‘บิ๊กตู่’ สั่งทุกกระทรวงเตรียมจัดทำโครงการดูแลประชาชนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ รัฐมนตรีแรงงาน เสนอขยายส่งเงินสมทบประกันสังคม จากร้อยละ 5 ลงมาเหลือเพียง 2% ออกไปอีก พร้อมเล็งเพิ่มสวัสดิการ ‘คลอดบุตร-ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ส่วน ก.เกษตรฯ เร่งโอนเงินช่วยเกษตรกรสวนยาง ขณะที่ ‘เสี่ยหนู’ ผลักดัน 30 บาทรักษาทุกโรคให้เข้าถึงและรวดเร็วมากขึ้น ส่วนใครเป็น ‘มะเร็ง’ รักษาได้ทุกแห่งที่พร้อม ขณะที่โครงการ ‘คนละครึ่ง’ เปิดอีก 5 ล้านสิทธิ ด้านกระทรวง ‘พม.’ เตรียมบ้านถูกทั่วไทย หวังยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น!
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเตรียมจัดทำโครงการที่จะช่วยเหลือและดูแลประชาชนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนประจำปี 2564 โดยให้นำรายละเอียดมาเสนอในที่ประชุม ครม.วันที่ 8 ธันวาคมที่จะถึงนี้
โดยในปี 2563 รัฐบาลก็มีของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ประชาชน ซึ่งมีโครงการเด่นๆ ของแต่ละกระทรวง ตัวอย่างเช่น ‘บ้านถูกทั่วไทย’ เริ่มต้นที่ 999 บาท จำนวน 10,000 ยูนิต ของการเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โครงการพร้อมใจลดอัตราดอกเบี้ยสถานธนานุบาลทั่วไทยของกระทรวงมหาดไทย โครงการตรึงราคาน้ำมันทุกประเภทเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ และตรึงราคาค่าไฟ ของกระทรวงพลังงาน รวมทั้งโครงการยกเว้นค่าผ่านทางเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
ส่วนในปี 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดไปพิจารณาว่าจะมีโครงการอะไรที่หน่วยงานจะมอบให้แก่ประชาชนได้บ้าง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานไปช่วยกันดูว่าจะมีอะไรมอบให้ประชาชนได้บ้าง แต่ที่ชัดๆ ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้มีการศึกษาที่จะช่วยเหลือเรื่องของการคลอดบุตร ซึ่งเดิมจะได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 13,000 บาท และผู้ประกันตนหญิงที่เป็นคุณแม่ ยังมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย (สูงสุด 15,000 บาท) เป็นระยะเวลา 90 วัน และได้รับเงินสงเคราะห์บุตรอีกเดือนละ 600 บาทต่อบุตร 1 คน
“เรื่องการคลอดบุตร ก็ไปดูกันว่ามีเงินเท่าไหร่ พอจะเพิ่มได้อีกเท่าไหร่ ก็รอให้สรุปกันมา”
อีกทั้งยังมีโครงการช่วยเหลือภาคแรงงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 เรื่องการส่งเงินสมทบประกันสังคมที่เดิมจะต้องส่งเดือนละ 5% คือ 750 บาท แต่ได้มีการลดให้ส่งเพียง 2% คือ 300 บาท ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนคือเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2563
“ที่ส่งสมทบเพียงร้อยละ 2 สิ้นสุดลงเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว ก็คาดว่าประกันสังคมน่าจะมีการพิจารณาผ่อนปรนต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง รัฐมนตรีก็บอกเป็นนโยบายแต่ไปสั่งอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของบอร์ดประกันสังคมจะพิจารณา ซึ่งการลดอัตราการส่งเงิน ก็ทำให้เงินกองทุนประกันสังคมกระทบถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาทเหมือนกัน”
ดังนั้น จึงต้องรอบอร์ดประกันสังคมพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่ภาคแรงงานได้ตรงเป้าที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยจัดให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง และมีการกำหนดไว้ในปี 2563 เริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมนี้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป จะให้บริการได้ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคมของทุกปี
“เรื่องวัคซีนที่จะสิ้นสุด 31 ธันวาคมนี้ก็อาจจะมีการขยายต่อเพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งผู้ใช้แรงงานได้ประโยชน์จริงๆ”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำว่า หน่วยงานของกระทรวงแรงงาน ก็ต้องรีบคิด และเสนอกันมา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้ภาคแรงงงานได้ประโยชน์สูงสุด
ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ถือเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จากรัฐบาล
สำหรับเงินส่วนต่างในการประกันราคายางระยะที่ 2 งวดที่ 1 ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังไม่สามารถโอนได้เนื่องจากสำนักงบประมาณติดขัดประเด็นเรื่องเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มบัตรสีชมพูนั้น ทาง กยท.จะมีหนังสือถึงสำนักงบประมาณภายในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งส่งรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการตรวจสอบแล้วให้แก่ ธ.ก.ส. ด้วย โดย ธ.ก.ส.พร้อมจะโอนเงินส่วนต่างครั้งที่ 1 ภายในสัปดาห์หน้า และในเดือนมกราคมปีหน้าก็จะโอนจ่ายสำหรับงวดเดือนธันวาคม จนครบ 6 งวด 6 เดือน ตามกรอบโครงการประกันรายได้
ขณะเดียวกัน นโยบาย 30 บาทรักษาได้ทุกที่ ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เห็นชอบข้อเสนอเพื่อยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้ผู้ที่ถือบัตรทองสามารถเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยเริ่มนำร่องบางพื้นที่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 นี้ และใช้พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2564 พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริการ 4 เรื่อง ได้แก่
1.ประชาชนที่เจ็บป่วย ไปรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ เริ่มนำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยการตรวจสอบสิทธิจะทำผ่านแอปพลิเคชัน และมีระบบยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชน
2.ผู้ป่วยในที่รักษาในโรงพยาบาลสามารถส่งตัวไปรักษาต่อเนื่องได้ทันที ไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว โดยเริ่มนำร่องที่เขต 9 นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จากนั้น 1 มกราคม 2564 นำร่องที่ กทม.-ปริมณฑล ซึ่งส่วนนี้จะใช้เพียงบัตรประชาชนในการตรวจสอบตัวตนผู้ป่วย
3.โรคมะเร็งไปรักษาที่ไหนก็ได้ โดยผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็ง จะได้ใบรับรอง หรือประวัติ หรือ Code เพื่อเลือกไปรับบริการที่อื่นผ่าน 3 ช่องทาง คือ สายด่วน สปสช. 1330 แอปพลิเคชัน สปสช. และติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง โดยเริ่มในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2563
4.ประชาชนที่ต้องการย้ายหน่วยบริการ ปกติต้องรอ 15 วัน ถึงได้สิทธิ แต่ระบบใหม่จะได้สิทธิทันที หลังเปลี่ยนหน่วยบริการ ซึ่งประชาชนสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้เองผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. หน่วยบริการสามารถพิสูจน์สิทธิและเบิกจ่ายค่าบริการผ่านบัตรประชาชน Smart Card ทั้งนี้จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2564
นายอนุทิน ระบุว่า “สำหรับการบริการรักษาทุกที่นั้นนอกจากจะรักษาโรคทั่วไป อย่าง เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไข้หวัด ยังเพิ่มโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคที่รักษายากเข้าไปด้วย เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งถ้าไม่เปิดให้รักษาทุกที่ ต้องรอคิวนาน บางครั้งไม่ทันได้รักษาก็เสียชีวิตไปก่อน ดังนั้น ประชาชนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง จะสามารถตรวจและรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ไม่ต้องรอคิวเหมือนที่ผ่านมา ไม่ต้องถูกจำกัดการใช้สิทธิ โดยสามารถเข้ารับบริการได้วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็ง”
อย่างไรก็ดี ยังมีโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจและถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่โดนใจประชาชนเช่นกันคือโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้ลงมติเห็นชอบโครงการคนละครึ่งรอบที่ 2 ให้สิทธิอีก 5 ล้านคน โดยได้รับยอดเงินใช้จ่ายคนละ 3,500 บาท และจะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 สิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 มีนาคม 2564
ส่วนผู้ที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งรอบแรก ซึ่งมีจำนวน 10 ล้านคนนั้น จะได้รับวงเงินเพิ่มอีกคนละ 500 บาท จากเดิมที่ได้รับคนละ 3,000 บาท รวมเป็น 3,500 บาทต่อคน อีกทั้งยังขยายสิทธิให้ร้านค้าของกองทุนหมู่บ้าน สามารถเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้ด้วย
รวมไปถึงโครงการของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่มีนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีนั้น คาดว่าในปี 2564 จะมีโครงการบ้านเช่า ‘ราคาถูกทั่วไทย’ ของการเคหะแห่งชาติ ที่เคยมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งในปี 2564 ก็จะจัดสรรออกมาเป็นของขวัญให้ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนมีบ้านอยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังจะมีโครงการอื่นๆ ในหน่วยงาน พม.ที่จะมอบให้ประชาชนทุกกลุ่มเช่นกัน!