xs
xsm
sm
md
lg

เสนอใช้ “กลูโฟซิเนต” ทดแทน ชี้อันตรายน้อยกว่าพาราควอต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เผยสารพัดวิธีปราบศัครูพืช “ไบโอไทย” ชี้สารเคมีต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย ด้าน ผอ.สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ชง มาตรการกำจัดวัชพืชแบบบูรณาการ แนะใช้ “กลูโฟซิเนต” แทนพาราควอตในช่วงเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ กมธ.สภาผู้แทนฯ เตรียมยื่นคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้แบน 3 สารพิษ

เป็นที่จับตาอย่างยิ่งสำหรับการประชุมคณะกรรมการวัตถุอัตรายที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ต.ค. 2562 เนื่องจากจะมีการพิจารณาข้อเสนอของคณะทำงาน 4 ฝ่าย อันประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ที่มีมติให้ยกเลิกการใช้ 3 สารอันตราย ได้แก่ คลอไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ด้วยหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะมีการยื้อเวลาเพื่อให้สารดังกล่าวสามารถขายในตลาดต่อไปได้ อีกทั้งยังมีข้อกำหนดว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายต้องเสนอ “สารทดแทน” เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกรที่ยังต้องการใช้สารทั้ง 3 ชนิดในการกำจัดศัตรูพืชอยู่ ทำให้เกิดความวิตกว่าอาจมีผู้อาศัยเงื่อนไขนี้เป็นข้ออ้างในการเสนอสารเคมีมีพิษชนิดอื่นเข้ามาแทน และกลายเป็นว่าเกษตรกรก็ยังคง “ติดบ่วง” สารพิษที่ใช้การเกษตรต่อไป
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) หนึ่งในองค์กรหลักที่ร่วมขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกสารพิษดังกล่าว และได้ร่วมประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย เปิดเผยว่า ในประเด็นของสารทดแทนนั้นไบโอไทยเห็นว่าเมื่อยกเลิกสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงดังกล่าวแล้วทางเลือกแรกคือไม่ควรใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชอีก แต่อย่างไรก็ดีเราได้เสนอทางเลือกไว้ 4 วิธี คือ

1. ใช้เครื่องจักรกลทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในการกำจัดวัชพืช เช่น เครื่องตัดหญ้า
2. ปลูกพืชคลุมดินเพื่อชิงที่อยู่ของวัชพืช ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับไม้ยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา
3. การจัดระบบการปลูกพืชเพื่อช่วยลดปัญหาศัตรูพืช อาทิ การปลูกพืชผสมผสาน เช่น สวนผสมยั่งยืน
โดยลดจำนวนการปลูกยางพาราลง ในช่วงยางพารายังเล็กก็ปลูกพืชผัก เมื่อยางพาราเป็นต้นใหญ่จึงปลูกไม้ผล
4. หากเกษตรกรไม่สามารถใช้ 3 วิธีข้างต้นได้จริงๆ จึงค่อยใช้ทางเลือกสุดท้าย คือ ใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่
มีอันตรายน้อยที่สุด โดยคณะกรรมการวัตถุอัตรายต้องกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ค่อยๆ ลดการใช้สารเคมีดังกล่าว และกำหนดให้ชัดว่าจะหยุดใช้สารเคมีเมื่อใด

“เราอยากให้การใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ เพราะสารพิษทุกตัวไม่ว่าพิษมากหรือน้อยย่อมมีความเสี่ยงทั้งนั้น” นายวิฑูรย์กล่าว
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความสนใจต่อการแบนสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด เช่นกัน โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางในการยกเลิกใช้สารกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

โดยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติว่าจะเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกการใช้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเห็นว่าการยกเลิกใช้สารเคมีข้างต้นเป็นการรักษาสุขภาพของคนไทยไม่ให้รับสารเคมีปนเปื้อนในอาหารเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งความเห็นของฝ่ายบริหารทั้ง 4 กระทรวงหลัก และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกรรมาธิการฯ จึงหวังว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะรับข้อมูลความเห็นไปพิจารณาอย่างรอบด้าน

“เราเชื่อว่าการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพราะหากเลิกใช้ได้จะส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร ซึ่งในวันที่ 1 พ.ย. 2562 กรรมาธิการฯจะลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เพื่อติดตามดูว่าหน่วยงานในจังหวัดมีการแก้ไขปัญหาผลกระทบในพื้นที่ซึ่งในอดีตเคยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและทำให้เกิดพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างไรบ้าง” นายชวลิตกล่าว
นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร
นอกจากนั้น ในการประชุมกรรมาธิการฯ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอของนายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ที่ได้เสนอความเห็นส่วนตัวต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระบุไว้ชัดเจนว่าการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะของคนไทยเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์พบว่าสารพิษทั้ง 3 ชนิดมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภครัฐบาลจึงต้องห้ามใช้สารดังกล่าว โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต้องอุดหนุนวิธีทดแทนต่างๆ โดยเน้นวิธีที่ไม่ใช้สารเคมี

โดยการกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยตอนนี้ คือ การจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ (IPM) โดยพยายามใช้สารเคมีที่มีความปลอดภัยผสมผสานกับทางเลือกอื่น เช่น การใช้เครื่องจักรการเกษตร แรงงานคน และชีววิธี เป็นต้น ซึ่งการทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ตัวนั้น คงไม่สามารถใช้การทำเกษตรอินทรีย์แต่เพียงอย่างเดียวได้ จำเป็นต้องใช้สารเคมีตามหลักการจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ

นายอัคคพลยังได้เสนอมาตรการที่จะทดแทนการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และมาตรการถาวร โดยมาตรการระยะสั้นนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสามารถใช้ “กลูโฟซิเนต” สารเคมีการเกษตรที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงพาราควอตที่สุดแต่มีความปลอดภัยมากกว่าแทนพาราควอตได้ แม้ยังมีจุดด้อยตรงที่ราคาสูงกว่า ซึ่งการแก้ปัญหานี้สามารถใช้วิธี Fast Tract หรือเร่งรัดการขึ้นทะเบียนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเพิ่มการแข่งขันในการนำเข้ากลูโซซิเนต ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคากลูโฟซิเนตที่ร้านค้าขายให้แก่เกษตรกรอยู่ที่ลิตรละไม่เกิน 180 บาท นอกจากนั้นในระยะสั้นควรอุดหนุนงบชดเชยให้แก่เกษตรกรที่ปลูกพืช 6 ชนิดซึ่งเดิมใช้พาราควอต ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม้ผล ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยอุดหนุนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สำหรับมาตรการระยะยาวนั้นรัฐควรอุดหนุนเกษตรกรด้วยการพัฒนาที่ดินที่ใช้ในการเกษตร ที่เรียกว่าการจัดรูปที่ดินทางการเกษตร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตร และสนับสนุนการรับจ้างกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องจักรกลเกษตร เช่น ให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยแก่ผู้รับจ้างเพื่อซื้อเครื่องกำจัดวัชพืช ส่วนมาตรการถาวร ควรลดภาษีมูลค่าเพิ่มของเครื่องจักรกลเกษตรและโรงเรือนพืช ให้เหลือ 0% เท่ากับสารเคมีการเกษตร

จะเห็นได้ว่ามีวิธีการมากมายที่รัฐและเกษตรกรสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยให้การกำจัดศัตรูพืชมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้คลอไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ดังนั้น อุปสรรคในการเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวจึงไม่ใช่เพราะเกษตรกรไม่มีทางเลือก หากแต่เกิดจากการ “เสพติด” คุ้นชินต่อการใช้สารเคมี และหลงไปกับโฆษณาชวนเชื่อของบรรดาผู้ผลิตนั่นเอง


ที่มา : ตำราเกษตรประยุกต์ สวทช.
ทางเลือกในการกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี

จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีการศึกษา วิจัย และทดลองใช้เทคนิคทางการเกษตรในการควบคุมวัชพืชโดยวิธีอื่นๆที่ไม่ใช้สารเคมีมากมายหลายวิธี ทั้งจากค้นพบของนักวิชาการและตัวเกษตรกรเอง ซึ่งแต่ละวิธีก็ล้วนแต่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น

1) การใช้ “เกลือผสมน้ำ” ในการฉีดพ่นเพื่อกำจัดหญ้า ซึ่งเป็นสูตรที่ค้นพบโดยเกษตรชาวอีสาน โดยใช้เกลือประมาณ 20 - 25 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร สามารถฉีดพ่นครอบคลุมพื้นที่ 2.5 ไร่ ต้นทุนรวมอยู่ที่ 130 บาท หรือคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยเพียง 52 บาท/ไร่ เท่านั้น ซึ่งพบว่าวิธีนี้สามารถทำให้หญ้าตายได้รวดเร็วกว่าการใช้สารเคมี และมีต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้สารเคมีถึง 3 เท่า โดยหากใช้สารเคมี (ต้องใช้ 2 ชนิดผสมกัน คือ ไดยูรอน และไกลโฟเซต) ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 180 บาท/ไร่ อีกทั้งการใช้น้ำเกลือในการฉีดพ่นฆ่าหญ้ายังช่วยในการบำรุงดินอีกด้วย อาทิ หากฉีดพ่นน้ำเกลือในไร่มันสำปะหลังจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่การฉีดพ่นสารเคมีทำให้ใบมันสำปะหลังเป็นรอยไหม้และเกิดความเสียหาย

2) การใช้น้ำหมักปลากับน้ำหมักผักและแบคทีเรียสังเคราะห์แสงฉีดฆ่าหญ้า ตามสูตรของ อาจารย์บุญรุ้ง สีดำ โดยสูตรนี้จะใช้น้ำหมักปลา+น้ำหมักผัก+แบคทีเรียสังเคราะห์แสง อย่างละ 100 มล. ผสมเข้าด้วยกัน โดยอัตราส่วนที่ใช้ในการฉีดพ่นคือ น้ำ 15 ลิตร ต่อน้ำหมัก 10 หยด ซึ่งหลังฉีดพ่นประมาณ 6 ชั่วโมง หญ้าและวัชพืชต่างๆจะมีอาการใบลวก ไหม้ แห้ง และตายไปในที่สุด ซึ่งหญ้าที่ตายจะถูกย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยช่วยบำรุงดินอีกทางหนึ่ง

3) การใช้จอบหมุนติดท้ายรถไถเดินตาม และจอบหมุนติดท้ายรถแทรกเตอร์ในการกำจัดวัชพืช ผลงานวิจัยของ “ตรียนัย ตุงคะเสน” และคณะจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งพบว่าวิธีนี้จะให้ผลผลิตอ้อยสูงกว่าการใช้สารเคมีกําจัดวัชพืช แต่น่าเสียดายที่ผลการวิจัยดังกล่าวไม่ถูกนำมาเผยแพร่และส่งเสริมให้ใช้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการเลือกใช้วิธีกำจัดวัชพืชที่ปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น