xs
xsm
sm
md
lg

นัก กม.มั่นใจศาลปกครองไม่คุ้มครอง 3 สารพิษ เหตุมติกรรมการฯ เป็นไปเพื่อปกป้องประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักกฎหมายฟันธง ศาลปกครองไม่คุ้มครองชั่วคราว 3 สารพิษ เหตุทำให้สังคมวุ่นวาย ด้าน “นพ.ธีระวัฒน์” ชี้ถอดมติสาธารณสุข หวังเปลี่ยนผลแบนเคมีเกษตรทำไม่ได้ ขณะที่ สธ.เตรียมฟ้อง “แกนนำแม่กลอง” แอบอ้างชื่อหนุนสัมมนาใต้เงา บ.ซินเจนทา ขณะที่ “ไบโอไทย” ปลื้มเกษตรกร 59% ไม่กลับไปใช้ยาฆ่าหญ้า

 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย)
การที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร อันได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต เมื่อวานนี้ (22 ต.ค. 2562) โดยให้ยกเลิกการใช้สารดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไปนั้น นับเป็นความสำเร็จของการผนึกพลังของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) องค์กร change เหล่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข นักการเมืองจากหลากหลายพรรค รัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสั่งการในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ตลอดจนพลังภาคประชาชนที่ร่วมกันต่อสู้และขับเคลื่อนกดดันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปกป้องเกษตรกรและคนไทยให้รอดพ้นจากภัยร้ายแรงของสารพิษที่ใช้ในการเกษตร

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) หนึ่งในองค์กรหลักที่คลื่อนไหวให้ยกเลิก 3 สารพิษทางการเกษตร กล่าวว่า มติในการแบน 3 สารพิษครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของพลังภาคประชาชนอย่างแท้จริง ที่สำคัญผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าหลังจากที่มีการแบน 3 สารพิษแล้ว 59% ของเกษตรกรที่เคยใช้สารกำจัดศัตรูพืชจะหันไปใช้วิธีการอื่นแทนการใช้สารเคมี ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้เกษตรกรไทยรู้เท่าทันพิษภัยของเคมีการเกษตร และจะไม่กลับไปเป็นเหยื่ออีก
น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองเ
ในขณะที่ฟากหนึ่งยินดีต่อมติของคณะกรรมการฯ แต่อีกฟากหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารพิษดังกล่าวก็เตรียมที่ใช้มาตรการตอบโต้ โดยสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยซึ่งเป็นการรรวมตัวขององค์กรเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่น สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแบนพรรคการเมืองที่ร่วมผลักดันให้ยกเลิก 3 สารเคมีการเกษตรดังกล่าว และเตรียมนำเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไปเรียกร้องค่าชดเชยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนกลุ่มเกษตรกรดำเนินสะดวก ที่มี น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองเป็นแกนนำ จะดำเนินการ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะดำเนินการดังนี้ 1. ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว 2. จะส่งหลักฐานใหม่ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอีกครั้ง และ 3. ยื่นถอดถอนมติสาธารณสุข/2560 ที่เป็นต้นเหตุของการแบน 3 สารเคมีเกษตร ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล โดยจะขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดรับฟังความคิดเห็นจาก 4 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายขวัญชัย โชติพันธุ์ นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ นายขวัญชัย โชติพันธุ์ นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า การที่กลุ่มเกษตรกรจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดนั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และขี้นกับดุลพินิจของศาลว่าจะรับคำร้องหรือไม่ และแม้รับก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยตามขั้นตอนนั้นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานไปแสดงให้ศาลเห็นว่าหากตนไม่ได้ใช้สารเคมีดังกล่าวจะได้รับผลกระทบอย่างไร มูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ หากศาลเห็นว่าเป็นผู้เสียหายจริงก็จะรับคำร้อง พร้อมทั้งแจ้งไปยังหน่วยงานที่ถูกฟ้องเพื่อให้เตรียมชี้แจง และตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นกลางขึ้นมาศึกษาหาข้อเท็จจริง โดยนอกจากจะหาข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ แล้วยังสามารถเรียกข้อมูลจากผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้อีกด้วย จากนั้นศาลจึงนำข้อสรุปที่ได้มาพิจารณาว่าสมควรมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ และหากคำร้องของผู้ฟ้องมีประเด็นอื่นที่นอกเหนือจากการขอคุ้มครองชั่วคราว ก็จะแยกพิจารณาแต่ละประเด็น และไม่ว่าศาลจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาประเด็นอื่นๆ

“ปกติในกรณีที่คำสั่งของหน่วยงานรัฐเป็นไปเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชน หรือป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคม ศาลจะไม่คุ้มครองชั่วคราว เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวาย ดังนั้นจึงเชื่อว่ากรณีแบนสารพิษดังกล่าวศาลคงไม่คุ้มครองชั่วคราว” นายขวัญชัยกล่าว
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนกรณีที่เประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง จะยื่นถอดถอนมติสาธารณสุข/2560 โดยอ้างว่าเป็นต้นเหตุของการแบน 3 สารเคมีเกษตรนั้น นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ข้อมูลหลักฐานที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ และชี้ชัดว่าการใช้สารเคมีดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค มีตัวเลขของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการใช้เคมีกำจัดศัตรูพืชยืนยันชัดเจน อีกทั้งคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติแบน 3 สารพิษครั้งนี้ก็เป็นชุดเดียวกับที่พิจารณาเมื่อปี 2561 ซึ่งมีมติไม่ยกเลิกสารพิษดังกล่าว เมื่อได้รับทราบข้อมูลครบถ้วนจึงมีมติยกเลิก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ได้พิจารณาด้วยความอคติ และการพิจารณาครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องสารเคมีอื่นที่จะใช้ทดแทนจึงไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างที่เกรงกัน

“ต้องถามว่าคนที่เรียกร้องให้ถอดมติของกระทรวงสาธารณสุขเป็นใคร มีความรู้ทางการแพทย์หรือไม่ ไปเขียนในเพจว่ากระทรวงสาธารณสุข มโนว่ามีคนเสียชีวิตจากการได้รับสารพิษ เท่ากับดูหมิ่นบุคลากรทางการแพทย์ ที่ผ่านมาหมอและพยาบาลพบเห็นการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการใช้ยาฆ่าหญ้ามานับสิบปี วันนี้จึงมีการขึ้นป้ายแบนสารพิษการเกษตรไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าหากใช้ยากำจัดศัตรูพืชมูลค่า 10,000 ล้านบาท รัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยถึง 7,600 ล้านบาท เงินส่วนนี้ล้วนมาจากภาษีประชาชน” นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
ประชาสัมพันธ์โครงการราชบุรีประชารัฐ “พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก”
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมที่จะแจ้งความดำเนินคดีต่อ น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กรณีที่นำเครื่องหมายราชการของกระทรวงสาธารณสุขไปใช้ในการประชาสัมพันธ์โครงการราชบุรีประชารัฐ “พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก” โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งจะมีการตรวจสอบกรณีที่สงสัยว่าอาจมีการแอบอ้างชื่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการด้วย

นอกจากนั้นยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า แผ่นป้ายที่ใช้ประชาสัมพันธ์ในงานสัมมนาเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ไม่ได้มีแค่ชื่อและสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่ยังปรากฏชื่อบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด และบริษัท ดาว อโกร ไซน์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืช เช่น พาราควอตด้วย อีกทั้งโครงการราชบุรีประชารัฐฯ ยังถูกระบุว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบของการผลิตผักและผลไม้ด้วยการใช้สารเคมี มีการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและการตกค้างในผลผลิต เพื่อยืนยันว่า คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ไม่ส่งผลกระทบด้านลบหรือก่อให้เกิดสารพิษตกค้างตามที่เป็นข่าว ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงใจว่าการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการแบน 3 สารพิษการเกษตรของ น.ส.อัญชุลีตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นจะมีบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่อยู่เบื้องหลังหรือไม่?
การสัมมนาเกษตรกรที่ร่วมโครงการราชบุรีประชารัฐ “พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ “มูลนิธิชีววิถี” (BIOTHAI) ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการเคลื่อนไหวของ “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” ที่นำโดย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์ฯ ว่าเป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากมีการเรียกร้องให้แบนพาราควอต โดยผู้ก่อตั้งสมาพันธ์มักปรากฏตัวและทำกิจกรรมร่วมกับ “สมาคมอารักขาพืช” สมาคมการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส รายใหญ่ในประเทศไทย


อีกทั้งในจดหมายเปิดผนึกของสมาพันธ์ฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 นายสุกรรณ์ได้ยอมรับว่า... “จากการกล่าวอ้างว่า สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย FSA มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสารเคมีภาคการเกษตรนั้น ทางเราไม่ปฏิเสธ”

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้คัดค้านการแบน 3 สารพิษ กับผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช น่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงในการเคลื่อนไหวคัดค้าน



ผลประโยชน์ของเกษตรกร... หรือผลประโยชน์ของใคร?




กำลังโหลดความคิดเห็น