้าร่วมกลุ่มกับผู้ที่คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่มาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล อ้างเรื่องความไม่เป็นธรรมของรัฐที่มีต่อโครงการนี้ แต่กลุ่มคณะราษฎรก็ไม่ได้เข้าร่วมอย่างจริงจัง เพราะเป้าหมายของ 2 คณะนี้ถือว่าเป็นคนละแนวทาง สุดท้ายรัฐบาลก็รับเอาเรื่องนิคมดังกล่าวไปหารือ กลุ่มคัดค้านจะนะจึงเดินทางกลับสงขลา
ขณะที่แกนนำอย่างเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ เลือกที่จะร่วมกิจกรรมแสดงลำตัดร่วมกับ อนุสรณ์ 14 ตุลาคม และแสดงอีกครั้งผ่านการ Live สด แกนนำคนอื่นเลือกที่จะเคลื่อนไหวบนสื่อออนไลน์ ตามเหตุการณ์ ตามหมายเรียกที่ถูกดำเนินคดี หรือแสดงความคิดเห็นอื่นๆ ตามแนวคิดของทางกลุ่ม
ส่วนกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ได้โพสต์ข้อความทั้งเรื่องสาธารณรัฐ และ RT (Restart Thailand) Movement แสดงสัญลักษณ์คล้ายค้อนเคียวของระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมด้วยคำอธิบายรายละเอียดเป็นไปในแนวทางเดียวกับคอมมิวนิสต์
แม้จะกลายเป็นกระแสในด้านลบจากกลุ่มที่เห็นต่าง แต่ Free Youth ก็ยังมุ่งมั่นในแนวทางดังกล่าวพร้อมทั้งโพสต์อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “พรรคสีฟ้าไม่ใช่สนับสนุนประชาธิปไตยฉันใด คอมมิวนิสต์ก็ไม่เท่ากับเผด็จการฉันนั้น และจีน เกาหลีเหนือ ก็ไม่อาจเรียกตัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้”
“กวิน-รุ้ง” ชูประชาธิปไตย
แนวทางของเยาวชนปลดแอกนอกจากจะถูกปฏิเสธจากกลุ่มฝ่ายตรงข้ามแล้ว แม้แต่ภายในกลุ่มคณะราษฎรด้วยกันก็ออกอาการไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเยาวชนปลดแอก
อย่างเช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำคนสำคัญที่ออกมาโพสต์ว่า พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน ผมขอชี้แจงกับทุกท่านว่าผมเป็นสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) และจุดยืนที่ปรากฏในเพจเยาวชนปลดแอกนั้น เป็นแนวทางของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเอง ไม่ใช่แนวทางของผม ไม่ใช่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และที่สำคัญ ไม่ใช่มติของราษฎร ผมยังคงยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีเผด็จการหรือศักดินาแทรกแซงครอบงำ เพื่อประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม และเพื่อประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการโอบอุ้มชีวิตของทุกคน
เช่นเดียวกับนายอานนท์ นำพา “ตอนนี้หน่วยงานความมั่นคงพยายามแยกน้ำแยกปลาของคนในขบวนม็อบว่าใครมีแนวคิดยังไง บอกไว้เลย ว่าผมยึดหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพครับ”
น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง โพสต์ข้อความเช่นเดียวกันว่า เรียนราษฎรผู้รักในประชาธิปไตยทุกคน เนื่องจากตอนนี้เกิดความสับสนขึ้นต่อจุดยืนของแกนนำแต่ละคน และกลุ่มต่างๆ รุ้งจึงขอชี้แจงกับทุกคนเพื่อยุติความสับสนดังนี้
รุ้งเป็นสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จุดยืนของเราในการเคลื่อนไหวมีดังต่อไปนี้คือ 1.ประยุทธ์และองคาพยพต้องออกไป 2.การแก้รัฐธรรมนูญให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3.การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เรายึดมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เราสนับสนุนการมีรัฐสวัสดิการเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหากข้อเสนอ 3 ข้อนี้ไม่ได้รับการตอบรับ ข้อเรียกร้องเพียงข้อเดียวคงเป็นทางเลือกสุดท้ายในที่สุด
ที่ต้องออกมาชี้แจงเพียงเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนขึ้นว่าจุดยืนของแต่ละคนเป็นยังไงเพียงเท่านั้น เราสนับสนุนให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีค่ะ
ตามมาด้วยแถลงการณ์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เรื่องจุดยืนต่อแนวทางการเคลื่อนไหวของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ไม่มีเผด็จการหรือศักดินาแทรกแซงครอบงำ เพื่อประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม และเพื่อรัฐสวัสดิการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างเสมอภาค ดังนั้น ข้อเสนอต่างๆ ที่ยืนอยู่บนหลักการพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอใดก็ตาม มิใช่สิ่งที่ผิดประการใด แต่ข้อเสนอต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับเจตจำนงของราษฎรทั้งหลายว่า จะเป็นผู้ที่ตอบรับต่อข้อเสนอที่เกิดขึ้นมามากน้อยเพียงใด
ปฏิเสธคอมมิวนิสต์-หวั่นชาติที่สนับสนุน
แนวคิดของเยาวชนปลดแอก ถือว่าขัดต่อแนวทางของความเป็นประชาธิปไตยที่แกนนำใช้เป็นเครื่องมือของการชุมนุมเรียกร้อง กล่าวหาว่ารัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย แต่แนวคิดของม็อบคณะราษฎรกลับขายแนวทางของระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่ต่างไปจากการหลอกมวลชนที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมที่เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย
ขณะที่อีกด้านหนึ่งแม้จะไม่ชัดเจนว่าต่างชาติมหาอำนาจที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลกระบอบประชาธิปไตยที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมครั้งนี้ แนวคิดซ้ายสุดอย่างคอมมิวนิสต์ย่อมไปกันคนละแนวทางกับฝ่ายประชาธิปไตยของชาติมหาอำนาจ
แนวทางความช่วยเหลือต่างๆ อาจต้องหยุดชะงักไป เมื่อหนึ่งในแกนนำคณะราษฎรได้เปลี่ยนแนวทางไปเดินเส้นทางสายตรงข้ามกับประชาธิปไตย เพราะก่อนหน้านี้ นางลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ ส.ว.สหรัฐฯ เสนอให้วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติสนับสนุนการใช้สิทธิการชุมนุมนทางการเมืองในประเทศไทย
ดังนั้น บรรดาแกนนำคณะราษฎรคนอื่นๆ จึงออกมาแสดงจุดยืนคนละทางกับเยาวชนปลดแอก
เยาวชนปลดแอกเดินต่อยาก
แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่มคณะราษฎร 2563 เป็นการรวมตัวกันของหลายกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แรกๆ อาจได้ยินชื่อของเยาวชนปลดแอกบ่อยครั้ง ซึ่งมีนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เป็นแกนนำ และเริ่มมีแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มีนายพริษฐ์ชิวารักษ์ และ น.ส.ปนัสยา รวมถึงกลุ่มพลเมืองโต้กลับของนายอานนท์ นำภา เข้ามาร่วมกัน
ระยะแรกทุกอย่างราบรื่นได้เห็นการทำงานร่วมกันของกลุ่มต่างๆ และมีส่วนเสริมเข้ามาอย่างไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก จากระยอง ไผ่ ดาวดิน ครูใหญ่อรรถพล แต่ในระยะหลังแกนนำหลักการชุมนุมเป็นของเพนกวิน รุ้ง อานนท์ ไมค์ แต่ทัตเทพ เหมือนลดบทบาทลงไป เช่นเดียวกับเพจเยาวชนปลดแอก ได้ลดการนำเสนอความเคลื่อนไหวของการชุมนุมลงด้วยเช่นกัน รวมไปถึง Telegram ของเยาวชนปลดแอกได้ลดรายงานการชุมนุมลง จนมีการเปิดกลุ่มใหม่อย่างข่าวกรองแกง ขึ้นมาทำหน้าที่แทน
ดูเหมือนตั้งแต่ทัตเทพ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เขาก็ลดบทบาทลงไปมาก ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยเหมือนแกนนำคนอื่น การรวมกันของหลายกลุ่ม ย่อมมีปัญหาในเรื่องของแนวคิดเพราะเป้าหมายสุดท้ายแต่ละกลุ่มย่อมไม่เหมือนกัน หากไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้
เมื่อกลุ่มของเยาวชนปลดแอกเปิดแนวคิดในลักษณะนี้ออกมา โอกาสที่ทีมคณะราษฎรและเยาวชนปลดแอกจะเดินร่วมกันต่อไปอีกคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแกนนำของแต่ละกลุ่มนั้นย่อมมีฝ่ายที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น เท่าที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกครบรอบ 1 ปี ได้บอกถึงที่มาที่ไปว่าไม่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง เป็นเพียงนักศึกษา 3 คนที่เป็นแกนหลักในการก่อตั้งเท่านั้น
รอก้าวหน้า-เพื่อไทยเลือก อบจ.
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่ม็อบหยุดการเคลื่อนไหวนับตั้งแต่ 2 ธันวาคมเป็นต้นมา นั่นคือ ฐานการเมืองที่มีความประสงค์ในแนวทางเดียวกับม็อบ อยู่ในระหว่างกลุ่มการเมืองลงพื้นที่หาเสียงช่วยผู้สมัครลงชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2563
จึงทำให้ทั้งทิศทางการเคลื่อนไหวสนับสนุนม็อบน้อยลง เนื่องจากหันไปทุ่มเวลาในการลงพื้นที่หาเสียง เพราะฐานเสียงในระดับจังหวัดนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกตั้งในระดับชาติครั้งต่อไป ซึ่งพรรคเพื่อไทยทราบเรื่องนี้ดี ทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้งพรรคเพื่อไทยมักได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นจำนวนมากแทบทุกครั้ง
ดังนั้น การเมืองท้องถิ่นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แน่นอนว่างานนี้คณะก้าวหน้าของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช จึงต้องลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครในสังกัด แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากกลุ่มที่รักสถาบันฯ ก็ตาม
โจทย์ใหม่หลังจบ อบจ.
ประเมินว่าทิศทางการเคลื่อนไหวจากนี้ไปคงต้องรอผลการเลือกตั้ง อบจ.ก่อน เพราะทั้งเพื่อไทยและก้าวหน้าต่างก็ทุ่มทุนลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคณะก้าวหน้าที่คาดหวังสนามเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก
อาจต้องประเมินกันว่าผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ของคณะก้าวไกลจะออกมาอย่างไร เพราะก้าวไกลต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากคนในพื้นที่ที่มองกันว่าอยู่เบื้องหลังม็อบคณะราษฎรที่กระทำการหมิ่นสถาบันฯ หากก้าวไกลแพ้มากๆ อาจจะปลุกเรื่องของสถาบันฯ ขึ้นมาเป็นชนวนเหตุชุมนุมครั้งต่อไป
แม้ว่าไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ชัดว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังการชุมนุม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า แนวทางของผู้ชุมนุมสอดคล้องกับแนวทางของคณะก้าวหน้า และความร่วมมือกับคนเสื้อแดงหรือการให้ความช่วยเหลือในด้านรักษาพยาบาลก็สามารถสื่อได้ถึงเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย
แน่นอนว่าม็อบคณะราษฎร คงไม่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ไปจนกว่าจะก้าวเข้าสู่ปี 2564 อาจจะมีบ้างเพียงแต่การรวมตัวย่อยกับบางสถานการณ์ เช่น การนัดหมายให้กำลังใจแกนนำที่ไปรับทราบข้อกล่าวหา
ส่วนกลุ่มเยาวชนปลดแอก จากนี้ไปคงไม่สามารถไปต่อกับแนวทางของคณะราษฎรได้ เพราะที่ผ่านมา ตัวชูโรงเป็น เพนกวิน รุ้ง อานนท์ ไมค์ ไม่จำเป็นต้องมีทัตเทพก็สามารถขับเคลื่อนมวลชนไปได้ เพียงแต่ในช่วงหลังของการชุมนุมที่ค่อนข้างไร้ทิศทางทำให้มวลชนเริ่มลดลงจนต้องพักการชุมนุม รอโจทย์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อการขับเคลื่อนครั้งใหม่