เปิดปัจจัยเสี่ยงที่กลุ่มซีพีรู้ว่ามีโอกาส “เจ๊ง” แต่ต้องเซ็นสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ชี้ “เสี่ยหนู” กดดันซีพีหวังให้ลงนาม จะส่งผลให้ ร.ฟ.ท.ไม่ต้องเรียก “บีเอสอาร์” มาเจรจา คาดอาจเจอวิกฤตถึงขั้นยึดค้ำประกันซองและถูก Blacklist ได้เช่นกันตามเงื่อนไข Jointly and Severally ขณะที่กลุ่มซีพีประเมินทุกปัจจัยแล้วขอไปตายดาบหน้า ว่ากันว่าโครงการนี้ “จีน” หนุนซีพีเต็มที่
การเลื่อนลงนามสัญญาเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ชนะการประมูล จากวันที่ 15 ต.ค. ไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. 2562 เวลา 12.00 น. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถือเป็นโอกาสให้กลุ่มซีพี และ ร.ฟ.ท.มีเวลาในการเจรจาเพื่อหาข้อยุตินำไปสู่การลงนามในสัญญาได้ในที่สุด
แม้ว่าโครงการนี้กลุ่มซีพีจะมีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสเจ๊งหรือขาดทุนเป็นแสนล้านบาท หรือกว่าจะเข้าสู่จุดคุ้มทุนจะอยู่ประมาณ 30 ปีไปแล้ว ในกรณีที่รัฐค้ำประกันจำนวนผู้โดยสาร และอื่นๆ แต่ถ้ารัฐไม่ค้ำประกันหรือจำนวนผู้โดยสารไม่ได้ตามเป้าต้องใช้เวลาถึง 50 ปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน
โดยต้องไม่ลืมว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พยายามผลักดันเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ตั้งแต่รัฐบาลบิ๊กตู่ 1 และบิ๊กตู่ 2 ในปัจจุบัน เพราะไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ให้ประสบความสำเร็จและสร้างชื่อให้กับรัฐบาลบิ๊กตู่ได้ในที่สุด
ขณะที่อะไรที่เป็นอุปสรรคและปัญหา เช่น เรื่องของการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ไปกีดขวางการก่อสร้างไฮสปีดเทรน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพีเข้าไปทำงานต่อได้
“ตอนนี้ซีพีเห็นแล้วว่าการส่งมอบที่ดิน และการแก้ไขสิ่งกีดขวางทุกอย่างรัฐเดินหน้าให้แล้ว อย่างเรื่องสายส่งไฟฟ้ากำลังสูง 500KV ถือเป็นโครงข่ายระดับชาติ (National Grid ) ภาคตะวันออก กฟผ.ก็พร้อมดำเนินการให้แล้ว”
จะว่าไปแล้ว การที่กลุ่มซีพียังไม่ยอมเซ็นสัญญา และดูเหมือนว่าจะพยายามต่อรองเงื่อนไขต่างๆ กับภาครัฐมาโดยตลอด ตั้งแต่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะโครงการนี้ ทั้งที่ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขการร่างข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) ก็ตาม
แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ระบุว่า จากการหารือกันเชื่อว่า การที่กลุ่มซีพียังไม่ยอมเซ็นสัญญานั้นมีหลายปัจจัยที่จะต้องทำให้ทุกอย่างชัดเจนและเข้าใจตรงกันบนพื้นฐานของเอกสาร เพราะโครงการนี้เห็นชัดๆ ว่ามีความเสี่ยงสูงมากๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งมอบที่ดิน ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้กลายเป็นภาระหนักถึงขั้นเจ๊งได้เช่นกัน
“ไม่อยากให้สังคมมองว่า ซีพี, อิตาเลียนไทย, ช.การช่าง หรือต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนล้วนแต่ทุนหนาจะแบกภาระขาดทุนได้นาน เพราะการจะทำโครงการอะไรก็ตามผู้ลงทุนก็ต้องศึกษาความคุ้มทุน ซึ่งการขาดทุนต้องมีระยะเวลาสิ้นสุดและมองเห็นอนาคตว่าโครงการจะดีขึ้น จึงจะตัดสินใจเซ็นสัญญา แต่อะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องคุยกันให้เข้าใจตามระยะเวลาที่กำหนดไว้”
ดังนั้น กลุ่มซีพีจึงพยายามที่จะหาข้อสรุปกับประเด็นปัญหาต่างๆ และส่งสัญญาณให้รัฐบาลรู้ว่าอะไรที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้ไปดำเนินการเองตามลำพังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และต้องใช้อำนาจรัฐบาลในการสั่งการเท่านั้น และทุกอย่างก็เห็นชัดหลังการประชุมคณะกรรมการ EEC ที่บิ๊กตู่เป็นประธานเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา
“เราคุยกันว่า ซีพีเหมือนคนที่ขาข้างหนึ่งถูกล่ามโซ่ไว้ ทำให้การจะเดินไปข้างหน้าก็ลำบาก เพราะขวากหนามมันมาก และเจ๊งแน่ๆ ยิ่งถ้าเราเดินไปแล้วสร้างไม่เสร็จจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะ RFP กำหนดไว้ชัดเจน แต่ใช่ว่าโครงการนี้จะไม่มีอนาคต เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลานานเท่านั้น ส่วนจะถอยหลังกลับไปก็ไม่ได้เพราะRFP อีกนั่นแหละ”
ว่ากันว่าปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ซีพีตกอยู่ในความเสี่ยงจึงต้องใช้เวลาในการเจรจาเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา ประกอบด้วย
1. ปัญหาการส่งมอบที่ดิน ซึ่งซีพีเสนอให้มีการส่งมอบ 100% เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้สำเร็จ จึงนำไปสู่การเจรจา ซึ่งคณะกรรมการฯ ยืนยันว่าพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ 72% ก็ต้องมาคุยกันต่อว่า 72% เป็นพื้นที่อย่างไร ติดปัญหาสาธารณูปโภคหรือไม่ คาดว่าปัญหานี้มีโอกาสได้รับการแก้ไขและทำให้งานเดินได้เช่นกัน
2. หากที่ดินไม่ได้รับการส่งมอบตามที่กำหนดไว้ โอกาสที่ซีพีจะสร้างเสร็จภายใน 5 ปี มีความเป็นไปได้น้อย และหากล่าช้า ร.ฟ.ท.จะขยายเวลาให้เท่านั้น
3. หากกลุ่มซีพีส่งมอบโครงการช้าไปกี่วันจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงวันละ 25 ล้านบาท คูณจำนวนวันที่ล่าช้า
4. รัฐไม่ค้ำประกันด้านการเงิน ในส่วนที่ ร.ฟ.ท.ร่วมลงทุนซึ่งจะมีการจ่ายคืนในปีที่ 6 เป็นระยะเวลา 10 ปีเท่าๆ กัน จึงเป็นเรื่องที่กลุ่มซีพีจะต้องไปติดตามและเร่งรัดเอง แต่เชื่อว่าปัญหาข้อนี้รัฐบาลมีทางออกไว้ให้แล้ว
5. รัฐบาลไม่มีการการันตีจำนวนผู้โดยสาร ที่จะเข้ามาลงทุนตามแผนพัฒนา EEC ทำให้ทุกอย่างอยู่บนความเสี่ยงของกลุ่มซีพีล้วนๆ เพราะรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากค่าโดยสารจะเริ่มจากปีที่ 6 เป็นต้นไป ซึ่งช่วงปีที่ 6-10 จะมีผู้โดยสารจำนวนเพียงพอหรือไม่?
6. กลุ่มซีพีต้องการความชัดเจนว่าในพื้นที่ EEC มีการลงทุนจริงตามแผนพัฒนาหรือไม่ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐกำหนดเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
7. มีการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) มีแนวโน้มลดลง จะส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุนในทุกๆ ด้าน
8. ที่ดินทำเลทอง ตามแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่มักกะสัน 150 ไร่ ที่ดินศรีราชา หรือที่ดินที่ซีพีมีอยู่ เคยคาดหวังว่าจะสร้างมูลค่าได้และนำไปชดเชยในส่วนการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น ไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา และมีพื้นที่อาคารสูง คอนโดมิเนียมสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และเชิงพาณิชย์ ในโครงการใหญ่ๆ รอการขายอีกเป็นจำนวนมาก
“ถ้าเศรษฐกิจเติบโต ทุกอย่างกระเตื้องขึ้น การพัฒนาพื้นที่เหล่านี้จะมีมูลค่าขึ้นมาทันที จึงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ตรงนี้คืออนาคตที่ยังพอหวังได้”
9. จากการประเมินความคุ้มทุน (ตารางประกอบ) กรณีที่รัฐการันตีผู้โดยสารและสนับสนุนอื่นๆ เชื่อว่ากลุ่มซีพีต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปีถึงจะหมดภาระการขาดทุน แต่ถ้าโครงการใน EEC ไม่เกิดขึ้นตามแผนพัฒนา โอกาสที่กลุ่มซีพีจะเจ๊งก็มีสูงคืออยู่ในระดับ 'ความเสี่ยงสูงมาก' กลุ่มซีพีจึงพยายามเจรจาลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้ไฮสปีดเทรนเกิดได้และมีอนาคตได้เช่นกัน
10. RFP ระบุรัฐยึดเงินค้ำประกัน 2,000 ล้านบาทได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการขู่ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงคมนาคม แต่เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ใน RFP หากกลุ่มซีพีไม่ลงนามในสัญญาก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถยึดเงินค้ำประกันได้ทันที
“2,000 ล้านรัฐก็จะไปเรียกจากแบงก์ที่ค้ำประกัน จากนั้นแบงก์ก็ต้องไปตามจากกลุ่มซีพีตามที่มีการตกลงกันไว้”
11. RFP ยังมีเงื่อนไข Jointly and Severally เพื่อให้บริษัทในกลุ่ม JV ทุกบริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อสัญญาร่วมกัน ดังนั้นเมื่อซีพีถูก Blacklist มีผลให้ ITD และ CK รวมทั้งพันธมิตรต่างๆ ต้องโดนด้วย
12. ใน RFP ยังกำหนดให้กลุ่มJV ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย (Liability) ไม่เกินวงเงินลงทุน
อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินความเสี่ยง ความคุ้มทุน และโอกาสแล้วระหว่างเดินไปข้างหน้ากับการเดินถอยหลังคือไม่เซ็นสัญญา จะมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันอย่างไร จึงเชื่อว่า ซีพี จะเลือกเดินไปข้างหน้าแบบช้าๆ ตามที่กรอบเวลาหรือการยืนราคาตามที่เสนอไปนั้น สามารถยืดไปได้จนถึงวันสุดท้าย
“ซีพีเลือกไปตายดาบหน้า จะเลือกเซ็นสัญญาก่อนแล้วค่อยๆ แก้ปัญหาเพราะข้างหน้าก็ยังมีโอกาสหากเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมา ซึ่งก็ไม่ต่างจากบีทีเอส ก็ขาดทุนเมื่อทำรถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งในช่วงแรกๆ เพราะจำนวนผู้โดยสารน้อย แต่วันนี้เป็นอย่างไร บีทีเอสเติบโตมากๆ”
แต่การจะเซ็นวันที่ 25 ตุลาคม ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้หรือไม่ หรือจะเลื่อนออกไปอีกก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าหากถึงวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยืนราคา กลุ่มซีพีอาจจะมีอะไรเด็ดๆ ในการเจรจาขอยืดเวลาออกไปได้หรือไม่ และใคร? จะเป็นผู้กล้าอนุญาตให้มีการเลื่อนเวลาออกไปอีกเท่านั้น
“ทั้ง ร.ฟ.ท. และซีพี มั่นใจว่าในวันที่ 25 ตุลาคมน่าจะเซ็นสัญญาได้ หากช่วงเวลาจากนี้ไปเอกสารต่างๆ เข้าใจตรงกันก็จะไม่มีเลื่อนอีก”
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า กลุ่มซีพีไม่มีทางทิ้งโครงการนี้แล้วปล่อยให้ยึดเงินค้ำประกัน และ Blacklist พันธมิตรทางธุรกิจ เพราะเท่ากับชื่อเสียงที่ซีพีสั่งสมมายาวนานจะสูญสิ้นไปในทันที อีกทั้งจะกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสายตาประเทศจีน ว่ากันว่าโครงการนี้ประเทศจีนก็เป็นแรงหนุนสำคัญที่จะทำให้ซีพีตัดสินใจเดินหน้าโครงการไฮสปีดเทรนนี้แม้จะต้องขาดทุนเป็นแสนล้านบาทก็ตาม
“ขาดทุนตรงนี้ มีที่อื่นชดเชยหรือไม่ ต้องตามดูกัน”
ขณะเดียวกัน วงการก่อสร้างที่เป็นพันธมิตรและเคยทำงานร่วมกับนายอนุทิน เจ้าของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ต่างก็เชื่อว่าการเดินหน้ากดดันกลุ่มซีพีให้รีบมาเซ็นสัญญาโครงการไฮสปีดก็เพื่อให้กลุ่มซีพีเซ็นสัญญา ไม่ใช่เพื่อให้ ร.ฟ.ท.เรียกรายที่ 2 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : BTS, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : STEC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) : RATCH มาเป็นคู่สัญญาทำโครงการไฮสปีดเทรนนี้ต่อไป
“คุณอนุทิน และบีทีเอส รู้แล้วว่าปัญหาที่ต้องเผชิญมีอะไรบ้าง ช่วงแรกอาจต้องการทำไฮสปีดเทรน และตัวเลขขอเงินสนับสนุนจากรัฐก็สูงกว่าซีพี คือ เสนอรัฐอุดหนุน 1.69 แสนล้านบาท สูงกว่าซีพีถึง 5 หมื่นล้านบาท จึงย่อมปลอดภัยมากกว่า แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจ จำนวนผู้โดยสาร การส่งมอบที่ดิน และ EEC จะสำเร็จตามเป้าหรือไม่”
ที่สำคัญไม่ต้องการให้โครงการไฮสปีดเทรนต้องกลายเป็น 'แพะ' ให้กับแผนพัฒนา EEC รวมไปถึงหากเรียกกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ มาเจรจาและไม่สามารถเจรจากันได้ และไม่ยอมลงนามในสัญญา บีเอสอาร์ก็จะถูกยึดเงินค้ำประกันและBlacklist เช่นเดียวกับกลุ่มซีพี
“วันนี้รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการล้มประมูลไฮสปีดเทรน เพราะหากมีการประมูลใหม่เชื่อว่ารัฐบาลต้องจ่ายมากกว่าในการประมูลครั้งแรกแน่นอน เพราะราคาและปัญหาต่างๆ ถูกเปิดสู่สาธารณะไปแล้ว จึงต้องช่วยทุกทางที่ไม่ผิดกฎหมายให้ซีพีลงนามได้”
ดังนั้น การที่นายอนุทินเร่งรัดกลุ่มซีพี และทำให้มีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้นได้ ก็เท่ากับเป็นผลงานชิ้นโบแดงให้กับพรรคภูมิใจไทย และยังทำให้กลุ่มบีเอสอาร์ไม่ต้องมาแบกรับความเสี่ยงกับโครงการนี้ เพราะถึงกลุ่มซีพีจะได้งานไป ใช่ว่าบริษัท ซิโน-ไทยฯ จะหมดโอกาสเข้าไปรับงานก่อสร้างในใครงการนี้จริงหรือไม่?
เพราะเขาคือ “เสี่ยหนู” กระบี่มือ 1 ในวงการก่อสร้างเช่นกัน!