จับตา “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ส่งทหาร และเครือข่าย “วงษ์สุวรรณ” ยึดองค์กรตวจสอบ ฟาดเรียบ ทั้ง ป.ป.ช. -คตง.- กมธ. ตรวจสอบทุจริต ของ ส.ว. ผิดสังเกต คดีที่เกี่ยวกับ “บิ๊ก”ในรัฐบาลและเครือญาติ เงียบหาย ด้าน “ เลขาธิการ ACT ” ห่วงคณะกรรมการปฏิรูปการทุจริต ถูกสั่งหยุดทำงาน 4 เดือนแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือก “กรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล” ของวุฒิสภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สร้างความเคลือบแคลงใจให้สังคมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมีข่าวสะพัดว่าเกิดขบวนการล็อบบี้เพื่อสกัด ส.ว.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบทุจริต อย่าง นายปานเทพ กล้าณรงราญ อดีตประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายประมนต์ สุธีวงศ์ อดีตประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ให้เข้ามาเป็นกรรมาธิการคณะนี้ โดยมีใบสั่งจากผู้มากบารมีในรัฐบาล ส่ง ส.ว. ในสังกัดเข้าร่วมสมัครเพื่อคุมเสียงส่วนใหญ่ บล็อกโหวตเลือก ส.ว. ของตนเข้ามาทำหน้าที่ โดยมี พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งประธานกรรมาธิการ ฯ
แต่ไม่เท่านั้น ! เพราะหากตรวจสอบหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นและเสริมสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินในยุค “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ” จะพบว่ามักมีทหารหรือคนสนิทของ “บิ๊กป้อม” เข้าไปมีบทบาทอยู่เสมอ ขณะที่ภาพลักษณ์เรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของรัฐบาลนี้ก็ดูไม่ดีนัก เนื่องจากคนมองว่าเป็นรัฐบาลชุดเดียวกับ“รัฐบาล คสช.” ซึ่งเป็นยุคที่มีสถิติการคอร์รัปชั่นสูงมาก ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่านี่อาจเป็นการครอบงำองค์กรตรวจสอบเพื่อปกปิดบางสิ่งบางอย่างหรือไม่ ?
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สังคมจับตาเพราะนอกจากจะสกัดไม่ให้ ส.ว.ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตแล้ว ยังเลือกคนที่สังคมกังขามาเป็นประธานกรรมาธิการฯด้วย อย่าลืมว่าแม้กรรมาธิการชุดนี้จะไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินความผิดเรื่องคอร์รัปชั่นเหมือนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ก็มีบาทบาทในการตรวจสอบไม่น้อยทีเดียว
โดยกรรมาธิการฯมีหน้าที่ 3 อย่าง คือ 1)หยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาลที่อยู่ในความสนใจของประชาชนมาตรวจสอบศึกษาและวิเคราะห์ เมื่อได้ข้อสรุปก็จัดทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่หน่วยงานต่างๆจะได้นำประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาและหาทางแก้ไข 2)รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทั่วไป และ 3)มีหน้าที่ดูแลเร่งรัดการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น ดังนั้นหากผู้ที่เข้ามาเป็นประธานฯ และกรรมาธิการฯมีความใกล้ชิดกับรัฐบาล ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ปิดตาเสียข้างหนึ่ง
“ แม้กรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตฯ ของวุฒิสภา จะไม่มีหน้าที่ตัดสินคดีทุจริต แต่มีอำนาจเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆที่สังคมสงสัยว่าอาจมีการทุจริตมาให้ข้อมูล ยกตัวอย่างกรณี ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ซึ่งถูกตั้งคำถามทั้งเรื่องวุฒิการศึกษาและข่าวเรื่องคดีค้ายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาด้านธรรมาภิบาลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เป็นประเด็นที่อาจจะถูกหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบได้” เลชาธิการ ACT ระบุ
ดร.มานะ ยังตั้งข้อสังเกตถึง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ฐานะที่ตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบก็สงสัยว่าหลังจากที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเป็นฝ่ายประสานงาน แจ้งให้คณะกรรมการชุดนี้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่าเพื่อรอความชัดเจนของแผนงาน จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 4 เดือนแล้วก็ยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น อีกทั้งไม่มีการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการฯคนใหม่แทนนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ซึ่งลาออกไปเป็น ส.ว. ด้วย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้สังคมต่างจับตาว่าเครือข่าย “วงษ์สุวรรณ” กำลังขยายอิทธิพลเข้ามาครอบงำหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองหรือไม่ ? เพราะมิใช่แค่กรณีส่งพลเรือเอก ศิษฐวัชร น้องชายของ พล.อ.ประวิตร มานั่งประธานกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตฯ ของวุฒิสภา เท่านั้น แต่ก่อนหน้าก็มีเรื่องการแต่งตั้งและการทำหน้าที่ของประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใส เนื่องด้วย “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือน ธ.ค.2557 ในยุครัฐบาล คสช. นั้นเรียกได้ว่าเป็น “สายตรงวงษ์สุวรรณ” เพราะเป็นลูกน้องเก่าของทั้ง พล.อ.ประวิตร และ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
อีกทั้งสังคมได้ตั้งข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล เป็นประธานว่าหากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับคนในตระกูลวงษ์สุวรรณ ป.ป.ช.ก็มักจะเพิกเฉย การดำเนินการล่าช้า ผลการพิจรณาไต่สวนเป็นไปในลักษณะค้าสายตาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกรณี “นาฬิกาเพื่อน” ของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากมีมติ “ยกคำร้อง” หรือกรณีที่ พล.ต.อ.พัชรวาท อดีต ผบ.ตร.ถูกร้องต่อ ป.ป.ช. เรื่องร่ำรวยผิดปกติ มาตั้งแต่ปี 2553 แต่ขณะนี้เรื่องกลับเงียบหายไปเฉยๆ
ซี่งกรณีของ พล.อ.พัชรวาทนั้นดูจะมีความผิดปกติอย่างมาก เนื่องจากเรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.มาตั้งแต่ปี 2553 โดยถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ร่วมเป็นเจ้าของคอกม้า “รุ่งเรือง รุ่งพัชร” และทำนิติกรรมอำพรางด้วยการจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.สมถวิล รีสอร์ท มูลค่ากว่าร้อยล้าน ซึ่งมี นางสมถวิล วงษ์สุวรรณ คู่สมรส และ น.ส.นวพร วงษ์สุวรรณ บุตรสาว เป็นหุ้นส่วน โดยสถานะของคดีในปี 2557 ระบุว่า ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ยื่นคัดค้านและคณะอนุกรรมการฯได้ดำเนินการไต่สวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2557 จากนั้นในช่วงปี 2558 ได้สอบปากคำพยานบุคคลและรวบรวมหลักฐานกระทั่งปี 2560 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ และในเดือน พ.ค.2560 เจ้าหน้าที่ได้สรุปข้อเท็จจริงเสนอคณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณา และดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคล
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่มีการดำเนินการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้มีการอัพเดทข้อมูลคดีบนเว็บไซต์ ป.ป.ช.อย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่าในช่วงค่ำของวันที่ 5 ส.ค.2560 เว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช.ได้ปิดไม่ให้เข้าถึงข้อมูลการไต่สวนในคดีดังกล่าว และเรื่องก็เงียบหายมาจนถึงปัจจุบัน !
อีกประเด็นที่สังคมจับตาก็คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุค “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์1” ตัวประธานคณะกรรมการฯ คือ พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ก็มาจากสายทหาร จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ทหารคุม” อีกแล้ว และหากจำกันได้ กรณีข่าวดังเรื่องการร้องเรียนการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ออกัสตา รุ่น AW139 และรุ่น AW149 จำนวน 14 ลำ ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจัดซื้อด้วย “วิธีพิเศษ” ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ร้องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เมื่อปี 2561 ว่า “จัดซื้อแพงเกินจริง” ผู้ที่รับเรื่องก็คือ พล.อ.ชนะทัพ ประธาน คตง. และสุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไปกับสายลม ทั้งที่ความผิดปกติในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวมิใช่มีแค่นายศรีสุววรณที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะก่อนหน้านี้ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลของวิธีการจัดซื้อเช่นกัน
จากหลายๆกรณีที่เกิดขึ้น สังคมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จีงดูไม่สนใจเรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ทำไมจึงมีทหารเข้าไปกุมบังเหียนองค์กรตรวจสอบ และเหตุใด พล.อ.ประวิตร ต้องส่งคนของตัวเองเข้าไปคุมองค์กรตรวจสอบการทุจริต
เรื่องนี้มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเปล่า ? มีความพยายามครอบงำองค์กรตรวจสอบหรือไม่ ? และประชาชนคนไทยจะเชื่อถือการทำงานขององค์กรเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด ?