xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น ขัดแย้งบานปลายซ้ำรอย “พฤษภาทมิฬ” ติง กอ.รมน. ทบทวนกรณีแจ้งจับ 12 แกนนำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการ-อดีต สมช. ชี้ กอ.รมน. แจ้งจับ 7 พรรรคฝ่ายค้าน ซ้ำเติมความขัดแย้ง หวั่นกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ด้าน “ประสงค์ สุ่นศิริ” ระบุ เสวนาไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เหตุไม่สื่อถึงการแบ่งแยก ราชอาณาจักร “รศ.ดร.เจษฎ์” ชี้ การเมืองแตกเป็น 2 ขั้ว ขณะที่ “พิชาย” ติง” “รัฐบาลบิ๊กตู่” กลายเป็นคู่ขัดแย้ง แนะถอนแจ้งความ

กำลังเป็นประเด็นร้อนฉ่าที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะกลายเป็นการ“สุมไฟในกองฟืน” สำหรับกรณีที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนักการเมือง 7 พรรคฝ่ายค้าน และนักวิชาการ รวม 12 คน ซึ่งร่วมเสวนาในงาน“พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่ จ.ปัตตานี ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคง ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากกรณีที่ “ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์” รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมเสวนาได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็สวนกลับทันควันด้วยการแจ้งความกลับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ในข้อหาแจ้งความเท็จ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อสกัดกั้นการไขรัฐธรรมนูญเพราะต้องการสืบทอดอำนาจ โดยชี้ว่า พล.ต.บุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีกับฝ่ายค้านในครั้งนี้นั้นเป็นทหารที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายซึ่งเป็นมือเป็นไม้ให้ คสช.มาตลอด โดยก่อนที่จะได้เลื่อนยศจากพันโทเป็นพลตรี และขยับเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ตามด้วยผู้ชำนาญการของ กอ.รมน. ในช่วงหลังการเลือกตั้ง 2562 นั้น เขามีตำแหน่งเป็นนายทหารพระธรรมนูญ ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช. มีบทบาทหลักในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง ประกาศ ของ คสช. โดยเกือบพันคดีที่ถูกดำเนินการนั้นมีชื่อ "พ.อ.บุรินทร์" เป็นผู้แจ้งความเกินกว่าครึ่ง
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)
ซึ่งข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำผิดตามมาตรา 116 ในครั้งนี้มิได้จบอยู่ที่การดำเนินการทางกฎหมายเท่านั้น หากแต่มีการอธิบายขยายความกันไปต่างๆนาๆ ถึงขั้นตีตราว่าฝ่ายค้านจะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งมีการยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้พิจารณายุบพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคด้วย ขณะที่พรรคฝ่ายค้านนั้นยืนยันทั้งช่วงก่อนและหลังการเสวนาดังกล่าวว่าไม่มีแนวคิดที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 แต่อย่างใด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจของกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายค้านที่มองว่าเป็นการใช้อำนาจเพื่อกำจัดพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม หลายฝ่ายจึงเกรงว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่ลุกลามบานปลายและกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคม

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) แสดงความเห็นว่า หากพิจารณาจากข้อความที่ ดร.ชลิตา กล่าวในการเสวนาจะเห็นว่าภาพรวมของเนื้อหาพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าอาจรวมถึงมาตรา 1 แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะแก้มาตรานี้อย่างไร ไม่ได้พูดถึงการแบ่งแยกราชอาณาจักร ดังนั้นจึงไม่สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมจะมีการพิจารณารายละเอียดว่ามีมูลความจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ถ้าไม่ปรากฎว่ามีความพยายามแบ่งแยกดินแดนศาลก็จะยกฟ้อง

“ประเด็นคือเขาพูดเรื่องการแก้มาตรา 1 อย่างไร เมื่อไม่มีรายละอียดจะไปตีความว่าเขาจะแบ่งแยกดินแดน จะล้มล้างการปกครองมันไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าเจ้าหน้าที่ไปรังแกเขา ที่จริง กอ.รมน.ควรจะเชิญนักวิชาการท่านนี้มาสอบถามพูดคุยก่อนจะพิจารณาว่าควรแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่” น.ต.ประสงค์ กล่าว
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การแจ้งความดำนินคดีเรื่องนี้อยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านความมั่นคง ซึ่งในการดำเนินคดีนั้นตามขั้นตอนทางกฎหมายจะต้องมีการหาหลักฐานนำสืบพยาน และเชื่อว่าศาลจะพิจารณาด้วยความเป็นธรรม ถ้าผู้ร่วมเสวนาไม่ได้ทำผิดก็ไม่มีปัญหาอะไร

ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แสดงความเห็นว่า การดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาเรื่อง มาตรา 1 นั้น กอ.รมน. ทำเกินกว่าเหตุ เป็นการดำเนินคดีแบบเหวี่ยงแห เพราะเท่าที่ได้ฟังการเสวนาไม่มีฝ่ายค้านคนใดพูดเรื่อง แก้มาตรา 1 ผู้พูดมีเพียงคนเดียว แต่แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เสวนาทั้ง 12 คน โดยอ้างว่าผู้ร่วมเสวนาไม่ห้ามปรามนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะงานนี้เป็นการเสวนาเชิงวิชาการแต่ละคนล้วนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้การใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ใดนั้นต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล และเป็นชนวนที่ขยายความขัดแย้งได้
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
กล่าวได้ว่าประเด็นที่หลายฝ่ายต่างหวั่นวิตกก็คือความขัดแย้งรอบใหม่ที่มีทีท่าว่ากำลังปะทุขึ้นหลังการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้านในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงโดยอ้างข้อความที่เกิดขึ้นบนเวทีเสวนา และสิ่งที่ต้องตระหนักอย่างยิ่งก็คือกรณีนี้มิใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่เป็นความขัดแย้งระหว่าง “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งยังคงภาพความเป็นรัฐบาลทหาร กับ “ประชาชน” ที่สนับสนุนฝ่ายพรรคค้าน ซึ่งรัฐบาลอาจเข้าใจผิดว่าคนกลุ่มนี้คือคนเสื้อแดงที่เคยสนับสนุน “นายทักษิณ ชินวัตร” แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเป็นกลุ่มคนที่มาความหลากหลายและมีขนาดใหญ่กว่านั้นมาก โดยมีทั้งผู้ที่เคยสนับสนุนนายทักษิณ คนที่ไม่เอา คสช. และคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนต่อต้านการใช้อำนาจโดยมิชอบซึ่งมีจำนวนไม่น้อยและรัฐบาลยังไม่สามารถประเมินกำลังได้ ดังนั้นการดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาเป็นภัยต่อความมั่นคงและล้มล้างการปกครองจึงเป็นการจุดประเด็นที่ “สุ่มเสี่ยง” เกินไป

รศ.ดร.พิชาย ชี้ว่า การรัฐประหารทุกครั้งก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งรวมถึงมาตรา 1 ด้วย ดังนั้นไม่อยากให้หยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นและตีความกันเกินเลย ไปแจ้งความดำเนินคดี บางคนถึงขั้นยื่นเรื่องให้ กกต.ยุบพรรคฝ่ายค้าน เพราะการดำเนินการลักษณะนี้จะเป็นแรงกดดันให้ฝ่ายค้านและกลุ่มผู้สนับสนุนเกิดความคับข้องใจ ยิ่งถูกดำเนินการในหลายๆกรณีก็ยิ่งสะสมความไม่พอใจ ซึ่งนำไปสู่ความเกลียดชังรัฐบาล ประกอบกับคนทั่วไปที่ไม่พอใจผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีอยู่ไม่น้อย และหากมีการยุบพรรคฝ่ายค้าน กรรมการบริหารพรรคไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองในสภาได้ ก็จะออกไปเคลื่อนไหวนอกสภา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่จะดึงคนให้ลงสู่ท้องถนนได้ ซึ่งทางออกคือ กอ.รมน. ควรถอนแจ้งความฝ่ายค้านละนักวิชาการทั้ง 12 คน

“ รัฐบาลกำลังเติมเชื้อเพลิงเข้าไปในกองไฟ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาสู่สนามการเมืองด้วยเหตุผลว่าต้องการยุติขัดแย้งในบ้านเมือง ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดงนั้นหมดไปแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง เกิดการแบ่งขั้วระหว่างรัฐบาลซึ่งมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมสนับสนุน กับฝ่ายค้านที่มีกลุ่มเสรีนิยมสบับสนุน ท่านนายกฯควรจะปรามลูกน้องของท่านไม่ให้ขยายความขัดแย้ง” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า
ด้าน น.ต.ประสงค์ ระบุว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นข้อหาหนัก จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง กลัวจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เพราะในสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ ที่น่าเป็นห่วงคือความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้รัฐบาลก็ยังแก้ไม่ได้ ยังไปทำให้ปัญหาขยายวงออกไปอีก

ส่วน รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า รัฐบาลและฝ่ายค้านควรหันหน้าเข้าหากัน การที่ฝ่ายค้านเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ไม่ควรใช้วาทกรรมและมุมมองในลักษณะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ควรอธิบายด้วยเหตุด้วยผล ส่วนตัววิตกว่าการดำเนินคดีกรณี มาตรา 1 จะนำไปสุ่ความขัดแย้งรุนแรง เพราะตอนนี้บ้านเมืองแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ กลุ่มที่สนับสนุนทหารและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งชูเรื่องความมั่นคง กับกลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายค้าน ซึ่งชูเรื่องประชาธิปไตย หากต่างฝ่ายไม่มีใครฟังใครอาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในบ้านเมืองได้

“ทางออกคือรัฐบาลและฝ่ายค้านควรหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ทราบว่าจะมีใครอาศัยความขัดแย้งจากกรณีนี้ทำให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลายหรือเปล่า ผมกลัวว่าจะเหมือนเมื่อครั้งพฤษภาทมิฬ ” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ

//////////////////////
ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ถอดคำพูด ดร.ชลิตา

ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ได้ถอดคำพูดของเธอในเวทีเสวนาพลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวันที่ 28 ก.ย. และนำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยเนื้อหาส่วนที่พูดถึงมาตรา 1 นั้น อยู่ในช่วงท้ายสุดของการอภิปรายซึ่งเธอกล่าวว่า


“สรุปสุดท้ายดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่าเราสามารถใช้เวทีรัฐธรรมนูญมาถกเถียงถึงใจกลางของปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ ที่ผ่านมามีงานวิชาการหลายชิ้นที่บอกว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จริงแล้วเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบัน ที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้ ฉะนั้นเราต้องการรัฐที่มีความแยกย่อย ยืดหยุ่น มีการใช้อำนาจอธิปไตยที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ สามารถจินตนาการถึงการเมืองประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ ดิฉันหวังว่าในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เราจะมีพื้นที่จะสามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ เราจะต้องทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะถกเถียงกันในมาตราต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญที่เราจะแก้ไข (ปัญหาชายแดนใต้) ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร”



กำลังโหลดความคิดเห็น