xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ยังเมินตอบแทนลูกหนี้ปกติ หวั่น “ชักดาบ” ดัน NPL พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ:จากธนาคารแห่งประเทศไทย
แบงก์พาณิชย์ยังไม่ตอบรับแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ดีของแบงก์ชาติ อาคารสงเคราะห์นำร่องแจก 500-1,000 เงื่อนไข ลูกหนี้ดี ทุกวงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้าน ต้องชำระผ่านแอป 4 เดือน นักการเงินหวั่นหากไม่กระตุ้นจ่ายต่อ ลูกหนี้ปกติอาจเปลี่ยนแนวเลือกปรับโครงสร้างหนี้ หากยอมเป็น NPL กระทบตั้งสำรอง ส่งผลรายได้แบงก์ลด กำไรหด ราคาหุ้นทรุด 

ความพยายามที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภทของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้รายได้ของผู้คนหดหายอย่างกะทันหัน ด้วยการเชิญสถาบันการเงินเข้ามาขอความร่วมมือในการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อลดภาระและเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหาจากการขาดรายได้ อันเนื่องมาจากมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด หรือบางส่วนอาจต้องว่างงานจากกิจการที่ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

แม้จะได้มีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหาในหลากหลายรูปแบบแล้ว

แต่ยังมีอีกหนึ่งแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้นโยบายต่อสถาบันการเงิน ในฐานะเจ้าหนี้นำไปพิจารณาเมื่อ 22 มิถุนายน 2563 คือ แนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ดี หลังจากมีเสียงท้วงติงว่าไม่ช่วยเหลือลูกหนี้ดี

โดยนางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ได้ให้นโยบายกับธนาคารพาณิชย์ไปพิจารณาแนวทางให้รางวัลแก่ลูกหนี้ที่จ่ายหนี้ตรงเวลา มีประวัติชำระหนี้ดี เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การคืนเงิน หรือ Cash back


ธอส.คืนเงิน+เงื่อนไข 

จากนั้นพบว่า 1 สิงหาคม 2563 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เตรียมมอบรางวัลให้แก่ลูกหนี้ที่มีประวัติในการผ่อนชำระดี “โครงการลูกค้าบ้าน ธอส. ผ่อนดี” โดยจะมอบเงิน Cashback ให้แก่ลูกค้าที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 ได้รับเงิน จำนวน 1,000 บาท โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1.วงเงินกู้ทุกบัญชีภายใต้หลักประกันเดียวกัน ไม่เกิน 1 ล้านบาท 2.มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้) 3.มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีย้อนหลัง รวม 48 เดือน (จนถึงพฤศจิกายน 2563) โดยชำระตรงเวลาและไม่น้อยกว่าเงินงวดที่ธนาคารกำหนดทุกเดือน รวมถึงเดือนธันวาคม 2563 และ 4.ต้องมีแอป GHB ALL และผูกกับบัญชีออมทรัพย์เพื่อเป็นบัญชีคู่โอน

กลุ่มที่ 2 ได้รับเงิน จำนวน 500 บาท จำกัดจำนวน 1 แสนรายแรก โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1.ต้องไม่ใช่ผู้ที่ได้รับสิทธิในกลุ่มที่ 1 (ได้รับเงิน 1,000 บาท) 2.มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้) และ 3.ต้องไม่เคยสมัครแอป GHB ALL และต้องสมัครแอป GHB ALL พร้อมผูกกับบัญชีออมทรัพย์ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 เพื่อเป็นบัญชีคู่โอน

ลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด กรณีลูกค้ารายย่อยต้องชำระเงินกู้ด้วยแอป GHB ALL เป็นระยะเวลา 4 เดือนติดต่อกัน ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 

ทั้งนี้ ลูกค้าที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดได้อย่างครบถ้วนแล้ว ธอส. จะโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธอส.ที่ลูกค้าผูกบัญชีไว้กับแอป GHB ALL ภายใน 7 วัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำเงินไปใช้จ่ายในด้านที่จำเป็น และสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 

นักการเงินกล่าวว่า กรณีของ ธอส.ที่ออกมาตรการคืนเงินให้ลูกหนี้ดี 500 บาท หรือ 1,000 บาทนั้น เชื่อว่าเป็นการตอบสนองแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยในระดับหนึ่ง และการคืนเงินให้ลูกหนี้นั้นมีเงื่อนไขพ่วงค่อนข้างมาก กำหนดทุกวงเงินกู้รวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องเป็นลูกหนี้ดีมาโดยตลอดและต้องชำระเงินกู้ด้วยแอป GHB ALL เป็นระยะเวลา 4 เดือนติดต่อกัน ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563

ถือเป็นความช่วยเหลือที่พ่วงด้วยเงื่อนไข ต้องสมัคร application ของ ธอส.และต้องชำระเงินผ่านทางช่องทางนี้ติดต่อกัน 4 เดือน จึงจะเข้าเงื่อนไขการมอบเงินให้ลูกหนี้ดี หากเป็นลูกหนี้ดีแต่ไม่สันทัดในเรื่องแอป ก็ถือว่าไม่เข้าเงื่อนไข


แบงก์ยอมลดรายได้ 

ด้านนักวิชาการอิสระด้านการเงินกล่าวว่า แบงก์ชาติได้ออกมาตรการร่วมกับทางสถาบันการเงินไปแล้วทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ประกอบด้วย

มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะที่ 2 เน้นให้ธนาคารเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ลักษณะเดียวกับโครงการคลินิกแก้หนี้ที่ช่วยแก้คนที่เป็นหนี้เสียให้เป็นหนี้ปกติเร็วขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก แบ่งเป็น

1.ปรับลดดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป 2-4% ต่อปี เริ่มวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป โดยดอกเบี้ยบัตรเครดิตปรับลดจาก 18% เหลือ 16% ส่วนดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลประเภทวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ลดจาก 28% เหลือ 25% ประเภทผ่อนชำระเป็นงวดลดจาก 28% เหลือ 25% และจำนำทะเบียนรถ ลดจาก 28% เหลือ 24% ต่อปี

2.เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลให้แก่ลูกหนี้ที่ต้องใช้เงินเพิ่มและชำระหนี้ดี เช่น หากมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือนจะขยายวงเงินให้เป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน 1.5 เท่าของรายได้ต่อเดือน แต่เป็นแค่ชั่วคราวตั้งแต่ 1 สิงหาคม-31 ธันวาคม 2564 

3.มาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เช่น เปลี่ยนสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นแบบมีระยะเวลา 48 งวดคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี ลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำในแต่ละงวด ลดค่างวดสินเชื่อจำนำทะเบียนอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิม โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี และเลื่อนชำระค่างวด หรือลดค่างวดสำหรับสินเชื่อบ้าน เป็นต้น 

4.การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย และชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้ที่เป็น NPL 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวทางความช่วยเหลือที่แบงก์ชาติร่วมกับสถาบันการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ย หรือยืดระยะเวลาในการผ่อนออกไป รวมไปถึงการเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาวนั้น ด้านหนึ่งนับว่าเป็นการยอมลดรายได้ของสถาบันการเงินไปแล้วระดับหนึ่ง ดังนั้น การที่จะให้สถาบันการเงินทำโปรโมชันเพื่อตอบแทนลูกหนี้ดีนั้น ในทางปฏิบัติแล้วคงไม่มีรายใดอยากทำ 

แบงก์ชาติห่วงหนี้เสีย 
ด้วยความกังวลจากสถาการณ์นี้ทำให้ 19 มิถุนายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เตรียมความพร้อม เพราะสถานการณ์ Covid-19 อาจส่งผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป 

โดยให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำรองสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้ในการทำธุรกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ในระหว่างที่ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนใหม่นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางที่ธนาคารกลางหลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว เพื่อรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19

สอดคล้องต่อฝ่ายวิจัยของสถาบันการเงินเองก็ประเมินว่า หนี้ NPL จากสถานการณ์ Covid-19 เริ่มสะท้อนจากผลกำไรของสถาบันการเงินในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ลดลงจากเดิมเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงตัวเลข NPL ที่เพิ่มขึ้น และอาจจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไตรมาส 3 คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป หลังจากพ้นมาตรการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน


รักษาลูกหนี้ปกติให้ดี 

การให้รางวัลแก่ลูกหนี้ดี ในแนวคิดของสถาบันการเงินถือว่าเป็นต้นทุนแบบหนึ่ง ย่อมมีผลต่อรายได้ กำไร-ขาดทุน ส่งผลต่อราคาหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผลผูกพันกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุน อีกประการหนึ่งแบงก์มักจะมองว่าหากลูกหนี้ไม่ดีก็จะมีค่าปรับหรือดอกเบี้ยผิดนัดชำระต่างๆ เป็นตัวลงโทษอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ค่อยเห็นการตอบแทนลูกหนี้ดี 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดน้อยลง โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีการระบาดในระลอก 2 และ 3 จึงทำให้การฟื้นตัวทางธุรกิจเป็นไปอย่างล่าช้า 

ลูกหนี้ที่ถูกรัฐสั่งห้ามประกอบการในช่วงแรกนั้น กลุ่มนี้เราพอจะทราบแน่นอน เพราะพวกเขาคงต้องเข้ามาหาสถาบันการเงินเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ แต่ไม่มีใครทราบได้ว่าลูกหนี้ดีที่เคยผ่อนชำระตรงทุกงวด จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ในระดับใด

บางรายแม้จะไม่ได้รับผลกระทบในระยะแรก แต่หากกิจการที่เคยประคับประคองจนผ่านพ้นสถานการณ์ช่วงแรกมาได้ อาจมีปัญหาในระยะต่อมาก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ที่สำคัญคือการตัดสินใจของลูกหนี้ดีว่าจะเลือกแก้ปัญหาของชีวิตด้วยทางเลือกใด แน่นอนว่าเมื่อวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ลูกหนี้ต้องตัดสินใจ การดำรงชีพนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ปัญหาอื่นไว้ค่อยแก้ภายหลัง พวกเขาย่อมต้องเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด 

ดังนั้น การรักษาลูกหนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ในอดีตสถาบันการเงินมักไม่ให้ความสำคัญ แต่ภายใต้สถานการณ์ Covid-19 มีลูกหนี้ประสบปัญหาเป็นจำนวนมาก การที่จะรักษาลูกหนี้ดีเอาไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยประคองให้รายได้ของสถาบันการเงินไม่ลดลงไปมากนัก 

ภายใต้วิกฤตเช่นนี้แบงก์อาจต้องยอมลดรายได้ลงไปบ้าง เพื่อรักษาลูกหนี้ดีเอาไว้ ไม่เช่นนั้นหากลูกหนี้ดีเหล่านั้นตัดสินใจไปเลือกช่องทางอื่นเพื่อแก้ปัญหา ย่อมจะทำให้รายได้ของแบงก์ลดลงไปมากกว่าเดิม หรืออาจยอมเป็นลูกหนี้ NPL ไม่สนใจเรื่องเครดิตบูโร สุดท้ายยอด NPL ของแบงก์ย่อมต้องสูงขึ้น ต้องตั้งสำรองหนี้ตามระดับชั้นต่างๆ หากเงินกองทุนไม่เพียงพอแบงก์ก็ต้องหามาเพิ่ม ส่งผลต่อรายได้ กำไร รวมไปถึงราคาหุ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับแบงก์






กำลังโหลดความคิดเห็น