xs
xsm
sm
md
lg

แฉล้มดีลนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน 'ใคร' ได้ประโยชน์ จับตาค่าไฟแพงแน่!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สหภาพฯ กฟผ.เดินหน้าจี้ 'บิ๊กตู่' ในฐานะประธาน กพช. และ 'สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์' รมว.พลังงาน ให้เปลี่ยนมติล้มดีล กฟผ.จัดซื้อ LNG 1.5 ล้านตัน ทั้งที่ทุกอย่างทำตามมติ กบง.รัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ชี้เรื่องนี้มีเงื่อนงำ ใครได้ประโยชน์จากการล้มประมูล ระบุชัดตัวเลขซื้อจากปิโตรนาส กับ ปตท.ต่างกันมาก ยืนยันหากเปิดเสรี ประชาชนมีโอกาสใช้ไฟถูก แต่ถ้ายังเดินหน้าให้ กฟผ.ถือสัญญาทาส 25 ปี บอกได้ว่างานนี้ ประชาชนรับกรรม ต้องใช้ไฟแพงโดยทุกอย่างจะถูกผลักไปอยู่ในค่า 'FT’

ในที่สุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานเป็นประธาน ก็ได้มีมติล้มดีลประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่องจำนวน 1.5 ล้านตัน/ปี เพื่อทดลองระบบก่อนที่กระทรวงพลังงานจะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

ทั้งที่การดำเนินการจัดหาก๊าซ LNG ของ กฟผ. นั้นเป็นไปตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็น รมว.พลังงานและประธาน กบง. โดยที่ประชุม กบง.ครั้งนั้นยังได้กำชับให้ กฟผ.และปตท.ไปจัดทำข้อตกลงในการนำเข้า กำกับและบริหารร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay (คือไม่รับก๊าซตามปริมาณที่ตกลงก็ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเต็มจำนวน) จากการนำเข้า LNG ของ กฟผ.

เมื่อ กฟผ.ได้รับนโยบายดังกล่าวมาแล้ว จึงดำเนินการศึกษาและเปิดประมูลนำเข้าซึ่งบริษัท PETRONAS LNG Limited เป็นผู้ที่เสนอราคา LNG ต่ำสุด และอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเซ็นสัญญา ปรากฏว่าการประชุม กบง.เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มีนายสนธิรัตน์ เป็นประธานก็จัดการล้มดีลนี้ไปแล้ว

การล้มดีลในวันนั้น จึงเกิดคำถามในใจของคน กฟผ.โดยเฉพาะการเตรียมออกมาเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ว่า “ล้มประมูลLNG ที่เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า สนองบุญคุณ 'ใคร' และล้มประมูล LNG ประชาชนได้ หรือ เสีย ผลประโยชน์”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อความที่สื่อกันภายในคน กฟผ.เพื่อชี้ให้เห็นว่า 'ใคร’ อยู่เบื้องหลังการล้มดีล และให้คน กฟผ.ยอมรับความจริงว่า มติ กบง.เมื่อ 30 ส.ค.ที่ผ่านมาคือสัญญาทาส ที่ต้องการให้ กฟผ.เป็นเพียงแค่ผู้ใช้ ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปจัดหาเชื้อเพลิงราคาถูกได้อีกต่อไป!

ดังนั้น สหภาพฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ ทวงคืนความเป็นธรรมให้ กฟผ.! ด้วยการเชิญชวนสมาชิก ร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือขอความชัดเจนกับนายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน ที่กระทรวงพลังงาน ในวันที่ 6 กันยายนนี้ เวลา 09.30-10.00 น.

อย่างไรก็ดี นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพ กฟผ. บอกว่า กฟผ.ทำตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติให้ กฟผ.เปิดหาก๊าซมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 1.5 ล้านตัน ซึ่ง กฟผ.ก็ได้เดินหน้าในการร่างสัญญา TOR และเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นประมูล ผลที่ออกมาคือ PETRONAS LNG Limited เสนอราคาต่ำสุด กฟผ.ก็ต้องเลือกรายที่ต่ำสุด

“ปิโตรนาส เสนอราคาต่ำกว่า ปตท. เขาเสนอ 7.5 ดอลลาร์ต่อล้าน BTU ส่วน ปตท.เสนอ 7.7ดอลลาร์ต่อล้าน BTU เมื่อ ปตท.เสนอมาสูง กฟผ.ก็ต้องเลือกรายที่ต่ำสุด ถึงขั้นจะเซ็นสัญญากันอยู่แล้วรัฐมนตรีก็เบรกให้ล้ม และให้ กฟผ. ไปแสวงหาตลาดจร คือ เอาเรือเข้ามาประมาณ 1 แสนตัน คือ เป็นเรือบรรทุกสองลำ”

พูดง่ายๆ คือการล้มดีล 1.5 ล้านตัน แล้วเปลี่ยนเป็นนำเข้าแบบ SPOT จำนวน 2 SPOT คิดเป็นSPOT ละ 9 หมื่นตัน รวมเป็น 1.8 แสนตัน ทดแทน

“กฟผ. ได้ตกลงกับปิโตรนาสเรื่อง Take or Pay ไว้แล้ว เขาก็บอกถ้าเรายังไม่พร้อม เอาไว้ปี 63 ก็ได้ ก็พร้อมที่จะ Support ให้ และปริมาณ LNG 1.5 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณ 15% ที่ กฟผ.ต้องใช้ จริงๆ แล้ว กฟผ.ใช้ประมาณ 5 ล้านตัน และบริษัทลูกอีก 3 ล้านตัน รวม 8 ล้านตัน”


นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพ กฟผ.
นายศิริชัย บอกว่า ค่าไฟจะถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับต้นทุนของเชื้อเพลิง เพราะไฟหนึ่งหน่วย เป็นเรื่องของเชื้อเพลิง 70% หมายถึงว่าถ้าไฟหน่วยละ 1 บาทจะเป็นค่าเชื้อเพลิง 70 สตางค์ ส่วนที่เหลือ 30 สตางค์เป็นค่าดำเนินการต่างๆ ค่าโรงไฟฟ้า ค่าเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ เป็นต้น

“ถ้าเราใช้เชื้อเพลิงที่ถูกไปปั่นไฟ ค่าไฟก็จะลดลง ประชาชนก็จะจ่ายน้อยลง ถูกลง และประเทศไทยก็เริ่มมีปัญหาเชื้อเพลิง ถ่านหิน ไม่เอา ก็ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากขึ้น”

ขณะเดียวกันประชาชนควรต้องได้รับรู้ความจริง เพราะการล้มดีลLNG 1.5 ล้านตัน แต่สั่งให้ กฟผ.เซ็นสัญญาซื้อ LNG กับ ปตท.เป็นระยะเวลา 20-25 ปี ในราคา 7.7 ดอลลาร์ต่อล้าน BTU ซึ่งเป็นการผูกมัดระยะยาว เหมือนการทำสัญญาทาส เพราะหากรัฐเปิดเสรี เชื่อได้ว่าราคาจะไม่อยู่ที่ 7.7ดอลลาร์ต่อล้าน BTU ตามที่ ปตท.เสนอมาแน่นอน เพราะราคาก๊าซในตลาดโลกต่ำลงมากซึ่งมีข้อมูลมาล่าสุดว่า รัสเซีย มีการเสนอราคาที่ 6 ดอลลาร์ต่อล้าน BTU ซึ่งราคาในอนาคตถ้าเปิดเสรีก็จะได้ต่ำกว่าที่ ปิโตรนาสเสนอรอบนี้เช่นกัน

อีกทั้งที่ผ่านมา กฟผ.เป็นผู้ใช้เชื้อเพลิงจาก ปตท.ทั้งหมด เพราะ กฟผ.ไม่มีก๊าซจากที่อื่น ซึ่งก่อนหน้านั้นรัฐกำหนดว่า กฟผ.ต้องซื้อจาก ปตท. 80% ทั้งน้ำมันเตา ดีเซล ส่วนอีก 20% กฟผ.ต้องเปิดประมูล

“เชื่อมั้ย บริษัทที่ชนะประมูลอีก 20% ก็คือ ปตท. และราคาที่เสนอในส่วนของ 20% ต่ำกว่า 80% ที่ กฟผ.ต้องซื้อ ปตท. ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้า กฟผ.สามารถประมูลทั้ง 100% ก็จะถูกกว่า คือ 80%ซื้อในราคา 15 บาท ส่วนประมูล 20% ก็จะได้ 14 บาท แต่ ปตท.ก็ขาย 15 บาท 80% อีก 20% ก็ขาย 14 บาทให้เรา ซึ่งเรื่องนี้สหภาพฯ เห็นการเอารัดเอาเปรียบมานาน”

เมื่อเห็นบทเรียนจากที่ผ่านมา ทำให้สหภาพฯ ต้องเดินหน้าคัดค้านในการล้มดีล LNG 1.5 ล้านตัน เพราะนโยบายก็มาจากนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบัน ก็ร่วมในรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 มาแล้ว แต่มาเปลี่ยนช่วงเวลาแค่ 2-3 เดือนคือจากเดือน พ.ค.มาถึงเดือน ส.ค.ได้อย่างไร

“เปลี่ยนง่ายเกินไปมั้ย คน กฟผ.ก็ตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นเรื่องผลประโยชน์กับใครหรือเปล่า เพราะถ้าเปิดได้มันจะทลายเรื่องการผูกขาด และเราก็ได้ศึกษาเปรียบเทียบไว้หลายๆ อย่าง”

ดังนั้นการที่สหภาพฯ ทำโปสเตอร์ข้อความ “ล้มประมูล LNG ที่เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า สนองบุญคุณใคร” ตรงนี้กำลังสื่อให้สังคมได้เห็นบางอย่าง!

“คิดว่ามีกลุ่มธุรกิจก๊าซที่ไม่อยากเห็นการประมูล LNG เกิดขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจพลังงานในประเทศ ก็มีไม่กี่กลุ่มเพราะทุกวันนี้คนที่อยู่ธุรกิจก๊าซ ก็มาเล่นโรงไฟฟ้า คนที่แต่ก่อนเป็นเอกชนที่ได้โรงไฟฟ้า วันนี้ก็ไปจับธุรกิจก๊าซ ร่วมกันลงทุน”

ด้านวิศวกร กฟผ. ระบุว่า โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. รวมกำลังผลิต 9398 MW หรือประมาณปีละ 420 ล้านล้านบีทียู คือเท่ากับ 8 ล้านตัน ซึ่งตามแผนเดิม กบง.ให้ กฟผ.จัดหา 1.5 ล้านตันก่อนจากความต้องการทั้งสิ้น 8 ล้านตัน

“1.5 ล้านตัน คิดเป็น 75 ล้านล้านบีทียู หากคิดที่ 4.44 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (ที่มา: World LNG Estimated Landed Price : June 2019)  เป็นเงิน 333 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10,323 ล้านบาท   ซึ่งหากยอดขายนี้ปล่อยให้ กฟผ.จัดซื้อเอง ผู้ที่จะเสียประโยชน์ ก็น่าจะเป็น ปตท.กับขาใหญ่ หรือไม่ อย่างไร”

สำหรับเม็ดเงิน 10,323 ล้านบาท เป็นแค่ตัวเลขเบื้องต้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการซื้อ LNG จำนวนเท่าใด เพราะหาก กฟผ.ใช้ LNG เพียงครึ่งเดียวก็จะประมาณ 210  ต่อล้านบีทียู หรือ 4 ล้านตัน (ความต้องการจริงปีละ 8 ล้านตัน) ก็จะประมาณ 932 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28,892 ล้านบาท

“เลือกจะนำเข้า LNG ในตลาดโลก จะถูกกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย อาจมีราคาถึง 8-10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ที่สุด กฟผ.ก็ไม่อาจนำเข้าได้เพราะกระทรวงล้มดีลไปแล้ว”

นอกจากนี้ หากจะเปรียบเทียบตัวเลขของปิโตรนาส กับ ปตท.มีความต่างกันในเรื่องเม็ดเงินอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อ กฟผ.จะทำสัญญาซื้อ 1.5 ล้านตันเท่ากับ 75 ล้านล้านบีทียู ถ้าหาก กฟผ.ซื้อจากปิโตรนาสก็จะประหยัดไป 0.2 คูณ 75 ล้านล้านบีทียู เท่ากับ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับ 465 ล้านบาท

แต่ในความเป็นจริง กฟผ.ต้องใช้ LNG ประมาณ 5 ล้านตัน และบริษัทลูกอีก 3 ล้านตัน รวม 8 ล้านตัน ก็จะถูกกว่าถึง 2,480 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี สัดส่วนกำลังผลิตตามสัญญาของโรงไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าที่จะใช้ LNG ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ,โรงไฟฟ้าน้ำพอง และบริษัทลูกของ กฟผ.ก็จะมีราชกรุ๊ป บริษัท เอ็กโก กรุ๊ป เป็นต้น

ขณะที่ นายศิริชัย ไม้งาม บอกอีกว่า การล้มดีล 1.5 ล้านตันครั้งนี้ มีโอกาสที่จะกระทบความสัมพันธ์เพราะ กฟผ.ก็เคยทำงานร่วมกันมาก่อน อีกทั้งจะเกิดปัญหาตามมาคือทางรัฐบาลมาเลเซีย ก็อาจจะมอง กฟผ.ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งที่ กฟผ.เป็นองค์กรโปร่งใส มีเครดิต ที่รัฐบาลหลายประเทศก็ต้องการติดต่อค้าขายเชื้อเพลิงกับหน่วยงานที่ต้องการใช้โดยตรง 

“จากเหตุการณ์นี้ ใครจะมาคบหา หรือค้าขายด้วย เพราะเขาไม่รู้หรอกว่า ใครอยู่เบื้องหลังหรือสั่งมาว่าต้องล้มดีลนี้ และเราก็จะไปบอกทางปิโตรนาสได้อย่างไรว่ามันมีเหตุที่มาอย่างไร”

ที่สำคัญทางสหภาพฯ ยืนยันว่านี่คือหน้าที่ของสหภาพฯ ในการรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน เพราะถ้าปล่อยแบบนี้เชื่อได้เลยว่าประชาชนต้องรับภาระค่าไฟแพง โดยจะซ่อนมาในรูปของค่า FT เพราะหากรัฐเปิดเสรีประชาชนก็จะได้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง

“ถ้าเราได้ก๊าซที่ถูก ค่าไฟก็จะถูก ที่ผ่านมาเราซื้อเชื้อเพลิงที่แพง เพราะอ้างอิงราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ถ้าเราซื้อ LNG มาแพง สุดท้ายก็จะอ้างค่า FT เก็บค่าไฟประชาชนแพง บางคนไม่รู้ว่าซื้อก๊าซแพง ถึงเวลาก็ด่า กฟผ. ทั้งที่การคิดค่าไฟอยู่ที่เรกูเลเตอร์แล้ว (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน:กกพ.)”

ดังนั้นในวันที่ 6 ก.ย.นี้นอกจากสหภาพฯ จะไปที่กระทรวงพลังงานแล้ว ยังมีแผนที่จะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ด้วยเช่นกัน และถ้าทุกอย่างไม่มีคำตอบ ก็จะมีการยกระดับการต่อสู้ต่อไปโดยการต่อสู้เรียกร้องครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้รัฐมนตรีพลังงานและกบง.ยกเลิกมติล้มดีลดังกล่าว และให้ กฟผ.ดำเนินการจัดซื้อ 1.5 ล้านตันเช่นเดิม

จากนี้ไปต้องติดตามว่าสหภาพฯ กฟผ.จะสามารถเดินหน้าต่อสู้จนเกิดการล้มมติเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมาได้หรือไม่? หรือจะเป็นไปตามข้อความที่เขียนขึ้นมาและสื่อกันภายในองค์กรว่าในที่สุด LNG จะจบที่ 'อ่าว' แถวระเบียงตะวันออกที่คน กฟผ.ต้องเรียนรู้และทำใจ!



กำลังโหลดความคิดเห็น