“อดีตเลขาฯ สมาคมการแสดงสินค้า” ฟันธง ไวรัสโคโรน่า กระทบธุรกิจเอ็กซิบิชั่นไทย 5-10% โดยส่งผลระยะสั้น โชคดีรายใหญ่แค่ “เลื่อน” จัดงาน ไม่มีการยกเลิก ชี้ แม้กลุ่มธุรกิจ “จีน”หดหาย แต่มีลูกค้า “อินเดีย”เข้ามาทดแทน คาด สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน มิ.ย.นี้ เผย ธุรกิจพลังงานทดแทน สินค้าเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ เป็นธุรกิจใหม่ที่น่าจับตาในตลาดเอ็กซิบิชั่น ด้าน “ทีเส็บ” ยัน ต่างชาติเชื่อมั่น งานไมซ์ช่วง 3 เดือนยังเดินหน้า
เรียกว่าเป็นมหกรรม“เลื่อน” และ“ยกเลิก” การจัดงานระดับโลกกันเลยทีเดียว เนื่องจากบรรดาคณะผู้จัดงานต่างก็มีความวิตกเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘COVid-19’ (โควิด-19) ทำให้การจัดกิจกรรมระดับโลกที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมากๆต้องถูกเลื่อนหรือยกเลิกไปรวมแล้วกว่า 20 งาน อาทิ การแข่งขันโตเกียว มาราธอน (Tokyo Marathon) การแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของโลก ที่จะจัดขึ้นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 1 มี.ค.2563 แต่ได้ประกาศยกเลิกการแข่งขันประเภท ‘บุคคลทั่วไป’ ที่มีผู้สมัครร่วมงานถึง 38,000 คน โดยจะจัดการแข่งขันเฉพาะประเภทมาราธอน ซึ่งมีนักวิ่งรวมประมาณ 200 คนเท่านั้น
การจัดงาน Camera & Imaging Products Association หรือ CIPA ซึ่งเป็นงานจัดแสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพที่จะมีผู้ชมเข้างานราว 7 หมื่นคน และกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น , การประชุมมือถือระดับโลก ‘Mobile World Congress’ (MWC) ประจำปี 2020 ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน หรือแม้แต่ บริษัทเฟซบุ๊ก (Facebook) บริษัทที่ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งใหญ่ที่สุดของโลก ก็ได้ประกาศยกเลิกการประชุมทางการตลาดระดับโลกของเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 9-12 มี.ค.2563 และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 4,000 คน เนื่องจากเกรงว่าจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ประเทศไทยก็เลื่อนการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4-8 มี.ค. ไปเป็นวันที่ 2-6 ก.ย.2563 เช่นกัน
แน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลต่อธุรกิจเอ็กซิบิชั่นหรือการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทย ธุรกิจใหญ่ซึ่งมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์เมน ซีเอ็ม.ที.ไอ. จำกัด(มหาชน) บริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้าที่มีสาขากว่า 20 ประเทศทั่วโลก และอดีตเลขาธิการสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ปีนี้บรรดาผู้ประกอบการเอ็กซิบิชั่นต่างเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อธุรกิจการแสดงสินค้า โดยก่อนที่จะเกิดโควิดมีความเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งทำให้การส่งออกปรับตัวลดลงและการลงทุนชะลอตัว ขณะที่จีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทยก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ แต่เมื่อเกิดโควิดทำให้ธุรกิจเอ็กซิบิชั่นทรุดลงทันที
จากการประเมินคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอ็กซิบิชั่นของไทยประมาณ 5-10% โดยจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงคือ ผู้จัดงานส่วนใหญ่ขอเลื่อนการจัดงานออกไปเนื่องจากเกรงว่าผู้เข้าชมงานจะน้อยเพราะคนกลัวติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ส่วนทางอ้อม คือ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเนื่องจากเกรงว่าการเดินท่องเที่ยวสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโวรัสดังกล่าว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่สุดของธุรกิจท่องเที่ยวไทย ที่หายไปจากตลาดทันทีเนื่องจากรัฐบาลจีนสั่งห้ามออกนอกประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าลดลงตามไปด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งก็เป็นผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าด้วยเช่นกัน
ขณะที่ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ระบุว่า การประชุมและงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ 24 รายการที่จะจัดในประเทศไทยในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ ยังคงดำเนินต่อไปตามแผนการเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นรัฐบาลและภาคเอกชนของไทยยังสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้ ทำให้วงการไมซ์มีความเชื่อมั่น
นายประวิชย์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ที่จริงแล้วกรุ๊ปทัวร์และงานอีเว้นท์ที่มีการจองโรงแรมไว้เริ่มมีการแคนเซิลกันมาบ้างแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ. ทำให้กรุ๊ปทัวร์มีการยกเลิกกันเกือบหมด จากที่ได้พูดคุยกับสมาชิกสมาคมการแสดงสินค้า(ไทย)ทราบว่าโดยรวมแล้วธุรกิจเอ็กซิบิชั่นของไทยได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างแรง แต่คาดว่าเป็นการกระทบในระยะสั้นๆ เนื่องจากลูกค้าแค่เลื่อนการจัดงานออกไป แต่ไม่มีการยกเลิกจัดงานเหมือนในบางประเทศ
“ซึ่งเท่าที่ทราบมีการเลื่อนการจัดงานออกไป เช่น กลุ่มยานยนต์ แต่ไม่ได้ยกเลิก การจัดงานแสดงสินค้าไทยยังมีอยู่เพียงแต่เลือนออกไป โชคดีที่งานจัดแสดงสินค้าในไทยส่วนใหญ่เป็นงานที่เคยจัดต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว มีกลุ่มลูกค้าชัดเจน จึงไม่มีการยกเลิก แต่ผลกระทบคือผู้ชมงานและผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่จะมาออกบูธจะลดลงอย่างแน่นอน บางรายถอนตัว ไม่มาร่วงาน อย่างนักธุรกิจจากจีน ไต้หวัน ไม่มาเพราะกลัวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด นอกจากนั้นชาวจีนยังถูกห้ามออกนอกประเทศจนกว่ารัฐบาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง” นายประวิชย์ ระบุ
ด้าน นายวรวิทย์ ขุนเทา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดิร์นเทียร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจจัดงานอีเว้นท์ เปิดเผยว่า ในส่วนของอีเว้นท์หลักๆยังมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง แต่อีเว้นท์ย่อยที่จะมาเสริมอีเว้นท์หลักจะลดลง และเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ธุรกิจอีเว้นท์เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2562 ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ มีแต่เจ้าเดิมๆที่จัดอีเว้นท์ เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ลูกค้าชาวจีนที่มาจัดงานในไทยก็อาจจะลดลง ซึ่งเท่ากับยิ่งซ้ำเติมธุรกิจนี้
“ผู้ประกอบการที่จัดงานอีเว้นท์และออกบูธในงานเอ็กซิบิชั่นมีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในส่วนของผู้ประกอบการชาวจีนจะนิยมจัดงานเพื่อสร้างการค้าแบบ B to B คือธุรกิจต่อธุรกิจ ผู้ผลิตแต่ละรายมาติดต่อค้าขายกัน ขณะที่ผู้ประกอบการชาวไต้หวันและฮ่องกง จัดงานแบบ B to C คือเพื่อขายสินค้าให้ผู้บริโภคที่เข้ามาชมงาน ซึ่งปกติงานอีเว้นท์และงานจัดแสดงสินค้าจะมีเยอะในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค. ดังนั้นถ้าในช่วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายก็เชื่อว่าธุรกิจอีเว้นท์และเอ็กซิบิชั่นจะดีขึ้น” นายวรวิทย์ กล่าว
สำหรับลุกค้าหลักๆของตลาดเอ็กซิบิชั่นไทยนั้นนอกจากลูกค้าที่เป็นคนไทยแล้วลูกค้าต่างชาติก็มีความสำคัญไม่น้อย อดีตเลขาธิการสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ฉายภาพให้ฟังว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาจัดงานเอ็กซิบิชั่นในไทยส่วนใหญ่จะเป็นชาวเอเชีย ซึ่งต่างจากช่วง 10 ปีก่อนที่ผู้ว่าจ้างจัดงานมาจากตลาดยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตเทคโนโลยีต่างๆ เนื่องจากช่วงหลังผู้ผลิตชาวยุโรปเริ่มหาตัวแทนจำหน่ายในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน จีน รวมถึงประเทศไทยด้วย
“ตลาดเอ็กซิบิชั่นช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่มาออกบูธไม่ใช่ผู้ผลิตในกลุ่มประเทศยุโรปแต่เป็นตัวแทนจำหน่ายซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซี่งเราก็โฟกัสที่ลูกค้าเกาหลี ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น ประเทศไทยเองก็เป็นฐานตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์ใหญ่ๆค่อนข้างเยอะ เมื่อเกิดโควิดในประเทศเหล่านี้จึงกระทบลูกค้าของเราโดยตรง แต่ยังโชคดีที่มีลูกค้าชาวอินเดียเข้ามาทดแทน ก่อนหน้านี้ธุรกิจเอ็กซิบิชั่นไทยหันไปจับตลาดอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีศักยภาพในการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศมากขึ้น และเขามีเป้าหมายที่ประเทศในแถบอินโดจีนเป็นหลัก ซึ่งรายได้จากตลาดอินเดียน่าจะเข้ามาทดแทนรายได้การจัดงานจากกลุ่มธุรกิจจีนที่หายไปได้ ” นายประวิชย์ ระบุ
ทั้งนี้ปัจจุบันสินค้าที่เข้ามาจัดแสดงในไทยก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน จากเดิมที่เป็นฮาร์ดแคปปิตอลหรือสินค้าประเภทเครื่องจักร ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นกลุ่มธุรกิจไอที ธุรกิจพลังงานทดแทน ระบบรางรถไฟ ซึ่งเป็นธุรกิจเซ็กเตอร์ใหม่ที่เข้ามาในไทย ขณะที่สินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ ก็เริ่มมาแรง เนื่องจากประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผู้คนหันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น ส่วนงานแสดงสินค้าที่จัดในประเทศไทยเป็นประจำทุกปีอย่างรถยนต์ก็ยังไปได้เรื่อยๆ แต่ช่วง 2-3 ที่ผ่านมาเริ่มมีการนำรถยนต์อีวี หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟฟ้า มาจัดแสดงมากขึ้น ตอบสนองกระแสพลังงานทดแทนที่กำลังมาแรง แต่ก็มีสินค้าบางประเภทที่หายไปจากตลาดเอ็กซิบิชั่นของไทยเช่นกัน อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากผู้ประกอบการมีการย้ายฐานผลิตจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
“ ปัจจุบันมีสินค้าใหม่ๆเข้าสู่ตลาดเอ็กซิบิชั่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สปา สินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ ธุรกิจโรงแรม ธุรกินเกี่ยวกับกาแฟ ไอศกรีม เบเกอรี่ ซึ่งเหตุผลที่ธุรกิจเหล่านี้มาออกงานแสดงสินค้าเนื่องจากสามารถช่วยให้เขาขยายตลาดได้มากขึ้น จากที่ขายให้ผู้บริโภคแต่ละรายกลายเป็นขายให้แก่กลุ่มธุรกิจ ทำให้ธุรกิจขยายตัวในมูลค่าที่มากขึ้น จึงมีงานแสดงสินค้าประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายประวิชย์ กล่าว
ส่วนที่หลายฝ่ายวิตกว่าผลกระทบจากโควิดจะทำให้ตลาดเอ็กซิบิชั่นของไทยซึมยาวนั้น อดีตเลขาธิการสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ชี้ว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น โดยผู้ประกอบการเอ็กซิบิชั่นส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าปัญหาโควิดน่าจะคลี่คลายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
“ถ้าในเดือน มี.ค.ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ไม่ลุกลามบานปลายหรือมีปัญหาใหม่แทรกเข้ามา ก็เชื่อว่าธุรกิจการท่องเที่ยวและการจัดแสดงสินค้าของไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ทุกคนก็คาดว่าหลังจากครึ่งปีไปแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น วันก่อนได้ฟังท่านรองประธานสภารอุตสาหกรรมพูด ท่านก็บอกว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงถึงครึ่งปีจึงะเริ่มฟื้นกลับมา” อดีตเลขาธิการสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ระบุ
////////////////////////
กิจกรรม การจัดประชุม และการแสดงสินค้าระดับโลก ที่มีการยกเลิกหรือประกาศเลื่อนจัดงาน ประกอบด้วย
1. Taipei International Book Exhibition งานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของเกาะไต้หวัน เลื่อนจากวันที่ 4-9 ก.พ. 2563 ไปเป็นวันที่ 7-12 พ.ค. 2563
2. League of Legends Pro League มหกรรมแข่งขันอีสปอร์ต ของเทนเซนต์ เลื่อนการแข่งขันรอบที่สองในวันที่ 5 ก.พ. 2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
3. Singapore Airshow ยกเลิกการประชุมระดับผู้บริหารของภาคอุตสาหกรรมการบิน แต่ยังคงจัดแสดงนวัตกรรมอากาศยานตามกำหนดเดิม คือวันที่ 11-16 ก.พ. 2563 เพียงแต่ลดขนาดงานให้เล็กลง
4. China Commodity Markets Insight Forum 2020 งานประชุมที่จัดโดย S&P Global Plats เลื่อนจากวันที่ 19-20 ก.พ.2563 อย่างไม่มีกำหนด
5. Mobile World Congress (MWC) ยกเลิกการจัดงานในวันที่ 24-27 ก.พ. 2563 ที่นครบาร์เซโลนา หลังบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายปฎิเสธไม่เข้าร่วมงาน
6. China Iron Ore 2020 เลื่อนการจัดงานที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จากวันที่่ 25-27 ก.พ. 2563 ไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย.- 2 ก.ค. 2563
7. Camera & Imaging Products Association หรือ CIPA ยกเลิกการจัดงานที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.พ.นี้
8. East China Import and Export Commodity Fair เลื่อนการจัดงานในวันที่ 1-4 มี.ค. 2563 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
9. การแข่งขันโตเกียว มาราธอน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 มี.ค.2563 ได้ประกาศยกเลิกการแข่งขันประเภท ‘บุคคลทั่วไป’ เหลือแต่การแข่งขันประเภทมาราธอน
10. Palm and Lauric Oils Price Outlook Conference & Exhibition 2020 ของมาเลเซีย เลื่อนจากวันที่ 2-4 มี.ค. 2563 ไปเป็นวันที่ 22-24 มิ.ย. 2563
11. Marine Money China การประชุมพบปะของบรรดานายทุนด้านขนส่งทางเรือ เลื่อนการจัดงานจากวันที่ 3-4 มี.ค.2563 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่คาดว่าน่าจะจัดอีกครั้งในเดือน พ.ย.นี้
12. Food & Hotel Asia เลื่อนการจัดงานที่สิงคโปร์ จากวันที่ 3-6 มี.ค. 2563 ไปเป็นเดือน ก.ค. 2563
13. การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ National People’s Congress มีแนวโน้มเลื่อนจากกำหนดการเดิมในวันที่ 5 มีนาคมนี้
14. 6th China LNG & Gas International Exhibition and Summit เลื่อนการจัดงานที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค. 2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยทางผู้จัดอยู่ในระหว่างการหารือเพื่อกำหนดวันจัดงานใหม่
15. บริษัทเฟซบุ๊ก (Facebook) ยกเลิกการประชุมทางการตลาดระดับนานาชาติ ซึ่งจะมีขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 9-12 มี.ค.2563
16. Asian Ferroalloys งานประชุมเชิงธุรกิจในนครเซี่ยงไฮ้ เลื่อนการจัดงานระหว่างวันที่ 16-18 มี.ค. 2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
17. Art Basel Hong Kong show ยกเลิกการจัดงานที่จะมีขึ้นในวันที่ 19-21 มี.ค. 2563
18. SEMICON/FPD China 2020 งานประชุมการค้าของอุตสาหกรรมผลิตชิพ (Chip)ทั่วโลกในจีน เลื่อนจากกำหนดการเดิมในวันที่ 18-30 มี.ค.2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
19.Money 20/20 Asia งานแสดง Fintech ในสิงคโปร์เลื่อนจากวันที่ 22-24 มี.ค. ไปเป็นวันที่ 25-27 ส.ค.2563
20. 15th JCI Spring Conference งานแสดงสินค้าและงานประชุมใหญ่ของบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหรรมปศุสัตว์ เลื่อนการจัดงานในเมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง จากวันที่ 26-27 มี.ค. 2563 ไปเป็นช่วงปลายเดือน พ.ค. 2563
21. China Development Forum เลื่อนการจัดงานในช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
22. Canton Fair งานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของจีน เลื่อนการจัดงานจากวันที่ 15 เม.ย.2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
23. Food and Beverage Innovation Forum 2020 เลื่อนการจัดงานที่เมืองหังโจว ระหว่างวันที่ 15-17 เม.ย. 2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
24. Coaltrans China 2020 หนึ่งในงานประชุมด้านอุตสาหกรรมถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของโลก เลื่อนการจัดงานระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. 2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
25. sian Business Aviation Conference & Exhibition ตัดสินใจยกเลิกการจัดงานที่นครเซี่ยงไฮ้
ระหว่างวันที่ 21-23 เม.ย. 2653 นี้
26. LME Asia Week 2020 งานนัดพบประจำปีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กที่จัดโดยตลาด London Metal Exchange ในเกาะฮ่องกง กำลังพิจารณาเลื่อนการจัดงานที่จะมีขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. 2563