“มนัญญา” ประกาศกร้าว ไม่หวั่น บ.สารเคมียักษ์ใหญ่ ขู่ปลดจากตำแหน่ง เหตุขวางผลประโยชน์หมื่นล้าน อีกทั้งถูกขู่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ลือสะพัด เอกชนดอดยื่นข้อเสนอ แต่ไร้ผล รมช.เกษตร ขอพลังประชาชน และข้าราชการ ก.เกษตร-ก.สาธารณสุข ผนีกกำลังร่วมสู้กับ “อาชญากรที่ถูกกฎหมาย” เผย คณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย เตรียมประชุม 7 ต.ค.นี้ ก่อนเสนอทางออกต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย
เป็นที่จับตาอย่างยิ่งสำหรับความพยายามในการผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้าและจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืชอันตราย อันได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพลิฟอส และไกลโฟเซต ของหลายภาคส่วน ซึ่งบุคคลที่ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้และเดินหน้าท้าชนชนิดปะ-ฉะ-ดะ ถึงขั้นลงไปฟาดฟันกับข้าราชการเขี้ยวลากดินและกลุ่มก๊วนผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังการคงอยู่ของสารพิษ นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทุ่มเททำงานอย่างจริงจังจนได้ใจคนไทยทั้งประเทศ
งานนี้ถือว่าเป็นงานหินที่มีอุปสรรคมากมาย จนไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ น.ส.มนัญญา ระบุว่า การดำเนินการเพื่อยกเลิกสารพิษที่ใช้ในการเกษตรทั้ง 3 ชนิดนั้นยากตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากไม่รู้จะเริ่มตรงไหน มีช่องทางใดบ้าง ไม่มีใครให้ข้อมูล ไม่รู้ว่าจะมีใครให้การสนับสนุนบ้าง รู้แต่เพียงว่าต้องทำให้สารพิษดังกล่าวหมดไปจากประเทศไทย ล่าลุดแม้ว่าจะสามารถดำเนินการให้ยุติการนำเข้าเป็นการชั่วคราวได้แล้ว แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังมีเงื่อนไขว่าต้องหา “สารทดแทน” ก่อนจึงจะยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดได้ ซึ่งตนไม่รู้ว่าคำว่าสารทดแทนมาได้อย่างไรใครเป็นคนคิด ทั้งที่จริงๆแล้วการยกเลิกสารพิษไม่จำเป็นต้องมีสารทดแทน เพราะคนไทยมีทางเลือกในการกำจัดศัตรูพืชอยู่แล้ว เช่น ใช้น้ำส้มควันไม้
คนไทยทำเกษตรกรรมมายาวนานสมัยก่อนก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมี ตอนนี้ทำไมต้องพึ่งสารเคมี เหตุเพราะภาครัฐไปเลือกให้เขา หน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรคือพิจารณาว่าควรหรือไม่ควรอนุญาตให้นำเข้าสารที่ใช้ในการเกษตรแต่ละตัว แต่กลับอนุญาตทั้งหมด แม้กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรให้ป้องกันสารพิษจากยากำจัดวัชพืช แต่ไม่ได้บอกเกษตรกรว่าถ้าใช้สารพวกนี้แล้วในอนาคตจะเป็นโรคอะไรบ้าง เกษตรกรมารู้หลังจากใช้สารเคมีพวกนี้มา 10-20 ปี เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก นักวิชาการมีหน้าที่ให้ความรู้แก่เกษตรกร ไม่ใช่ทำร้ายเกษตรกร ตราบใดที่ยังอนุญาตให้ขายและยังมีการอบรมการใช้อยู่ เกษตรกรก็เข้าใจว่าสารพวกนี้ยังปลอดภัยอยู่
“ ทุกครั้งที่มีคนพูดว่าต้องหา ‘สารทดแทน’ ก่อนจึงเลิกนำเข้าพาราควอต มันเจ็บลึกๆนะ สารพวกนี้มันเป็นสารพิษ ควรยกเลิก ไม่ใช่หาสารตัวอื่นมาทดแทน หรือแค่อยากจะเปลี่ยนจากชื่อหญ้าฆ่าหญ้าที่สังคมต้องการให้เลิกใช้ มาใช้ยาฆ่าหญ่าที่เรียกอีกชื่อหนึ่ง ทำไมไม่ให้เกษตรกรมีทางเลือก เขาเลือกกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีอื่นๆได้” รมช.เกษตรฯ กล่าว
ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าสาเหตุที่ไม่สามารถยกเลิกสารพิษที่ใช้ในการเกษตรทั้ง 3 ชนิดได้ เป็นเพราะอำนาจสั่งการของ รมว.เกษตรฯ อีกทั้งมีข่าวสะพัดว่าผู้บริหารของบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่ได้เข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยข้อเสนอมูลค่ามหาศาล ซึ่งประเด็นนี้ น.ส.มนัญญา มองว่า ที่ รมว.เกษตรฯ ไม่ได้ลงมาสั่งการเรื่องนี้คงเป็นเพราะมีภารกิจมาก ต้องรับผิดชอบงานหลายกรม ประกอบกับตนเองก็ไม่อยากรบกวนการทำงานของเจ้ากระทรวง
นอกจากนั้นขณะที่มีข่าวว่า นายเฉลิมชัย รมว.เกษตร ขัดขวางไม่ให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว ก็มีข่าวมาว่าคนของบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่ได้เข้าพบและเสนอผลประโยชน์ให้ น.ส.มนัญญา รมช.เกษตร แลกกับการยุติการดำเนินการเพื่อยกเลิกนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีการเกษตรเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ รมช.เกษตรฯไม่เล่นด้วย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่บริษัทดังกล่าวเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่าถูกขู่ไม่ให้ยกเลิกสารพิษทางการเกษตรดังกล่าว ทั้งขู่ว่าจะฟ้องและขู่ว่าจะใช้กำลังภายในปลดออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ
“ ครั้งแรกที่พูดเรื่องนี้ออกไปก็มีคนโทร.มาบอกว่า..รัฐมนตรีโดนปลดแน่ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ปลดก็ไม่เป็นไร เวลาไปไหนก็จะมีคนเตือน ลูกๆก็ไม่ยอมปล่อยให้แม่ไปไหนคนเดียว ไปด้วยตลอดเวลา นอกจากนั้นก็มีบริษัทสารเคมีทำหนังสือมา บอกว่าเดี๋ยวจะฟ้องรัฐมนตรี ขอให้ศาลปกครองคุ้มครองว่าเอาคำสั่งอะไรไปสั่งเขาไม่ให้นำเข้า เราก็เข้าใจนะว่าผลประโยชน์หลายหมื่นล้าน แต่ท่านกำลังเอายาพิษมาอาบประเทศไทย เป็นฆาตกรที่ฆ่าคนอย่างถูกกฎหมาย ” น.ส.มนัญญา ระบุ
แม้ว่าความพยายามในการยกเลิกสารพิษทางการเกษตรจะเป็นเรื่องยากแต่ดูเหมือนรัฐมนตรีช่วยว่าการการกระทรวงเกษตรก็ไม่ได้ท้อถอย และยังคงเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดย รมช.เกษตรฯ ระบุว่า จากที่คณะกรรการวัตถุอันตรายมีมติให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ผู้นำเข้าสารเคมีเกษตร และผู้บริโภค เพื่อศึกษาหาสารทดแทนสารเคมีการเกษตรที่เป็นพิษ ซึ่งมีตนเป็นประธานคณะทำงานนั้น คณะทำงานจะมีการประชุมกันในวันที่ 7 ต.ค. นี้ จากนั้นจะนำผลการหารือของที่ประชุมเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการวัตุอันตรายต่อไป
น.ส.มนัญญา บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ตนเองมีกำลังใจที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปก็เพราะมีประชาชนเป็นแรงหนุน และได้กำลังใจจากหลายภาคส่วน ยอมรับว่าการดำเนินการเพื่อยกเลิกสารพิษทั้ง 3 ชนิดนั้น เป็นเรื่องยากและมีอุปสรรคมากมาย ก็ต้องขอขอบคุณข้าราชการที่คอยเป็นที่ปรึกษา หลายท่านให้คำแนะนำและให้กำลังใจว่ารัฐมนตรีทำดีที่สุดแล้ว ซึ่งส่วนตัวคิดว่าดีที่สุดมันต้องยกเลิก ไม่ใช่ทำดีที่สุดแล้วแต่สาร 3 ตัวนี้ยังใช้ต่อไปใด้ เพราะปรัชญาในการทำงานของตนเองคือ “จับแล้วต้องจบ”
“ มีคนปรามาสว่าเป็นมวยล้ม มองว่าเขย่าเอาตังค์ ซึ่งเราห้ามความคิดใครไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเราไม่ทำเรื่องแบบนี้แน่ การเดินหน้าเพื่อยกเลิกสารพิษมันเหมือนเดินไปในความมืด ต้องเดินคลำไปว่าช่องทางออกที่มีแสงสว่างอยู่ตรงไหน แต่ดิฉันมีประชาชนเป็นกองหนุน ต้องขอบคุณประชาชน ขอบคุณคุณหมอ ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว เหมือนที่เขาบอกว่าไม้ท่อนเดียวหักง่าย ตอนนี้ไม้ของเรามัดแน่นมาก มีพี่น้องประชาชน มีหน่วยราชการต่างๆทั้งในกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุข ขอแค่ทุกคนอย่าเหนื่อย อย่าหนี อย่าท้อ เราจะร่วมกันสู้กับอาชญากรที่ถูกกฎหมาย ”