xs
xsm
sm
md
lg

'700 องค์กร' หนุนแบนพาราควอต ชี้ผลประโยชน์อื้อ 'อธิบดี' ไม่ทำตามสั่งเด้งทันที!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อดีต รมช.เกษตรฯ ยุคบิ๊กตู่ 1 เผยข้าราชการ 4-5 คนตัวการค้านแบนสารพิษ 'พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส' ย้ำอย่าคาดหวังนักการเมืองไม่กี่คน แต่ ยอมรับหากทำได้จริง ข้าราชการไม่กล้าค้าน 'อธิบดี' ไม่ปฏิบัติตามเด้งทันที ด้าน 'วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ' แจง 700 องค์กรภาคประชาสังคม เตรียมเข้าพบรัฐมนตรีเกษตรฯ ส่งมอบหลักฐานทั้งหมด พร้อม 2 แนวทางแบนสารพิษ จับตา 'ภูมิใจไทย' ทำได้จริงหรือแค่ธรรมเนียมเดิมๆ!

หลังจากนโยบายปลดล็อกกัญชา ที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยเข้าไปนั่งในหัวใจของประชาชนแล้ว   นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคฯ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนสนับสนุนยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งวันนี้ต้องเผชิญพิษร้ายจากสารพิษดังกล่าว

ถึงกับตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ายังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่เพียงพอว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือ ”ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรืออย่างไร”

เสียงสนับสนุนการยกเลิกสารพิษ 3 ชนิดของนายอนุทิน ได้สร้างความหวังให้กับองค์กรต่างๆ และประชาชนทั่วประเทศที่ปฏิเสธสารพิษ เพราะนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็คือตัวแทนของพรรคภูมิใจไทย ที่เข้ามากำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารพิษโดยตรง ก็ประกาศแล้วว่าจะยกเลิกภายในปี 2562

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล ก็ไม่เอาสารพิษ นายอนุทิน รมว.สาธารณสุข ที่ต้องรับผิดชอบปัญหาสุขภาพของคนไทย ก็ไม่เอาสารพิษ และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ก็ไม่เอาสารพิษ

นั่นก็หมายความว่า ประเทศไทยมีโอกาสปลอดสารพิษทั้ง 3 ชนิดใช่หรือไม่!
นายอนุทิน ชาญวีรกูล   - นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์
เพราะที่ผ่านมาฐบาลบิ๊กตู่ 1 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.เกษตรฯ ก็ยืนยันว่าต้องยุติการใช้สารดังกล่าว แต่ก็ล้มเหลวไม่สามารถแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิดได้ ว่ากันว่ามีเรื่องของผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่หากประเมินความพึงพอใจกันแล้วก็ยังเชื่อว่าความพยายามที่จะแบนสารพิษและการสื่อให้ประชาชนในสังคมได้รับรู้ถึงพิษภัยอันตรายของสารพิษทั้ง 3 ชนิดแล้วก็เชื่อว่าไม่สูญเปล่า เพราะอย่างน้อยเกษตกรก็ได้ยกเลิกการใช้สารพิษและเริ่มขยายตัวเป็นแสนไร่ไปแล้ว

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.เกษตรฯ ในรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ฯลฯ บอกว่า เรื่องการแบนสารพิษ 3 ชนิด ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับวงการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข แพทย์ นักวิชาการ แวงวงเกษตรยั่งยืน เกษตรธรรมชาติ รวมไปถึงนายกฯ บิ๊กตู่ ต่างก็เห็นด้วยว่าต้องห้ามนำเข้าเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ที่ผ่านมาผู้ที่มีอำนาจคุมนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีใครกล้าที่จะสั่งห้ามนำเข้า เพราะเกรงว่าจะไปกระทบคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ค้าขายสารพิษ ก็มีการเรียกร้อง มีการนำมวลชนมาต่อต้านและบอกชัดว่าหากเลิกเกษตรกรจะเดือดร้อน ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นเกษตรกรที่เคยชินต่อการใช้สารนี้

ขณะที่กลุ่มคนที่เรียกร้องที่จะบริโภคของปลอดภัยกลับโตขึ้น ในยุคนั้นกระทรวงเกษตรฯได้จับมือกับกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าความปลอดภัยใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มแรก ทุกโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ต้องเป็นแหล่งอาหารปลอดภัย จึงมีการตั้งกลุ่มผู้ผลิตป้อนโรงพยาบาลโดยตรง เพราะหมอเจอคนไข้มากก็รู้ว่าต้นเหตุของการเจ็บป่วยมาจากอาหาร น้ำ อากาศ เป็นพิษ หากทำอาหารให้ปลอดภัย คนเจ็บป่วยก็จะน้อยลง ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ก็จะน้อยลงตามไปด้วย

กลุ่มที่ 2 ได้มีการขยับไปจับมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่มี 30,000 กว่าโรงเรียนและ 200 กว่ามหาวิทยาลัย เป็นแหล่งอาหารปลอดภัย แต่โครงการนี้ยังไปได้ไม่ถึงไหน เพราะยังไม่มีคณะกรรมการดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ขึ้นอยู่กับโรงเรียนใดสนใจก็จะดำเนินการเท่านั้น

กลุ่มที่ 3 คือพวกโรงแรม จะเน้นไปที่ตลาดท่องเที่ยวเพื่อเป็นจุดขายในการดึงนักท่องเที่ยวมาบริโภคอาหารปลอดภัย

กลุ่มที่ 4 คือตลาดทั่วไป ซึ่งหลายหน่วยงานร่วมมือกันทั้งกระทรวงเกษตรฯ สาธารณสุข มหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แต่ในทางปฏิบัติไปได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

“ทั้ง 4 กลุ่ม ถ้ารัฐบาลบิ๊กตู่ 2 สานต่อก็จะทำให้การแบนสารพิษสำเร็จได้แน่นอน”
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.เกษตรฯ
ดร.วิวัฒน์ บอกต่อว่า นโยบายในยุคปัจจุบัน หาก รมว.เกษตรฯ รมช.เกษตรฯ และ รมว.สาธารณสุข ต่างยืนยันว่าจะแบนข้าราชการประจำ 4-5 คนที่เคยคัดค้านในยุครัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ก็จะต้องปฏิบัติตาม

“บอร์ดวัตถุอันตรายของกระทรวงอุตฯ จะพิจารณาว่าเป็นวัตถุอันตรายขนาดไหน แต่การอนุญาตนำเข้าอยู่ที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมดอยู่ที่ รมว.เกษตรฯ หากยืนยันก็น่าจะแบนได้ในแง่ของกฎหมาย”

สิ่งที่ยากที่สุดคือกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเกษตรกร และสารพิษดังกล่าว ต้องมีความเชื่อมั่นก่อนว่า 'การเกษตร' ของประเทศไทย ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสารพิษทุกชนิดจากต่างประเทศได้ เรามีเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรยั่งยืนที่มีการทำมากันอย่างต่อเนื่องและได้ผล รวมไปถึงสถาบันการศึกษาก็ต้องมีหลักสูตรเรื่องเกษตรธรรมชาติบรรจุไปด้วย

ที่สำคัญสุด นักส่งเสริม นักวิชาการ ต้องมั่นใจ ต้องยืนยัน ภาคนโยบายหรือการเมืองต้องยืนยัน ภาคราชการต้องยืนยัน และภาคการส่งเสริม ก็ต้องยืนยัน หากทำได้เช่นนี้เกษตรกรจะสามารถปรับตัวเลิกใช้สารพิษได้อยู่แล้ว

ส่วนวิธีการที่จะนำไปสู่การยกเลิกสารพิษมี 2 แนวทาง คือ หนึ่ง กรมวิชาการเกษตร ต้องออกมาตรการชัดเจน ที่จะเปลี่ยนสารพิษ เป็นแนวธรามชาติ แนวทางที่ 2 คือ กรมส่งเสริมการเกษตร และอีก 14 กรมในกระทรวงเกษตรฯ ต้องยึดแนวทางตามนี้

อย่างไรก็ดี ดร.วิวัฒน์ ย้ำว่า ไม่อยากให้สังคมไปคาดหวังจากนักการเมืองไม่กี่คน เพราะองคาพยพที่จะทำให้สารพิษนี้หมดไปได้ อยู่ที่กระแสของผู้บริโภคต้องการอย่างไร ซึ่งการเมืองก็ต้องเดินตามกระแสประชาชน เมื่อการเมืองฝืนไม่ได้ ก็จะเหลือแต่ข้าราชการประจำ ที่บอกกันตรงๆ ข้าราชการประจำก็ต้านการเมืองไม่ได้หรอก ถ้าการเมืองต้องการทำจริงๆ

“การเมืองสั่งมาว่า คุณต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ผมจะเอาคนอื่นมาแทน ก็ย้ายอธิบดีไป แล้วหาคนใหม่มาทำ การเมืองต้องทำจริงๆ เพราะการยกเลิกสารพิษ และการรักสุขภาพ เป็นความหวังของคนทั้งโลก คนใช้ก็รู้ คนบริโภคก็รู้ ตอนนี้คนปลูก คนขายเค้ารู้ หากเลือกได้ก็จะเลือกบริโภคที่ไม่มีสารพิษ”

ดร.วิวัฒน์ ยืนยันว่า ถ้าทุกอย่างชัดเจน นักธุรกิจจะปรับตัวได้อยู่แล้ว หันไปผลิตหรือขายตัวอื่นๆ ที่ไม่เป็นอันตรายแทนได้ ดูได้จากกลุ่มซีพี ก็ยกเลิกการนำเข้าสารพิษ 3 ชนิดไปแล้ว ซึ่งซีพีก็ต้องปรับตัวไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)
ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ระบุว่า 700 องค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการแบนสารพิษ 3 ชนิด มั่นใจว่าการที่นายอนุทิน และ นางสาวมนัญญา ประกาศแบนสารพิษดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ดี หากจะมองว่าเป็นการหาเสียงก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อประกาศออกมาแล้วก็ต้องทำตามที่ประกาศไว้ และการแถลงแบบนี้ย่อมทำให้คะแนนนิยมในตัวพรรคภูมิใจไทยสูงขึ้นด้วย

หากประกาศไปแล้วไม่ทำจะเกิดผลลบต่อนายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทยได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาการยกเลิกสารพิษทำได้ยากเพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งธุรกิจนี้มีมูลค่าปีละเกือบหมื่นล้านบาท โดยพวกเรา 700 องค์กร จะรวมตัวกันและส่งตัวแทนไปขอพบทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนางสาวมนัญญา รมช.เกษตรฯ ซึ่งคาดว่าจะได้เข้าพบในต้นเดือนกันยายนนี้

การพบครั้งนี้ก็เพื่อนำข้อมูลที่มีอยู่ไปนำเสนอ พร้อมกับขอให้การแบนสารพิษเป็นไปตามกำหนดเดิมคือห้ามมีการนำเข้าภายในสิ้นปี 2562

“ข้อมูลสถิติการนำเข้าสารพิษลดลงมาบ้าง คือภาพรวมดูเหมือนลดลง แต่อาจจะไม่ลดลงจริง เชื่อว่าบริษัทต่างๆ น่าจะมีการสต๊อก หรือมีการนำเข้าเผื่อไว้แล้ว ซึ่งเครือซีพี มีสัดส่วนถึง 20% ก็ยกเลิกไม่มีการนำเข้าแล้ว

สำหรับการจะยกเลิกสารพิษดังกล่าวก็สามารถดำเนินการได้ทันทีใน 2 ช่องทาง คือ

1. ไม่ขึ้นทะเบียนและไม่ต่อทะเบียนสารพิษที่บริษัทต่างๆ นำเข้ามา โดยสารพิษแต่ละตัวที่ขึ้นทะเบียนจะมีอายุ 6 ปี หากไม่มีการขึ้นทะเบียนหรือต่อทะเบียนให้ สารพิษดังกล่าวก็จะหมดจากประเทศไทยภายใน 6 ปี

2. สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรมีคำสั่งแบนหรือยกเลิกสารเคมีดังกล่าว เนื่องจากการแบนสารเคมีเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งแม้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง แค่ตามธรรมเนียมแล้วคณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาตามความเห็นของกระทรวงเกษตรฯ และที่ผ่านมาผู้ที่คัดค้านการแบนสารพิษก็คือกระทรวงเกษตรฯ ทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่มีการแบนสารพิษทั้ง 3 ตัว

ขณะที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและพิจารณาแนวทางในการยกเลิกสารพิษ ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการเข้ารับบริการในระบบ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2562 (ข้อมูล 1 ต.ค. 61 - 17 ก.ค. 62) ระบุว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศนั้นพบว่าเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท

ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวแยกผู้ป่วยตามประเภทของสารเคมีที่ได้รับ ดังนี้

1. ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต (Organophosphate and Carbamates Insecticides) จำนวน 705 ราย เสียชีวิต 58 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 4.27 ล้านบาท

2. ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา (Herbicides and fungicides) จำนวน 1,337 ราย เสียชีวิต 336 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 6.79 ล้านบาท

3. สารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ จำนวน 1,025 ราย เสียชีวิต 13 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 3.57 ล้านบาท


ตัวเลขผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปีที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 4,876 ราย เสียชีวิต 606 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 22.19 ล้านบาท ปี 2560 มีผู้ป่วย 4,916 ราย เสียชีวิต 579 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.85 ล้านบาท และในปี 2561 มีผู้ป่วย 4,736 ราย เสียชีวิต 601 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.78 ล้านบาท ซึ่งหากรวมจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2562 มีจำนวนถึง 2,193 ราย รวมถึงงบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่รวมผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ อีกจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่รุนแรงของการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เกิดขึ้น

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าการประกาศแบนสารพิษ 3 ชนิดของนายอนุทิน ชาญวีรกูล และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ จะเกิดได้จริงหรือไม่?

หรือเป็นวิธีการเดิมๆ ที่นักการเมืองนิยมปฏิบัติเพื่อให้บรรดาภาคเอกชนวิ่งเข้าหา โดยมีข้าราชการเป็นกำลังสำคัญตามข่าวลือในวงการเกษตรหรือไม่?!

แต่หากพรรคภูมิใจไทยทำได้จริงตามที่ประกาศไว้ ประชาชนคนไทย ต้องแซ่ซ้องสรรเสริญ และเลือกตั้งครั้งต่อไป 'ภูมิใจไทย' คือหัวใจประชาชน!



กำลังโหลดความคิดเห็น