xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมกายลอยลำ "ศิษย์เอก"นั่งกรรมาธิการศาสนา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศึกชิงอำนาจคุมงานด้านศาสนาเข้มข้น ศิษย์ธรรมกายผงาดนั่งรองประธานกรรมาธิการศาสนาคนที่ 1 ไพบูลย์ นิติตะวัน นั่งแค่รองอันดับ 2 ชี้จากนี้ไปงานด้านนี้ไม่มีทางคืบหน้า เพราะต่างฝ่ายต่างหาทางสกัด แม้สมเกียรติ ศรลัมพ์ ถูกสกัดช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม แต่ได้นิยม เวชกามา เพื่อไทยสานงานต่อ จับตาเก้าอี้ ผอ.สำนักพุทธฯ

ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เคยทำเอาพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มีคดีความติดตัวจากความเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และหลบหนีคดีจนต้องพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส

รัฐบาลปัจจุบันที่ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมอีกกว่า 10 พรรค แม้พรรคเพื่อไทยที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับวัดพระธรรมกายจะเป็นเพียงฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่ได้ทำให้วัดพระธรรมกายอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงเหมือนกับรัฐบาล คสช. เนื่องด้วยรัฐบาลมีสถานะเสียงปริ่มน้ำ

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหอกที่เคยติดตามเรื่องวัดพระธรรมกาย แม้ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่บทบาทในการติดตามเรื่องนี้ยังคงถูกจำกัด

ไม่ง่ายเหมือนก่อน

แหล่งข่าวที่ติดตามเรื่องวัดพระธรรมกายกล่าวว่า ตอนนี้เรื่องการติดตามคดีของวัดพระธรรมกายคงไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากคนของธรรมกายอยู่ในเกือบทุกหน่วยงาน ทั้งในภาคการเมืองและนอกภาคการเมือง ดังนั้นการจะดำเนินการใด ๆ มีทั้งถูกสกัดหรือรู้ข้อมูลล่วงหน้าก่อนแล้วนำไปแจ้งต่อปลายทางให้หาทางรับมือ

ในยุค คสช.แม้จะมีคนในสายของวัดพระธรรมกายแทรกอยู่บ้าง แต่อำนาจในการสั่งการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หน่วยงานต่าง ๆ ไม่กล้าปฏิเสธคำสั่ง จึงทำได้สะดวก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จบ้างในบางครั้งจากข้อมูลที่รั่วออกไปถึงปลายทาง แต่ก็นับว่ายังได้ขับเคลื่อนปฏิบัติการ

ตอนนั้นนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อปี 2558 มีแนวทางปฎิรูปกิจการพุทธศาสนา 4 ด้าน

1.ทรัพย์สินของวัดหรือของพระสงฆ์ที่ไม่มีการตรวจสอบ หรือ การเปิดเผยทรัพย์สิน จนทำให้พระสงฆ์จำนวนมากมุ่งแสวงประโยชน์เข้าสู่ตนเองมากกว่าศึกธรรมและปฏิบัติธรรมตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

2.ปัญหาของสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนกลายเป็นความเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้มีสาเหตุจากปัญหาการปกครองของคณะสงฆ์ที่เป็นแบบรวมศูนย์ และ การศึกษาคณะสงฆ์

3.การทำให้พระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติปฏิบัติวิปริตจากพระธรรมวินัย เช่น กรณีของวัดพระธรรมกายที่มีแนวทางคำสอนที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยที่ร้ายแรง โดยชักจูงประชาชนให้เชื่อว่า บุญ คือ สินค้า รวมถึงยังมีพฤติกรรมรับเงินบริจาคที่มาโดยมิชอบ ดังนั้นประเด็นที่เกิดขึ้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อชำระการปฏิบัติที่เพี้ยนจากพระธรรมวินัย

4.ฝ่ายอาณาจักรต้องสนับสนุน ปกป้อง คุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร โดยการจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่มีความคล่องตัว

ข้อเสนอเหล่านี้ทำให้นายไพบูลย์กลายเป็นศัตรูเบอร์หนึ่งของพระที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว รวมถึงศิษย์วัดพระธรรมกายที่มักจะออกมาโจมตีนายไพบูลย์เรื่อยมา
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานกรรมาธิการศาสนา คนที่ 2
งานไม่คืบ-กรรมาธิการต่างขั้ว

แม้วันนี้นายไพบูลย์จะได้เข้ามานั่งในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร อีกครั้ง แต่เป็นเพียงรองประธานคนที่ 2 โดยนายนายสุชาติ อุสาหะ จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล จากพรรคเพื่อไทยรองประธานคนที่ 1 นายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ รองประธานคนที่ 2 นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล พรรคเพื่อชาติ รองประธานคนที่ 3 และนายเทพไทย เสนพงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานคนที่ 4

ดังนั้นการขับเคลื่อนงานด้านพระพุทธศาสนาย่อมแตกต่างจาก เมื่อครั้งที่นายไพบูลย์เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะเห็นได้ว่าสถานะของกรรมาธิการศาสนาชุดนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเข้ามาร่วมกันทำงาน แน่นอนว่าโอกาสที่จะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันนั้นคงยาก ข้อเสนอของฝ่ายหนึ่งย่อมถูกอีกฝ่ายหนึ่งทัดทานไว้ หากไปกระทบกับผู้เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย

“เรียนตามตรงว่าจากนี้ไปงานด้านพระพุทธศาสนา อาจไม่มีอะไรที่คืบหน้าไปมากกว่าเดิม เพราะหากมีเสนอไปย่อมถูกถ่วงดุลจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้ ด้านหนึ่งเป็นเรื่องดีในการถ่วงดุลกัน เพื่อความรอบคอบในการตัดสินใจ แต่อีกด้านหนึ่งหากการถ่วงดุลนั้นเป็นการปกป้องพวกพ้องที่กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องย่อมเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย” แหล่งข่าวกล่าว

ที่สำคัญกรรมาธิการชุดนี้ พบว่ามีบุคคลที่อยู่คนละขั้วเข้ามาทำงานร่วมกัน คนแรกคือนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคนที่ 2 คนนี้ชัดเจนว่าโด่งดังมาจากการแก้ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของพระและวัด รวมถึงเรื่องของคดีวัดพระธรรมกาย

ส่วนรองประธานคนที่ 3 คือนายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล พรรคเพื่อชาติ เป็นแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ มีบทบาทในการร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มนปช. ซึ่งสนับสนุนพรรคเพื่อไทยของตระกูลชินวัตรมาโดยตลอด เพียงแต่แยกมาในนามของพรรคเพื่อชาติและถือเป็นอีกหนึ่งพรรคที่ศิษย์วัดพระธรรมกายเชิญชวนให้มีการเลือก หลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ
นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล รองประธานกรรมาธิการศาสนาคนที่ 1
“พรเพ็ญ” ศิษย์ธรรมกายตัวเป้ง

ที่น่าจับตาคือรองประธานคนที่ 1 นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล พรรคเพื่อไทย จากชัยภูมิ ถือได้ว่าเป็นศิษย์ของวัดพระธรรมกายคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ที่เธอและครอบครัวศรัทธาในวัดพระธรรมกายมาเป็นเวลานาน จนวารสารอยู่ในบุญฉบับที่ 39 มกราคม ปี 2549 ได้เขียนเรื่องราวของเธอในบทความอยู่ในบุญ ศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของ พรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล

เมื่องานธุดงค์ธรรมชัยปีที่ 2 กัลยาณมิตรพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล ได้กล่าวถึงงานในครั้งนั้นเมื่อ 8 มกราคม 2556 ว่า “ในนามของโฆษกกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม มีความปีติใจอย่างยิ่ง ที่เห็นความเจริญรุ่งเรืองงอกงามที่ดีงาม เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูศีลธรรมโลกในครั้งนี้ ที่เราได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป นับว่าเป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งที่จะทำให้ ทุกคนมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของเรา และช่วยกันทำนุบำรุงให้ยิ่งๆ ขึ้นไป”

นอกจากนี้คณะกัลยาณมิตรในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้พร้อมใจกันมาร่วมโครงการปฏิบัติธรรมแกนนำเพื่อจัดตักบาตรพระ 1000 รูปเมืองภูเขียว ซึ่งนางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เข้าร่วมด้วย

ไม่เพียงแค่การเป็นศิษย์วัดพระธรรมการเพียงอย่างเดียว เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นามสกุล “บุญศิริวัฒนกุล” ตรงกับพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งของวัดพระธรรมกายคือพระถวัลย์ศักดิ์ บุญศิริวัฒนกุล หรือพระถวัลย์ศักดิ์ ยติสักโก รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากร วัดพระธรรมกาย ซึ่งนับว่าเป็นพระบริหารในลำดับต้น ๆ ที่ทำงานใกล้ชิดกับพระธัมมชโย

ดังนั้นนางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล รองประธานกรรมาธิการศาสนาคนที่ 1 กับนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคนที่ 2 นับได้ว่าอยู่กันคนละขั้วอย่างชัดเจน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่งานด้านพระพุทธศาสนาเรื่องใดที่จะเข้าไปแตะต้องวัดพระธรรมกายจากนี้ไป คงไม่มีปฏิบัติการในเชิงรุกเหมือนในอดีต
พระถวัลย์ศักดิ์ (บุญศิริวัฒนกุล) ยติสักโก รอง ผอ.สำนักพัฒนาทรัพยากร วัดพระธรรมกาย
สมเกียรติอกหัก-นิยมรับช่วง

สำหรับศิษย์วัดพระธรรมกายอีกรายอย่างนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ ที่ยอมลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อหวังเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ครั้งแรกได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์กันถึงการพลิกสถานะของวัดพระธรรมกายที่จะกลายมาคุมสำนักพุทธฯ ผ่านทางลูกศิษย์

แต่หลังจากนั้นเรื่องของนายสมเกียรติเงียบหายไป และพบว่าปัจจุบันนายสมเกียรติได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีนายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการ เป็นอันว่าศิษย์วัดพระธรรมกายรายนี้ไม่สมหวัง ว่ากันว่าผู้ที่สั่งเปลี่ยนแปลงตำแหน่งดังกล่าวคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามโควตาของพรรคประชาภิวัฒน์ ยังมีส.ส.บัญชีรายชื่อที่เลื่อนขึ้นมาแทนนายสมเกียรติ นั่นคือ นางนันทนา สงฆ์ประชา ที่ยังสามารถทำหน้าที่ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรได้

แต่ในระยะนี้มือวางด้านพระพุทธศาสนาในสภาฯ ตกเป็นของดร.นิยม เวชกามา ส.ส.พรรคเพื่อไทย สกลนคร ซึ่งทำงานประสานกับนายสมเกียรติมาก่อนเรื่องการร้องขอต่อสภาฯ ให้อดีตพระผู้ใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีได้สิทธิประกันตัว ซึ่งดร.นิยมหรือมหานิยมนั้นเป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นด้วยกับสายของพรรคเพื่อไทยและวัดพระธรรมกายกับคดีขอออกโฉนดบนเกาะดอนสวรรค์ จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2555 จนชาวสกลนครต้องออกมาประท้วงในเรื่องดังกล่าวและพระของวัดพระธรรมกายได้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว

จับตา ผอ.สำนักพุทธฯ

ที่ผ่านมาสูตรในการคุมอำนาจในด้านพระพุทธศาสนานั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือคุมเสียงส่วนใหญ่ในมหาเถรสมาคม ซึ่งเรื่องนี้ทางวัดพระธรรมกายประสบความสำเร็จพระผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดของมหานิกายและยังมีสายธรรมยุติบางส่วนเมตตาต่อวัดพระธรรมกายเสมอมา เพราะอำนาจสูงสุดของสงฆ์อยู่ที่มหาเถรสมาคม

ส่วนที่ 2 เป็นภาคการเมืองหากได้พรรคการเมืองที่ศรัทธาในวัด ทุกอย่างก็จะเป็นเรื่องง่าย เริ่มที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมถึงส่งลูกพรรคเข้าไปเป็นกรรมาธิการศาสนา ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก หากควบคุมเสียงข้างมากได้แผนในการสนับสนุนวัดที่เกื้อหนุนกันอยู่ก็จะราบรื่น และอีกตำแหน่งที่สำคัญคือตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งในอดีตสามารถจัดงบประมาณต่าง ๆ ให้กับทางวัดได้

เมื่อตัวผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ กรรมาธิการศาสนา และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินไปแนวทางเดียวกับมหาเถรสมาคมทุกอย่างย่อมเป็นเรื่องง่าย เรียกได้ว่ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายรัฐ

ดังนั้นพันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ที่จะเกษียณอายุราชการอีกไม่กี่วันนี้ หากได้ผู้อำนวยสำนักพุทธฯ คนใหม่ที่อิงกับขั้วอำนาจเดิม สถานการณ์ด้านพระพุทธศาสนาอาจถอยกลับไปสู่วังวนเดิม และน่าจะส่งผลดีต่อสถานการณ์ของวัดพระธรรมกายมากขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น