xs
xsm
sm
md
lg

‘ภูมิใจไทย’ ดันตั้งกระทรวงท้องถิ่น ชี้ ‘มท.-พปชร.’ โดดขวางหวั่นอำนาจลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กิตติศักดิ์” เผย โมเดลกระทรวงท้องถิ่น ดึงคน-งบจากกรมปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้ง 5 กรม 1 สำนัก ด้าน “มานิตย์” ชี้ ต้องเร่งปรับโครงสร้าง-บทบาทองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ลดอำนาจซ้ำซ้อน “สฤษฏ์พงษ์” แย้ม อบต.ร่วมเคลื่อน ขณะที่ อบจ.เตรียมประชุมใหญ่ ต.ค.นี้ “รศ.ดร.วีระศักดิ์” คาดตั้งกระทรวงใหม่ ใช้เวลา 2 ปี หวั่น มท.ค้านหัวชนฝา

นับว่าแนวคิดในการตั้ง “กระทรวงท้องถิ่น” เพื่อแยกงานด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ออกมาบริหารจัดการในรูปแบบกระทรวง กำลังได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย ทั้งในแวดวงการเมืองระดับชาติ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ โดย ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สภามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งกระทรวงปกครองท้องถิ่น โดยมี ส.ส.ยื่นญัตติเสนอเรื่องลักษณะดังกล่าวเข้าสภาถึง 3 ญัตติ ประกอบด้วย ญัตติของฝ่ายรัฐบาล นำโดย สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย อดีต ส.จ. และรองนายก อบจ.กระบี่ ที่เสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ญัตติที่เป็นของ ส.ส.เพื่อไทย ก็สนับสนุนให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการจัดตั้งกระทรวงการปกครองท้องถิ่น คือ ญัตติของ นายมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ และญัตติของนายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม

ขณะที่ในส่วนของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างก็ตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่องการแยกการบริหารงานส่วนท้องถิ่นเช่นกัน โดยในการประชุมสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีสมาชิก อบต.จากทั่วประเทศมาร่วมประชุมกว่า 1,000 คน ก็ได้นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นหลักในการประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะแยกงานด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาเป็นกระทรวง
นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย
แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจัดตั้งกระทรวงใหม่นอกเหนือจากภารกิจหน้าที่ก็คือ โครงสร้างกระทรวงจะเป็นเช่นไร บุคลากรและงบประมาณจะมาจากไหน ?

แม้ว่าบรรดา ส.ส. และนักวิชาการที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นจะเห็นพ้องต้องกันว่าโครงสร้างกระทรวงเป็นรูปแบบใดนั้นต้องมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส.ส.ที่ร่วมสนับสนุนญัตติ นักกฎหมาย และนักวิชการ แต่ทั้งนี้ผู้เสนอญัตติก็ได้มีโมเดลคร่าวๆ ที่พร้อมจะนำเสนอไว้บ้างแล้ว

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ซึ่งเสนอญัตติให้มีการศึกษาการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น เปิดเผยว่า แนวคิดในการตั้งกระทรวงท้องถิ่นนั้นจะเป็นการแยกกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทยออกมาตั้งเป็นกระทรวง บุคลากรและงบประมาณจะโอนมาจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ส่วนโครงสร้างกระทรวงท้องถิ่นจะประกอบด้วย สำนักปลัดฯ ที่ดูแลเรื่องงบประมาณและบุคลากร, กรมที่ดูแลด้านโยธาและการพัฒนาเมือง, กรมที่ดูแลด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กรมพัฒนาองค์กรและการมีส่วนร่วมของประชาชน, กรมที่ดูแลเรื่องกฎหมาย ระเบียบและการกำกับดูแลองค์กรส่วนท้องถิ่น หลักการคือกระทรวงท้องถิ่นไม่ต้องเป็นกระทรวงใหญ่ ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ มีแค่ไม่กี่กรม แต่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมความเป็นอยู่ของท้องถิ่นให้ดีขึ้น ส่วนการจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น อบต. สมาชิกสภาเทศบาล ก็ให้เป็นหน้าที่ กกต.

ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มีการปกครองแค่ 2 ระดับ คือ การปกครองส่วนกลาง กับการปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างจากไทย ที่มีการปกครองถึง 3 ระดับ คือ การปกครองส่วนกลาง ได้แก่ รัฐบาล และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย, การปกครองส่วนภูมิภาค ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดอำเภอ นายอำเภอ และส่วนราชการประจำจังหวัดที่สังกัดกระทรวง ทบวง กรม และการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นโครงสร้างที่เทอะทะ มีปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อน

“การแยกงานด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาเป็นกระทรวงจะช่วยลดอำนาจที่ซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนในการสั่งการ ทำให้แก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้ทันการณ์ เช่น ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องพิษสุนัขบ้า หน่วยงานส่วนท้องถิ่นจะของบจัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า กว่าจะได้รับอนุมัติ ต้องออกระเบียบโน่นนี่ ดูว่าจะใช้งบจากตรงไหน รวมแล้วต้องใช้เวลาถึง 1 ปี โรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดก็หมดไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างอำนาจแบบเดิมมันไม่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน” นายกิตติศักดิ์กล่าว
นายมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
ด้านนายมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้เสนอญัตติเรื่องการตั้งกระทรวงท้องถิ่น ระบุว่า หลังจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นจะต้องมีการปรับโครงสร้างอำนาจของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความสับสนของโครงสร้างอำนาจ เนื่องจากโครงสร้างปัจจุบันมีความลักลั่นมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นกับสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่นายอำเภอขึ้นกับกรมการปกครอง ขณะที่ อบต.ขึ้นกับนายอำเภอ เรื่องการจัดสรรงบประมาณก็มีปัญหา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรรายได้ในสัดส่วนร้อยละ 29.5 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล แต่งบจำนวนนี้ไม่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่เนื่องจากต้องแบกภาระมากมาย เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การจัดซื้อนมโรงเรียนให้แก่เด็ก ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ

“ปัจจุบันโครงสร้างมันสับสนไปหมด อำนาจของ อบต.กับ อบจ.ซ้ำซ้อนลักลั่นกันมาก มีการแบ่งว่าถนนสายนี้ อบต.ดูแล สายนี้ อบจ.ดูแล ขณะเดียวกัน อบจ.ไม่มีพื้นที่ที่จะดูแลและพัฒนาเหมือนกับ อบต. ซึ่งหลังจากมีกระทรวงท้องถิ่นจะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของ อบจ.ใหม่ เช่น อาจให้เป็นสภาที่ปรึกษามีหน้าที่ศึกษาแนวทางในการพัฒนาจังหวัด ส่วนภารกิจใดที่ไม่ควรเป็นของส่วนท้องถิ่น เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก็โอนไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆโดยตรง แต่ถ้าจะให้ท้องถิ่นดูแลก็ต้องจัดสรรงบประมาณใหม่” นายมานิตย์ระบุ
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย
สำหรับกระแสตอบรับแนวคิดในการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นในขณะนี้นั้นถือว่ามีไม่น้อยทีเดียว โดยนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย หนึ่งในผู้ที่เสนอญัตติเรื่องการตั้งกระทรวงท้องถิ่น เปิดเผยว่า ขณะนี้นอกจาก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล จำนวนไม่น้อยจะแสดงท่าทีสนับสนุนแนวคิดนี้แล้ว บรรดาหน่วยงานส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต.ก็จะร่วมขับเคลื่อนกับเรา ส่วนกลยุทธ์ที่เราจะเดินหน้าต่อไปนั้นภายในเดือน ต.ค.นี้จะมีการนัดประชุมหารือระหว่างนักวิชาการกับสมาชิก อบจ.ทั่วประเทศ ส่วนรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะไม่อยากโดนสกัด

ขณะที่ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมขับเคลื่อนเรื่องการตั้งกระทรวงท้องถิ่น ระบุว่า ต้องยอมรับว่ายุครัฐบาล คสช.มีปัญหาการสั่งการแบบรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดโครงการที่ส่วนกลางต้องการแต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน ใช้งบประมาณแบบสูญเปล่า อย่างไรก็ดีเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะแยกงานด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาดำเนินการในรูปแบบกระทรวง เนื่องจากมีพรรคการเมืองหลายพรรคให้การสนับสนุน แม้พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับขั้นตอนในการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นนั้นคาดว่าถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรก็น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยคาดว่าจะสามารถตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ได้ภายใน 2 เดือน จากนั้นกรรมาธิการจะใช้เวลาพิจารณากำหนดรูปแบบการบริหารจัดการ และโครงสร้างกระทรวง ประมาณ 6 เดือน ใช้เวลาร่างกฎหมายและทำประชาพิจารณ์อีก 5-6 เดือน ใช้เวลาระดมความคิดเห็นและเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 เดือน สภาพิจารณาออกกฎหมายเพื่อรองรับการตั้งกระทรวงอีก 3-4 เดือน แต่เอาเข้าจริงอาจจะไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะต้องมีคนที่สูญเสียอำนาจก็ต้องคัดค้าน

“ตอนนี้พรรคที่สนับสนุนก็มี เพื่อไทย อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย พลังท้องถิ่นไท ส่วนประชาธิปัตย์ตอนนี้ยังสงวนท่าที แต่เชื่อว่าพลังประชารัฐคัดค้านเรื่องนี้แน่นอน เพราะเขามีแนวคิดแบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ก็ต้องระวังท่าทีเพราะคนเสนอญัตตินี้คือภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องรอดูกันต่อไป โดยส่วนตัวผมในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำผลประชุมของ อบต.ทั่วประเทศเรื่องการตั้งกระทรวงท้องถิ่นเสนอต่อนายวิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เพื่อพิจารณาต่อไป” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าอุปสรรคใหญ่ของการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่นก็คือการะทรวงมหาดไทยซึ่งมีท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแยกกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นออกจากกระทรวงมหาดไทย

นายมานิตย์ แสดงความวิตกว่า ที่ห่วงคือมหาดไทยไม่ยอมปล่อยแน่ เพราะหากแยกกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นออกมา มหาดไทยก็แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย

ขณะที่ รศ.ดร.วีระศักดิ์ มองว่า นอกจากกระทรวงมหาดไทยจะกลัวสูญเสียอำนาจแล้ว ก็คงไม่อยากให้งบประมาณก้อนโตของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรถึงปีละ 7 แสนล้าน ถูกดึงออกมา

ส่วนว่าสุดท้ายแล้ว กระทรวงท้องถิ่นจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? และรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้? ...ก็คงต้องติดตามกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น